พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ / “ตะเกียงชีวิต” (1) : รากกำเนิดแดนสารคาม

บทนำ

องค์ประกอบของการดำเนินชีวิตคือจักต้องมีตะเกียงชีวิตของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดแสงสว่างส่องทางไปสู่ที่หมายหรือบรรลุจุดสุดยอดปรารถนาของชีวิต คือความสุขกาย สบายใจ

ตะเกียงจะสว่างได้ก็ด้วยมีน้ำมัน หรือมีแหล่งพลังงาน

ความสว่างของตะเกียงขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

ภายในคือ น้ำมันหรือพลังงานของตะเกียง ไส้ตะเกียง

และภายนอกคือ สิ่งแวดล้อมของตะเกียง

ถ้าตะเกียงมีน้ำมัน และแหล่งน้ำมันเพียงพอ มีไส้ตะเกียงที่ยาวพอ จุดตะเกียงอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ดีไม่มีฝนตก หรือลมพัดแรงมากระทบ ตะเกียงนั้นย่อมสว่างไสวได้ทั้งระยะเวลาและระยะทาง

ในทางตรงกันข้าม หากตะเกียงไร้น้ำมันและไส้ด้วย อีกทั้งอยู่ในภาวะที่ลมฟ้าอากาศแปรปรวน ตะเกียงนั้นก็จะมีแสงริบหรี่ มืดสลัว

ถึงกับดับไปในที่สุด

 

ชีวิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกับตะเกียง หรือเรียกอีกอย่างว่า ตะเกียงชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีมืด มีสว่าง ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในหรือพลังดั้งเดิมที่ตกทอดมาจากบรรพชนของบิดาและมารดา หรือที่เรียกว่า “ราก” และปัจจัยภายนอกอันได้แก่ กระบวนการอบรมบ่มนิสัยจากสถาบันต่างๆ

นอกจากสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาแล้ว สถาบันศาสนานับว่ามีความสำคัญมากต่อการอบรมบ่มนิสัยของมนุษยชาติ

ศาสนาเป็นระบบความเชื่อว่าใครก็ตามที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาแล้วผู้นั้นจะรู้สึกบรรเทาและผ่อนคลายจากความทุกข์ อันเกิดจากความตาย และความดับสูญในทุกๆ เรื่องลงได้

ศาสนาฮินดู มีหลักธรรมว่า พระพรหมเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตมนุษย์

แต่ศาสนาพุทธ เชื่อในกฎแห่งกรรม ทำดีย่อมได้ดี สรรพสิ่งที่เป็นผลย่อมเกิดจากเหตุ หรือเรียกง่ายๆ ว่า เหตุทำให้เกิดผล เมล็ดพันธุ์พืชที่ปลูกลงไปในดิน ถ้าหมั่นรดน้ำพรวนดิน และได้สภาวะที่เหมาะสม จะปฏิสนธิและพัฒนางอกออกมาเป็นต้นกล้า จะเป็นต้นไม้ชนิดใดขึ้นอยู่กับชนิดของเมล็ดพันธุ์

ถ้าเอาเมล็ดมะนาวมาปลูกก็จะได้ต้นมะนาว ต้นมะนาวที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดีในไม่ช้าก็จะได้ดอกได้ผล เป็นผลมะนาวที่มีลักษณะกลมเกลี้ยง โดยไม่มีผู้ใดไปเกลาไปกลึง ปลูกมะนาวก็ย่อมได้ต้นได้ผลมะนาว

ชีวิตของผม หรือตะเกียงชีวิตของผมก็ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติดังกล่าวแล้ว

 

เมล็ดพันธุ์ฝ่ายคุณพ่อและคุณแม่ของผมเป็นเมล็ดพันธุ์ของผู้ปกครอง จึงส่งผลให้ลูกหลานท่านอยู่ในแวดวงของนักปกครอง อาจจะเรียกว่าเป็นโดยสายเลือดก็ว่าได้

ท่านพร่ำสอนอยู่เสมอว่า การเป็นนักปกครองนั้นจักต้องมีเมตตา กรุณา อุเบกขา อันเป็นคุณธรรมสำคัญที่ผู้ปกครองที่ดีพึงมี

