จักรกฤษณ์ สิริริน : Black Box Thinking คู่มือ “นักบริหาร” ฉบับ “อิเหนา”

นับตั้งแต่ Dr. David Warren ได้ประดิษฐ์คิดค้น “กล่องดำ” หรือ Black Box ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1958

โลกของเรา โดยเฉพาะ “แวดวงการบิน” ก็ได้ใช้ประโยชน์จาก “กล่องดำ” กันมา ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

นำไปสู่การใช้คำว่า Black Box หรือ “กล่องดำ” กันในหลากหลายวงการ โดยส่วนใหญ่มักใช้เป็นคำ “สแลง” ที่หมายถึงข้อสงสัยที่ถูกเก็บไว้มิดชิดอย่างมีเงื่อนงำ

ไปจนถึงการเก็บข้อมูลลับที่อาจใช้เป็นการตลบหลัง Black Mail โดยเฉพาะการสร้างเป็นแนวคิดใหม่ขึ้นมา

นั่นก็คือ “ทฤษฎีกล่องดำ” หรือ Black Box Theory ครับ.

 

“ทฤษฎีกล่องดำ” หมายถึง “กล่องในจินตนาการ” ที่บรรจุความลับอันดำมืดอยู่ภายใน

อันแสดงถึงความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ “ภายนอกกล่องดำ” ที่เต็มไปด้วยความงุนงง-สงสัย พลันเมื่อเกิดปัญหา หรือข้อถกเถียงใดข้อถกเถียงหนึ่งขึ้น

กับสิ่งที่อยู่ “ภายในกล่องดำ” ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความแฝงเร้น-หลบซ่อน เนื่องจาก “คนธรรมดา” มิอาจแกะดูข้อมูลใน “กล่องดำ” นั้นได้

จนกว่าจะมี “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง” เป็นผู้เปิดเผย

กล่าวโดยนัย “ทฤษฎีกล่องดำ” ก็คือ การต่อสู้กันระหว่าง “ความจริง” กับ “ความลับ” ในสถานการณ์ข้อพิพาท ผู้กระทำผิดกลัวการเปิด “กล่องดำ”

ขณะที่อีกฝ่ายก็เร่งวันเร่งคืนที่จะเปิดเผยและตีแผ่ “ข้อมูล” ใน “กล่องดำ” ออกมา

โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน “กล่องดำ” จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สังเกตการณ์และผู้ไขปริศนา “ข้อมูลลับ” จาก “กล่องดำ” นั่นเอง

 

Dr. David Warren เริ่มต้นทำงานเป็นนักวิจัยที่ Aeronautical Research Laboratories หรือ ARL ศูนย์วิจัยด้านการบินของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

โดยในปี ค.ศ.1953 เขาได้เข้าร่วมทีมค้นหาสาเหตุ ว่าเพราะอะไร เครื่องบิน British de Havilland Comet จึงประสบอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ระหว่างที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพเครื่องบินตก ภาพของเครื่องอัดเสียง Miniphon ก็แว้บขึ้นมาในสมองของ Dr. David Warren

Miniphon นั้น คือเครื่องอัดเสียงชนิดพกพาเครื่องแรกของโลกที่ผลิตโดยเยอรมนีครับ

ทำให้เขาเกิดไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าเอา Miniphon ไปใส่ไว้ในห้องนักบิน เราก็จะทราบความเคลื่อนไหวทั้งหมด

ตั้งแต่เครื่องบิน Takeoff จนกระทั่ง Landing

ที่สำคัญก็คือ หากเกิดอุบัติเหตุหรือสิ่งไม่คาดฝันใดๆ อาทิ การจี้เครื่องบิน เราก็จะได้ทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้

Dr. David Warren จึงเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับ Black Box ขึ้นและนำออกตีพิมพ์เผยแพร่ ปรากฏว่าบรรดานักบินทั่วโลกโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

และพากันกล่าวหาเขาว่า Black Box คือความพยายามจะสอดส่องการทำงานของนักบิน เสมือน Big Brother ในวรรณกรรมเรื่อง 1984 ของ George Orwell

อย่างไรก็ดี แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนหรือถูกเพื่อนร่วมวงการล้อเลียนเพียงไร แต่ Dr. David Warren ก็ไม่ล้มเลิกความพยายาม

แถมยังตั้งหน้าตั้งตาสร้าง Black Box เครื่องแรกของโลกขึ้นจนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี ค.ศ.1958 ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

 

แม้ว่าทุกวันนี้คนทั่วโลกต่างรู้จักกับ “กล่องดำ” หรือ Black Box กันอย่างแพร่หลาย

ทว่าผู้คนจำนวนมากอาจไม่ทราบว่า สีของกล่องดำนั้น แท้ที่จริงแล้วมี “สีส้ม” ครับ

เหตุผลก็คือ “กล่องส้ม” นั้นสามารถพบเจอได้ง่ายในซากเครื่องบินตกนั่นเอง

อย่างไรก็ดี Dr. David Warren คล้ายกับ Inventor หรือ “นวัตกร” ระดับโลก รวมถึงศิลปินชื่อก้องหลายคน ที่ทั้งหมดแทบไม่เคยเก็บเกี่ยวประโยชน์โภคผลใดๆ จากสิ่งที่พวกเขาได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเลย

เพราะ Dr. David Warren ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนจากการผลิต “กล่องดำ” แม้สักสตางค์แดงเดียว

แต่เขาก็มักจะพูดเสมอว่า “แค่โลกได้ผลประโยชน์จากสิ่งที่ผมทำก็ OK แล้ว”

 

พูดถึงเรื่องราวของ “กล่องดำ” หรือ Black Box แล้ว มีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

นั่นก็คือหนังสือเล่มที่มีชื่อว่า Black Box Thinking : Why Most People Never Learn from Their Mistakes

แปลเร็วๆ ได้ว่า “คิดแบบกล่องดำ : สำหรับคนที่ไม่เคยยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง”

Black Box Thinking มี 2 เวอร์ชั่นครับ นอกจาก Black Box Thinking : Why Most People Never Learn from Their Mistakes แล้ว ก็ยังมี Black Box Thinking : The Surprising Truth About Success อีกเล่มหนึ่ง

Black Box Thinking (2015) เป็นผลงานการเขียนของ Matthew Syed นักเขียนชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานหนังสือขายดีติดอันดับหลายต่อหลายเล่ม

ไม่ว่าจะเป็น Bounce : Mozart, Federer, Picasso, Beckham, and the science of success (2010) หรือจะเป็น The Greatest : What Sport Teaches Us About Achieving Success (2017) และ You Are Awesome (2018) ล่าสุดสดๆ ร้อน Rebel Ideas : The Power of Diverse Thinking (2019)

Matthew Syed บอกว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเคยล้มลุกคลุกคลาน ทำผิด-คิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น ไม่เล็กก็ใหญ่ ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหลายคนที่มักทำผิดซ้ำๆ ซากๆ ในเรื่องเดิมๆ อยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

“…แน่นอนว่า โลกของเราใบนี้ไม่มี Time Machine ของโดเรมอน ให้เรานั่งย้อนกลับไปแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ นานาในอดีต แต่ผมเชื่อว่าเราเปลี่ยนปัจจุบันได้ และที่สำคัญก็คือ เราเปลี่ยนอนาคตได้…” Matthew Syed กล่าว และว่า

ผมเชื่อว่ามนุษย์สามารถเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตของตนได้เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดซ้ำๆ ซากๆ ในเรื่องเดิมๆ หวนกลับมาอีก หัวใจสำคัญก็คือ เราต้องยอมรับความผิดพลาดเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา

“…การป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ ทำได้ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ล้มเหลวที่ผ่านมา…” Matthew Syed กระชุ่น

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คนเราต้อง “ยอมรับความจริง” ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะ “กล้ายอมรับผิด” ถ้ามนุษย์เราผ่านข้อนี้ไปได้ Black Box Thinking ก็ไม่ใช่เรื่องยาก Matthew Syed สำทับ

“…สร้าง Black Box เล็กๆ ขึ้นในสมองของคุณ เพื่อเก็บบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดพลาด และเปิดมันออกดูด้วยตนเอง พร้อมกับการยอมรับอย่างลูกผู้ชายว่าเราเคยทำพลาด…”

ผมพบว่าคนส่วนใหญ่ทำใจไม่ได้ที่จะยอมรับผิด โดยเฉพาะเรื่อง “ศักดิ์ศรี” หรือถ้ายอมรับแล้วจะ “เสียฟอร์ม” ที่สำคัญ “เลิกโทษคนอื่น” ได้แล้ว Matthew Syed กล่าวและว่า

“…คุณต้องไม่มีอคติโดยเด็ดขาด บันทึกไว้ใน Black Box ด้วยความจริงใจ ตรงไปตรงมา งดเว้นการใส่สีตีไข่ หรือแต่งเติมให้ตนดูดี และต้องเลิกเข้าข้างตัวเองเมื่อทำผิด…”

 

ประเด็นสำคัญก็คือ Black Box Thinking เป็นการคิดแบบ “โทษตัวเอง” ไม่ “โทษคนอื่น” Matthew Syed ย้ำนักย้ำหนา

และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเปิด Black Box ออกมาเพื่อทบทวนตัวตน ก็ควรสังเคราะห์ให้รอบด้าน และสำรวจดูว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของความผิดพลาดเหล่านั้น

“…คุณต้องสาวไปให้ถึงต้นตอของปัญหา และเมื่อพบแล้วก็เร่งหาแนวทางป้องกัน หรือลงมือแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น…”

Matthew Syed ทิ้งท้าย