มีเกียรติ แซ่จิว : น้ำหอมกับความเสน่หา จาก “ออเจ้า” ถึง “มณีจันทร์” สู่ “บ้านเมืองที่ไม่มีกลิ่น” และชายชื่อ “เกรอนุย”

เป็นที่เลื่องลือจากคำกล่าวของ “มาลิรีน มอนโร” ที่ว่า “ฉันหยด Chanel No.5 ก่อนนอนทุกคืน”

จากนั้นน้ำหอมดีไซเนอร์แบรนด์ชาแนลก็ยึดครองตลาดขายดิบขายดีถล่มทลาย

ว่ากันว่าทหารอเมริกันสมัยนั้นต่อคิวรอซื้อชาแนล นัมเบอร์ไฟว์ กลับไปให้ภรรยาที่บ้านได้ลองฉีดกันเป็นแถว

เพราะอยากได้ความรู้สึกหอมรัญจวนเหมือนมีมาลิรีน มอนโร มานอนอยู่ใกล้ๆ กันเลยทีเดียว

น้ำหอมจึงไม่ได้ให้เพียงแค่ “กลิ่น” ที่หอมชวนเสน่หา แต่ยังบอกตัวตนของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี

ดังคำกล่าวของโคโค ชาแนล ที่ว่า สำหรับเธอแล้ว แฟชั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง

แต่ที่มากไปกว่านั้นคือเธอสร้างสรรค์สไตล์ (Style)

และคำว่า “สไตล์” ก็ได้สร้างภาพลักษณ์ต่อเนื่องมายาวนาน

สินค้าภายใต้แบรนด์ CHANEL จึงเป็นหนึ่งในแบรนด์ยอดฮิตครองใจมหาชนและทำรายได้มหาศาลจวบจนทุกวันนี้

(น้ำหอมดีไซเนอร์แบรนด์ส่วนใหญ่ยังบอกถึงการครอบครองเป็นเจ้าของได้อีกทางหนึ่ง ถึงแม้เราจะไม่มีทรัพย์มากพอเป็นเจ้าของกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า แต่อย่างน้อยเรายังได้เป็นเจ้าของกลิ่นแบรนด์ดังเหล่านี้)

 

บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะพามาทำความรู้จักกับเสน่ห์ของกลิ่นที่ชวนหลงใหลนี้ (ซึ่งคงไม่ต้องย้อนไปไกลถึงยุคสมัยเมโสโปเตเมีย)

ตั้งแต่ขั้นตอนการทำน้ำหอมแบบดั้งเดิมในเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”

กลิ่นหอมรัญจวนข้ามภพข้ามชาติใน “ทวิภพ”

บ้านเมืองที่ไม่มีกลิ่นใน “ซองดิว หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์”

รวมไปถึงสุคนธกรผู้ปรุงน้ำหอมเลือดเย็นผิดมนุษย์มนาในนวนิยายเรื่องดังอย่าง “น้ำหอม”

น้ำหอมจึงมีอำนาจลึกลับบางอย่าง ซึ่งนอกจากช่วยสร้างความมั่นใจแล้วยังเสริมบุคลิกภาพให้มีเสน่ห์น่าค้นหาด้วยอีกทาง (ลองนึกถึงภาพผู้ชายอย่าง Tom Ford เมื่อเราใช้น้ำหอมแบรนด์ของเขาสิ)

หรืออย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Don Juan Demarco ก็มีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งซึ่งกินเวลาเพียง 2 วินาที (สองวินาทีก็เพียงพอที่จะบอกอะไรได้มากแล้ว) กล้องจับภาพให้เราเห็นมือของดอนฮวนขณะฉีดน้ำหอมใส่ที่ข้อมือของตัวเองแล้วนำข้อมืออีกข้างมาคลึงอย่างช้าๆ (หลักของการฉีดน้ำหอมที่เรามักคุ้น) ก่อนออกจากห้องไปเป็นคาสโนว่า มองหาผู้หญิงสักคนที่ตนจะเข้าไปหว่านเสน่ห์ใส่ (ทั้งกลิ่นน้ำหอมและคารมคมคายสอดประสานกัน)

