วิษณุ เครืองาม : ลงเรือแป๊ะ (10) / การขึ้นครองราชสมบัติของรัชกาลที่ 10

ตามรัฐธรรมนูญและโบราณราชประเพณี เมื่อสิ้นรัชกาลลงไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม การเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลใหม่จะนับต่อเนื่องไปทันทีตามคตินิยมเช่นเดียวกับในนานาประเทศว่า “ความเป็นพระมหากษัตริย์จะไม่หยุดชะงักว่างเว้นไปได้”

ในอังกฤษ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ว่าเป็นชายหรือหญิงเสด็จสวรรคตลง จะมีประกาศทางการ 2 ประโยคต่อเนื่องกันทันทีว่า “The King (Queen) is dead. Long Live the King (Queen)” King คำแรกหมายถึงรัชกาลที่เพิ่งสิ้นสุดลง King คำที่ 2 หมายถึงรัชกาลที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่

ดังนั้น เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็เริ่มทันทีในวันนั้น

เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 แม้การรับราชสมบัติของรัชกาลที่ 8 จะมีขึ้นในอีกหลายวันต่อมา แต่รัชสมัยก็นับย้อนหลังไปต่อเนื่องในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477

และเช่นเดียวกัน เมื่อรัชกาลที่ 8 สวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ก็เริ่มขึ้นในวันเดียวกัน และถือว่าเป็นวันแรก ปีแรกในรัชกาล

อนึ่ง ตามธรรมเนียมนั้น การรับราชสมบัติจะมีในวันใดก็ตาม เมื่อสิ้นพุทธศักราชเดียวกันนั้นและขึ้นวันที่ 1 มกราคมของพุทธศักราชใหม่ จะเริ่มนับเป็นปีที่ 2 ของรัชกาลไม่ได้นับวันชนวัน ปีชนปีหรือนับให้ครบ 365 วัน หรือครบรอบ 12 เดือนแต่อย่างใด

พ.ศ.2559 จึงเป็นปีที่ 1 ในรัชกาลที่ 10 พอถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 ก็เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

ในการเป็นพระมหากษัตริย์ การเริ่มรัชกาลไม่ได้ผูกกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หากแต่ผูกกับการทรงตอบรับการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์หรือครองราชสมบัติเพราะถือว่าพระราชพิธีเป็นเรื่องของโบราณราชประเพณีและต้องพิจารณาความเหมาะสม ความพร้อม และฤกษ์พานาทีหลายอย่างประกอบกัน

พูดอีกนัยหนึ่งคือ การอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นเรื่องของกฎหมายและการรับรู้ของประชาชน

ส่วนพิธีบรมราชาภิเษกเป็นเรื่องของโบราณราชประเพณีและการรับรู้ของเทพยดาฟ้าดิน และพระผู้เป็นเจ้าตามคติในศาสนาพราหมณ์

ในอังกฤษ พิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษจะมีหลังการครองราชย์ 2-3 วัน แต่บางรัชกาลก็ทอดเวลานานกว่านั้น

ในภูฏาน เมื่อเจ้าชายจิ๊กมี่ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดาซึ่งสละราชสมบัติ เมื่อทรงครองราชย์แล้ว พิธีบรมราชาภิเษกทอดระยะเวลาออกไปเป็นปี เพราะโหรคำนวณว่าในช่วงก่อนนั้นไม่มีศุภมงคลวาร

ในประเทศไทยเองในอดีตก็เคยเป็นเช่นนั้น เพราะบางครั้งต้องรอให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลก่อนให้เสร็จสิ้น

บางครั้งก็เป็นเพราะเหตุผลอื่น

รัชกาลที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง

รัชกาลที่ 1 นั้น ครั้งแรกเป็นอย่างย่อเพราะยังเตรียมการไม่พร้อม ต่อมาเมื่อพร้อมแล้วจึงจัดอีกครั้ง

รัชกาลที่ 5 ทรงทำอย่างย่อ เมื่อขึ้นรับราชสมบัติในปี 2411 แต่เพราะยังทรงพระเยาว์จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปก่อน ต่อเมื่อทรงพระเจริญและทรงผนวชแล้วก็ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งในปี 2416

รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้จัดครั้งแรกไปแล้ว ต่อมาอีกไม่นานก็ทรงให้ตั้งการพระราชพิธีอีกครั้ง เรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช

รัชกาลที่ 8 ทรงรับราชสมบัติขณะมีพระชนมายุน้อย และยังประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาก็เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะเคยเสด็จกลับประเทศไทยก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ และยังต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อ

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยอีกครั้งในปี 2488 รัฐบาลก็ยังไม่พร้อมจะจัดพระราชพิธีถวายจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี 2489 โดยไม่ทันมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

รัชกาลที่ 9 ทรงรับราชสมบัติในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 แต่ขณะนั้นต้องเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และยังไม่ได้จัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8

จนกระทั่งถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือทอดเวลานานถึง 4 ปี

แต่ไม่ว่าในรัชกาลใด แม้จะยังไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความเป็นพระมหากษัตริย์ก็เกิดขึ้นแล้วโดยสมบูรณ์ทั้งทางนิตินัยคือทางกฎหมายและพฤตินัย

