อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : เหตุมรณกรรมที่ฮ่องกง ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์

พฤศจิกายนเป็นเดือนเกิดของนักประพันธ์ชาวไทยเลื่องลือนามเยี่ยงหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ แว่วยินข่าวคราวว่าปลายปี พ.ศ.2562 จะมีการนำเอาผลงานสำคัญๆ ทั้งละครแห่งชีวิต, ผิวเหลืองหรือผิวขาว และวิมานทลาย มาจัดพิมพ์ใหม่อีกหน

ผมเองในฐานะเคยหลงใหลงานเขียนของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงตั้งแต่วัยเยาว์ จึงปรารถนาร่วมเสนอข้อมูลใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยถูกกล่าวถึงว่าด้วยชีวประวัตินักประพันธ์ท่านนี้ดูบ้าง

ขบวนตัวอักษรที่กำลังจะร่ายเรียงไปอีกหลายบรรทัดคงจะไม่ปรากฏ หรือถ้าจะปรากฏก็คงอีกนานครัน หากว่าบ่ายวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2562 ผมมิได้ร่วมวงรับประทานอาหารและสนทนาอย่างรุ่มรวยอรรถรสกับวัฒนา กีรติชาญเดชา นักศึกษาปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจค้นคว้าเรื่องยาจีนแผนโบราณและเรื่องฮ่องกงในอดีต

เพราะวัฒนาไปค้นเอกสารเกี่ยวกับฮ่องกงนั่นล่ะ เขาเลยเล่าถึงเรื่องหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงในสิ่งที่เขาไปเจอให้ผมฟัง

แน่นอนทีเดียว คนหมกมุ่นสืบค้นเพื่อใคร่รู้ถึงชะตากรรมของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงที่ฮ่องกงมาเนิ่นนานหลายปีแบบผมมิอาจทนวางเฉยอยู่ได้หรอก

ภารกิจตามแกะรอยเจ้าชายนักประพันธ์ชาวไทยที่ฮ่องกงพลันกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมรณกรรมอันประหนึ่งปริศนาคลุมเครือลึกลับในความรับรู้ของวงวรรณกรรมไทย

 

สําหรับนักอ่านที่สนใจชีวิตและผลงานของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงย่อมมิวายเคลือบแคลงสงสัยว่า ข้อเท็จจริงเรื่องมรณกรรมของยอดนักประพันธ์เป็นเช่นไรกัน?

หนังสือแต่ละเล่มที่กล่าวถึงท่านชายให้ข้อมูลการสิ้นชีพิตักษัยแตกต่างกันออกไป

ทั้งด้วยโรคมาลาเรียขึ้นสมอง

ด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรมซึ่งมักจะบอกว่าทรงเปิดแก๊สรมตัวเอง และแว่วยินอยู่บ้างว่าทรงกินยาฆ่าตัวตาย

มิหนำซ้ำ มีการเอ่ยอ้างกันอีกในทำนองหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงไม่ได้สิ้นชีพิตักษัยที่ฮ่องกงจริงๆ เฉกเช่น ส.ธรรมยศ นักเขียนอีกคนที่บอกว่าท่านชายทรงออกข่าวเองว่าท่านหาไม่ชีวิตแล้วเพื่อหนีจากสังคมไทย หรือราวๆ ปี พ.ศ.2515 ที่มีข่าวว่าพบท่านชายอากาศที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งก็คือชายชราที่ใช้นามชอบ ชัยประสิทธิ์

หรือแม้กระทั่งได้มีผู้เป็นร่างทรงของท่าน

 

ในบรรดาหนังสือทั้งหลายเกี่ยวกับหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงนั้น เล่มพิเศษที่ผมประทับใจได้แก่ ละครชีวิต เจ้าชายนักประพันธ์ เบื้องหลังฉากชีวิตของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ของอรสม สุทธิสาคร นับเป็นผลงานค้นคว้าหลักฐานและสัมภาษณ์ที่เข้มข้นน่าเชื่อถือ มีบทเปิดเรื่องตอนหนึ่งช่างสะเทือนสะท้าน ความว่า

