ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข / ถอดรหัสความสำเร็จ : ยุทธศาสตร์การทูตของจีนในศตวรรษที่ 21

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัย Lowy มีการเผยแพร่ดัชนีเครือข่ายทางการทูตของประเทศมหาอำนาจประเทศต่างๆ (Global Diplomacy Index) ว่าจีนนั้นสามารถแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในเรื่องของจำนวนสถานทูต สถานกงสุล และสำนักงานตัวแทนทางการทูต ที่มีตัวเลขรวมสูงถึง 276 แห่งทั่วโลกได้แล้ว (มากกว่าสหรัฐอเมริกา 3 แห่ง จากเดิมที่เคยมีจำนวนรวมน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 23 แห่งภายในปี 2011)

แถมยังมีปริมาณสถานกงสุลทั่วโลกในจำนวนที่ทิ้งห่างจากสหรัฐอเมริกาถึง 8 แห่ง

สหรัฐอเมริกามีสถานกงสุลทั่วโลกอยู่เพียง 88 แห่ง ในขณะที่จีนมีถึง 96 แห่ง ในปี 2019 โดย 41 แห่งในนั้นตั้งอยู่ภายในทวีปเอเชีย และ 28 แห่งในทวีปยุโรป

จีนกำลังขยับตัวก้าวขึ้นมาชิงตำแหน่งระดับหัวแถวของการเป็นมหาอำนาจระดับโลกที่มีเครือข่ายทางการทูตพร้อมเพรียงมากกว่ามหาอำนาจระดับโลกกลุ่มเก่าทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าจะเป็นเพียงความสำเร็จในมิติทางด้านการทูต ไม่ใช่มิติทางด้านการทหาร แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าจีนนั้นกำลังแผ่ขยายอิทธิพลของตนเองบนเวทีโลกอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

คำถามสำคัญต่อจากนี้จึงอยู่ที่ว่า ยุทธศาสตร์ใด หรือเทคนิควิธีใดที่ทำให้รัฐบาลจีนสามารถขยายอิทธิพลและเครือข่ายทางการทูตของตนเองได้อย่างรวดเร็วภายในเพียงช่วง 2 ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 นี้

อนึ่ง บทความนี้ได้ตั้งข้อสังเกตต่อสภาพการณ์ดังกล่าวไว้ 3 ประการด้วยกัน

ดังต่อไปนี้

 

ประการแรก คือ หลักการเปิดกว้าง ต้อนรับทุกฝ่ายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ (inclusivity) ไม่ว่าจะเอเชีย ยุโรป อเมริกา หรือแอฟริกา ไม่ว่าจะประชาธิปไตย หรือเผด็จการยึดอำนาจ จีนก็ออกหน้าให้การรับรองสถานะและต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีอยู่เสมอ

เพราะจีนนั้นถือหลักไม่แทรกแซงกิจการหรือการเมืองภายในประเทศของกลุ่มพันธมิตรตนเอง และยึดหลักสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (win-win cooperation) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ทำให้จีนสามารถเข้าถึง รวบรวม และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกที่สาม และกลุ่มประเทศยากจนในแถบแอฟริกา ซึ่งไม่อยู่ในสายตาและไม่ใช่เป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของรัฐบาล Xi Jinping ที่เกิดขึ้นในฐานะมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้จีนสามารถแผ่ขยายอิทธิพล และดึงเอาประเทศเหล่านั้นเข้ามาอยู่ภายในวงโคจรของจีนนี้ก็เป็นภาพสะท้อนวิธีคิดของปฏิบัติการทางการทูตของจีนได้เป็นอย่างดี

ที่มองว่า โอกาสของจีนนั้นอยู่ตรงจุดบริเวณที่สหรัฐอเมริกาไม่ให้ความสนใจ ดังนั้น ที่แห่งใดที่เป็นจุดอับสัญญาณทางการทูตของสหรัฐอเมริกา บริเวณนั้นย่อมกลายเป็นโอกาสสำคัญในการขยายอิทธิพลของจีน

จีนจึงไม่เคยเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ อย่างประเทศในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรเอเชีย-แปซิฟิก เช่น คิริบาติ หมู่เกาะโซโลมอน และมัลดีฟส์ หรือ ประเทศริมชายฝั่งแถบเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกาที่โดยผิวเผินแล้วแทบไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ บนเวทีโลก

(แต่กลับมีคุณูปการทางภูมิรัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ของจีนอย่างมีนัยสำคัญ)

 

ประการถัดมา คือ การเน้นขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ (economic mercantilism) สังเกตได้จากจำนวนกงสุลจีนในต่างประเทศ บ่งบอกได้ถึงความเชื่อที่ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจและอิทธิพลที่ได้มาจากการพึ่งพากันเป็นระบบเครือข่ายจะนำมาซึ่งอำนาจทางการเมืองแก่จีนบนเวทีโลกเองในภายหลัง