การนับระยะเวลาการเป็นพระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 9 จึงนับจากวันครองราชย์หรือวันรับราชสมบัติในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ซึ่งเมื่อนับถึงวาระที่สวรรคตรวมเวลาได้ 70 ปี

ส่วนวันบรมราชาภิเษกหรือวันสวมมงกุฎและรับเศวตฉัตรนั้นนับจากวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งพอถึงปี 2494 และปีต่อๆ มาเราเรียกวันที่ 5 พฤษภาคมว่าวันฉัตรมงคล หรือวันรำลึกถึงการรับเศวตฉัตร (ไม่ใช่วันขึ้นครองราชย์) รวมระยะเวลาที่บรมราชาภิเษก 66 ปี

การขึ้นครองราชย์จึงต่างจากการบรมราชาภิเษก

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตในตอนบ่ายของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 จึงเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องนับจากวันนั้นมาเพื่อไม่ให้ขาดสาย แม้จะทรงรับคำอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 ก็ตาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ พระราชโอรสพระองค์เดียว เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งตราขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไว้ก่อนแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2515

และตามกฎมณเฑียรบาลฉบับนั้น เมื่อราชบัลลังก์ว่างลงก็ต้องอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์โดยมิพักต้องสงสัย

แต่เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจนและเป็นทางการก็ต้องมีการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ตามบทบัญญัติในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้นให้นำมาใช้บังคับต่อไป

โดยวางหลักไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดมาดังนี้

“ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจึงขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 นั้นเอง

โดยได้เตรียมการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาลรออยู่หลังกลับจากเข้าเฝ้าฯ และประสานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเตรียมดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

แต่เมื่อกลับมาจากเฝ้าฯ ตอน 3 ทุ่ม นายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุม ครม.และ คสช.ว่ามีพระราชดำรัสว่าขณะนี้เป็นยามทุกข์โศกอย่างใหญ่หลวงของบ้านเมือง พระองค์เองก็อยู่ระหว่างทรงสลดพระราชหฤทัยร่วมกับประชาชนทั้งชาติ

สิ่งที่ต้องทำเฉพาะหน้าในขณะนี้คือการเตรียมการพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพให้เรียบร้อย ส่วนการอัญเชิญขึ้นครองราชย์นั้นเป็นขั้นตอนทางพิธีการ ขอให้รั้งรอไว้ก่อน

เมื่อถึงวาระอันควรจึงค่อยดำเนินการต่อไป ยิ่งการบรมราชาภิเษกยิ่งควรรอไว้ก่อน

 

ครม.และ คสช.รับพระราชดำรัสใส่เกล้าฯ และแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบ การประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลในคืนนั้นจึงมีแต่วาระแจ้งข่าวการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ที่ประชุมยืนไว้อาลัยถวายด้วยความเศร้าสลดสุดจะพรรณนา เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิตของใครทั้งนั้น

และถวายพระพรขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงพระเจริญเหมือนที่อังกฤษพูดว่า The King is dead. Long Live the King

ท่านนายกฯ ขอให้ผมชี้แจงขั้นตอนที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไปให้ที่ประชุมทราบ และได้มีการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่ฝ่ายต่างๆ โดยละเอียด

เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในพระบรมโกศผ่านพ้นไปแล้ว 7 วัน 15 วัน จนถึง 50 วัน ซึ่งเรียกว่าปัญญาสมวาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไปได้

นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือในนามคณะรัฐมนตรีกราบเรียนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ก่อนการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ได้มีการสถาปนาองค์พระรัชทายาทไว้แล้ว

ประธานสภาจึงเรียกประชุมสภาเพื่อทราบ

ครั้นถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 เมื่อเสร็จพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในค่ำวันนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอัมพรสถาน พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายวีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่ออัญเชิญขึ้นรับราชสมบัติ

เมื่อทรงรับราชสมบัติแล้วก็เสด็จสถิตในที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวย้อนหลังไปถึงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559

นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงเป็นนายกฯ และ ครม.ชุดแรกในรัชกาลที่ 10 ต่อเนื่องมา

 

สําหรับพระนามาภิไธยก่อนบรมราชาภิเษกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” สำนักพระราชวังให้อ่านสร้อย พระนามาภิไธยว่า “บดิน-ทระ-เทพยะ-วรางกูร” ซึ่งเป็นสร้อยพระนามาภิไธยเดียวกับเมื่อครั้งเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ในระหว่างที่ยังไม่ทรงรับบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี แม้จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ทุกประการ

แต่ตามโบราณราชประเพณีจะออกพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่นกรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ในอดีตก่อนจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งจะยังทรงรับสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๗ ชั้น) ไม่ใช่นพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๙ ชั้น)

คำกราบบังคมทูลพระกรุณาจะไม่ใช้ว่า “ขอเดชะ” และเมื่อมีพระราชบัญชาจะยังไม่ใช้ว่า “พระบรมราชโองการ” แต่ใช้ “พระราชโองการ” เมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามรับพระราชบัญชาก็ใช้ว่า “ผู้รับสนองพระราชโองการ” แม้แต่คำว่า “บรม” ก็จะละเสียในคำราชาศัพท์ต่างๆ

ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุโลมตามโบราณราชประเพณีดังกล่าวทุกประการ