จักรกฤษณ์ สิริริน : บำบัดอาการ Post-Vacation Blues วิกฤต “ซึมเศร้า” หลังหยุดยาว

ขอต้อนรับมนุษย์เงินเดือนกลับเข้าสู่รายการปกติของทางสถานี คือหมดโปรวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ต้องกลับเข้าออฟฟิศไปนั่งทำงานที่รักกันเหมือนเดิมแล้วนะครับ ฮิๆ

ส่วนคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปก็จะกลับเข้าสู่โหมดการทำมาหากินกันตามปกติเช่นเดียวกัน เมื่อบริษัทห้างร้านทั้งหลายได้เปิดทำการหลังปีใหม่ การค้าการขายและงานบริการก็เดินหน้าต่อ

พูดถึงวันหยุด Long Weekend หรือ Vacation แล้ว ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านเคยมีอาการเหล่านี้บ้างไหมครับ หลังวันหยุดต่อเนื่องยาวๆ หลายๆ วัน บางครั้งก็เป็นสัปดาห์ อาการที่ว่าก็มีตั้งแต่ขี้เกียจสันหลังยาว สมองเบลอ กล้ามเนื้อเฉา จิตหดหู่ ใจห่อเหี่ยว ซึมๆ เซาๆ ไปจนถึง “ซึมเศร้า”

ฝรั่งเรียกอาการเหล่านี้ว่า Post-Vacation Blues ครับ

นอกจาก Post-Vacation Blues ยังมีคำเรียก “ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว” อีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Post Travel Depression หรือ Post-Vacation Syndrome

 

ในทางการแพทย์แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Post-Vacation Blues หรือ Post Travel Depression และ Post-Vacation Syndrome คือการลดระดับอย่างเฉียบพลันของฮอร์โมน Endorphin ครับ

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า Endorphin คือสารสื่อประสาทที่มนุษย์ผลิตขึ้นเองผ่านระบบประสาทส่วนกลางร่วมกับต่อมใต้สมอง

โดยร่างกายจะปล่อยสารนี้ออกมาเพื่อตอบสนองความเจ็บปวดและยับยั้งความเครียด ดังนั้น เมื่อมีการหลั่ง Endorphin เราจะเกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม อิ่มอกอิ่มใจ และมีความสุข

ก็เมื่อเราไปหลั่ง Endorphin ด้วยการ Hangout หรือ Chill ในเทศกาลหยุดยาวกันมาอย่างเต็มคราบ และเมื่อหมดโปร Long Weekend ฉับพลันเราต้องพาร่างกลับเข้าโหมดการทำงาน เมื่อนั้น Endorphin จึงลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายคน “ซึมเศร้า” นั่นเอง

ก็แหม ยัง Selfie และชิมช้อปใช้อย่างสุดเหวี่ยงกันอยู่ไม่กี่วัน จู่ๆ ต้องกลับมานั่งจ๋องหน้าคอมพ์ในออฟฟิศอีกแล้ว จะไม่ให้ Endorphin หดแห้งอย่างกะทันหันได้อย่างไร

ดังนั้น จาก Post Travel Depression หลายคนจึงกลายเป็น Major Depression Disorder หรือ “โรคซึมเศร้า” กันโดยไม่ทันตั้งตัวนั่นเองครับ

 

มีผู้อ่านท่านหนึ่งเขียนจดหมายมาหาบรรณาธิการสำนักข่าว CNN เล่ายาวเหยียดถึงอาการ Post-Vacation Blues ทำนองตัดพ้อ ไม่เพียงประสบกับ “ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว” แต่ลุกลามไปถึงขั้น “เบื่อหน่ายชีวิต” เอาเลยทีเดียว!

“เมื่อวันหยุดยาวผ่านไป ผมต้องกลับมาใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนอีกแล้ว ปลุกนาฬิกา ชงกาแฟ แต่งตัว โหนรถเมล์ นั่งหน้าคอมพ์ กินข้าวเที่ยง ประชุม อาหารเย็น ก๊ง กลับบ้าน อาบน้ำ นอน วนเวียนอยู่อย่างนี้ กว่าจะถึง Long Weekend หน้า พระเจ้า! ท่านไม่รักลูกคนนี้สักนิด”

บ.ก. ไม่ตอบคำถามตรงๆ แต่แนะนำให้ไปอ่านบทความของ Jen Christensen

เธอว่างี้ครับ

“วันแรกของการทำงานหลังหยุดยาว ก็เหมือนกับทุกๆ เช้าวันจันทร์นั่นแหละ ขี้เกียจสันหลังยาว สมองเบลอ กล้ามเนื้อเฉา จิตหดหู่ ใจห่อเหี่ยว ซึมๆ เซาๆ ไปจนถึง “ซึมเศร้า” เป็นกันทุกคนนะจ๊ะ มากน้อยต่างกันไปตามวุฒิภาวะ” Jen กระชุ่น

“วันแรกของการกลับมาทำงานนั้นยากเสมอ เมื่อคุณได้ปลดปล่อยร่างกายและจิตวิญญาณไปกับวันหยุด แล้วอยู่ๆ ต้องถูกกระชากความรู้สึกกลับมานั่งทำงานเป็นหุ่นยนต์แบบนี้” Jen ว่า

ศาสตราจารย์ Dr. Angelos Halaris ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ประสาทวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย Loyola กล่าวว่า Post-Vacation Blues นั้น เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เฉพาะผู้ใหญ่วัยทำงาน

