ชาคริต แก้วทันคำ : “วิกฤตความเป็นชาย” ในเรื่องสั้นของศิริ มะลิแย้ม

เรื่องสั้นรับเชิญเรื่อง “ปรียา” ของศิริ มะลิแย้ม ตีพิมพ์ใน “การผลิบานในหัวใจ” รวมเรื่องสั้น บทกวี และข้อเขียนอื่นๆ ในวาระครบรอบ 83 ปี โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง มีวัชรินทร์ จันทร์ชนะ เป็นบรรณาธิการ

ศิริ มะลิแย้ม เป็นนามปากกาของนักเขียนหนุ่มจากสระบุรี เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เรื่องสั้น “รางวัลมติชน” ปีที่ 4 (2558) รางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2 (2560) รางวัลชนะเลิศ Indy Short Story Award ครั้งที่ 2 (2560) เป็นต้น

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “ปรียา” ของศิริ มะลิแย้ม โดยจะวิเคราะห์สัญลักษณ์ที่ปรากฏในเรื่องว่าเกี่ยวข้องกับอุดมคติความรัก และส่งผลต่อวิกฤตความเป็นชายของตัวละครอย่างไร

เรื่องสั้นนี้เล่าว่า เขาและปรียาเพื่อนร่วมงานเข้าพักที่รีสอร์ตริมน้ำแห่งหนึ่ง สถานที่ที่เขาเคยพากานดาหญิงสาวผู้เป็นที่รักมาพักเมื่อปีก่อน

เป็นการเล่าย้อนความทรงจำผ่านความคิดและการกระทำของตัวละครบนความสัมพันธ์ฉันชู้สาว

แต่เขากลับไม่ลืมกานดา แม้ขณะร่วมรักกับปรียา เห็นใบหน้า “เดี๋ยวกานดา เดี๋ยวปรียา ไม่รู้รักหรือใคร่”

สุดท้ายผู้หญิงทั้งสองคนก็จากเขาไป

 

จักรยานกับอุดมคติ
ความรักที่กลับไปได้ ไปไม่ถึง

คํ่านั้นฝนตก เขาและปรียาเพื่อนร่วมงานเข้าพักที่รีสอร์ตริมน้ำแห่งหนึ่ง เขาเลือกห้องพักด้านหลังสุด ห้องเดิมที่เคยมาพักกับกานดา แต่บัดนี้เธอจากไปแล้ว

ปรียาถามเขาเกี่ยวกับจักรยานคันสีขาวที่เขาจ้องมองมัน จักรยานคันที่กานดาเคยโพสต์ท่าถ่ายรูป แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น

แล้วเขาก็พรั่งพรูเรื่องราวในอดีตให้เธอฟังว่า ที่บ้านเกิดมีจักรยานอยู่คันหนึ่งที่แม่ของเขาแขวนมันไว้ใต้ถุนบ้าน ไม่ยอมให้เขานำไปชั่งกิโลขาย เพราะมันเป็นจักรยานคันที่พ่อขี่พาแม่ซ้อนท้ายจากอยุธยาบ้านเกิดแม่มาถึงบ้านพ่อ เพื่อพาแม่มารู้จักปู่กับย่าของเขา

“คุณรู้ไหม พ่อกับแม่ผมรักกันมาก ไม่เคยมีใครทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียใจเลย จนพ่อตายจากไปแล้ว ทุกวันนี้แม่ยังทำเหมือนพ่อยังอยู่ แม่พูดกับรูปถ่ายพ่อก่อนเข้านอนทุกวันเลยนะ แล้วแม่ก็สอนผมอยู่เสมอว่าให้เอาอย่างพ่อ อย่าทำให้คนรักเสียใจ และให้พยายามประคับประคองรักให้อยู่เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ให้ได้เหมือนพ่อกับแม่…” (น.192)

