ชาคริต แก้วทันคำ : ทำไมต้องเป็น “งูตัวอื่น”

“นางบอกกับเขาว่าหมาของนางไม่กัดคนพวกนั้นก่อนหรอก ถ้าหากคนพวกนั้นไม่ตั้งใจจะทำอะไรมัน นางบอกว่ามันเหมือนกับคนนั่นแหละ ถ้ามันโดนทำเยอะๆ มันก็ต้องสู้” (น.54)

ข้อความข้างต้น เป็นคำพูดของนางที่มีต่อเขา เปรียบเทียบชีวิตคนกับสัตว์ เมื่ออยู่ในภาวะ “จนตรอก” ก็ต้องสู้ตามสัญชาตญาณ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่านางและหมาตัวเมียอยู่ในสถานะเพศเดียวกัน อ่อนแอและต้องการเพศ (ผู้) ชายปกป้องดูแล

เมื่อหมาและนางตาย จึงสะท้อนว่าชีวิตของนางและสัตว์ต่างถูกกระทำโดยผู้อื่นอย่างไม่มีทางสู้ ดังนั้น “ถ้ามันโดนทำเยอะๆ มันก็ต้องสู้” จึงเป็นแค่วาทกรรมปลอบตนเองและอาจใช้หลอกผู้อื่นได้ แต่จะชนะและเต็มไปด้วยบาดแผล หรือพ่ายแพ้และต้องยอมจำนนหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “งูตัวอื่น” ของอรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ นักเขียนหนุ่มชาวสุพรรณบุรี

เรื่องสั้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 5 สุสานของความสุข ก่อนถูกนำมาพิมพ์รวมเล่มจำนวนจำกัดใน “เกาะกระต่ายกับเรื่องสั้นอื่น”

โดยจะวิเคราะห์วิธีจัดการความขัดแย้งของตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง และตอบคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นงูตัวอื่น”

เรื่องสั้นนี้ให้ “เขา” เป็นผู้เล่าเรื่องแบบย้อนอดีต ถึงหญิงปากร้าย บุคลิกขวางโลก เลี้ยงหมาตัวเมียเป็นเพื่อน

แต่หมานางดุและชอบวิ่งไล่เห่าคนขี่รถและเดินไปมา จนหมากัดลูกชายเถ้าแก่ไร่อ้อยที่นางมาทำงานรับจ้าง

ลูกชายเถ้าแก่โกรธและขู่ให้นางจัดการกับหมา เถ้าแก่จึงต้องมาไกล่เกลี่ย เมื่อหมานางตาย นางจึงเชื่อว่า “พวกคนรวยแต่ใจดำ” เป็นคนวางยาเบื่อ

เย็นวันหนึ่ง ขณะนางนั่งกินข้าวอยู่หน้าบ้าน มีงูตัวใหญ่เลื้อยผ่าน นางกลัวและวิ่งไปหาเขา เขาจึงรีบมาช่วยและแจ้งหน่วยกู้ภัย แต่ไม่มีงูให้จับ

สุดท้ายนางตายเพราะถูกงูกัด

 

ความขัดแย้ง
และวิธีจัดการความขัดแย้งของตัวละคร

เรื่องสั้น “งูตัวอื่น” ของอรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ สะท้อนความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ได้แก่ นางกับลูกชายเถ้าแก่ที่ถูกหมานางกัด นางกับคู่ผัวเมียคนอีสานที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน โดยจะอธิบายทีละประเด็นควบคู่ไปกับการจัดการความขัดแย้งของตัวละคร

“เขาโกรธนาง พอๆ กับโกรธหมาของนาง เขาเผลอต่อว่านางไป ต่อว่าอย่างที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งจะว่าเด็ก นางร้องไห้… มึงจะให้กูทำอย่างไร มึงจะให้กูทำอย่างไร… แล้วหลังจากนั้น หมานางก็ตาย” (น.51)

ข้อความข้างต้น เถ้าแก่ในฐานะพ่อของหนุ่มน้อยที่ถูกหมานางกัด รู้สึกโกรธนางและหมาของนาง ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเขาโดยตรง นอกจากนี้ในฐานะนายจ้าง เขาจึงมีอำนาจเข้ามาไกล่เกลี่ย และ “ต่อว่าอย่างที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งจะว่าเด็ก”

จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เถ้าแก่เข้ามาไกล่เกลี่ยในฐานะคนกลางที่ต้องมีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง เลือกวิธีจัดการแบบประนีประนอม (compromising) เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เป็นการพบกันครึ่งทาง แม้จะเกิดผลลัพธ์ในลักษณะแพ้-แพ้ ฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บ อีกฝ่ายไม่รู้จะทำยังไง