“มีผลการวิจัยมากมายทีเดียวที่พบว่า ภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่นจำนวนมากที่รู้สึกเซ็งกับชีวิต ไม่น้อยไปกว่าบรรดามนุษย์เงินเดือนเลย คุณอย่าลืมว่า เด็กๆ น่ะ มีวันหยุดที่ยาวนานกว่าผู้ใหญ่ ก็ช่วงปิดเทอมยังไงล่ะ” Dr. Angelos กล่าว และว่า

“ไม่มีใครในโลกสามารถเปลี่ยนแปลงวัฏจักรชีวิตแบบนี้ได้หรอก เพราะมันคือการเชื่อมโยงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดเข้าด้วยกัน ผมจึงไม่แปลกใจ ที่วัยรุ่นจะเป็นโรคซึมเศร้าตอนเปิดเทอมเหมือนที่พวกผู้ใหญ่ได้เจอกับ Post-Vacation Blues”

 

ศาสตราจารย์ Dr. Randy Hillard ผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตเวชจากมหาวิทยาลัย Michigan State สำทับว่า แม้คุณจะมีความสุขมากแค่ไหนก็ตามในช่วงคริสต์มาส แต่หลังปีใหม่ คุณก็ต้องกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอยู่ดี

“ผลการวิจัยจำนวนไม่น้อยที่บอกกับเราว่า หลายคนที่จมจ่อมอยู่กับคริสต์มาส แม้จะรู้ว่ามันจะต้องผ่านไป แล้วก็จะวนมาใหม่เช่นนี้ทุกปี แต่พวกเขาก็ยังไม่วายคิดว่าซานต้าจะเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการมาให้ตลอดไป โดยเฉพาะวันหยุดที่ดีแบบนี้” Dr. Randy กล่าว และว่า

“ในความเป็นจริงก็คือ โลกไม่ได้สวยแบบนี้น่ะสิ ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะรับมือและดำเนินชีวิตปกติต่อไปได้อย่างไร เมื่อวันหยุดยาวสิ้นสุดลง มีหลายคนที่ทำใจได้ และหลายคนก็ทำใจไม่ได้ เป็นธรรมดาของโลก”

Dr. Randy ทิ้งท้าย

 

Jen Christensen แนะนำว่า หลังกลับจากหยุดยาว ฮอร์โมน Endorphin ลดได้ก็เพิ่มได้ อยากให้คุณลองปรับทัศนคติเสียใหม่ ว่า อีก Long Weekend กำลังจะเดินทางมาถึง อดทนไว้ เดี๋ยว Vacation ในฝันก็จะวนกลับมาแล้ว

“ลองพลิกมุมคิดใหม่ ว่าอีกไม่นานวันหยุดสุดหรรษาต้อง U-Turn กลับมาแน่ ถ้าเรามีวิธีคิดแบบนี้ เพียงเท่านั้น ฉันคิดว่า Endorphin ของคุณคงจะไม่ลดลงไปมากกว่านี้แล้วล่ะ” Jen บอก

Dr. Angelos Halaris ชี้ว่า เวลาที่วันหยุดยาวอยู่ในมือ คุณต้องไม่ใช้มันอย่างหนักหน่วงเกินไปนัก พยายามรักษาสมดุลเข้าไว้ ทะนุถนอมมัน ทุกอย่างที่ทำต้องตั้งอยู่บนความพอดี

“ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าคุณจะสนุกอย่างสุดเหวี่ยงกับวันหยุดยาว แต่อยากให้เผื่อใจ ว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา คุณต้อง Balance ให้ได้ ระหว่างการทำงานกับวันพักผ่อน เดินสายกลางดีที่สุด” Dr. Angelos กล่าว

เช่นเดียวกับ Dr. Randy Hillard ที่กล่าวว่า ทางแก้ที่ดีสำหรับ Post-Vacation Blues ก็คือ ให้คุณสร้างสภาพแวดล้อมทุกๆ วัน ให้เหมือนกับวันหยุดยาว

“นี่เป็นคำแนะนำที่ฉันบอกกับหลายๆ คน แม้ว่าคุณจะต้องจมจ่อมอยู่ในสำนักงานอันน่าเบื่อ ลอง Set ฉากสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ รอบโต๊ะทำงาน เขย่าบรรยากาศให้เหมือนกับเรากำลังพักผ่อนช่วง Long Weekend” Dr. Randy กล่าว และว่า

“เอารูปที่ไปเที่ยวมาใส่กรอบเล็กๆ ตั้งไว้บนโต๊ะหลายๆ อัน เอาของที่ระลึกต่างๆ ที่ซื้อมาในวันหยุดวางเอาไว้ด้วย และอย่าลืมเปลี่ยน Wallpaper หน้าคอมพ์ ให้เป็นภาพสุดหรรษาในช่วง Vacation ที่ผ่านมา” Dr. Randy สรุป

Jen Christensen ปิดท้ายว่า ทันทีที่กลับมาจากเที่ยวยาว ให้รีบจองโรงแรมสำหรับวันหยุดครั้งถัดไป นี่เป็นแรงจูงใจชั้นดีที่จะกระตุ้น Endorphin ของคุณให้สูบฉีดอีกครั้ง

เพียงเท่านี้ พวกเราก็จะห่างไกลจากคำว่า Post-Vacation Blues อย่างแน่นอน!