ด้านละครดังจนพาให้หนังสือขายดีระเบิดระเบ้ออย่าง “บุพเพสันนิวาส” ของ “รอมแพง” เรื่องราวการเดินทางข้ามภพของเกศสุรางค์มาสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีการกล่าวถึงน้ำหอมและการทำน้ำหอมเอาไว้อย่างละเอียดลออ

ซึ่งทำให้เห็นว่าแต่ละขั้นตอนนั้นพิถีพิถันมากเพียงใดกว่าจะปรุงออกมาได้เป็นน้ำหอม

“เพียงครู่บ่าวทาสก็เดินเรียงรายมาพร้อมกระด้งที่บรรจุเครื่องหอมดอกไม้หอมนานาชนิด ของในถ้วยกระเบื้องเคลือบที่วางอยู่บนกระด้งนั้นมีหลายอย่าง ทั้งกำยาน อบเชย กานพลู เปลือกชะลูด ลูกจัน น้ำตาลทรายแดง ไม้จันทน์หอม ไม้กฤษณา

ชะมดเช็ดที่คล้ายขี้ผึ้งอยู่ในโถเคลือบใบเล็ก ใบพลู ลูกมะกรูด ครกหินและเครื่องบดยาอันใหญ่ซึ่งเป็นหินกระเบื้องเคลือบหนาสีขาว นอกจากนั้น ยังมีเครื่องดินเผาสีแดงอิฐหน้าตาแปลกๆ อีกสองชิ้น

“นี่มันอะไรหรือพี่ผิน”

“ตะคันกับทวนเจ้าค่ะ เอาไว้อบร่ำแป้ง” แสดงว่าการคาดเดาของนางผินเป็นเรื่องที่ถูกต้อง งานนี้เธอคงได้เรียนการอบร่ำแป้งเป็นแน่ คุณหญิงจำปาเดินออกมาจากห้องพร้อมกับนั่งกำกับอยู่บนตั่งใหญ่

“ที่ข้าจักสอนออเจ้าในวันนี้เป็นการอบร่ำแป้งดินสอพอง อบร่ำนี่ต้องทำซ้ำๆ สามวันตัวแป้งจักดูดเอากลิ่นหอมเข้าไปทำให้หอมทนแลต้องอบด้วยดอกไม้สดอีกสามวันจักได้หอมยิ่งขึ้นไป ออเจ้าต้องฆ่าชะมดเช็ดด้วยน้ำมะกรูดหรือผิวมะกรูดสับละเอียดลนไฟเพื่อสะตุฆ่าพิษเสียก่อนและให้ชะมดละลายตัวจะได้ผสมกับเครื่องร่ำได้ จะทำให้มีกลิ่นหอมแรงหอมทนยิ่งกว่าเดิม วันนี้ไปถึงสองวันข้างหน้าให้อบร่ำก่อนและข้าจักสอนอบดอกไม้สดอีกที ลองทำสิออเจ้า” (หน้า 358)

 

จากสมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงรอศอ 112 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ในหนังสือเรื่อง “ทวิภพ” ของ “ทมยันตี” เรื่องราวข้ามภพข้ามชาติที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครมานักต่อนัก “เมนี่” หรือ “มณีจันทร์” หญิงสาวหัวสมัยใหม่ (ในปี พ.ศ.2529 ตามหนังสือ) ที่บังเอิญไปรถเสียอยู่หน้าร้านขายของเก่าร้านหนึ่งเข้าและเกิดไปต้องจริตกระจกเก่าบานหนึ่งเลยซื้อกลับมาไว้ที่บ้าน วันหนึ่งฆานประสาทรับกลิ่นของเธอได้กลิ่นหอมบางอย่าง

“บานประตูนั้นยังไม่ทันเปิดออกพอที่จะสะท้อนภาพเจ้าของเสียงไฟก็สว่างวาบ ห้องกระจ่างแบบเดิม ประตูห้องถูกเปิดออก มณีจันทร์ก้าวเข้ามา!