ปัญหาต่อมา เมื่อนางกับคู่ผัวเมียคนงานอีสานทะเลาะกันเรื่องพวกเขานินทาว่านางกับเขาลักลอบเป็นชู้กัน เถ้าแก่จัดการย้ายนางไปอยู่ที่ใหม่ และสั่งคู่ผัวเมียเลิกพูดเรื่องไม่จริง กรณีนี้มี “เขา” เข้ามาเกี่ยวข้อง และเถ้าแก่ก็เข้ามาจัดการความขัดแย้งแบบประนีประนอม ที่อาจได้รับผลเสียบ้าง คือความไม่พอใจของทั้งสองฝ่าย

จากสองกรณีความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ข้างต้น เถ้าแก่เป็นผู้มีอำนาจในฐานะนายจ้างที่เข้ามาจัดการแบบประนีประนอม เพราะเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวมีความสำคัญไม่มากนัก และมันไม่คุ้มค่ากับการออกแรงเพื่อเอาชนะ

อีกทั้งการจัดการความขัดแย้งแบบนี้ต่างฝ่ายพอจะยอมรับได้ในเวลาที่จำกัด

 

ใครวางยาเบื่อหมา
และทำไมต้องเป็น “งูตัวอื่น”?

“หนุ่มน้อยคนนั้นโกรธและไม่พอใจนางอย่างมาก ข่มขู่ให้นางจัดการหมาของนางเสีย ถ้าหากนางไม่จัดการ ลูกชายเถ้าแก่จะเป็นคนจัดการมันเอง” (น.51)

ข้อความข้างต้น การข่มขู่ของลูกชายเถ้าแก่เกิดขึ้นเพราะความโกรธ ที่สร้างความขัดแย้งภายในใจนางต่อมา เมื่อหมานางถูกวางยาเบื่อตาย นางจึงเชื่อว่าเป็นใครไม่ได้ “นอกจากไอ้สัตว์นั่น ไอ้พวกคนรวยแต่ใจดำ” (น.51)

แท้จริงแล้ว เขาเป็นคนวางยาเบื่อ เหตุผลคือ “เมื่อหมานางไปกัดลูกชายของเถ้าแก่นั่นแหละ เขาจึงโกรธและเข้าไปต่อว่านาง นางเงียบและดูเหมือนว่าจะไม่สนใจสิ่งที่เขาพูด เขาโกรธจัด ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เขาผสมยาฆ่าแมลงกับเนื้อหมู รอจนกลางคืนมาถึง ย่องเอาไปวางไว้ไม่ไกลจากบ้านของนาง” (น.54-55)

อรรถพงษ์สร้างตัวละครหนุ่มน้อยลูกชายเถ้าแก่ให้รับบทผู้ร้ายโดยไม่รู้ตัว แต่ผู้ร้ายตัวจริงคือเขาที่ปรารถนาดีสวมบทพระเอกเพื่อกำจัดต้นเหตุของปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น สะท้อนอีกด้านของความโกรธและหุนหันพลันแล่น มันเป็นความเลือดร้อนที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์อย่างเลือดเย็น แม้เขาจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง แต่ในฐานะคนงานที่เคยเตือนนางให้ดูแลหมาให้ดี การวางยาเบื่อจึงเป็นวิธีจัดการความขัดแย้งภายในใจเขาแบบเอาชนะ (competition)

การทำตามใจตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของผู้อื่น ทำให้เกิดผลลัพธ์ในลักษณะชนะ-แพ้ เขาชนะที่ได้ฆ่าหมา มันจะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีก แต่นางต้องสูญเสียหมาที่รักและซื่อสัตย์ไป

หลังจากหมานางตาย นางดูซึมเศร้า ในใจเต็มไปด้วยความแค้น “มีแต่เดรัจฉานเท่านั้นที่ทำแบบนี้”

จนเมื่องูเลื้อยผ่านหน้านาง ขณะนั่งกินข้าวอยู่หน้าบ้าน นางกลัวและไปขอความช่วยเหลือจากเขา

เขาโทร.ไปหาหน่วยกู้ภัยของหมู่บ้าน และชายกู้ภัยก็มาถึงที่เกิดเหตุล่าช้า นางจึงต่อว่าเขาอย่างรุนแรง ชายกู้ภัยเข้าไปหางูในบ้านถึงสามรอบ แต่ไม่พบ นางโกรธและด่ากู้ภัยอีก แต่ชายกู้ภัยไม่ต่อล้อต่อเถียงและขับรถจากไป

กล่าวได้ว่า ชายกู้ภัยเลือกที่จะหลีกเลี่ยง (avoiding) ไม่สนใจเสียงต่อว่าของนาง เพราะคงเชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป การจัดการความขัดแย้งแบบนี้จะได้ผลลัพธ์ในลักษณะแพ้-แพ้ คือชายกู้ภัยทำงานไม่สำเร็จและลือกจากไป นางกลัวจนกระวนกระวายที่ยังหาและจับงูไม่ได้

