วิษณุ เครืองาม : ลงเรือแป๊ะ (5) / พระมหากษัตริย์กับรัฐบาล

เป็นธรรมเนียมในประเทศที่แม้จะมีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ยังมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่รัฐบาลจะต้องถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ด้วยการถวายรายงานข้อราชการสำคัญให้ทรงทราบเป็นระยะๆ

ซึ่งเป็นไปตามหลักในระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสิทธิที่จะได้รับการกราบถวายบังคมทูล “Right to be in formed” เพื่อประกอบพระราชวินิจฉัย เช่น เมื่อเวลาถวายร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นไปให้ทรงลงพระปรมาภิไธย หากเคยมีการกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์อันจำเป็นต่อการออกพระราชบัญญัตินั้น ทั้งในส่วนของเสียงเรียกร้องต้องการและเสียงต่อต้านคัดค้านก็จะเป็นประโยชน์ในการจะทรงพิจารณา จากพระราชสิทธิข้อนี้จะทำให้เกิดพระราชสิทธิอื่นตามมาอีก 2 ประการคือ พระราชสิทธิที่จะพระราชทานคำแนะนำแก่รัฐบาล (Right to advise) และพระราชสิทธิที่จะทรงตักเตือนและให้กำลังใจ (Right to warn and encourage)”

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีทุกสมัยจะขอพระราชทานพระมหากรุณาเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานข้อราชการเสมอ

ในประเทศอังกฤษและอีกหลายประเทศ มีประเพณีที่นายกรัฐมนตรีจะมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นประจำทุกสัปดาห์

แม้แต่อยู่ระหว่างการแปรพระราชฐานหรือเสด็จฯ ต่างประเทศก็จะมีการเชิญกล่องหนังสือกราบบังคมทูลไปถวายโดยไม่ต้องรอให้ทรงสอบถาม

สำหรับในประเทศไทยก็มีประเพณีปฏิบัตินี้โดยมีการขอเข้าเฝ้าฯ เดือนละอย่างน้อย 1 ครั้ง

ส่วนการมีหนังสือกราบบังคมทูลจะเป็นไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม

 

ในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่ยังทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์และทรงพระสำราญ นายกรัฐมนตรีจะขอพระราชทานเฝ้าฯ เป็นการภายในเสมอ

บางครั้งอยู่ระหว่างการแปรพระราชฐานก็จะโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ที่ต่างจังหวัด เช่น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สกลนคร พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เชียงใหม่ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ นราธิวาส

บ่อยครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรีโดยเสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงเยี่ยมราษฎรหรือทอดพระเนตรโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย

ในตอนปลายรัชกาล พระพลานามัยไม่สู้ดีนัก คณะแพทย์กราบบังคมทูลขอให้ทรงงดปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อประทับรักษาพระองค์เป็นระยะๆ จึงไม่สะดวกที่รัฐบาลจะขอพระราชทานเฝ้าฯ ถวายรายงานดังกาลก่อน

สิ่งที่จะทำได้คือการมีหนังสือถึงราชเลขาธิการเพื่อรายงานเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ สุดแต่จะพิจารณานำความกราบบังคมทูลในเวลาอันสมควร

 

ในสมัยรัชกาลใหม่นี้ ในช่วงต้นภายหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 จนถึงเวลาถวายพระเพลิงเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีมีเหตุจะต้องขอพระราชทานเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุมาศ และการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตลอดจนรับพระราชวินิจฉัยหลายครั้ง

ในคราวหนึ่งได้รับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ มาแจ้งคณะรัฐมนตรีว่าทรงมีพระราชปรารภ 4 ประการคือ

1. ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้ประชาชนมีความสุขในการดำรงชีวิตและมีทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่าให้รู้สึกว่าอึดอัดขัดข้องหรือตันจนไม่มีทางออก

2. ช่วยกันสร้างความรับรู้สึกภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ของไทย

3. รณรงค์ให้คนมีวินัยและเคารพกฎหมาย

4. ส่งเสริมการมีจิตอาสา จิตสาธารณะ ไม่ทำอะไรที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว

ในเวลาต่อมาพระราชปรารภนี้ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เห็นในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว และกิจกรรมจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ ขุดลอกคูคลองห้วยหนองคลองบึง

และยังจะแสดงออกทางกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

 

นายกรัฐมนตรีให้นโยบายแก่คณะรัฐมนตรีด้วยว่า เนื่องจากราชสำนักได้มีการจัดระเบียบราชการใหม่

