จากใจ “พล.อ.ชวลิต” ถึง “พล.อ.เปรม”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเรื่อง / บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

จิ๋วเล่าเรื่องป๋า (1)

การถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี

ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ

ประชาชนคนไทยเศร้าสลดต่อการจากไปของท่าน เพราะตลอดชีวิตรับราชการท่านได้ทุ่มเท เสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต ปกป้องชาติบ้านเมืองให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง

ยุติสงครามภายในระหว่างคนไทยด้วยกัน

 

ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

ผมเองเคยทำงานร่วมกับท่านในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ มีความซื่อสัตย์ เสียสละจงรักภักดี อย่าง พล.อ.เปรมซึ่งมีความคุ้นเคยและให้ความเมตตากับผมมาตลอด ต้องจากไปย่อมอดใจหายมิได้ แต่เชื่อว่าด้วยคุณงามความดี และผลงานที่ท่านได้สร้างสมไว้ไม่ได้สูญเปล่า จะยังคงเป็นอนุสาวรีย์ให้อนุชนคนรุ่นหลังระลึกถึงอยู่เสมอ

สิ่งที่ผมสัมผัสได้ในช่วงที่ได้ทำงานร่วมกับท่านหรือแม้แต่พ้นภาระหน้าที่มาแล้วก็ตาม คือ ในหัวใจของท่านมีแต่คำว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูง เรามักจะได้ยินบ่อยๆ จากปากของท่าน ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อและปาฐกถาในวาระพิเศษต่างๆ คือคำว่า ทดแทนคุณแผ่นดิน

พล.อ.เปรมให้นิยามไว้ว่า “การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นสถาบันที่ดี เป็นองค์กรที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี มุ่งกระทำแต่ความดี เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน”

ตลอดหลายสิบปีที่ท่านได้ตอกย้ำถึงคำคำนี้ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักว่า เมื่อเราเกิดในแผ่นดินนี้ก็ควรจะต้องมีการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี หรือพูดแบบรวบยอด คือ การทำความดีนั่นเอง ในส่วนตัวท่านก็ได้ยึดปฏิบัติมาตลอด ถือเป็นแบบอย่างของอนุชนรุ่นหลัง

เพราะฉะนั้น จึงทำให้ชีวิตการรับราชการของท่านเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ด้วยความทุ่มเท เสียสละและรับผิดชอบต่อหน้าที่ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ

ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรีในตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า สระบุรี เป็นพลโทในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2

ตุลาคม 2520 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

ตุลาคม 2521 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ขณะเดียวกัน ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควบเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง

เมื่อรัฐบาลเผชิญปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ พล.อ.เกรียงศักดิ์ลาออกจากตำแหน่ง พล.อ.เปรมได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 399 เสียงโหวตเลือกท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523

ในห้วงที่เป็นรัฐบาล พล.อ.เปรมต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางทหาร แต่ท่านก็สามารถประคับประคองรัฐบาลอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง มรสุมเศรษฐกิจและการเมืองไม่สามารถทำอะไรท่านได้

หากมีปัญหาในทางการเมืองก็แก้ปัญหาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย คือ ยุบสภา

เมื่อเลือกตั้งใหม่พรรคการเมืองก็ยังสนับสนุนท่านเป็นนายกรัฐมนตรีอีก การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน 8 ปีกับอีก 5 เดือนของ พล.อ.เปรมได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง เนื่องจากยังไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดทำสถิติได้แบบท่าน

ทำไม เพราะอะไร คำตอบมีมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ พล.อ.เปรมอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนาน คือ ท่านเป็นคนดี ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตน ความดีของท่านทำให้ชนะอุปสรรคทั้งปวง

 

หลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 กรกฎาคม 2531 พล.อ.เปรมประกาศ “ผมพอแล้ว” ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองที่เคยร่วมรัฐบาลกับท่านมาชนะเลือกตั้งและต้องการให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก

ด้วยคำพูดประโยคเดียว ส่งผลให้การเมืองพลิกโฉมหน้าไปอีกแบบ ถือได้ว่า พล.อ.เปรมเป็นผู้ที่ส่งผ่านประชาธิปไตยครึ่งใบในสมัยของท่านไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรมเป็นองคมนตรี วันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ

และวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต พล.อ.เปรมได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ถึงกระนั้นท่านก็ยังได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.เปรมเป็นประธานองคมนตรี

จึงถือได้ว่า พล.อ.เปรมได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายงานในฐานะประธานองคมนตรีตั้งแต่ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

เป็นประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

 

ป๋ากับนโยบายการเมืองนำทหาร

มีคนคุ้นเคยกันอยากให้ผมเล่าถึงประวัติการทำงานตลอดจนการแก้ปัญหาต่างๆ ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งความปรารถนานี้คงเห็นว่าผมเคยร่วมงานกับท่านในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา น่าจะรู้เรื่องราวต่างๆ ตลอดจนคุณงามความดีของท่านไม่มากก็น้อย

ผมยินดีครับ

แต่ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าแม้จะทำงานใกล้ชิดกับท่านในฐานะนายทหารคนสนิท (ทส.) ก็ดี ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ดี แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน ประกอบกับอายุอานามก็มากแล้ว คงจะเก็บเรื่องราวมาเล่าไม่ได้ทั้งหมด ต้องตกหล่นกันบ้างแหละ

ข้อจำกัดอีกอย่างเป็นเรื่องเวลา การที่จะให้คนมีอายุมานั่งเล่าเรื่องหรือเขียนอะไรนานๆ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะลำบากเหมือนกัน มันไม่เหมือนสมัยหนุ่มๆ กันแล้วที่ยังมีความ “อึด” อยู่บ้าง

สิ่งที่พอจะช่วยได้ คือ รวบรวมคำบอกเล่าของคนอื่นๆ ที่เคยทำงานกับ พล.อ.เปรมมาผสมผสานกัน ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ในหนังสือ “โลกสีขาว” และหนังสืออื่นๆ ที่มีคนเขียนเกี่ยวกับตัวผมไว้มากพอสมควร

มีคนอยากรู้ว่าผมเริ่มรู้จักกับ พล.อ.เปรมครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไร เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะการรู้จักกับ พล.อ.เปรมครั้งแรกของผมนั้นเป็นเรื่องของหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอยู่ ไม่ได้เป็นเรื่องรู้จักมักคุ้นกันส่วนตัว แต่เกี่ยวเนื่องภารกิจที่รับผิดชอบ

โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ปกป้องชายแดน ป้องกันอริราชศัตรูจากภายนอกประเทศ

 

กล่าวคือ เมื่อกลับจากสงครามเวียดนามในปี พ.ศ.2511 พอปี พ.ศ.2513 ก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการข่าวลับชายแดนกัมพูชา เรียกหน่วยปฏิบัติการ 506 รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนตั้งแต่อุบลราชธานีลงมาถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ทำงานชายแดนอยู่ได้ 2 ปีจึงเดินทางกลับหลังกรณีเกิดเหตุการณ์ตุลาคม 2516 เพียงเล็กน้อย

ในห้วงที่อยู่ชายแดนทำให้ได้รู้จักกับ พล.อ.เปรม เนื่องจากพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบมีความคาบเกี่ยวกับพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 2 ได้มีการประสานงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากท่านเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ เนื่องจากภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ถูกคอมมิวนิสต์คุกคามมากที่สุด

และเหตุการณ์ “เสียงปืนแตก” คือ การต่อสู้ด้วยอาวุธก็ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508

พล.อ.เปรมเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือโลกสีขาวตอนหนึ่งว่า “รู้จักกับจิ๋วสมัยผมเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ตอนนั้นจิ๋วเขาอยู่ บก.315”

และตั้งแต่นั้นมาท่านก็เรียกผมว่า “จิ๋ว” ตลอด ไม่เคยเรียก “ชวลิต” ซึ่งเป็นชื่อจริงเลย