18 พฤษภาคม 2475 ณ เกาะฮ่องกง การเดินทางของเข็มนาฬิกาบอกเวลาใกล้ 11 โมงเช้า…

ท่ามกลางความเร่งรีบของงานในออฟฟิศ เสียงโทรศัพท์ดังกังวานขึ้น เสียงปลายสายขอพูดกับนายผล นิลอุบล ชายไทยวัย 35 ปี ผละจากงานตรงหน้ามารับโทรศัพท์ เสียงที่ดังมาตามสายเป็นน้ำเสียงหม่นหมองบอกถึงความอ่อนล้าทอดอาลัย ทรงรับสั่งให้เขามาพบ ณ โฮเต็ลเซซิลล์ที่ประทับโดยด่วน เมื่อเขาแจ้งว่ายังไม่สามารถไปได้เพราะติดทำงานอยู่ เสียงทางปลายสายรับสั่งมาเหมือนเป็นลางสังหรณ์ว่า “บ่ายสองมาไม่ได้ก็ให้มาดูให้ได้ห้าโมงเย็นก็แล้วกัน”

ความห่วงใยเพื่อนผู้สูงศักดิ์ผู้ที่ร่วมผจญทุกข์ยากลำบากในต่างแดนมาด้วยกันมีอยู่เต็มความรู้สึก นั่นทำให้เขากระวนกระวายกับเวลานาทีที่ดูเหมือนจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า เข็มนาฬิกายังคงเดินไปข้างหน้าบอกเวลานาทียังซื่อสัตย์ตามปกติ

ณ โฮเต็ลเซซิลล์ที่ประทับ…

หลังเวลาเลิกงาน เมื่อเขาเดินทางมาถึงในเวลาใกล้ค่ำและผลักบานประตูห้องประทับเข้าไปอย่างรีบร้อน กลิ่นแก๊สที่อวลอบคละคลุ้งทำให้เขาสำลัก หายใจแทบไม่ออก ร่างของเพื่อนนอนแน่นิ่งเราคนหมดสติ เขารีบตรงเข้าไปปิดแก๊สและมาประคองร่างผอมเกร็งนั้น ควันแก๊สที่ตั้งใจสูดดมเข้าไปทำให้ไม่สามารถรับสั่งอะไรได้อีก เหลือพระสติเพียงริบหรี่เลือนรางและหมดสติในเวลาอีกไม่นานต่อมา เขาและเจ้าหน้าที่โรงแรมรีบช่วยกันนำร่างที่ยังมีลมหายใจรวยรินส่งโรงพยาบาลกลางของฮ่องกง เฝ้าดูแลอยู่ข้างกายจนนาทีที่ลมหายใจสุดท้ายขาดห้วง

ราตรีอันโศกกำสรดบนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง…ฮ่องกง…ห่างไกลจากผืนแผ่นมาตุภูมิได้รองรับร่างที่ปราศจากลมหายใจของเจ้าชายหนุ่มนักประพันธ์ไทยผู้อาภัพ มีเพียงความวังเวงของรัตติกาลอันเยือกเย็นห่มล้อมอยู่หลายรอบ และเสียงร่ำเทวษอาดูรของอีกชีวิตหนึ่งที่ได้อยู่ข้างเคียงในวาระสุดท้าย…นายผล นิลอุบล

 

ถ้อยความนี้ ทำให้ผมพากเพียรตามค้นคว้าเรื่องของนายผลอยู่หลายปี แต่พอได้มาอ่านเอกสารว่าด้วยฮ่องกงในปี ค.ศ.1932 ตามคำแนะนำของวัฒนา กีรติชาญเดชา น่าแปลกที่ไม่พบการเอ่ยถึงนายผลที่ฮ่องกงเลย

ถ้าจะมีใครที่ได้คลุกคลีกับเจ้าชายนักประพันธ์ก็น่าจะเป็นครอบครัวของ Mr. Schear ซึ่งรู้จักท่านชายในนามมิสเตอร์ซี.เอส. ลี