ตะเกียง เป็นบ่อเกิดแห่งแสงสว่าง เป็นผู้พิชิตความมืด ตะเกียงหรือแสงสว่างเปรียบได้ด้วยปัญญา ปัญญาจะเกิดได้ต้องมีศีล มีสมาธิ เป็นเบื้องต้น ศีลเปรียบได้ดั่งรากเหง้าของต้นไม้ สมาธิคือลำต้นกิ่งก้านสาขา ส่วนปัญญานั้นคือดอกและผล

หญิงชราคนหนึ่ง ถามหลวงพ่อว่า เหตุใดลูกของเขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาได้ไม่นานถึงเสียชีวิตลง

หลวงพ่อตอบว่า

“ชีวิตของคนเราเปรียบเสมือนมีตะเกียงคนละดวง ตะเกียงนั้นมีน้ำมันคือบุญเก่าที่เราสั่งสมมา หากเราไม่หมั่นเติมน้ำมันตะเกียง ได้แต่ใช้บุญเก่าที่พ่อแม่ให้มา สักวันหนึ่งน้ำมันตะเกียงของเราก็จะหมดลง วันใดที่น้ำมันตะเกียงเหือดแห้งหมดลง เมื่อนั้นเรามิอาจจะประคับประคองตะเกียงชีวิตของเราได้…

“การหมั่นเติมน้ำมันตะเกียง ต้องหมั่นทำตลอดเวลา ในทุกๆ เทศกาล ด้วยการมีศรัทธา-ทาน-ศีล-ภาวนา-สมาธิ-ปัญญา เราต้องถามตัวเองตลอดเวลาที่เราเติมน้ำมันรถยนต์ ว่าเราได้เติมน้ำมันตะเกียงชีวิตแล้วหรือยัง อย่าลืมเติมน้ำมันแห่งความดีให้กับตะเกียงชีวิตของท่าน จะช่วยส่องใจ ส่องทางชีวิต…”

ผู้ใดก็ตามที่วางแผนชีวิต ด้วยการเตรียมเสบียง เตรียมตะเกียงชีวิตก่อนออกเดินทาง ชีวิตย่อมปลอดภัย มีแต่ความสงบสุขอยู่เสมอ

เรามีเวลาอันกำหนดโดยนาฬิกาชีวิตไม่เท่ากัน อย่าประมาทและขาดสติ จงรีบกลั่นและเติมน้ำมันให้กับตะเกียงชีวิตของท่านตั้งแต่บัดนี้

คนเราบางคนอาจเข้าใจผิด นึกว่าตนเองมีตะเกียงอมตะ จึงไม่หมั่นสะสมพลังงานให้ตะเกียงชีวิตของตน

เราต้องวางแผนชีวิตว่า เราจะเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันหรือสถานีไหนในเส้นทาง ตามห้วงระยะเวลาของอายุชีวิต ต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตให้มากขึ้น

ตะเกียงชีวิตของคนเรา จะสว่างไสวเจิดจ้า ก็ด้วยความพยายามค้นหาเบี้ยบ้ายรายทางที่เราต้องการแล้วเก็บไว้เป็นทุนรอน เพื่อการลงทุน และแก้ปัญหาชีวิตยามขัดสน

 

ชีวิตคืออะไร?

แต่ละคนให้ความหมายชีวิตไม่เหมือนกัน แล้วแต่มุมมองและพื้นฐานของความเข้าใจ ยังไม่มีข้อยุติว่าชีวิตที่แท้จริงคืออะไร ได้แต่เพียงเปรียบเทียบเปรียบเปรยว่าชีวิตเปรียบด้วยอะไร

บางท่านบอกว่า ชีวิตคือการเดินทาง

บางท่านบอกว่า ชีวิตคือการเดินของหัวใจ ชีวิตคือธรรมชาติ

บางท่านบอกว่า ชีวิตคือการเรียนรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการกระทำที่ถูกต้อง ชีวิตคือการแสวงหา…

ความหมายทั้งหมดนี้เป็นเพียงความหมายของการปฏิบัติ ระหว่างการดำรงชีวิตของแต่ละคน ยังไม่มีใครทราบว่าชีวิตที่แท้จริงคืออะไร

แต่ส่วนประกอบของชีวิตที่สมบูรณ์นั้นคือ กายและจิต

มีร่างกาย มีความรู้สึก มีความทรงจำ มีความรับรู้ ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติ

เป้าหมายที่แท้จริง หรือสุดยอดปรารถนาของชีวิตคือความสุขกายและสุขใจ หรือที่เรียกว่าชีวิต ที่สดใสมีใจเป็นสุข เป็นเป้าหมายของชีวิต