บก.315 คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกที่ 315 ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2513 ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บก.315 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดหน่วยข่าวกรองหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ตลอดจนเพื่อสนองนโยบายผู้บังคับบัญชา

บก.315 มีภารกิจหลักรวม 3 ประการ คือ

1. รวบรวมข่าวสารทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้ามในทิศทางด้านกัมพูชา

2. ปฏิบัติในฐานะหน่วยฝ่ายอำนวยการของผู้บังคับบัญชาในเรื่องการข่าวด้านกัมพูชาและเวียดนาม

3. ปฏิบัติการพิเศษด้วยมาตรการทั้งปวงเพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ

ด้วยภารกิจและหน้าที่ในพื้นที่ทำให้ผมต้องประสานงานกับ พล.อ.เปรมในหลายโอกาส เริ่มรู้จักคุ้นเคยกับท่านและเมื่อเข้ามาประชุมในส่วนกลาง คือ กองทัพบก

ได้เจอกับท่าน พูดคุยกับท่าน แม้จะไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่ด้วยอัธยาศัยไมตรีมีน้ำใจ พล.อ.เปรมท่านเมตตาให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในพื้นที่แก่ผมได้มากมาย

 

อย่างที่เรียนไปแล้ว กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งมี พล.อ.เปรมเป็นแม่ทัพภาคนั้น ดูแลรับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด สถานการณ์ในภาคอีสานขณะนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน อย่างไร

เมื่อท่านอ่านอาจจะร้องโอ้โห ตกใจ มันรุนแรงและน่าสะพรึงกลัวถึงเพียงนี้เชียวหรือ

ผมขอสรุปคร่าวๆ ให้เห็นภาพชัดเจน ดังนี้

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ขยายอิทธิพลในภาคอีสานอย่างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่เปิดฉากการใช้อาวุธอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยอาวุธเป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อปี พ.ศ.2508 พคท.เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก”

พคท.ใช้ลาวและกัมพูชาเป็นฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์และใช้การสนับสนุนจากจีนและเวียดนามในการส่งกำลังบำรุงทางยุทธศาสตร์ การต่อสู้ขยายความรุนแรงเพราะอำนาจอาวุธทำให้การควบคุมและการใช้ประชาชนได้ผล

พคท.ขยายตัวจาก 4 จังหวัดภาคอีสานออกไปสู่ 37 จังหวัดทั่วประเทศในปี พ.ศ.2515

และขยายตัวขึ้นสูงสุดถึง 57 จังหวัดในปี พ.ศ.2519

2512 พคท.ได้จัดตั้งกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ขึ้นที่อุบลราชธานีแล้วขยายกำลังรบขึ้นสู่ภาคเหนือบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัดและน่าน พัฒนาน่านและเชียงรายเป็นฐานที่มั่นสำหรับการส่งกำลังบำรุงทางยุทธศาสตร์จากในลาว

ในกัมพูชาได้ก่อตั้งองค์กรเสียมขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือของเขมรแดง ก่อสงครามบริเวณอีสานใต้ ในปี 2515 สงครามได้ขยายตัวในภาคอีสานและภาคเหนือ

2516 พคท.ได้ก่อสงครามทั่วภาคอีสานและภาคเหนือด้านตะวันออก แนวร่วมพรรคและแนวร่วมทางการเมืองประสบชัยชนะในการต่อสู้ในเมือง ทำให้การต่อสู้ด้วยอาวุธขยายตัวออกไปสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

แนวทางซ้ายจัดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ได้เข้าควบคุมภายในพรรคยิ่งขึ้นทำให้ยุทธศาสตร์ทหารทำลายยุทธศาสตร์การเมืองภายในพรรค ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ที่สำคัญ คือ ประชาชนปฏิเสธการปฏิวัติพรรค ภายในพรรคแตกแยกเป็นกลุ่มอำนาจ บ่อนทำลายขัดขวางซึ่งกันและกัน

2518 อินโดจีนชนะสงคราม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดประเทศได้ พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต คอมมิวนิสต์เวียดนามเตรียมขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์จีนออกจากลาวและกัมพูชา

พคท.ยึดมั่นต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะภายในพรรคควบคุมโดยจีนอย่างหนาแน่น การขยายตัวสงครามประชาชนในไทยก้าวหน้า

2519 จีนเตรียมปลดปล่อยภาคเหนือของไทยและยึดอุดมชัย-หลวงน้ำทา-ไชยบุรีของลาวให้เป็นฐานที่มั่นของ พคท.

