บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : Amazing + Unseen THAILAND ยุคไอเดียออทิสติก

ท่องเที่ยวไทยเคยประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หลังการหยิบจุดขายภายใต้แบรนด์ Amazing Thailand มานำเสนอขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

โดยประกาศตัวครั้งแรกเมื่อปี 2541 เพื่อชูความมหัศจรรย์สินค้าท่องเที่ยวไทย ให้ใครต่อใครอยากมาสัมผัส

ซึ่งได้ผลอย่างน่าอัศจรรย์ มีต่างชาติแห่มาเดินทอดน่องท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 8-9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.50% ขณะคนไทยเที่ยวกันเองปีนั้น 62-66 ล้านคนครั้ง ขยายตัวปีต่อๆ มาเฉลี่ย 7-10%

จากนั้นปี 2546 มีการสร้างแบรนด์ใหม่ Unseen THAILAND โดยคัดสินค้าแนวใหม่ที่ตลาดไม่เคยเห็นมาขาย เพื่อเรียกนักท่องเที่ยวเก่ากลับมาเที่ยวซ้ำครั้ง

และชวนนักท่องเที่ยวรายใหม่ ให้มาเห็นในสิ่งที่ตนไม่เคยเห็นมาก่อน

แต่ผู้สันทัดภาษาบางคนพยายามแปลนิยามความหมายเป็นว่า Unseen THAILAND คือไทยแลนด์แดนที่คนตาบอดมองไม่เห็นอะไร-ไปโน่นเลย!

กระนั้น…แบรนด์ใหม่กลับดูไม่น่าสนใจเท่าไรนัก ผู้ประกอบการตลาดนอก จึงเรียกร้องให้กลับมาใช้ Amazing THAILAND ซึ่ง “โดนใจ” คนซื้อคนขายในตลาดต่างแดนมากกว่า

แบรนด์สุดโด่งตัวนี้ถึงถูกดึงกลับมาใช้ใหม่ ตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม…ณ วันนี้ สถานการณ์ไทยเที่ยวไทย ดูเหมือนกำลังก้าวเข้าสู่จุดผันผวน ให้ต้องนำแบรนด์ทั้งสองมาร้อยเข้าด้วยกันเป็น Amazing + Unseen : THAILAND คือเมืองไทยถึงคราวอัศจรรย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

กรณีรัฐบาลเหล้าเก่าในขวดใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยคณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ผ่านมติเห็นชอบการคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เตี้ยต่ำ ด้วยมาตรการกระตุ้นแบบซานตาคลอสนอกฤดูกาล

แจกเงินคนไทยรายละ 1,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชั่นให้เที่ยว “ชิมช้อปใช้” กันในห้วงเวลา 3 เดือนก่อนสิ้นปี แล้วนำค่ากิน ที่พักและช้อปมาขอคืน 15% จากวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท

ไม่นับเงินแจกช่วยเกษตรกรที่ถูกพิษภัยแล้งเล่นงาน กับเพิ่มเงินสวัสดิการให้คนจน นับรวมๆ เม็ดเงินถมไม่เต็มแค่จิ๊บจ๊อย 3 แสนล้านบาท…กระติ๊ดเดียวยังงั้นแหละ!?

อ้างด้วยว่าเจียดงบฯ แผ่นดินเพียง 5 หมื่นล้านบาท กับเศษเงินก้นถังเฉียด 4 หมื่นล้านนิดหน่อย ที่เหลือเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินรัฐ ที่คนไทยทั้งประเทศไม่พ้นต้องรับภาระลูกหนี้!

อยากชวนพ่อแม่พี่น้องให้มอง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยดูจะเป็นยาหอมชั้นดีมีเสน่ห์ที่ใครๆ ก็ชอบเอาไปดม แบบอุปโลกน์เป็นจุดขายควบกิจกรรมเชิงธุร กิจที่ต้องการเงินงบประมาณจากรัฐสนับสนุนการลงทุนเพื่อหวังผลกำไร

อาทิ การจัดประกวดสาวงามในประเทศและต่างประเทศ เพียงแปะเหตุผลเผยแพร่ชื่อเสียงประเทศผ่านเวทีสาวงาม ก็ถือเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวไทยแล้ว

การจัดแข่งขันกีฬามวยไทยขนนักมวยหน้าซ้ำๆ เดิมๆ เดินสายแลกหมัดนักชกต่างชาติที่ฝึกมวยไทยถึงขั้นเทพ บนเวทีภูมิภาคต่างๆ สลับบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปชกกันถึงต่างประเทศ

ทุกครั้งจะอ้างอิงการเผยแพร่ศิลปะต่อสู้แบบแม่ไม้มวยไทย และส่งเสริมท่องเที่ยวเพื่อเอาตราสัญลักษณ์องค์กรไปประดับเผยแพร่ แลกกับงบฯ อุดหนุนเป็นต้นทุนการจัด

ไม่ต่างคณะละครเร่ในอดีต ที่เดินสายพานักมวยไปเปิดวิกที่นั่นที่นี่จนร่ำรวยไปตามๆ กัน

 

การนำท่องเที่ยวมาใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจขาลงนี่ก็เหมือนกัน…มิได้มีความแตกต่างกันเท่าไรนัก ที่รัฐบาลจงใจอ่อยเหยื่อชวนคนออกเที่ยวเพื่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนตามระบบเศรษฐกิจ

โดยลืมมองไปว่า…กลไกท่องเที่ยวนั้น ปกติมีการขับเคลื่อนขยายตัวโดยธรรมชาติทุกปี ปีละ 7-10% อยู่แล้ว ยกเว้นมีใครไปขัดขาล้มเสียก่อน เพราะท่องเที่ยวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางอ่อนไหวง่ายเมื่อมีผลกระทบ

