อาเซียนปลอดหมอกควัน : วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ภูมิภาคต้อง(เร่ง)แก้ร่วมกัน

ปัญหาหมอกควันอาจเป็นปัญหาร่วมสมัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้งผู้ได้รับผลกระทบและจุดก่อเกิดฝุ่นควัน หรือแม้แต่จุดก่อเกิดหมอกควันจากการทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอยปริมาณหลายพันไร่ในประเทศแถบลุ่มน้ำแม่โขง หรือแม้แต่บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียก็สามารถส่งฝุ่นควันและอนุภาคฝุ่นจำนวนมหาศาลล่องตามกระแสลม สร้างผลกระทบกับเมืองหรือประเทศเพื่อนบ้านได้

ทุกประเทศในภูมิภาคต่างได้รับผลกระทบจากมลพิษเหล่านี้ทั้งสิ้น

แม้ว่าในระดับรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศตัวเอง แต่เมื่อแหล่งกำเนิดฝุ่นควันนั้นมาจากประเทศใกล้เคียง การคาดหวังให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับมาตรฐานประเทศตัวเองย่อมเป็นไปได้ยาก

ความร่วมมือจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะทำอย่างไรให้เกิดผลดีทั้งต่อประเทศตัวเองและประเทศในอาเซียน

 

ประเทศสมาชิกอาเซียนเคยลงนามข้อตกลงว่าด้วย แก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลทางกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2002 และอินโดนีเซียถือเป็นประเทศสุดท้ายที่ลงนามพร้อมให้สัตยาบันในปี 2015

แม้เป็นข้อตกลงที่ลงนามกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลทางปฏิบัติจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันไปถึงจุดหมายแล้วหรือยัง ท่ามกลางการก่อมลพิษเพื่อสร้างกำไรจำนวนมากให้กับเศรษฐกิจประเทศตัวเอง

ราตรี คูซูโมฮาโตโน นักรณรงค์ด้านป่าไม้ของกรีนพีซ อินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า เรื่องมลพิษไฟป่าที่อินโดนีเซียกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี เพียงแต่ปีนี้เลวร้ายที่สุด ทำให้ประธานาธิบดีอินโดนีเซียประกาศแก้ไขอย่างจริงจังในการจัดการปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่นานหลังการเลือกตั้งทั่วไป

จากรายงานกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย มีประชากร 1 ล้านคนได้รับผลกระทบ ในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก เด็กทารกและคนชรา

และจากข้อมูลที่รวบรวมอย่างเหตุไฟป่าในเกาะกาลิมันตัน ได้ทำลายพื้นที่ 2,000 ไร่ เราได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านดับไฟป่า โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยดับเพลิงท้องถิ่น นับตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมาจนถึงต้นพฤศจิกายน เราส่งทีมงานมากขึ้นเป็นพิเศษ และเมื่อตรวจค่าคุณภาพอากาศ ช่วงที่อันตรายที่สุดเริ่มตั้งแต่ 18 กันยายน เป็นต้นมา จนส่งผลต่อชาวมาเลเซียในเกาะบอร์เนียว คาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ด้วย

ดังนั้น เมื่อนำรายงานคุณภาพอากาศเทียบกับรายงานจุดฮอตสปอตของรัฐบาล เราสรุปได้ว่า จุดความร้อนในเกาะกาลิมันตันตะวันตกเป็นจุดเกิดมลพิษข้ามประเทศตั้งแต่ 31 กันยายน ส่วน 3 จังหวัดบนเกาะสุมาตรา ไฟได้ก่อมลพิษข้ามไปยังสิงคโปร์ตั้งแต่ 21 กันยายน

ในเวลาเดียวกัน สื่อของมาเลเซียและสิงคโปร์ก็มาทำข่าว ประชาชนประท้วงรัฐบาลอินโดนีเซีย แล้วรัฐบาลอินโดนีเซียก็กล่าวว่าบริษัทเอกชนของมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นต้นเหตุ

 

ราตรีกล่าวอีกว่า จากข้อมูลวิเคราะห์ฮอตสปอตและแผนที่หมอกควัน เราก็มุ่งหาคำตอบบริษัทใดควรรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ ก็ได้รายชื่อราว 50 บริษัทที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจปาล์มน้ำมัน ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทลูกที่บริษัทใหญ่จากสิงคโปร์และมาเลเซียส่งเข้ามาทำธุรกิจในอินโดนีเซีย

ฉันคิดว่าสิ่งที่ต้องพยายามพูดนั้น ชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบในกรณีอินโดนีเซีย แม้จะมีการกล่าวโทษกันไม่ว่ารัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านให้รัฐบาลอินโดนีเซียแก้ไขหรือรัฐบาลอินโดนีเซียมองว่าเป็นบริษัทต่างชาติก่อปัญหา อีกปัญหาใหญ่คือ เรายังห่างไกลในการร่วมกันให้ข้อมูลที่เปิดเผยทั้งหมด รวมถึงข้อมูลว่าบริษัทใดที่ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ

สิ่งที่จะเสนอแนะได้คือ สมาชิกอาเซียนทั้ง 3 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์) ควรมีเจตจำนงทางการเมือง และความแน่วแน่ในการใช้กฎหมายให้บริษัทเอกชนต้องรับผิดชอบในการก่อไฟป่า

และแน่นอน การแบ่งปันข้อมูลเพื่อความโปร่งใสก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชน ประชาสังคม และสื่อได้รับรู้ว่า

ประเด็นนี้เป็นเรื่องของอาเซียนที่ต้องทำงานร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควันในปี 2020

 

ด้านนายคู จิน ยอว์ รองประธานคณะกรรมการกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมาเลเซีย กล่าวว่า เรามีข้อตกลงและกฎหมายในการยับยั้งไม่ให้เกิดไฟป่า แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้เพื่อให้ผู้ใดต้องรับผิดชอบและเยียวยาความเสียหาย และการขาดความเชื่อมโยงในข้อมูลที่ต้องแบ่งปัน แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะเก็บเป็นความลับเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

“สิ่งที่ต้องทำคือ ประชาชนต้องกดดันไปยังรัฐบาลให้แก้ไข และคนทั่วไปสามารถผลักดันให้รัฐบาลตัวเองเร่งเสนอระบบกฎหมายในกลุ่มอาเซียนเพื่อให้ความรับผิดชอบครอบคลุมไปยังบริษัทเอกชนหรือธุรกิจใดก็ตามที่มีส่วนก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ” นายคูกล่าว

นายคูกล่าวอีกว่า แม้จะมีการลงนามข้อตกลงในปี 2002 แต่นี่ผ่านมาถึงปี 2019 มีหลายชาติร่วมลงนาม หากพูดถึงมาเลเซีย กรอบข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ถูกปรับมาเป็นกรอบแผนทางกฎหมาย ไม่มีความต่อเนื่อง

สิ่งที่เราควรทำคือ การดำเนินตามข้อตกลงปี 2002 ต่อไป ในกรอบกฎหมายทั่วภูมิภาคอาเซียน นี่เป็นเรื่องของความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรว่าจะก่อผลกระทบกับใคร และความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมคือการแบ่งปันใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมด้วย

ปัญหามลพิษจะต้องเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับรัฐบาลและทำให้ตระหนักว่าเป็นเรื่องในภูมิภาค เราต้องสร้างกลุ่มพลเมืองจากทั่วภูมิภาค ทำงานร่วมกันและเข้าไปกดดันรัฐบาลประเทศตัวเอง สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น