กระจกสะท้อนเงาห้องนอนสาวสมัย

หญิงสาวชะงัก เพราะจมูกดูเหมือนจะได้กลิ่นหอมอวลอยู่จางๆ กลิ่นดอกไม้หอมหวานที่มิใช่กลิ่นของน้ำหอมชนิดใดที่เธอมี กลิ่นที่เธอคิดว่าเคยคุ้นหากนึกไม่ออกว่าดอกอะไร แล้วกลิ่น…ก็จางหายราวกับมิได้กำจายมาสักน้อย” (หน้า 19-20)

เรื่องราวดำเนินผ่านเหตุการณ์ปัจจุบันสลับกับอดีตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่น่าติดตาม (ผ่านการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์) จึงค่อย ๆ เผย “กลิ่น” ที่มณีจันทร์นึกสงสัยและรู้สึกคุ้นเคยมาตลอด

“ระหว่างกระจกบานหนึ่งในห้องนอนของเธอ

และกระจกบานนี้ คือช่วงแห่งกาลเวลา!”

เธอมาได้อย่างไรก็สุดรู้ หากภาพในกระจกคือภาพหนึ่งที่เธอเคยเห็นบ่อยครั้ง คล้ายหนังที่ฉายให้ดูแวบวาบ เธอมา ได้อย่างไร บัดนี้ไม่สำคัญ หากเธอจะกลับ อย่างไรสำคัญกว่า!

มณีจันทร์มองกระจกบานยาวอย่างหมดปัญญา บางทีภาพในโลกที่เธอเคยชินจะปรากฏขึ้นมาบ้างกระมัง…

กลิ่นดอกไม้หอมระรวย

ใช่แล้ว….กลิ่นที่เธอเคยชิน (หน้า 86-87)

นอกจากกระจกข้ามกาลเวลาแล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลิ่นดอกไม้หอมระรวยนี่แหละเป็นสื่อให้ความรู้สึกคุ้นเคยติดตรึงอยู่ในความทรงจำมาเนิ่นนาน หรือเรียกได้ว่ากลิ่นได้นำพาแม่มณีข้ามภพข้ามชาติกลับมาพบรักกับคุณหลวงอัครเทพวรากรก็คงไม่ผิด!

(และจะว่าไป ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 คนโบราณก็ยังนิยมใช้ “กระแจะจันทร์” เป็นน้ำหอม-ลักษณะเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่าดินสอพอง เมื่อจะใช้ต้องนำมาละลายน้ำแล้วค่อยประพรมตามเนื้อตัว เพื่อให้มีกลิ่นหอมติดทนนาน)

 

ข้ามมาอีกฟากฝั่งไกลกว่ารั้วบ้านของเรา ก็มีเรื่องราวของกลิ่นที่ให้ภาพจำบาดลึก บอบช้ำ!

เมื่อกลิ่นที่เคยชินกลับหายไป เพราะผลจากสงครามเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งต้องโยกย้ายออกจาก “กลิ่น” ที่คุ้นเคยมาตลอดชีวิตในหนังสือ “ซองดิว” หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ ของ “ฟิลิปป์ คลอเดล” คงพอจะบอกเราได้ว่าการพลัดถิ่นที่อยู่มันส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจและการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร

“…ชายชราไม่อยากก้าวเท้าออกจากเรือ เพราะมันเป็นการแยกเขาออกจากอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงเขากับแผ่นดินเกิด มีผู้หญิงสองคนมาประคองเขาขึ้นฝั่งราวกับว่าเขาเป็นคนป่วย ชายชรารู้สึกหนาวจัด ท้องฟ้าทึบทึม เขาสูดกลิ่นอายของประเทศใหม่ แต่ไม่ได้กลิ่นอะไรเลย มันไม่มีกลิ่น นี่คือบ้านเมืองที่ไม่มีกลิ่น เขากอดทารกน้อยแนบแน่น กระซิบเพลงใส่หูแก ความจริงนี่คือการร้องเพื่อตัวเองด้วย เพื่อฟังเสียงของตัวเองและเสียงดนตรีของบ้านเกิด” (หน้า 23)