ส่วนคนไทยที่ได้ร่วมใช้ชีวิตกันกับท่านชายห้วงยามนั้นคือนักเรียนไทยในฮ่องกงที่ชื่อ สุมานัส ศุภศิริวัฒน์ (Sumanas Supasirivat)

อย่างไรก็ดี ผมมิได้เลิกสนใจนายผล บางทีอาจจะมีข้อมูลความสัมพันธ์ของเขากับท่านชายที่ผมยังตามค้นไม่พบ

ข้อมูลในหลักฐานเอกสารที่เพิ่งค้นพบระบุว่า ตอนเช้าวันพุธที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1932 หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงได้ออกจากห้องหมายเลข 6 ตึกอาคารวิงล็อก (Winglock Building) ซึ่งเป็นที่ทรงพำนักบ่อยๆ ขณะอยู่ในฮ่องกง โดยท่านชายเขียนโน้ตทิ้งไว้ว่าจะเดินทางไปมาเก๊า จากนั้นไปยังโฮเต็ลเซซิลล์ (Hotel Cecil) ลงชื่อผู้เข้าพักคือ ซี.เอส. ลี (C.S.Lee) สั่งแก่รูมบอย (Room Boy) ว่าอย่าให้ใครมารบกวน

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1932 เวลาประมาณ 19.30 น. รูมบอยของโรงแรมไม่สามารถเปิดเข้าห้องพักดังกล่าวได้ จึงแจ้งผู้บริหารโรงแรมและทางโรงแรมได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อตำรวจฮ่องกงนำโดยสารวัตร เอ.เจ. ดับบลิว. ดอร์ลิง (A.J.W. Dorling) มาถึงห้องพักที่โรงแรม พอพวกเขาไขเปิดประตูด้วยกุญแจมาสเตอร์คีย์ ก็แลเห็นร่างมิสเตอร์ ซี.เอส. ลี อยู่ในสภาพย่ำแย่ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

ครั้นนายแพทย์เอช. ดี. แมทธิว (Dr.H.D. Matthews) ตรวจดูก็พบว่าร่างนั้นอุณหภูมิเท่ากับ 103 ํF จึงสันนิษฐานและรายงานว่าเป็นอาการมาลาเรียขึ้นสมอง หรือ Cerebral malaria

มิสเตอร์ลีสูญสิ้นลมปราณในคืนวันนั้น ณ Government Civil Hospital สืบทราบต่อมาว่าเขาคือ Prince Akas Rabi หรือที่เมืองไทยคุ้นเคยกันดีในนามหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ สารวัตรดอร์ลิงแจ้งไปยังเจ.ที. บากรัม (J.T. Bagram) แห่งกงสุลเยเนราลสยาม ณ เมืองฮ่องกง

ฝ่ายกงสุลจึงรีบส่งโทรเลขแจ้งข่าวไปยังรัฐบาลสยามและสอบถามเรื่องจะจัดการพระศพอย่างไร? (ก่อนหน้านี้ กงสุลก็พยายามติดตามความเคลื่อนไหวของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงในฮ่องกงเพื่อรายงานให้ทางสยามทราบ)

ทางการสยามตอบกลับมาในวันที่ 20 พฤษภาคม ว่าให้กงสุลเยเนราลสยามจัดการเผาพระศพแล้วส่งอัฐิมายังกรุงเทพฯ และขออย่าให้มีการผ่าชันสูตร

แต่กระนั้นกลับไม่ทันการณ์เนื่องจากทางโรงพยาบาลได้ลงมือผ่าชันสูตรเรียบร้อย

 

ผลการผ่าชันสูตรพระศพ นายแพทย์จอห์น เอ็ดเวิร์ด โดเวอร์ (John Edward Dover) ได้ให้ความเห็นจากการตรวจร่างกายพร้อมกับผลตรวจจาก Bacteriological Institute ว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจาก Acute Pancreatitis หรือภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และพบมอร์ฟีนในร่างกายประมาณ 1/3 เกรน นั่นเป็นไปได้ว่าก่อนหมดสติท่านชายอากาศได้ใช้มอร์ฟีน