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสความคิดเกี่ยวกับคำสอนของแม่ที่มีต่อเขาหลังพ่อตาย คำสอนดังกล่าวเป็นความคาดหวังของแม่ที่ต้องการให้ลูกยึดมั่นกับอุดมคติความรักแบบผัวเดียวเมียเดียว เหมือนคู่ของพ่อกับแม่ ครั้งที่พ่อขี่จักรยานพาแม่ซ้อนท้ายจากบ้านเกิดมาบ้านพ่อ จักรยานจึงเป็นสัญลักษณ์ของพาหนะและภาพแทน ที่นำคนทั้งสองให้สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ในเวลาต่อมา

จะเห็นได้ว่า การใช้จักรยานเป็นสัญลักษณ์สื่ออุดมคติความรักในเรื่องสั้นนี้แล้ว ยังเกิดการปะทะกันทางความคิดระหว่างยุคสมัยของคนรุ่นพ่อแม่ (สังคมเกษตรกรรม/หัวโบราณ) กับคนรุ่นลูก (สังคมทุนนิยม/หัวสมัยใหม่) ที่อุดมคติความรักดังกล่าวกลายเป็นอุดม (มายา) คติความรักและกามารมณ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่

ดังนั้น เมื่อกานดาเลือกจากไป คงเปรียบได้กับจักรยานคันสีขาวที่จอดนิ่ง ไม่มีใครขี่ เป็นเพียงสิ่งประดับให้ยืนโพสต์ท่าถ่ายรูปเท่านั้น

ทำให้ความรักและความพยายามประคับประคองครอบครัวที่เคยสมบูรณ์ของเขาไม่สามารถกลับไปเป็นอย่างเก่า และมันก็ไม่อาจไปถึงความคาดหวังหรือแบบอย่างอุดมคติความรักของคนรุ่นพ่อแม่ที่ถูกสั่งสอนอยู่เสมอได้เช่นเดียวกัน

เขาจึงกลายเป็นคนโดดเดี่ยว โหยหาความรักที่มีต่อกานดา

จนมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับปรียา ซึ่งเธอมีลูกสาวและสามีอยู่แล้ว

 

วิกฤตความเป็นชายคืออะไร

บทบาททางเพศแบ่งชายและหญิงออกจากกันผ่านเงื่อนไขทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเพศ ฮอร์โมน ระบบการทำงานของร่างกาย รวมไปถึงสัญชาตญาณทางเพศที่ทำให้มนุษย์เพศชายและหญิงแสดงพฤติกรรม อารมณ์ และตัวตนแตกต่างไม่เหมือนกัน

ความเป็นชายเกิดจากสมมติฐานที่ว่า เอกลักษณ์ทางเพศเป็นสิ่งถาวรไม่เปลี่ยนแปลง การทำหน้าที่ทางสังคมของผู้ชาย เช่น หัวหน้าครอบครัว สามี พ่อหรือผู้นำจะต้องมีความแข็งแรง กล้าหาญ ไม่อ่อนแอ ตรงกันข้ามกับบทบาทของผู้หญิงอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นมายาคติที่ถ่ายทอดจากอดีตถึงปัจจุบันในทุกสังคม และทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

ไทวิกา อิงสันเทียะ (2555 : 59) กล่าวว่า “วิกฤตความเป็นชาย คือภาวะที่เกิดความสับสน เนื่องจากกฎเกณฑ์การแบ่งแยก การจำแนก รวมถึงบทบาทค่านิยม ความเชื่อแบบเดิมๆ กำลังล่มสลาย แก่นแท้ของสิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวกำลังถูกเผยให้เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ผู้ชายจึงเกิดความไม่เข้าใจ สับสน เริ่มตั้งคำถาม เพราะไม่สามารถสวมบทบาทที่เหมาะสม เพื่อให้ความเป็นชายของตนเป็นที่ยอมรับแก่สังคม เพราะไม่รู้ว่าความเป็นชายที่แท้คืออะไร”