แม้เรื่องนี้จะไม่ได้พูดถึง “น้ำหอม” โดยตรง แต่ผลพวงจากสงครามก็ให้กลิ่นที่ไม่มีใครอยากจดจำ

(ตัวละครที่ถูกผลกระทบจากสงครามอีกคนอย่าง “น้าเฟร็ด” ในเรื่องสั้น “น้าเฟร็ดของผม” ของไฮน์ริช เบิลล์ ตอนแรกแกก็ไม่ได้กลิ่นของชีวิตที่จะดำรงอยู่ กลับมาอยู่บ้านซังกะตายไปวันๆ แต่ “ดอกไม้” ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ ทำให้แกได้กลิ่นของชีวิตและกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งเป็นคนค้าขายดอกไม้-กลิ่นของบ้านเมืองที่ถูกทำลายกลับฟื้นคืนชีวิตด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้ทั่วทุกแห่ง)

 

นวนิยายเรื่องดังที่ไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ “น้ำหอม” ของ “พัททริค ซึสคึนท์”

เรื่องราวของ “เกรอนุย” ที่เกิดมาไม่มีกลิ่นของตัว แต่มีจมูกรับกลิ่นที่ดีเลิศ ทำให้เขาหลงใหลในการอยากมีกลิ่นเป็นของตัวเองและต้องการปรุงน้ำหอมในกลิ่นที่ไม่เหมือนใคร และมันค่อยๆ นำพาเขาถลำลึกลงสู่อำนาจของกลิ่นที่ต้องแลกมาด้วยการสังเวยชีวิตหญิงสาวบริสุทธิ์

การบรรยายของซึสคึนท์นั้นค่อนข้างหว่านรายละเอียดและสำรวจลงลึกในจิตใจเกรอนุยได้มากกว่าในฉบับภาพยนตร์ (โดยภาพรวมหนังก็ทำออกมาได้ลงตัวและปิดฉากด้วยการมั่วกันโดยไม่แบ่งชนชั้นได้อย่างเหยียดเย้ย) มันทำให้เราจินตนาการกลัวตามในสิ่งที่ตัวละครคิด และความคิดของเกรอนุยก็ฝังอยู่ในหัวของเราขณะอ่านตลอดเวลา

เรารับรู้ในสิ่งที่เขากำลังจะทำและเราก็ได้เห็นทุกขั้นตอนที่เขาลงมือทำ ราวกับในหน้ากระดาษโชยออกมาทุกกรุ่นกลิ่นที่เกรอนุยบรรยายออกมา

“กลิ่นพื้นฐานหลายกลิ่นเขาเคยรู้จักมาก่อน จากดอกไม้และเครื่องเทศที่มีขายในตลาดนัด แต่หลายกลิ่นเป็นของใหม่สำหรับเขา เกรอนุยจะสูดกรองเอากลิ่นใหม่นี้จากกลิ่นอื่นที่ผสมคละเคล้ามาและเก็บรักษาเป็นกลิ่นนิรนามในความทรงจำ อย่างเช่น อำพัน ชะมด พัตชูลี กลั่นจากใบไม้ (Pogostemon Patchouli) ไม้จันทน์ เบอร์กามอตต์ (Bergamotte กลั่นจากส้มชนิดหนึ่งในซิซิลี เป็นส่วนผสมของโอเดอโคโลญ) เวทิเวอร์ (Vetiver น้ำมันจากรากไม้ Andropogon Muticatus) ออปโพพานากซ์ (Opopanax น้ำมันหอมจากดอก Opopanax Chironium) เบนเซอ (Benzoe น้ำมันหอมกลั่นจากฝักวานิลลา ชนิดดีที่สุดคือ Siambenzoe ดอกฮอป (Hop ดอกไม้พันธุ์ไม้เลื้อยใช้ปรุงเบียร์) บิเบอร์เกล (Bibergail ภาษาอังกฤษเรียก Castoreum เป็นน้ำมันหอมได้จากต่อมอวัยวะเพศของสัตว์ประเภทบีเวอร์)

