จิ๋วเล่าเรื่องป๋า (6) : เบื้องหลังปราบกบฏยังเติร์ก

ทํางานมาได้ปีเศษนิดๆ รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ถูกท้าทายจากทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารที่จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 (จปร.7) หรือที่เรียกขานกันโด่งดังสมัยนั้นว่าทหารกลุ่มยังเติร์ก

ผู้นำก็ใช่ใครที่ไหน เป็นคนที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี คือ พ.อ.มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศในขณะนั้น) นั่นเอง รวมทั้งทหารที่ใกล้ชิด พล.อ.เปรมหลายคนด้วย

พ.อ.มนูญไม่ได้เป็นหัวหน้าเอง แต่ชู พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมถึง 42 กองพัน มากที่สุดในประวัติศาสตร์การยึดอำนาจของประเทศไทย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงจูงใจของคณะผู้ก่อการนั้นคงจะสืบเนื่องมาจากปัญหาการต่ออายุราชการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรมออกไปอีก 1 ปีหลังจากเกษียณอายุราชการ ความขัดแย้งของทหารในกองทัพตอนนั้นค่อนข้างสูง

 

ถ้าท่านได้อ่านการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำ จปร.5 ในหนังสือ “โลกสีขาว” ก็จะทราบว่าความขัดแย้งระหว่างรุ่น 5 กับรุ่น 7 มีสูงมากในขณะนั้น พล.อ.สุจินดากล่าวว่า

กลุ่มยังเติร์กทำตัวไม่เหมาะสม เป็นทหารยศพันตรี พันโท แต่มีอำนาจมากเหลือเกิน นายพลก็ไม่มีความหมาย แบบนี้กองทัพก็อยู่ไม่ได้ เพราะกองทัพต้องมีการปกครองในลำดับชั้นยศ

“ก็ไปชวนพี่จิ๋ว พี่ยังงี้มันไม่ไหวแล้วนะ เราก็เลยจัดเลี้ยงไม่เชิญ จปร.7 อยู่รุ่นเดียว เป็นการบอกให้รู้ว่าเราไม่พอใจการกระทำของกลุ่มเขา มันไม่เหมาะสม พี่จิ๋วบอกว่าเฮ้ยไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้อีกแล้วหรือ แต่พี่จิ๋วก็ไม่เอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนะ ยังสมานไมตรีอยู่ทั้งสองฝ่าย”

เพราะการก่อเหตุครั้งนี้อยู่ในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2524 เมื่อกระทำการไม่สำเร็จจึงเรียกกบฏ “เมษาฮาวาย” บ้าง กบฏยังเติร์กบ้าง

เรื่องนี้ผมได้เขียนไว้ในหนังสือ “วันนั้นชนะได้ยังไง” ตอนหนึ่งว่า

เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2524 ความไม่เข้าใจต่อ พล.อ.เปรมจากกลุ่มนายทหารที่เรียกว่ายังเติร์กเพิ่มมากขึ้น นายทหารกลุ่มนี้ คือ นายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ 7 เรียกกันย่อๆ ว่า จปร.7 ผู้นำของกลุ่มคือผู้ที่สนใจด้านการเมือง อาทิ พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร (ยศในขณะนั้น) เป็นต้น

ผมได้รับทราบข่าวการยึดอำนาจในเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน 2524 ซึ่งไม่เคยมีข่าวระแคะระคายมาก่อน ผมได้ออกจากบ้านพักไปพบ พล.อ.เปรมที่บ้านสี่เสาเทเวศร์

เมื่อไปถึงก็ได้เห็นกลุ่มนายทหารผู้ก่อการหลายนายรวมทั้ง พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร อยู่ในบ้านพักของท่าน แต่อยู่ชั้นล่าง ผมเลยขึ้นไปชั้นบนได้พบ พล.อ.เปรมพักผ่อนอยู่พร้อมกับนายทหารคนสนิท และที่จำได้อีกท่านหนึ่ง คือ พ.ท.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ยศในขณะนั้น)

ป๋าถามผมว่า “จิ๋วจะเอาอย่างไร”

ผมบอกว่า “สู้สู้ ครับป๋า”

ป๋าถามอีกว่า “สู้ยังไง”

ผมบอกว่า “ป๋าใจเย็นๆ”

ท่านบอกอีกว่า “เขายึดไว้หมดแล้ว จะทำได้ลำบาก”

ในขณะนั้น มีทหารมาแจ้งว่ามีโทรศัพท์จากวังขอพูดกับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร เมื่อ พ.อ.ประจักษ์ไปพูดโทรศัพท์ที่ห้องนั้นซึ่งผมอยู่อีกห้องหนึ่ง ผมได้เรียกรถยนต์ของป๋ามารอพร้อม โดยป๋าได้เดินทางออกจากบ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อไปเข้าเฝ้าฯ ในสวนจิตรลดา โดยกลุ่มทหารผู้ก่อการมิได้ขัดขวางหรือพูดอะไรเลย ทุกคนคงอยู่ในความสับสน

ก่อนรถเคลื่อนที่ออก พล.อ.เปรมได้เปิดหน้าต่างรถและบอกผมว่าให้ผมไปรอที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) สวนรื่นฤดี ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 03.00 น. ผมได้เดินทางมาที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก

ทันทีที่เข้าตัวอาคารมาก็พบกับ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พ.อ.พิรัช สวามิวัศดุ์ ทั้งสองอยู่ในเครื่องแบบฝึกติดอาวุธพร้อมปฏิบัติการ มีหน้าที่ในการยึดสวนรื่นฤดีตามแผน พวกเขาได้ขอปลดอาวุธผม โดยยึดปืนพกประจำตัวขนาด 11 ม.ม.ไป (จนบัดนี้ยังไม่ได้คืนเลย) กักตัวผมและทุกคนที่อยู่และเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสวนรื่นฤดีไว้ คืนนั้นต้องค้างคืนอยู่ในสวนรื่นฯ

นอกจากผมแล้วก็มีพี่หาญ (พล.ท.หาญ ลีนานนท์) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) พล.อ.ชำนาญ นิลวิเศษ ผมได้ขึ้นไปนอนแต่นอนไม่หลับ ได้ปรึกษาหารือพี่หาญตลอด

 

รุ่งเช้า พ.ท.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่งกายนอกเครื่องแบบขับรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาในสวนรื่นฯ ผมเห็นเข้าพอดี ท่านมาแจ้งข่าวของป๋าว่าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์ไปที่จังหวัดนครราชสีมาแล้ว

ผมอาศัยจังหวะเวลาช่วงนั้นบอกกับกลุ่มผู้ยึดอำนาจว่า ป๋ายอมแล้ว ทุกคนส่งเสียงด้วยความดีใจ ผมได้อาศัยเวลานั้นหลบออกจากสวนรื่นฯ กลับบ้านพัก เปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินทางด้วยรถยนต์ไปจังหวัดนครราชสีมาทันที

เมื่อถึงบ้านพัก พล.อ.เปรมที่หน้าหน่วยบัญชาการช่วยรบที่ 2 พี่ลักษณ์ (พล.ท.ลักษณ์ ศาลิคุปต์ แม่ทัพภาคที่ 2 (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) บอกว่า “เฮ้ย จิ๋ว มาแล้วเหรอ ป๋าบ่นถึงอยู่”

ผมได้ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ ประทับค้างแรมที่บ้านพักของ พล.อ.เปรม ขณะนั้นเริ่มมืดแล้ว ผมได้คลานดุ่มๆ ตรงเข้าไปที่ห้องพัก พล.อ.เปรม

เมื่อเปิดประตูเข้าไป เพราะรู้ว่าสมเด็จฯ ประทับอยู่ข้างใน แต่ไม่รู้ว่าประทับชั้นไหน คิดว่าคงประทับชั้นบน

ขณะกำลังคลานๆ อยู่ก็ไปชนเข้ากับขาใครก็ไม่ทราบ พอเงยหน้าขึ้นดูจะเป็นลม เพราะคลานไปชนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านกำลังประทับยืน พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวง ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่า

นายกฯ เขากำลังรออยู่

ผมคลานต่อเข้าไปในห้อง พล.อ.เปรมและเริ่มทำงานทันที โดยช่วยเตรียมการออกทีวีของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่บ้านพักนั้นเอง ผมได้ร่างเอกสารเพื่อนำไปโปรยที่กรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น

คืนนั้นต้องให้ตำรวจไปปลุกร้านพิมพ์เอกสารในตลาด เพื่อจัดพิมพ์ใบปลิวดังกล่าวให้แล้วเสร็จคืนนั้น

ข้อความสำคัญในเอกสาร ได้แก่ การกล่าวถึงการขาดความจงรักภักดี และการทรยศต่อราชบัลลังก์ พวกปฏิวัติทำให้พระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จออกจากกรุงเทพฯ มาประทับอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

ข้อความตอนนี้เองที่ทำให้ฝ่ายยังเติร์กที่คุมกำลังไปจนถึงฝ่ายอำนวยการทั้งหลายเสียขวัญและตกเป็นฝ่ายรับอย่างสำคัญ

 

ผมตั้งกองอำนวยการของตนเองขึ้นมาชั่วคราว คืนแรกอยู่ในบ้านป๋า วันถัดมาก็ต้องถอยออกมานอกบ้าน ถัดมาก็ต้องออกมากางเต็นท์อยู่นอกรั้วบ้าน เพราะวันเวลาผ่านไปก็มีทั้งคณะรัฐมนตรี ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้จงรักภักดีมารายงานตัวกันอย่างต่อเนื่อง

อดนอนมา 3 วันเต็มๆ ทนไม่ไหว จึงเรียกประชุมนายทหารในกองทัพภาคที่ 2 โดยเฉพาะน้องๆ จปร.5 เช่น พ.อ.อิสสระพงศ์ หนุนภักดี พ.อ.ศัลย์ ศรีเพ็ญ พ.ท.จิรศักดิ์ พรหโมปกรณ์ (ชื่อและยศขณะนั้น) นัดหมายกำลังทหารราบ 5 กองพัน กองพันทหารม้าของ พ.อ.อารียะ อุโฆษกิจ อีก 1 กองพันจากสระบุรี เคลื่อนย้ายด้วยเครื่องบินซี 130 จากนครราชสีมามาลงดอนเมือง

ก่อนการเดินทางผมคลานเข้าไปขออนุญาตป๋าในบ้านพัก ซึ่งมีแต่ผู้ใหญ่นั่งคุยกันเต็มไปหมด

ผมไม่รีรออะไร ผมขออนุญาตว่า “ป๋าครับ ผมขอเอากำลังยึดกรุงเทพฯ คืนวันนี้” ซึ่งป๋าไม่ได้ถามแม้แต่คำเดียว ท่านพยักหน้าอนุญาต

ผมมากับ พ.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ซึ่งขณะนั้นได้เป็นเสมือนนายทหารคนสนิทของป๋า เลือก ร.อ.ชั้น (ชื่อเหมือนบิดาผม) แต่จำนามสกุลไม่ได้แล้วเป็นนายทหารสื่อสาร และนายสิบอีก 2-3 คน จัดตั้งเป็นส่วนควบคุมบังคับบัญชา คุมกำลังมากรุงเทพฯ

ระหว่างอยู่บนเครื่องบินกระซิบถาม พ.อ.มงคลว่า “หมง มีเงินติดตัวมาบ้างไหม” คำตอบคือ “ไม่มี”

 

เครื่องซี 130 ลงจอดที่ดอนเมืองทั้ง 4-5 ลำ มีนายทหารอากาศยศนาวาอากาศเอกในเครื่องแบบมารออยู่ ท่านได้ถามผมว่าต้องการจะให้ช่วยอะไรบ้าง ผมขอบคุณมาก เพราะตั้งแต่ยกกำลังลงที่ดอนเมือง ยังไม่พบทหารอากาศแม้แต่คนเดียว ได้ทราบว่าทุกคนอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ (ศปก.ทอ.) หมด

ผมได้ตอบนายทหารท่านนั้นไปว่า ช่วยขอเครื่องรับ-ส่งวิทยุสนาม เรียกว่า AN-PRC 25 ให้สัก 40-50 เครื่อง ท่านก็นำมาให้ ผมได้แจกจ่ายให้หน่วย แต่การสื่อสารทาง AN-PRC 25 ดังกล่าวใช้พูดจากันได้เพียงแค่รั้วของหน่วยทหารอากาศเท่านั้น พอหน่วยออกไปพ้นก็เรียบร้อยติดต่อกันไม่ได้เลย

ผมมาทราบทีหลังว่านายทหารอากาศผู้นั้นชื่อ น.อ.เกษตร โรจนนิล นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่เมื่อมีโอกาสผมได้เลือกผู้นี้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ มีคนไม่เห็นด้วยก็เยอะ

แต่ผมเลือกเพราะเป็นผู้เสียสละ ไม่หวาดหวั่นเมื่อมีภัยเผชิญหน้าอยู่ และที่สำคัญเคยร่วมเป็นร่วมตายกับผมมา การยกกำลังมาปราบปรามการปฏิวัติรัฐประหารที่ฝ่ายตรงข้ามมีกำลังถึง 40 กองพัน พวกเรามีเพียง 6 กองพัน ไม่ใช่ของเล่นๆ พลาดก็ตายลูกเดียว

นี่แหละคือสาเหตุที่ผมบอกป๋าพวกนี้ต้องตอบแทนกัน นี่ผมพูดจริงๆ นะ เพราะตอนเราจะตายมันมาตายกับเรา ที่ ศปก.ทอ.มีคนเป็นร้อย แต่ไม่มีใครออกมา

 

ทุกคนออกทำงานกัน เราผ่านไปตรงไหนปืนของฝ่ายตรงข้ามก็เหี่ยวลงตรงนั้น เราเข้าไปที่ตั้งต่างๆ เข้าไปยันไว้ พวกมันมาพบเราแล้วไล่ให้กลับบ้านบอกว่าอย่าหนีไปไหนนะ

ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม หน่วยทหารของฝ่ายรัฐประหารไม่ต่อสู้ขัดขวาง สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว พ.อ.พิรัช สวามิวัศดุ์ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ได้เดินทางมารายงานตัวกับผมที่ดอนเมือง ผมก็รับทราบและให้กลับบ้านรอฟังคำสั่งต่อไป ไม่ได้จับกุมคุมขัง

พ.ต.ณรงค์เดช นันทโพธิเดช ทหารเสือ ร.21 รอ. และพวกได้จับกุม พล.ต.ทองเติม พบสุข เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.จรูญ พูลสนอง ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บเล็กน้อยที่ไหล่ นายทหารทั้ง 3 ท่านถูกผูกตา ใส่กุญแจมือไขว้หลังมารายงานตัวกับผมที่ดอนเมือง

ผมให้ทำการรักษาบาดแผลและให้ถอดกุญแจมือ ปลดผ้าผูกตาออก ส่งให้ทหารอากาศโยธินดอนเมืองควบคุมตัวไว้ ทางนครราชสีมาให้ผมส่งตัวไป ผมก็ขอรอไว้ก่อน ผมได้รายงานผลการปฏิบัติการไปให้ พล.อ.เปรมรับทราบ

ตอนบ่ายๆ ของวันนั้น ป๋าให้เสธ.สายหยุด (พล.อ.สายหยุด เกิดผล) เอาเงินมาให้หนึ่งแสนบาท เอาไปแจกหน่วยต่างๆ พอ 5 โมงเย็นผมก็บอกกว่า “เฮ้ย พรุ่งนี้เช้าเอ็งถอนกำลังกลับด่วนนะ”

อยากจะบอกว่าถึงแม้จะถูกรัฐประหาร ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธสงคราม ทว่า พล.อ.เปรมท่านก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองและอาฆาตมาดร้ายคนเหล่านั้น สาเหตุที่พวกเขาทำอาจจะมาจากความไม่เข้าใจและเข้าใจผิดในบางเรื่อง ทำให้ตัดสินใจทำไปโดยปราศจากการยับยั้งชั่งคิด

นอกจากนั้น ทหารที่ก่อรัฐประหารหลายคนเป็นคนใกล้ชิดท่าน เป็น ทส.ท่าน รวมทั้งเป็นคนที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีอย่าง พ.อ.มนูญ เป็นต้น คนเหล่านี้จิตใจเขามีแต่ความปรารถนาดีในการปกป้องชาติและราชบัลลังก์

แม้แต่ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกทหารผู้ก่อการยกให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ก็ไม่ใช่คนอื่นไกล หากเป็นประธานที่ปรึกษา พล.อ.เปรมนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อได้เวลา จึงได้เอาทหารบางคนที่ถูกคุมขังอยู่ที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน ออกมา ได้มีการหาเงินช่วยครอบครัวน้องๆ เหล่านั้นครอบครัวละ 20,000-30,000 บาท หางานให้ทำ

เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งก็ขอพระราชทานให้กลับเข้ามารับราชการ คืนยศ ต่อมาเมื่อทำงานไปด้วยดี ก็ขอพระราชทานยศนายพลให้ ทำให้นายทหารที่ก่อรัฐประหารหลายคนได้ครองยศพลโท พลเอก ตอนเกษียณ

 

เพราะความเมตตาของ พล.อ.เปรม จึงทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

ในส่วนของ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งกำลังคณะปฏิวัติไปเชิญท่านมาเป็นหัวหน้า ท่านหนีไปกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 2-3 ท่าน ไปเมืองกาญจน์และเดินทางออกนอกประเทศไปพม่า

ผมขอกำลังรบพิเศษเพียง 1 ชุด 12 นายไปกับผม ตามท่านไปถึงบ้านเวียกะดี้ อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี ไม่ได้ไปทำอะไรหรือจับกุมท่าน เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาผม แต่ต้องการไปเชิญท่านกลับมาโดยไม่ต้องหวาดกลัวอะไร คุณหญิงท่านก็ติดตามผมไปด้วย การตามท่านไปทราบว่ารถยนต์ที่ท่านใช้เดินทางไปชายแดนตกเขา มีคนบาดเจ็บ

ทหารอย่างพวกเราไม่มีพวก ไม่มีเขามีเรา มีแต่อาวุโส มีแต่ความเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา มีแต่เสียสละให้กันและกัน มีแต่ปกป้องกันและกัน

ปัจจุบันนี้ลักษณะทหารเก่าของประเทศไทยดังกล่าวหายไปมากแล้ว