การต่อสู้ การแสวงหา การเรียนรู้ ก็เพื่อให้นาวาชีวิตของเราไม่เผชิญกับโขดหินระหว่างเดินทางไปสู่ที่หมาย คือทะเลแห่งความตาย ซึ่งคนทุกคนหนีไม่พ้น แม้ว่าความตายจะหนีไม่พ้น มนุษย์ก็ต้องการให้อยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ชีวิตจะเป็นสุขหรือไม่ อยู่ที่ระหว่างทางของการเดินทางชีวิต ไม่พบอุปสรรค หรือหลงทางอยู่ในความมืด

ดังนั้น ถ้าเราจะเดินทางเผชิญภัยจนกว่าจะถึงทะเลแห่งความตายแล้ว ต้องพกพาตะเกียงชีวิต หรือมีปัญญารอบรู้ ดังแสงตะเกียง เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย

ดังนั้น องค์ประกอบของการดำเนินชีวิตที่ดี คือจักต้องมีตะเกียงชีวิตที่เปี่ยมน้ำมัน อันได้แก่ สัจธรรม ความเข้าใจถูกต้อง ความคิดเห็นที่ถูกต้อง

ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ชีวิตทุกชีวิต ดำเนินไปตามกระบวนการของมัน เช่น ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเรายังมัวลุ่มหลงอยู่กับสิ่งต่างๆ ก็เหมือนเราจมอยู่ในกองทุกข์ ไม่รู้จักวันจบสิ้น

ตามหลักโลกธรรมแล้ว เมื่อเรามีสุขย่อมมีทุกข์ มียศก็ย่อมมีเสื่อมยศ มีลาภก็ย่อมมีเสื่อมลาภ มีสรรเสริญก็ย่อมมีนินทา

ทุกชีวิตย่อมเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องทุกเวลา ไม่แน่นอน ร่างกายของเราเปลี่ยนจากสภาวะเด็ก แล้วก็เป็นหนุ่มสาว แล้วก็สู่วัยชรา

 

โดยสรุปแล้ว องค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิต คือ ทุกคนจักต้องมีตะเกียงชีวิต อันประกอบไปด้วยน้ำมันๆ คือ รากเหง้าหรือศีล ไส้ตะเกียงคือ ลำต้น หรือเทียบด้วยสมาธิ และแสงสว่างจากเปลวไฟ คือ ดอกผลหรือปัญญา

ด้วยเหตุการณ์วันวานถึงวันนี้ เวลาล่วงเลยมากว่า 72 ปี (พ.ศ.2487-2559) เป็นพลังดลใจให้ผมจำต้องหยิบปากกาขึ้นมาเขียน เรื่องตะเกียงชีวิตของผม

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 72 ปี หรือ 6 รอบ ที่ผ่านมา ชีวิตของผมเป็นไปตามกฎธรรมชาติอย่างไม่มีข้อยกเว้น มีทั้งห้วงเวลาที่สว่างมาก สว่างน้อย หรือแทบมืดมิด ระคนกัน

อย่างไรก็ตาม ผมต้องประคับประคองไม่ให้ตะเกียงชีวิตของผมต้องดับลงก่อนเวลาอันควร

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คุณสมบัติของตะเกียงสำคัญที่สุดคือ เป็นผู้พิชิตความมืด ช่วยส่องทางให้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง ช่วยให้มองเห็นอุปสรรคโขดหินที่ขวางกั้น อีกทั้งให้เห็นแนวทางแก้ไข เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ที่สำคัญคือช่วยให้กัปตันเรือเดินทางถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ

เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการเดินทางชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วกว่า 72 ปี จึงถือโอกาสนี้ได้บอกกล่าวให้ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้ร่วมเดินทาง ได้ทราบว่า บ่อน้ำมันของผมอยู่ที่ไหน ปั๊มน้ำมันส่วนตัว ปั๊มแรกของผมอยู่ที่ไหน ที่ผ่านมาผมเติมน้ำมันมาแล้วกี่ปั๊ม

ณ หลักกิโลเมตรที่ 72 ที่ผมได้หยุดพัก หรือเติมน้ำมัน และพักผ่อน พบปะ และขอกำลังใจจากญาติมิตร ตลอดจนตระเตรียมร่างกาย จิตใจ ตลอดจนตระเตรียมเข็มทิศแผนที่ สำรวจสิ่งผิดพลาดทั้งปวงที่ได้ประสบมา เพื่อจะเดินทางข้ามเขาลงห้วย จนกระทั่งถึงทะเลชีวิต ซึ่งทุกคนหนีไม่พ้น

ที่สำคัญที่สุด ผมจะถือโอกาสนี้ แบ่งปันบทเรียนกับผู้ที่กำลังก้าวเดินตามผมมา เขาเหล่านั้นจะได้แบบอย่าง แนวทางในการแก้ปัญหา เมื่อเกิดภาวะตะเกียงไร้น้ำมัน

ผมได้เปิดเผยกลยุทธ์ กลวิธีที่เคยใช้ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ให้เป็นลายแทงให้กับลูกหลานและญาติมิตร

หวังว่าท่านอาจจะนำมาปรับปรุงแก้ไขทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของท่านได้บ้าง ถ้าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์บ้าง หรือช่วยท่านได้บ้าง ผู้เขียนถือโอกาสนี้แสดงความยินดี และขอบคุณในความเป็นธรรมมิตร

 

ปั๊มน้ำมันปั๊มแรก
(บ้านเกิด-มหาสารคาม)

คุณแม่จุดตะเกียงชีวิตเติมน้ำมันต้นทุนให้ผม เมื่อประมาณก่อนเพลเล็กน้อยของวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2487 ณ บ้านคุณย่า คุ้มเจ้าเมือง ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

อาจจะกล่าวได้ว่าผมเกิดมาท่ามกลางกลิ่นอายกระสุนดินดำแห่งมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้

กองทัพญี่ปุ่นขอผ่านประเทศไทยไปยังพม่าและอินเดีย

คนไทยแทบทุกภูมิภาคตกอยู่ในภาวะลำบากยากเข็ญ หยูกยาฝรั่งไม่ต้องพูดถึง แทบไม่มีซื้อมีขายในท้องตลาดเลยทีเดียว

ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็คงจะต้องอาศัยยาสมุนไพรพื้นบ้านตามมีตามเกิด

ครอบครัวผมเองไม่ได้แตกต่างไปจากครอบครัวคนอีสานทั่วไป ที่ต้องตกอยู่ในสภาพข้าวยากหมากแพง

โดยเฉพาะคุณแม่ของผมจะต้องดูแลทารกน้อยๆ อย่างผม ซึ่งเกิดมาไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน ตัวแดงก่ำ หยูกยาที่จะนำมาบำบัดรักษาก็ไม่มี

ท่านจึงหมายตาไปที่ลังไม้ฉำฉาหลายต่อหลายครั้ง

ทางจังหวัดได้รับภารกิจเปิดหวอเตือนภัยให้ประชาชนลงหลุมหลบภัยและพรางไฟ ใครก็ตามที่จุดไฟไม่ว่าจะเป็นไฟหุงต้ม หรือไฟอยู่เวรอยู่กรรม อย่างเช่นคนที่คลอดลูกใหม่ ก็จะต้องรับกติกานี้โดยไม่มีข้อยกเว้น

คุณแม่เล่าให้ฟังว่า มีเพียงปาฏิหาริย์ประตูเดียวเท่านั้น ผมถึงจะมีชีวิตอยู่รอด

ลุงไชยวงศา พี่ชายคุณพ่อที่แสนดี อุปโลกน์ตัวเองเป็นหมอเด็กจำเป็น มาเป่าเสก พ่นน้ำมนต์เช้า-เย็นให้ผม

คงเป็นโชคช่วยผมไว้ หรือมีเหตุปาฏิหาริย์ใดไม่ทราบ คุณลุงพ่นน้ำมนต์คราใดผมหยุดร้องไห้ไปครึ่งวัน คุณแม่พอได้มีเวลางีบบ้าง

คุณลุงไม่ได้เป็นเฉพาะหมอเด็กเท่านั้น ยังเป็นหมอดูแม่นๆ จำเป็นอีกด้วย

ท่านทำนายทายทักว่า ผมมีลักษณะพิเศษดีที่สีผิว คือ แดงไปทั้งตัว จึงตั้งชื่อให้ว่า “แดง”

และยังได้ให้กำลังใจคุณแม่ว่า เจ้า “แดง” คนที่เลี้ยงยากเลี้ยงเย็นคนนี้แหละจะได้เป็นที่พึ่งเลี้ยงดูแม่ให้มีความสุขในบั้นปลายชีวิต

 

หนึ่งปีหกเดือนผ่านไป เพราะฤทธิ์แห่งไฟสงครามทำให้เศรษฐกิจทุกระดับ ทั้งระดับชาติและระดับรากหญ้าตกสะเก็ดไปตามกัน

คุณพ่อลาออกจากราชการก่อนกำหนด เดินทางไปขายที่ขายบ้านที่เคยอยู่บริเวณปากห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย หวังจะนำเงินมาลงทุน เพื่อหารายได้ส่งลูกๆ ให้ได้เรียนหนังสือถึงระดับมหาวิทยาลัยด้วยกันทุกคน ตามวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของท่าน

พี่ชายคนโต (นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ) หลังจากสำเร็จปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรจุเข้ารับราชการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ได้อาสาไปราชการสงคราม ณ ประเทศอินเดีย ร่วมกับคณะเสรีไทยสายอังกฤษหลายท่าน อาทิ นายวงศ์ พลนิกร อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

คุณแม่เกิดอาการเหงาและคิดถึงบ้านเกิด จึงตัดสินใจหอบหิ้วผมพร้อมพี่ชายอีก 2 คน ไปขอความช่วยเหลือ ร.ต.ต.วรรณ ธรรมสุคติ ณ สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองมหาสารคาม

ร.ต.ต.วรรณ ซึ่งเป็นเพื่อนรักของพี่จารุบุตรก็ดีแสนดี พอทราบความประสงค์ว่าจะเดินทางกลับบ้านไปอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น จึงช่วยเป็นธุระจัดยานพาหนะให้

รถยนต์บรรทุกได้พา 4 ชีวิต คือ คุณแม่ พี่ชาย 14 และ 7 ขวบ และผมอายุ 1 ขวบหกเดือน ออกเดินทางจากตัวจังหวัดมหาสารคามแต่เช้าตรู่ มาถึงสามแยกภูเวียง-กุดฉิม (สามแยกไดโนเสาร์) ซึ่งห่างจากบ้านเมืองเก่าของคุณแม่ระยะทางร่วม 28 กิโลเมตร

เวลาประมาณ 4 โมงเย็น ไม่มีรถยนต์เข้าไปในบริเวณภูเวียงได้เลย เพราะเขาปิดถนนไม่ให้เข้า-ออก และใช้บริเวณหุบเขาภูเวียงเป็นที่ซ่อนพราง ซ่องสุมพลพรรคเสรีไทยภายในประเทศ มีทั้งค่ายฝึกวิชาทหารให้กับบรรดาครูประชาบาลในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง และสนามบินทหาร ที่ใช้เป็นที่ขึ้น-ลง ส่งเสบียงของเครื่องบินทหารพลร่ม

คุณแม่ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ โดยไม่ได้เกรงกลัวต่อสิงสาราสัตว์ ความมืด และภยันตรายใดๆ ลงรถร่ำลากับโชเฟอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มุ่งหน้าเดินเท้า มือขวาอุ้มผมไว้ในอ้อมกอด มือซ้ายจูงพี่ชายผม โชเฟอร์รถบรรทุกเกิดความห่วงใยเกรงจะไม่ปลอดภัย เขาถอยรถกลับมารับคณะของเราพร้อมขอร้องให้เดินทางต่อไปยังชุมแพเพื่อค้างคืนที่นั่น วันรุ่งขึ้นค่อยเดินทางข้ามภูเวียงไปบ้านคุณยาย

คุณแม่ตอบตกลง

เราจึงเดินทางมาถึงบ้านคุณน้าช่วง โสดาศรี น้องชายคุณแม่ ที่รับราชการเป็นครูอยู่โรงเรียนบ้านแห่และค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน

 

วันรุ่งขึ้นคุณน้าขอร้องให้ครูภูเวียงคนหนึ่ง ชื่อครูทองแดง ร่วมเป็นคณะเดินทางเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระคุณแม่ คือช่วยอุ้มผมข้ามภูเวียงจนมาถึงบ้านเมืองเก่าโดยสวัสดิภาพ

ท่านอาศัยบ้านคุณยายอยู่ได้ 1 สัปดาห์ จึงได้ถามไถ่ถึงที่ไร่ที่นาอันเป็นสินสมรสของท่านเมื่อครั้งแต่งงานกับคุณพ่อ ซึ่งคุณตาใช้เงินสินสอดทองหมั้น 80 ชั่ง ซื้อที่นาไว้ให้

คุณยายตอบว่าได้โอนให้กับน้องๆ หมดแล้ว

ความที่คุณแม่รักพี่น้องมาก ไม่กล้าที่จะต่อว่าต่อขานใดๆ ให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ได้แต่ร้องไห้

ในที่สุดท่านก็ได้รับความเมตตาปรานีแบ่งพื้นที่ 200 ตารางวาริมห้วยให้พอเป็นที่ก่อสร้างบ้านพักอาศัย

คุณพ่อกลับจากขายบ้านที่โพนพิสัยจึงมุ่งหน้าเข้าภูเวียง นำเงินส่วนหนึ่งปลูกบ้านทรงไทยเสาสูงหลังย่อมไว้เป็นที่พำนักพักพิงของครอบครัว พ่อ แม่ และลูกๆ รวม 5 ชีวิต

ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนหัวสมัยใหม่ (ขณะนั้น) จึงได้วางแผนการใช้ที่ดิน 200 ตารางวา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดสุด

คุณพ่อมีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาจากที่ไหน เมื่อใดไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าท่านเป็นหลานพระเจริญราชเดช (ฮึง) อดีตเจ้าเมืองมหาสารคาม

คุณพ่อชอบการเกษตรมาก ท่านวางแผนขุดบ่อเลี้ยงปลา ขุดสระน้ำไว้เพื่อเป็นน้ำใช้ และรดน้ำพืชผักสวนครัว ผลไม้นานาชนิด มะม่วง ขนุน มะนาว มะพร้าว และส้มเขียวหวาน

นอกจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัย และสวนผลไม้แล้ว

ท่านได้กันพื้นที่ไว้อีกมุมหนึ่งของบ้านเพื่อปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ แตงร้าน แตงกวา ชะอม ผักพื้นเมืองมีทุกชนิด เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รวมทั้งมะละกอด้วย

สัตว์เลี้ยงที่ใช้เป็นอาหาร นอกจากปลาในบ่อแล้ว เรายังมีเป็ด ไก่ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงประเภทสวยงามอีกด้วย เช่น นก และกระต่าย เลี้ยงไว้ดูเพลิดเพลินเจริญตา

พอย่างเข้าหน้าฝน คุณพ่อจะทำน้ำกลางหาว กรองน้ำฝนไว้รับประทานประจำเดือนรวม 12 โอ่ง โอ่งละเดือน

ครั้นถึงปลายฝนต้นหนาว ประมาณปลายเดือนตุลาคม อากาศภูเวียงจะทวีความหนาวขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นหนาวมาก คุณแม่จึงวุ่นอยู่กับการหานุ่นหาฝ้าย เตรียมทำผ้านวมไว้ให้เราได้ใช้กันหนาวกันทุกคน

ด้วยความที่มีความขยันขันแข็งไม่ได้พักได้ผ่อน และมีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงไม่ค่อยเหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนในละแวกนั้น

ครอบครัวเล็กๆ ของเราจึงเป็นที่เฝ้ามองเหมือนสิ่งประหลาดของเพื่อนบ้านด้วยความสงสัยว่า เราอยู่กันอย่างประหยัด ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องหา ไม่ต้องรบกวนใคร มีความสมบูรณ์พอเพียงในตัวเองได้อย่างไร

 

ผมยังสงสัยจนถึงวันนี้ว่า ชาวอีสานบางหมู่บ้านขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ได้อย่างไร ในเมื่อบ้านของผมก็อยู่ในภาคอีสานด้วย ทำไมเราจึงมีน้ำสะอาดไว้ใช้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องเดือดร้อน

ที่มากไปกว่านั้น คุณแม่ยังบ่นว่าชาวบ้านเขาทำไมต้องลำบากกันนักกันหนา เมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมหนาวพัดโชยมาทีไร ได้แต่นั่งผิงไฟกันทั้งคืนทั้งวัน

เหตุใดเขาไม่วางแผนล่วงหน้าเตรียมเนื้อเตรียมตัวทำผ้าห่มนวมไว้เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ลมหนาวจะคืบคลานเข้ามา

และวันนี้ผมยังงงๆ ไม่หายอยู่ว่าขณะนี้ก็ปี 2559 ชาวอีสานบ้านผมเองยังรอคอยการแจกผ้าห่มกันหนาวจากคนกรุงเทพฯ ไม่ต่างกับเมื่อปี 2490 เท่าใดนัก

 

ปี2489 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ร.ท.จารุบุตร เรืองสุวรรณ พี่ชายผมเป็นนายทหารเสรีไทยกลับจากราชการสงคราม ณ ประเทศอินเดียพร้อมยาควินิน แก้ไข้มาลาเรีย ซึ่งหาได้ยากในเมืองไทยขณะนั้นจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาจำหน่ายเป็นเงินต้นทุนสร้างครอบครัว จึงทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้นเป็นลำดับ

ประกอบกับในเดือนสิงหาคมของปีนั้นเอง พี่จารุบุตรในฐานะนายทหารผู้ประกอบวีรกรรมเพื่อเอกราชอธิปไตยของชาติ สังกัดอยู่ในคณะเสรีไทย และมหาบัณฑิตหนุ่มอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น เป็นขวัญใจของคนหนุ่มสาว ชาวภูเวียง-ชุมแพ-น้ำพอง

จึงได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รับใช้ชาวขอนแก่นเป็นครั้งแรก และก็ได้รับการต้อนรับด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

การหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือนสิงหาคม ปี 2489 ไม่ค่อยยุ่งยากใช้เงินใช้ทองมากเหมือนยุคทุนนิยม หรือยุคธุรกิจการเมืองเฟื่องฟูเช่นขณะนี้ แต่จะต้องประกอบคุณงามความดีทั้งครอบครัวให้ประชาชนได้ทราบได้เห็น

สิ่งที่เป็นอุปสรรคให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นอย่างมากคือ การใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่กว้างใหญ่ ประกอบกับการคมนาคมในขณะนั้นไม่สะดวก ยวดยานพาหนะเช่นปัจจุบันมีน้อยมาก ผู้สมัครมักจะใช้การเดินเท้า เกวียนและจักรยาน เป็นพาหนะไปพบปะเยี่ยมเยียน พูดจาปราศรัย แนะนำตัวต่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

การแนะนำตัวจะเริ่มจากการบอกเล่าให้ทราบว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีความรู้ความสามารถขนาดไหน

คุณแม่คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามใช้วิธีการหาเสียงจูงใจด้วยการใส่ร้ายป้ายสีกันมาก ข้อกล่าวหาที่ฉกาจฉกรรจ์สำหรับพี่จารุบุตรคือ เป็นลูกต่างด้าว เพราะพี่จารุบุตรมีผิวขาว สูงใหญ่เหมือนคนจีน จึงได้รับการใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นลูกเจ๊กลูกจีน

คุณพ่อคุณแม่ต้องตามไปโชว์ตัวว่าไม่ใช่ลูกต่างด้าวท้าวต่างแดนที่ไหนหรอก เป็นลูกไทบ้านแท้ๆ นี่เอง จึงค่อยทำให้ความนิยมกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ

น่าสังเกตว่าโรคของการซื้อสิทธิ-ขายเสียงทางตรง ปี 2489 ยังไม่ระบาดเข้าไปสู่พื้นที่ภาคอีสานมากนัก ไม่เหมือนยุคทุนนิยมเฟื่องฟูดังปัจจุบัน

อีกทั้งผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคนก็เป็นลูกหลานชาวหมู่บ้าน ไม่ใช่เศรษฐีจากตลาดหรือในเมืองเข้ามาสมัครเหมือนยุคปัจจุบัน จึงทำให้การแข่งขันอยู่ในวงแคบ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างก็รู้จักกันในวงศาคณาญาติ และฐานะทางเศรษฐกิจของผู้สมัครไม่แตกต่างกันมากนัก

ตลอดจนทุนนิยมยังเข้าไปไม่ถึง เงินจึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญ ได้แต่ความเป็นญาติพี่น้อง และคุณความดีเป็นสำคัญ

ถึงอาจจะกล่าวได้ว่ายุคนั้นน่าจะเป็นยุคที่มีผู้แทนราษฎรโดยแท้ก็ว่าได้

*หมายเหตุ : น้ำกลางหาว เป็นวิธีเก็บน้ำฝนที่สะอาดเพื่อใช้เป็นน้ำดื่ม โดยวิธีใช้ผ้าขาวผืนใหญ่ผูก 4 มุม กางรับน้ำฝนขณะฝนตกเหมือนยกยอ โดยมีโอ่งน้ำขนาดใหญ่คอยรับน้ำฝนอยู่ข้างล่าง