แต่ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์จีนกับคอมมิวนิสต์โซเวียตและเวียดนาม ทำให้การปลดปล่อยภาคเหนือของไทยล้มเหลว

 

หลังไซ่ง่อนแตก เวียดนามเหนือชนะสงครามเหนืออเมริกา เวียดนามได้ขยายอิทธิพลเข้าในลาวและกัมพูชา มีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้ปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ เวียดนามได้ยกกำลังทหารราว 20 กองพลเข้าประจำในกัมพูชาและกำลังส่วนหนึ่งประชิดชายแดนไทย ทำให้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยกับเวียดนามขึ้นหลายครั้ง

เวียดนามได้เสนอให้ พคท.ยืมทหารเวียดนาม เพื่อปลดปล่อย 17 จังหวัดภาคอีสาน แยกออกจากรัฐไทย ขณะที่ชาติตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ว่าประเทศไทยคงหนีไม่พ้นจากการถูกยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน

สถานการณ์ตอนนั้นอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานมาก พคท.ได้ประกาศเตรียมยึดสถานที่ราชการ เกิดความปั่นป่วนไปหมด คนไทยบางส่วนเตรียมที่จะอพยพไปอยู่ต่างประเทศกันแล้ว เพราะกลัวคอมมิวนิสต์

ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ อเมริกา เหมือนกับคนลาว เวียดนาม ที่อพยพไปอยู่อเมริกาหลังจากถูกคอมมิวนิสต์เข้ายึดครอง

ท่านลองย้อนภาพกลับไปที่เหตุการณ์ช่วงนั้นดูว่าเป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน พี่น้องชาวอีสานอยู่ในสภาพอย่างไรท่ามกลางการปะทะและซุ่มโจมตีระหว่างเจ้าหน้าที่กับ พคท.แทบจะทุกวัน โดยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยของ พคท.ที่กระจายเสียงจากจีนโจมตีรัฐบาลไทยและระบอบศักดินาทุกวัน

นี่เพียงสถานการณ์คร่าวๆ ที่ผมนำมาฉายภาพให้เห็น ยิ่งอเมริกาตอกย้ำ “ทฤษฎีโดมิโน” ยิ่งทำให้คนไทยหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ คนไทยบางส่วนไม่มีกะจิตกะใจทำมาหากินกันแล้ว โดยเฉพาะนายทุน

เพราะไม่รู้เมื่อไรคอมมิวนิสต์จะเข้ายึดประเทศไทย เหมือนกับประเทศในอินโดจีนที่รัฐบาลเก่าถูกโค่นอำนาจลงทั้งหมด ที่ดิน ทรัพย์สินถูกยึดเข้าเป็นของรัฐ

การปลุกผีคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลสมัยนั้นได้สร้างความหวาดกลัวให้แก่คนไทย

 

แต่ พล.อ.เปรมท่าน “เอาอยู่” การปรับเปลี่ยนนโยบายจากการใช้มาตรการทางทหารมาเป็นการเมืองนำ ทำให้ประชาชนเริ่มเข้าใจและไว้วางใจรัฐมากขึ้น

แม้ในขณะนั้นจะยังไม่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ แต่ พล.อ.เปรมก็ได้ริเริ่มเอาการเมืองนำทหารมาใช้ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 อย่างได้ผล

สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง แม้เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงมีอยู่บ้าง เช่น เหตุการณ์ที่บ้านนาทราย จังหวัดหนองคาย

แต่ประชาชนในพื้นที่เริ่มเข้าใจและเป็นมิตรกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น