“เกรอนุยจะไม่เลือกสรรหรือเปรียบเทียบระหว่างกลิ่น หรือกำหนดเอาว่ากลิ่นเช่นนั้นๆ เป็นกลิ่นดีหรือเลว เขาจะยังไม่จัดประเภทในตอนนี้ เขากระหายใคร่รู้จักกลิ่นเป้าหมายของเขาก็คือ ตามล่าทุกกลิ่นในโลกนี้ เพื่อผนึกบันทึกไว้ในสมอง ความทรงจำ มีเงื่อนไขเพียงว่าจะต้องเป็นกลิ่นแปลกใหม่ที่เขายังไม่รู้จัก กลิ่นของเหงื่อเนื้อตัวม้าสำหรับเขานั้นมีความหมายพอๆ กับกลิ่นเขียวละมุนของกุหลาบที่ผุดยอด กลิ่นหืนฉุนเฉียวของแมลงเล็กนั้น ไม่มีอะไรด้อยไปกว่ากลิ่นเนื้อลูกวัวอบที่ลอยมาจากครัวของผู้ลากมากดี เกรอนุยตะกรุมตะกรามเอาทุกกลิ่นอาย สูดดมเอาทุกกลิ่นนั่นเทียว แล้วสรรค์สร้างปรุงกลิ่นขึ้นใหม่ในห้องครัวแห่งจินตนาการ แต่ยังไม่ประกอบด้วยหลักการแห่งสุนทรีย์ เป็นเพียงการทดลองผสมผสานขึ้นในห้วงนึกแล้วขจัดทำลายไป เหมือนดังเช่นเด็กเล่นต่อของเล่นด้วยความเพลิดเพลินในการสร้างสรรค์ โดยไม่ทราบหลักการแนวทางปฏิบัติ” (หน้า 47-48)

เกรอนุยอาจจะหลงใหลในกลิ่น “เหมือนดังเช่นเด็กเล่นต่อของเล่นด้วยความเพลิดเพลินในการสร้างสรรค์” กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในแนวทางของตน “โดยไม่ทราบหลักการแนวทางปฏิบัติ” คือไม่ได้เป็นเพอร์ฟูเมอร์มืออาชีพที่ศึกษามาโดยตรง แต่เรียนรู้ศาสตร์เรื่องการปรุงน้ำหอมด้วยตัวเองและจำแนกแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

เขาอาจเป็นนักปรุงน้ำหอมชวนฝันร้ายของใครหลายคน แต่ในความร้ายที่เกิดมาจากการถูกทิ้งขว้างมาตั้งแต่เกิด (กำเนิดในกองขยะ) ก็ทำให้เห็นว่าชีวิตของใครคนหนึ่ง หากมีใครสักคนมอบความรัก ดูแลเอาใจใส่ อบรมสั่งสอนไปในทางที่ดี ชีวิตของเขาอาจจะไม่ตกต่ำมากไปกว่านี้ (ดีไม่ดีเกรอนุยอาจจะกลายเป็นนักปรุงน้ำหอมที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของฝรั่งเศสก็เป็นได้) และบทสรุปในเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า

“กลิ่นที่ผู้คนต่างพากันหลงใหลมากที่สุด ก็ทำร้ายคนได้มากที่สุดเช่นกัน”

 

กลิ่นของน้ำหอมจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละชนชาติ (และตามเนื้อตัวของแต่ละคน)

น้ำหอมช่วยให้เรารู้สึกมั่นใจ ผ่อนคลาย และมีความสุข

เราเลือกใช้น้ำหอมเพื่อสร้างเสน่ห์ดึงดูดใจเพศตรงข้าม ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย

น้ำหอมไม่เลือกเพศ (Unisex) แต่เลือกคนใช้และรู้จักใช้อำนาจของมัน

เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราได้ยินกิตติศัพท์เพียงไม่กี่หยดจากมาริลีน มอนโร

คำพูดอมตะของเธอยังกังวานส่งกลิ่นให้เรานึกถึง Chanel No.5 ได้เสมอๆ

นั่นแหละคือเสน่ห์ของน้ำหอมที่เราจะต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง