หลักการสีเหนือเนปาล : อิทธิพลจีนกำลังคุกคามประชาธิปไตยในดินแดนหลังคาโลก?

โลกยุคศตวรรษที่ 21 แม้ผ่านช่วงสงครามเย็นมาเกือบ 3 ทศวรรษ แต่การแข่งขันเพื่อก้าวสู่ประเทศมหาอำนาจของชาติที่มีขีดความสามารถก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหภาพยุโรป รวมถึงจีนและอินเดีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนนั้น ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เห็นการก้าวกระโดดของชาติฝั่งเอเชียจนโดดเด่นและมีบทบาทสำคัญในเวทีทุกระดับ

จีนได้แผ่อิทธิพลผ่านเครื่องมือ กลไกและนโยบายทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไปทั่วทุกมุมโลก

หลายพื้นที่ในแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนได้แผ่อิทธิพลจนถูกมองว่าเป็นพี่ใหญ่ (แม้จะมีข้อพิพาททะเลจีนใต้กับชาติอาเซียนก็ตาม)

ส่วนพื้นที่ในเอเชียใต้ซึ่งอยู่ติดกับจีนหลายประเทศ ยังมีประเทศชั้นนำในภูมิภาคอย่างอินเดีย จีนก็ได้สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือหลายด้าน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศของการร่วมมือกัน จีนมีจุดประสงค์ที่มากกว่าแค่ร่วมมือดั่งมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

เนปาลนับเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน

และเผชิญวังวนทางการเมืองมาระหว่างประชาธิปไตยและราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ จนกระทั่งการลุกฮือของกลุ่มนิยมเหมาในปี 1996 และลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองยืดเยื้อนานถึงปี 2006

ก่อนที่จะยุติลงในห้วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง 2 ปี นำไปสู่การสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ในเนปาลและก่อตั้งสาธารณรัฐเนปาลขึ้นในปี 2008

พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล เป็นพรรครัฐบาลที่ปกครองประเทศในปัจจุบัน ซึ่งก่อตั้งในปี 2018 จากการยุบรวมของ 2 พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนกันแต่ต่างขั้วความคิดระหว่างมาร์กซ์-เลนินกับปีกนิยมเหมา แม้เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย แต่ก็บริหารประเทศด้วยแนวทางประชาธิปไตยแบบสายกลาง

แต่กระนั้น ด้วยความเป็นรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ จึงมีความคล้ายคลึงในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในขณะที่จีนมียุทธศาสตร์ระหว่างประเทศกับประเทศในภูมิภาคนี้ นอกจากอินเดียและปากีสถานแล้ว เนปาลก็เป็นอีกประเทศที่อยู่ในสายตาของจีน

การสร้างสะพานแดงเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองของเนปาลและจีนจึงเริ่มขึ้น

 

แหล่งข่าวระบุว่า คณะผู้นำและเจ้าหน้าที่บริหารกว่า 50 คนจากจีน นำโดยซ้งเต๋า ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เดินทางเยือนถึงกรุงกาฐมาณฑุเพื่อร่วมการเสวนาวิชาการ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศได้เตือนว่า การพบกันของทั้งสองฝ่ายมีอะไรมากกว่านั้น

คณะเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดการอบรม 2 วันให้กับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาลเกี่ยวกับแนวคิดของประธานสีจิ้นผิง โดยมีสมาชิกระดับสูงรวมถึงแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาลเข้าร่วม

นอกจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งจีนและเนปาลได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ 6 ฉบับ ไม่ว่าโครงการแลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนระดับสูงระหว่าง 2 ประเทศ

เพิ่มจำนวนการเยือนเพื่อการฝึกในระดับปฏิบัติงาน

กระตุ้นความร่วมมือในเรื่องการแบ่งปันประสบการณ์และขยายการแลกเปลี่ยนของเยาวชนและผู้นำท้องถิ่น

รวมทั้งกระตุ้นความสัมพันธ์ด้านสารสนเทศ องค์กรประชาสังคมและสื่อระดับประชาชน

เช่นเดียวกับโครงการร่วมในแง่แนวคิดและอุดมการณ์

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญนโยบายต่างประเทศมองว่า การฝึกอบรมภายใต้ “หลักการสี” ถือเป็นสินค้าส่งออกเชิงอุดมการณ์จากรัฐบาลจีนที่พ่วงมากับข้อเสนอในนาม “การพัฒนา”