ประการสำคัญท่องเที่ยวไม่ได้เลวร้าย วิกฤตจนคนไม่อยากเที่ยว เป็นเหตุให้รัฐต้องใช้เงินสนตะพายให้ช่วยกันเที่ยว ช่วยกันขนเงินมาจับจ่ายตามนโยบายรัฐบาลที่ทำท่าว่าจะบ้อท่า

ยิ่งกว่านั้น…สภาพการดำเนินชีวิตคนไทย 68 ล้านคน มันเหมือนคนหน้ามืดยืนอยู่บนปากเหวลึกจะร่วงไม่ร่วงแหล่ จากภาวะหนี้สินครัวเรือนที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้ให้ ตามสภาพสังคมไทยที่ “รวยกระจุก จนกระจาย”

การแจกเงินต้นทุน 1,000 บาท ผ่านอินบอกซ์กับของแถมก้นถุง “ชิมช้อปใช้” อีก 15% เชื่อได้หรือว่า…รัฐบาลจะไม่ก่อหนี้สินเพิ่มให้กับประชากรที่ยืนอยู่ปากเหว!

เพราะการเดินทางจากแหล่งพำนักถาวร ไปสู่การท่องเที่ยวและพักแรมคืนตั้งแต่ 1 คืนขึ้นไป ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายกับกิจกรรมต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัวทุกขณะมีความสุขสนุกสนาน

ไม่มีใครหรอก…ที่คิดจะไปท่องเที่ยวเพื่อการนั่งนอนสวดมนต์ภาวนา หรือปฏิบัติศีลสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน โดยไม่สนใจเทเงินออกจากกระเป๋ามาจับจ่าย

 

ข้อน่าสงสัย…รัฐบาลมีนักเศรษฐศาสตร์ชำนาญการเรื่องท่องเที่ยวระดับด๊อกเตอร์อยู่มาก ทำไมไม่มีใครสักคนเลยหรือ ที่สมองไม่ป่วยเป็นออทิสติก คิดกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการชักชวนนักลงทุนขนาดกลางในธุรกิจบริการภาคท่องเที่ยว

ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกระตุ้นตลาดท่องเที่ยว เช่น สายการบิน รถไฟ เรือนำเที่ยว โรงแรม สถานที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า ลดราคาลงต่ำกว่าปกติเพื่อสร้างแรงจูงใจ โดยรัฐเอาเงิน 15,000 บาท ที่เตรียมใช้หว่านแจก มาสนับสนุนเอกชนในส่วนต่าง แล้วดึงผู้คนออกมาจับจ่ายเงินระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ที่ไม่จำเป็นต้องล่อกันด้วยเงินอินบอกซ์

แต่มีเงื่อนไข…รัฐจะต้องลงทุนพัฒนาสรรหาที่ท่องเที่ยวชั้นนำใหม่ๆ มาเสนอขาย ไม่ใช่ขุดเอาสินค้าบักโกรกมาย้อมแมวขายคนไทย!

“ไทยเที่ยวไทย” เคยชะลอกระแส “ไทยเที่ยวนอก” เมื่อครั้งโรคซาร์สระบาดในจีนลามไป 20 ประเทศทั่วโลก เมื่อปี 2545 ทำเอาคนกระเป๋าหนักงดเที่ยวต่างประเทศ หันมาเที่ยวทะเลอันดามันฝั่งกระบี่ที่กำลังมาแรง ปีนั้นตัวเลขกระบี่เพิ่ม 90% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า

ปี 2552 เกิดโรคหวัดนก H5 ที่รุนแรงถึงขั้นคร่าชีวิต ระบาดโซนเอเชีย อเมริกา แอฟริกาและยุโรป ไทยทัวร์นอกพลันหดตัวอีกครั้ง

กลายเป็นอานิสงส์ให้ไทยทัวร์ไทยเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง

 

ครั้งนี้ไม่ต้องจุดธูปบนบานศาลกล่าว ให้โรคซาร์สและหวัดนกกลับมาเพื่อปลุกกระแสไทยเที่ยวไทยอีกครั้ง

เพียงแต่รัฐต้องพร้อมปรับกลยุทธ์ในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว และราคาจับจ่ายเพื่อสร้างบรรยากาศท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ…เชื่อว่าคนไทยก็น่าจะยินดีเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

อยากเปิดภาพคุ้นตาจากอดีต 5 ปีที่ผ่านมา ท่องเที่ยวไทยไม่มีจุดขายอะไรแปลกใหม่มากไปกว่าเที่ยวแล้วชิงโชคแจกบ้าน ที่ดิน เงินสด รถ ตั๋วเครื่องบิน หรือของชำร่วยสัพเพเหระ

ต่อมาเพิ่มเป็นเที่ยวแล้วนำใบสำคัญจ่ายเงินค่าที่พัก บริการนำเที่ยว และอาหาร วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท มาขอลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี

กระทั่งล่าสุด…งัดมาตรการหักดิบ แจกเงินจ้างเที่ยว 1,000 บาท แถมค่ากินอยู่และช้อปอีก 15% ให้คน 10 ล้านคนใช้ในเวลา 3 เดือน โดยรัฐทุ่มงบฯ 15,000 ล้านบาทแจก

สวนทางโดยสิ้นเชิงกับนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ที่หากจะซื้อเครื่องมือแพทย์มาช่วยต่อลมหายใจผู้ป่วย หรือสร้างอนาคตเด็กไทยให้ก้าวไกล…โน่นเลย! ไปออกแรงวิ่งจากชายแดนเบตงยันเชียงราย ให้คนบริจาคเงินกันแถบริมทางหลวง นี่หรือ?…คือไทยแลนด์ 4.0