โครงการ BRI ที่ใช้การปล่อยเงินกู้ และเงินทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศกำลังพัฒนาจนเกิดเครือข่ายลูกหนี้ขนาดใหญ่ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง (ในฐานะเจ้าหนี้) นั้นจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือที่รัฐบาลจีนใช้ในการแผ่อิทธิพลของตนเองไปปกคลุมยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเอเชียในช่วง 1 ทศวรรษให้หลังนี้

และเมื่อประเทศเหล่านั้นตกอยู่ในวังวนของการพึ่งพาทางการเงินจากจีนเป็นหลักแล้ว อิทธิพลทางการเมือง และสิทธิประโยชน์ทางการทูตและการค้าในระยะยาวก็จะตกเป็นของจีนโดยปริยาย

ยิ่งโดยเฉพาะกับประเทศเผด็จการที่ถูกคว่ำบาตรจากประเทศในกลุ่มยุโรปก็ต้องหันมาพึ่งพาจีนเป็นหลัก (ซึ่งรัสเซียเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) เหตุเพราะประเทศเหล่านั้นไม่มีทางเลือกอื่นหลงเหลืออยู่นอกจากจีน

ในสายตาของจีน เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ข้อจำกัดของประเทศเผด็จการเหล่านั้น แต่ยังเป็นข้อจำกัดรูปแบบหนึ่งของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในกลุ่มประเทศมหาอำนาจฝั่งยุโรปอีกด้วย

เนื่องจากการดำเนินการทูตของฝั่งยุโรปและโลกเสรีนั้นมักใช้ประเด็นทางการเมืองควบคู่ไปกับเศรษฐกิจ ทำให้โลกเสรีมีข้อจำกัดในการเข้าหาประเทศโลกที่สามหรือประเทศเผด็จการหลายๆ แห่ง เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หากประเทศใดๆ นั้นมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน มหาอำนาจทางฝั่งยุโรปก็พร้อมจะใช้มาตรการกดดันทางการเมืองและการค้าในทันที

แต่สำหรับจีนนั้น จีนไม่สนใจ จีนเปิดกว้างรับหมด นี่เป็นช่องว่างและข้อจำกัดของมหาอำนาจฝั่งยุโรปที่เปิดทางให้จีนได้เปรียบและสามารถเข้าไปขยายเขตอิทธิพลทางการทูตของตนเองภายในช่องสุญญากาศที่มหาอำนาจฝั่งยุโรปเว้นที่ไว้ได้อย่างอิสระ

 

ประการสุดท้าย คือ ความพยายามในการแผ่อิทธิพลเข้ามาในกลไกเชิงสถาบันระหว่างประเทศที่มหาอำนาจในแถบยุโรปวางเอาไว้ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลจีนนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการสำคัญภายในองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติแล้วมากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนองค์การทั้งหมด 15 องค์การ ทั้งองค์การด้านอาหารและเกษตรกรรม (FAO) องค์การโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นต้น (ในขณะที่เจ้าหน้าที่จากทางฝั่งสหรัฐอเมริกามีตำแหน่งประธานแค่เพียงองค์การเดียว)

นอกจากนี้ จีนยังได้ให้เงินทุนสนับสนุนจำนวนมากแก่สหประชาชาติในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกามีแผนจะตัดงบประมาณสนับสนุนองค์การสหประชาชาติอีกด้วย

ทำให้ในปัจจุบันเงินงบประมาณของสหประชาชาติ 12% หรือกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีน (จากเดิมที่เคยสนับสนุนไม่เกิน 1% หรือประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2000)

อิทธิพลของจีนที่แผ่เข้ามายังสหประชาชาตินั้นช่วยให้จีนสามารถใช้กลไกของสหประชาชาติในการสนองประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองของตนเอง

ไม่ว่าจะประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนภายในซินเจียงไปจนถึงโครงการ BRI ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

กระนั้นก็จีนเองก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดอยู่แค่สหประชาชาติ เพราะภายหลังจากที่โครงการ BRI ของจีนได้กำเนิดขึ้น จีนเองก็ได้พยายามสร้างองค์การระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์และกติกาในแบบของตัวเองขึ้นมาควบคู่ไปกับการขยายอิทธิพลภายในสหประชาชาติไปด้วย

นั้นก็คือ การสร้างธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB)

หรือแม้แต่องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ที่แม้จะก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2001) แต่ก็แสดงออกให้เห็นถึงเจตจำนงของจีนว่ากำลังมีแผนที่จะสร้างเครือข่ายและองค์การระหว่างประเทศที่มีตนเองเป็นผู้นำขึ้นมาเพื่อที่จะใช้เป็นฐานในการขยายอำนาจและอิทธิพลของตนเองไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก

 

จากที่อภิปรายเอาไว้ข้างต้นนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าอิทธิพลของจีนนั้นกำลังค่อยๆ มีมากขึ้น

โดยเฉพาะในมิติทางด้านการทูตที่จีนได้ลงทุนด้วยเม็ดเงินในปริมาณมหาศาลในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้

ดัชนี Global Diplomacy Index อาจไม่สามารถบอกได้ว่าจีนนั้นกลายเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกได้แล้วหรือยัง

แต่มันกำลังเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นความทะเยอทะยานของจีนในการก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งนั้น