ข้อมูลตรงจุดนี้ พอจะยืนยันชัดเจนว่าหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงมิได้กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการรมแก๊สแน่ๆ ถ้าเป็นการฆ่าตัวตายก็น่าจะใช้มอร์ฟีนมากเกินขนาด

ฉะนั้น สิ่งที่อรสม สุทธิสาคร เขียนบรรยายถึงตอนนายผล นิลอุบล เปิดเข้าไปพบการที่ท่านชายอากาศเปิดแก๊สรมตนเองจึงชวนให้กังขาไม่เบา เพราะตามหลักฐานคนที่เข้าไปพบร่างหมดสติคือรูมบอยของโฮเต็ลเซซิลล์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกง

ขณะเดียวกัน ผมลองคิดอีกว่า บางทีท่านชายอาจจะใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บจนทำให้ถึงแก่ความตายหรือเปล่า?

มิได้ทรงตั้งใจจะฆ่าตัวตาย

แต่ก็ปรากฏจดหมายฉบับหนึ่งที่ชี้ชวนให้เห็นว่าท่านน่าจะเจตนาใช้มอร์ฟีน จดหมายฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1932 ซึ่งหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงสวมร่างทรงมิสเตอร์ ซี.เอส. ลี เขียนถึง Mrs.Schear เนื้อความจดหมายคล้ายเผยให้เห็นความตรมตรอมที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปและตั้งใจจะเลือกหนทางหลุดพ้นทุกข์ ดังความว่า

Dear Mrs. Schear

I have walked to the end of the path of life, the journey has been very long and wearisome. I am too tired to walk any further. Tonight I intend to go to sleep for ever. I need a rest. If I succeed, I shall cause you all sorts of inconveniences, but shall get what I want. As regards to what to be done with me after I have gone, you can communicate with the police.

Yours sincerely,

(Sd.) Lee.

Mrs.Schear คือภรรยาชาวฟิลิปปินส์ของ Mr.Schear ชาวสวิสผู้เคยเป็นพ่อครัวที่ฮ่องกงโฮเต็ล (Hongkong Hotel) และกำลังเป็นพ่อครัวที่อาคารกลูเซสเตอร์ (Gloucester Building) Mr.Schear ยังเป็นคนที่ท่านชายอากาศได้จำนำนาฬิกากับแหวนไว้เพื่อแลกกับเงิน 200 เหรียญ

ทางสยามคงได้รับทราบผลชันสูตรจากทางฮ่องกงที่บ่งชี้ไปในทางที่ว่าหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่น่าจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวคราว นั่นอาจเป็นเหตุผลให้เหตุแห่งมรณกรรมของท่านชายค่อนข้างคลุมเครือในแวดวงวรรณกรรมกระมัง

 

อีกข้อหนึ่งพึงใคร่ครวญก็คือ เหตุใดผู้รู้จักสนิทสนมกับหม่อมเจ้าอากาศที่เมืองไทยจึงเชื่อถือกันว่าท่านรมแก๊สตนเองที่ฮ่องกง ผมมองว่า ความเชื่อเช่นนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดอันสืบเนื่องมาจากกรณีที่ท่านอากาศเคยเปิดแก๊สฆ่าตัวตายสมัยอยู่ที่อังกฤษ แต่ตอนนั้นมีคนช่วยเหลือไว้ทันท่วงที

เรื่องราวความมีชีวิตและความตายของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ในฮ่องกงยังมีรายละเอียดอีกมากมายชวนให้ตื่นเต้น เท่าที่ผมหยิบยกมาบอกเล่าต่อคุณผู้อ่านในข้อเขียนนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เราสองคน–ผมกับวัฒนา กีรติชาญเดชา ยังคงไม่วางมือจากค้นคว้าแกะรอยอย่างแข็งขัน ทั้งยังนึกๆ วางแผนกันว่าจะลองนำเอาข้อมูลอย่างละเอียดมาเผยแพร่อีกในโอกาสต่อไป

คุณผู้อ่านโปรดเตรียมสายตาไว้ติดตามด้วยหฤทัยครามครัน!