กีรติ เอมมาโนชญ์ : นั่งไทม์แมชชีน ย้อน 4 ปมอัยการ เตือน “น้าชาติ-มนตรี” ก่อนลงนาม “โฮปเวลล์”

ถือเป็นคดีต้นตำรับ “ค่าโง่” ของประเทศไทย สำหรับคดีข้อพิพาทการก่อสร้าง “โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โครงการโฮปเวลล์” เมกะโปรเจ็กต์มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ที่พังทลายเหลือแต่เสาตอม่อให้ดูต่างหน้า

แม้คดีนี้จะสิ้นสุดลงไปตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2562 หลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 กันยายน และ 15 ตุลาคม 2551 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำนวนเงินรวม 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา

เมื่อมีคำพิพากษาออกมา ความเคลื่อนไหวของกระทรวงคมนาคมไล่ตั้งแต่สมัยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาและตรวจสอบวงเงินที่ต้องชดเชยกับบริษัทโฮปเวลล์ทันที

มอบหมายนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นประธาน แต่ก่อนลุกจากเก้าอี้ไป นายอาคมทิ้งทวนเซ็นมอบอำนาจให้อัยการสูงสุดไปดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้รื้อฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์อีกครั้ง เนื่องจากอัยการตรวจสอบพบหลักฐานใหม่

ซึ่งรัฐมนตรีคนถัดมา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ก็รับลูกและเดินหน้ายื่นฟ้องทันที โดยช่วงนั้นมีรายงานว่าทางกลุ่มโฮปเวลล์ก็ได้โต้กลับ ขอหยุดเจรจากับคณะทำงานที่ตั้งมาเพื่อเจรจาเรื่องค่าชดเชยเช่นกัน

 

ในที่สุดกระทรวงและ ร.ฟ.ท.ได้ยื่นขอรื้อฟื้นคดีใหม่กับศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีโฮปเวลล์แล้ว ซึ่งหากได้พยานหลักฐานใหม่จะนำเสนอศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ทั้งโต้แย้งเรื่องความสามารถในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในขณะเข้าทำสัญญาพิพาท และอ้างว่าการที่ศาลปกครองสูงสุดมิได้ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี ถือว่าเป็นข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม

แต่สุดท้ายศาลก็ยกคำร้อง เพราะไม่มีพยานหลักฐานใหม่ กระทรวงและ ร.ฟ.ท.ก็ต้องล่าถอยกลับไป

หลังจากนั้นมีรายงานว่า “ศักดิ์สยาม” ได้ตั้งคณะทำงานส่วนตัวขึ้น เพื่อร่วมด้วยช่วยกันระดมสมองในประเด็นนี้โดยเฉพาะ พร้อมกำชับผู้เกี่ยวข้องห้ามให้ข่าวกับสื่อมวลชนอย่างเด็ดขาด เพราะกลัวเสียรูปคดี ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้จึงเงียบไปพักหนึ่ง

แต่ด้วยระยะเวลาที่บีบเค้นจนใกล้วันที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยเข้าไปทุกที…

ทำให้สุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงและ ร.ฟ.ท. มอบอำนาจทนายดังอย่าง “นิติธร ล้ำเหลือ” ไปยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต่อศาลปกครองกลาง กรณีรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และขัดต่อระเบียบสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท

มีผลให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดคุณสมบัติที่จะมารับงานในโครงการ ส่งอานิสงส์ให้การฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยก่อนหน้านี้เป็นโมฆะทั้งหมด

 

เมื่อส่อว่าจะกลายเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียเอง กลุ่มโฮปเวลล์จึงต้องเล่นบทถอยแทน โดยยื่นขอเจรจาแทนและเปิดให้กระทรวงและ ร.ฟ.ท.ยื่นขอขยายเวลาจ่ายค่าชดเชยได้ กลายเป็นฝั่งรัฐพลิกกลับมามีชัยอีกครั้งหนึ่ง โดยยินดีที่จะถอนฟ้องและเปิดทางให้มีการยื่นขอให้ศาลขยายเวลาการบังคับตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จนกว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล

จากสารพัดความวุ่นวายที่เกิดขึ้น อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า ไม่มีหน่วยงานใดออกมาเตือนหรือให้คำชี้แนะใดๆ เลยตั้งแต่ก่อนจะมีการลงนามเลยหรือ?

 

หากย้อนกลับไปช่วงที่โครงการโฮปเวลล์ยังตั้งไข่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2533 กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย (แยกออกมาเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดในปัจจุบัน) เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างสัญญาของโครงการนี้ไว้ 4 ประเด็น เพื่อให้กระทรวงคมนาคมทบทวน ประกอบด้วย

1. มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 มิถุนายน 2533 กำหนดให้มีการลงนามกับบริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) แต่ในร่างสัญญากลับให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้เซ็นสัญญากับรัฐแทน จึงควรให้บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้งเข้าผูกพันในสัญญาร่วมกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) หรืออย่างน้อยที่สุด ควรให้โฮปเวลล์โฮลดิ้งรับรองว่าจะถือหุ้นในบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในสัดส่วนที่เหมาะสม และควรจำกัดประเภทกิจการของโฮปเวลล์ประเทศไทยให้เหลือเพียงประเภทกิจการสัมปทาน ระบบ หรือการจัดหาผลประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสัญญานี้ไว้เท่านั้น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคู่สัญญาฝ่ายรัฐ

2. โฮปเวลล์อ้างว่า หากรัฐมีการทำโครงการที่มีลักษณะเป็นทางแข่งขัน สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นค่าโดยสารได้ กรมอัยการมองว่า โครงการนี้นอกจากมีโครงสร้างที่เป็นรถไฟ รถไฟฟ้าและทางด่วนแล้ว ยังให้สิทธิ์เอกชนพัฒนาที่ดินของ ร.ฟ.ท.ได้ ถือว่าเป็นรายได้ที่นอกเหนือจากค่าโดยสารและค่าผ่านทางอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ด้วย จึงเห็นว่าควรตัดข้อความที่ระบุถึงเรื่องทางแข่งขันออก

3. ควรตั้งหน่วยงานอื่นที่นอกเหนือไปจากผู้แทนของกระทรวงการคลังและ ร.ฟ.ท.เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

และ 4. กระทรวงคมนาคมควรพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่โฮปเวลล์อาจใช้เป็นเหตุแห่งการปรับอัตราค่าโดยสารให้ถี่ถ้วน และควรพิจารณาทบทวนปัจจัยดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาวะความจริง

สุดท้าย อย่างที่ทราบๆ กัน ข้อสังเกตทั้ง 4 ประเด็นก็ไม่ได้รับการรับฟังและนำมาแก้ไขในร่างสัญญาแต่อย่างใด

แถมนายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในยุคนั้น ผู้ตัดสายสะดือโครงการนี้ยังกล่าวอีกว่า ไม่มีปัญหาอย่างใด มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้ว กรมอัยการได้ผ่านเรื่องนี้แล้ว!