ในขณะที่บรรดาผู้นำพรรครัฐบาลเนปาลกำลังชื่นชมหลักคิดของสีจิ้นผิง ก็มีเสียงจากฝ่ายการเมืองที่กังวลว่าจะเป็นการครอบงำทางความคิดในหมู่แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์และเปลี่ยนระบบการเมืองให้มีความคล้ายคลึงกับของจีน ซึ่งไม่เพียงทำให้ประชาธิปไตยถูกบั่นทอนเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่ออำนาจอธิปไตยประเทศ

ทั้งนี้ หลักการแบบสี เป็นที่ถกเถียงว่าเป็นระบบพรรคเดียวที่รัฐบาลและกองทัพอยู่ภายใต้คำสั่งพรรค ตรงกันข้ามกับเนปาล รัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตย พหุลักษณ์ หลักสหพันธรัฐ สังคมเปิดและประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และกองทัพเนปาลมีความเป็นมืออาชีพ และพ้นจากการเมือง

ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อนายภีม ราวาล ผู้นำรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกกดดันจากกองทัพในการสร้างความร่วมมือกับจีนและพยายามอย่างไม่ลดละที่จะมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทางการเมืองของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนกับกองทัพเนปาล ซึ่งเป็นแนวทางเพิ่มการร่วมมือทางการเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเนปาล ไม่ว่าโครงการฝึกภาษาจีนให้กับเจ้าหน้าที่กองทัพเนปาล การลงนามข้อตกลงก่อสร้างวิทยาลัยป้องกันประเทศด้วยความช่วยเหลือจากจีน การเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านสวัสดิการโรงเรียนบริเวณพื้นที่สูง

ด้วยความช่วยเหลือจากจีน

 

หากพินิจรูปแบบความร่วมมือภายใต้ชื่อ “การพัฒนา” ที่จีนให้กับเนปาล เช่นเดียวกับหลายประเทศ ถือเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติ อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนต้องการเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับทุกเส้นทางที่พาดผ่านเพื่อการค้าและการลงทุนเพื่อให้จีนสามารถเข้าถึงทุนและทรัพยากรได้ทุกประเทศ

โดยเอกสารจากคณะกรรมาธิการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐอเมริกา-จีน หรือยูเอสซีซี ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2016 ระบุถึงยุทธศาสตร์จีนที่มีต่อเนปาลว่า

“เนปาลนำเสนออีกแง่มุมของการแข่งขันทวิภาคีอย่างต่อเนื่องของจีนกับอินเดีย ต่างจากศรีลังกาและบังกลาเทศ ที่สามารถให้จีนเข้าถึงท่าเรือที่ตั้งอยู่อย่างมียุทธศาสตร์ แต่ประเทศเนปาลเป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อย่างไรก็ตามตำแหน่งที่อยู่ระหว่างทิเบตและอินเดียจนเป็นรัฐกันชนนั้นสำคัญสำหรับจีน แม้จะมีความกังวลกับชาวทิเบตที่ลี้ภัยอยู่เนปาลจนอาจเป็นปัญหากับเขตทิเบตในจีน แต่จีนจะขยายความร่วมมือด้านนี้กับเนปาล

ในแง่เศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้อินเดียมีการค้าขายกับเนปาลมาก

แต่เมื่อปี 2014 จีนกลายเป็นประเทศใหญ่ในตัวเลข FDI สำคัญกับเนปาล บวกกับการพัฒนาในปัจจุบันของเนปาลให้โอกาสจีนชนะอินเดียได้

และจีนมีบทบาทสำคัญในช่วงที่เนปาลเผชิญเหตุแผ่นดินไหวในปี 2015 ทั้งการส่งเชื้อเพลิงและการเปิดเส้นทางการค้า

จนต่อมาเนปาลได้ลงนามข้อตกลงด้านความร่วมมือหลายเรื่อง รวมถึงข้อตกลงในการขนส่งเข้าถึงท่าเรือของจีน”

นายเจมส์ โมริอาตี้ ที่ปรึกษาอาวุโสที่โบเวอร์ กรุ๊ป เอเชียในเวลานั้นได้กล่าวตั้งข้อสังเกตกับคณะกรรมาธิการว่า เมื่อใดรัฐบาลประเทศใดเริ่มประสบความลำบากในความสัมพันธ์กับอินเดีย รัฐบาลนั้นจะเข้าหาความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากจีน

นั่นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาสร้างอิทธิพลในภูมิภาคในขณะที่อินเดียหันไปสนใจกับเรื่องอื่น แต่เมื่อจีนเข้ามามากขึ้น ก็ทำให้อินเดียเปลี่ยนนโยบายจาก “มองตะวันออก” สู่ “รอบบ้านก่อน”

ก่อเกิดภาวะดุลอำนาจคะคานกันระหว่างจีนและอินเดียบนภูมิภาคอนุทวีปแห่งนี้