หลังจากเขาพรั่งพรูอดีตเกี่ยวกับกานดาให้ปรียาฟัง เธอพยายามปลอบเขา เมื่อบรรยากาศเป็นใจและเขาเมา ทั้งสองจึงร่วมรักกัน

ในขณะที่ต่างฝ่ายเปลือยกายกอดเกี่ยว “ดวงหน้าของปรียาเข้ามาแทนที่ เดี๋ยวกานดา เดี๋ยวปรียา ไม่รู้รักหรือใคร่” (น.194)

ทำให้เรื่องสั้นนี้ออกแนวพาฝัน กล่าวคือ พาให้เขาต้องฝันซ้ำๆ อยู่กับเรื่องราวคนรักเก่า ที่อาจถูกมองว่าความรักมีความเกี่ยวเนื่องกับกามารมณ์ เพราะมันเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก

“อย่าพูดถึงใครตอนนี้เลย คุณควรใช้เวลาตรงนี้ให้คุ้มที่สุด

ยังไงเหรอ

ฉันบอกพี่เปี๊ยกว่า วันนี้มีงานด่วนต้องไปพบลูกค้าอีกวัน

ชายหนุ่มพยักหน้าน้อยๆ ส่งสายตาให้ปรียาด้วยยินดี จากนั้นก็พลันลดสายตาลง เก็บซ่อนสายตาอันชวนห่อเหี่ยวไว้กับถ้วยข้าวต้ม

เขานึกถึงกานดาขึ้นมาในนาทีนั้น ครั้งหนึ่งกานดาก็เคยบอกกับเขาเช่นนี้” (น.195)

 

ข้อความข้างต้น เป็นบทสนทนาหลังจากปรียาโทรคุยกับสามีและอ้างว่ามีงานด่วน กับย่อหน้าสุดท้ายที่เป็นกระแสความคิดในตอนจบของเรื่องสั้นนี้ที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เมื่อ “ครั้งหนึ่งกานดาก็เคยบอกเขาเช่นนี้”

ซึ่งย้ำเตือนว่าเขาควรใช้เวลากับเธอตรงนี้ให้คุ้มที่สุด แสดงให้เห็นภาวะ “หน้าชื่นอกตรม” เพราะแทนที่เขาจะดีใจที่จะได้อยู่กับปรียาต่อ แต่กลับรู้สึกห่อเหี่ยว

มันเป็นอาการที่เรียกว่า “วิกฤตความเป็นชาย” สะท้อนความอ่อนแอ ไม่เป็นผู้นำ ต้องคล้อยตามปรียา

และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำด้วยข้ออ้างเดิม ยิ่งตอกย้ำสภาวะไร้อำนาจ ไร้ความหมายในชีวิตของเขา ให้เผชิญหน้ากับวิกฤตความเป็นชายภายใต้อุดมคติความรักที่ถูกคนรุ่นพ่อแม่ปลูกฝัง สั่งสอน และคาดหวัง

เช่น “พี่เปี๊ยกน่ะ โทร.มาปลุกแต่เช้า บอกว่ากำลังจะออกไปส่งลูกสาวไปเรียนพิเศษ พี่เปี๊ยกดูท่าทางสุภาพเนอะ และดูรักคุณมาก ครอบครัวคุณคงอบอุ่นน่าดู” (น.195)

มันสะท้อนให้เขาเห็นว่า ตัวเขาไม่ได้ทำหน้าที่พ่อและสามีที่ดี

สถานการณ์เปรียบเทียบดังกล่าวจึงตอกย้ำว่า ความเป็นชายของเขาอยู่ในบทบาทที่ไม่เหมาะสม

