แถลงการณ์ร่วม… รมต.กลาโหมอาเซียน ADMM-Plus พัฒนาความคิด รับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่

ปี2562 ประเทศไทยมีการประชุมที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน คือการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM-Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) ระหว่างวันที่ 16 ถึง 19 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมอนันตรา และโรงแรมอวานี่พลัส ริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

สำหรับการประชุม ADMM-Plus ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 6 แล้ว มีประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้นำทางทหารระดับสูงของประเทศคู่เจรจา เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเองอย่างพร้อมเพรียง

กล่าวสำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM-Plus ครั้งที่ 6 เป็นการประชุมที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประเทศมหาอำนาจใหญ่ของโลก นอกภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทเกี่ยวพันกับอาเซียนอย่างสูงในปัจจุบัน อาทิ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และยังมีสหรัฐอเมริกา

ผลของการร่วมมือกันทางด้านกลาโหมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันเป็นอย่างดีด้านความมั่นคง ทั้งของภูมิภาคและของโลก

และยังช่วยเสริมสร้างและหนุนอีกสองเสาหลักของประชาคมอาเซียน คือเสาหลักด้านเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม

อีกทั้งยังคงความเป็นแกนกลางของอาเซียนในกลไกความร่วมมือของภูมิภาคด้วย

การประชุมทั้งสองวันเสร็จสิ้นลง พร้อมกับการลงนามใน “แถลงการณ์ร่วม” ของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่ประธานการแถลง

แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวระบุถึงการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ยืนยันความรับผิดชอบในการรักษาความสงบสุข สันติภาพ ความมั่นคง และความมีเสถียรภาพของภูมิภาค โดยการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ตอบสนองต่อประเด็นความมั่นคง และบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และความมีไมตรีจิตอันดีต่อกัน

รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาจะต้องเสริมสร้างความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน

ร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

และในขณะเดียวกันเป็นการธำรงไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางของอาเซียนและความเป็นเอกภาพของอาเซียน

ร่วมรับผิดชอบในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ให้ความร่วมมือเชิงปฏิบัติของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา

ได้แก่ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน การต่อต้านการก่อการร้าย เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบอาเซียน การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม

และความมั่นคงไซเบอร์

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องต้อนรับพัฒนาการของความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในเชิงปฏิบัติร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในการป้องกันและตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

ยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและกลไกการปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญทางทหาร

อีกทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางอาวุ ผ่านการสนับสนุนการจัดตั้งกลไกการทำงาน การจัดทำสนธิสัญญาและการประชุมต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

และตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกรบร่วมทางทะเลที่จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ตระหนักถึงภัยคุกคามและความท้าทายด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่ขยายความรุนแรงในวงกว้าง

การเพิ่มจำนวนและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ นำมาซึ่งความซับซ้อนและไม่สามารถคาดเดาได้

ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือให้ประเทศในภูมิภาคสนับสนุนความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน ในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ตอนท้ายของแถลงการณ์ร่วมระบุ “พวกเราขอให้คำมั่นในการรักษาความสันติภาพและความมีเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและการทหาร ด้วยการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสันติ โดยยึดมั่นตามกฎระเบียบสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และการรักษาและเคารพเสรีภาพทางการเดินเรือและการบิน

รวมถึงการยกระดับการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา รวมถึงกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงต่างๆ

ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน”

หลังการแถลง เป็นพิธีส่งมอบประธานการประชุม ADMM ในปี 2563 ให้กับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนเวียดนามในการประชุม ADMM-Plus ครั้งต่อไปอย่างเต็มความสามารถ