“เพื่อจบเรื่องอันวุ่นวาย เขาตัดสินใจเข้าไปในบ้านของนาง หยิบเอาเชือกที่มีใส่กระสอบปุ๋ยแล้ววิ่งออกจากบ้าน ทำทีว่าเขาเจองูแล้ว มันถูกเขาจับไปแล้ว และนางจะปลอดภัย” (น.61)

ข้อความข้างต้น อรรถพงษ์ให้เขาสวมบทพระเอกเข้าจัดการความขัดแย้งต่อจากชายกู้ภัย ด้วยการโกหกจับงูปลอมๆ ให้นางรู้สึกคลายกังวล เป็นวิธีจัดการความขัดแย้งแบบเอาชนะ มุ่งเอาแต่ใจตนเองว่า “ไม่มีทางออก” ซึ่งส่งผลเสียในเวลาต่อมา เมื่อนางถูกงูกัดตาย

จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นนี้ มีทั้งความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่ถูกจัดการแบบประนีประนอม สะท้อนวุฒิภาวะทางอารณ์และการวางตัวของเถ้าแก่ ส่วนความขัดแย้งภายในใจเขา ทั้งความโกรธและอยากตัดปัญหา เป็นวิธีจัดการแบบเอาชนะ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล โดยที่เขาคิดและมั่นใจว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

เรื่องสั้น “งูตัวอื่น” ของอรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ ต้องการสื่ออารมณ์โกรธและกลัวในหัวใจมนุษย์ผ่านพฤติกรรมของตัวละครกับการจัดการความขัดแย้งเชิงจิตวิทยา อาศัยการเล่าย้อน ค่อยๆ ให้รายละเอียดเรื่องราวที่เกิดขึ้น

แม้โครงเรื่องจะไม่หวือหวา แต่ใช้ความเรียบง่ายหลอกล่อให้ผู้อ่านเข้าถึงแก่นเรื่อง

อาจมีปัญหาในการใช้ภาษา เรียบเรียงประโยคและขาดรายละเอียดของสีสันบรรยากาศไปบ้าง รวมถึงความลักลั่นในการใช้สรรพนามแทนตัวละครด้วย

“น่าจะเป็นงูตัวอื่น” (น.61) เป็นคำพูดของชายกู้ภัยที่เขาจับใจความได้เท่านั้น

ทำไมต้องเป็น “งูตัวอื่น” คำพูดนี้น่าขบคิด มันเป็นคำแก้ตัวของชายกู้ภัยที่ไม่ใส่ใจจะจับงูให้ได้ จึงป้ายความผิดให้งูว่าเป็นตัวอื่นที่กัดนางตาย ไม่ใช่งูตัวใหญ่ที่นางเห็นและกลัว

นอกจากนี้ “น่าจะเป็นงูตัวอื่น” ยังเป็นคำพูดที่กู้ความรู้สึกผิดบาปของเขาว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้นางถูกงูกัดตาย และการที่ชายกู้ภัยหันมาพูดกับเขา อาจเป็นการมองหาผู้สมคบคิด เพราะคนทั้งสองมองไม่เห็นปัญหาทางจิตที่เกิดขึ้นกับนาง เพราะภาพของนางเป็นคนปากร้าย บุคลิกขวางโลก หัวแข็งและไม่ยอมรับฟัง สติไม่สมประกอบ ที่อรรถพงษ์สร้างขึ้นมาเป็นเกราะป้องตัวตนคนเดียวของนาง จนนางถูกกีดกันและกลายเป็น “คนอื่น” (the others) ในสายตาของสังคม

ดังนั้น งูตัวใหญ่ที่เลื้อยผ่านหน้านาง มันไม่ได้เข้าไปในบ้าน และมันอาจมีจริงหรือไม่จริงก็ได้

งูในที่นี้จึงเป็นภาพแทนความกลัวที่นางเผชิญหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจากความร้ายกาจของมนุษย์ด้วยกันเอง

โดยเฉพาะเขาที่ “เลือดเย็น” กระทำต่อชีวิตของนาง ผู้หญิงพลัดถิ่นคนหนึ่งซึ่งไม่มีที่พึ่งหรือทางสู้อย่างไม่สะทกสะท้านใจ

——————————————————————–
บรรณานุกรม
รัตติกา กรรณิกา. (2559). ความขัดแย้งของตัวละครในวรรณกรรมซีไรต์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ. (2561). “งูตัวอื่น”. ใน เกาะกระต่ายกับเรื่องสั้นอื่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิมพ์สวย, 50-61.