ซึ่งอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงกลับไปใช้ชีวิตกับกานดาไม่ได้ และไม่อาจไปต่อกับปรียาซึ่งมีครอบครัวที่อบอุ่นอยู่แล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ การที่เขาและปรียาเพื่อนร่วมงานมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวที่รีสอร์ตริมน้ำ โดยอ้างเรื่องงานด่วน ต้องพบลูกค้า สะท้อนกามารณ์ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่เปิดช่องให้ทุกคนมีโอกาสหลุดพ้นจากวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งภาระการงานในสำนักงานหรือภาระการดูแลลูกและสามีของปรียา

กลายเป็นความเพลิดเพลินที่พวกเขาจะได้ปลดเปลื้องตัวเองหรือหลบหนีออกจากกฎเกณฑ์ของสังคม หรืออุดมคติความรักแบบครอบครัวสมบูรณ์ ผัวเดียวเมียเดียว หรือความเชื่อที่ว่า “อย่าทำให้คนรักเสียใจ”

เรื่องสั้น “ปรียา” ของศิริ มะลิแย้ม มีความเป็นเรื่องแต่งในเรื่องแต่ง หมายความว่าเป็นเรื่องแต่งที่ถูกปรุงแต่งมากเกินไป สังเกตได้ตั้งแต่ย่อหน้าเปิดเรื่องที่มีการประดิดประดอยถ้อยคำอย่างจงใจ จนกลายเป็นสูตรสำเร็จแบบงานขนบเรื่องสั้นแนวสัจนิยม

ภาพรวมของเรื่องสั้นนี้ไม่มีอะไรโดดเด่น นอกจากย่อหน้าตอนจบของเรื่อง ที่ศิริ มะลิแย้ม สามารถพลิกเหตุการณ์ในเรื่องให้ต่างออกไปจากความรับรู้ของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ปกติผู้หญิงมักเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือยอมจำนน แต่เรื่องสั้นนี้เขากลับต้องคล้อยตามปรียา

จน “เขานึกถึงกานดาขึ้นมาในนาทีนั้น ครั้งหนึ่งกานดาก็เคยบอกกับเขาเช่นนี้”

เมื่ออ่านเรื่องสั้น “ปรียา” ของศิริ มะลิแย้ม อย่างพิเคราะห์แล้ว สารัตถะของเรื่องไม่ถึงขนาดรื้อสร้างมายาคติความเป็นชายหรือโต้กลับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เสียทีเดียว

มันเป็นเพียงเรื่องแต่งที่เล่าถึงความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างชายหญิงเพื่อนร่วมงานในลักษณะผิดทำนองคลองธรรมแบบโหยหาพาฝันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภาพเสนอความเป็นชายที่กลายเป็นวิกฤตในเรื่องสั้นนี้ ได้แสดงให้เห็นภาวะความโดดเดี่ยว และโหยหาความสัมพันธ์ที่สูญหายไปของตัวละครจนไม่อาจมีปฏิสัมพันธ์กับผู้หญิงคนไหนได้อย่างชัดเจน เปิดเผย ทั้งๆ ที่บทบาทของผู้ชายจะต้องมีอำนาจ เป็นผู้นำหรือหัวหน้ารอบครัว แต่เขากลับไม่มีลักษณะของความเป็นชายดังกล่าวเลย จึงสะท้อนได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างเขากับกานดาและปรียาอยู่ในสถานะที่ไม่อาจสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ อบอุ่นและมีความสุขเป็นของตนเองได้นั่นเอง

ดังนั้น ตัวละครจึงต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม “เก็บซ่อนสายตาอันชวนห่อเหี่ยวไว้กับถ้วยข้าวต้ม” และความคาดหวังจากผู้หญิง “คุณควรใช้เวลาตรงนี้ให้คุ้มที่สุด” อยู่เรื่อยไป

———————————————————————————————————
บรรณานุกรม – ไทวิกา อิงสันเทียะ. (2555). บริโภคนิยมและวิกฤตความเป็นชายในนวนิยายอเมริกันร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ศิริ มะลิแย้ม (นามแฝง). (2562). “ปรียา”. ใน การผลิบานในหัวใจ. พัทลุง : นกเช้า, 187-195.