จึงจำเป็นที่ทางราชการจะต้องนำความกราบบังคมทูลถวายรายงานผ่านทางราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือราชเลขาธิการทุกครั้งก่อนที่จะมีกิจกรรม โครงการ หรือข่าวสารที่กระทบถึงราชการในพระองค์ หน่วยงานในราชสำนักและสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้น ขอให้รอจนเมื่อได้รับแจ้งว่าทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วหรือมีพระราชานุญาตแล้วจึงจะดำเนินการต่อไปได้

ในบางกรณีนายกรัฐมนตรีจะมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบโดยตรงหรือขอพระราชทานเฝ้าฯ เป็นการภายในเพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง

หลักการเช่นนี้น่าจะเป็นประเพณีวิธีปฏิบัติสืบไปเบื้องหน้า

 

ต่อมาได้มีพระราชดำริว่า การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้วายชนม์ด้วยการพระราชทานน้ำอาบศพ พระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศศพ เช่น หีบศพ โกศศพนั้น

ทุกวันนี้จำกัดอยู่แต่ศพในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งที่ผู้วายชนม์ในจังหวัดห่างไกลทั่วประเทศก็ควรได้รับพระมหากรุณาอย่างเดียวกัน

แต่สำนักพระราชวังขาดกำลังพลด้านนี้ จึงมีพระราชานุญาตให้รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมรับไปดำเนินการแทนสำนักพระราชวังตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป

เมื่อกล่าวถึงการจัดระเบียบราชการในราชสำนักใหม่ สมควรอธิบายเพิ่มเติมว่า ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เคยมีการตั้งกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบกิจการราชสำนักและราชการในพระองค์ทั้งหมด มีเสนาบดีกระทรวงวังเป็นผู้บังคับบัญชาปรากฏราชทินนามว่าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ในบางสมัยกระทรวงนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงมุรธาธร

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 พระราชภาระลดลง งานบางอย่างของกระทรวงนี้ต้องโอนไปเป็นของรัฐบาล เหลืออยู่ก็แต่เฉพาะที่เป็นราชการในพระองค์โดยแท้ จึงจัดระเบียบเป็นสำนักพระราชวัง ดูแลราชสำนัก พระราชวัง พระราชพิธี มีเลขาธิการพระราชวังเป็นผู้บังคับบัญชา

ตำแหน่งนี้เรียกโดยย่อว่า “เลขาฯ วัง” ผู้ครองตำแหน่งนี้ที่เรารู้จักกันดีในอดีต เช่น พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา นายแก้วขวัญ วัชโรทัย (น้องชายฝาแฝดคือ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นรองเลขาธิการพระราชวัง) และนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

อีกหน่วยคู่กันคือสำนักราชเลขาธิการ ดูแลรับผิดชอบราชการด้านเอกสารหนังสือทั้งที่มีมาถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์และส่งออกไปจากราชสำนัก ตลอดจนการขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในเรื่องต่างๆ ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนี้คือราชเลขาธิการ

เรียกโดยย่อว่า “ราชเลขาฯ”

ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ที่รู้จักกันดีในอดีตคือ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ม.ร.ว.พีรพงษ์ เกษมศรี นายอาสา สารสิน และนายกฤษณ์ กาญจนกุญชร

ข้าราชการที่ทำงานใน 2 หน่วยงานนี้เรียกว่า “ข้าราชการพลเรือนในพระองค์” ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าการแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย จึงไม่จำเป็นว่าจะครบเกษียณอายุเมื่อมีอายุ 60 ปี ดังข้าราชการฝ่ายอื่น

นอกจากนี้ ก็มีส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องแต่ไม่เป็นราชการในพระองค์ เช่น กรมราชองครักษ์ หัวหน้านายตำรวจราชสำนัก

 

ในสมัยรัชกาลนี้ มีพระราชดำริให้จัดระเบียบราชการใหม่ให้เป็นระเบียบแบบแผน จึงมีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 หลักการคือให้มีส่วนราชการในพระองค์เป็นคำกลางๆ ประกอบด้วยส่วนราชการ 3 ส่วน ได้แก่

1. สำนักพระราชวัง ซึ่งมีสถานะและอำนาจหน้าที่มากกว่าเดิม โดยมี พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (หลังบรมราชาภิเษกแล้วได้เป็นราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) และเลขาธิการพระราชวัง และมีกรมลดหลั่นลงไป ได้แก่ ศาลาว่าการสำนักพระราชวัง กรมราชเลขานุการในพระองค์ กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์ กรมมหาดเล็ก กรมสนับสนุน กรมกิจการพิเศษ และส่วนราชการอื่นที่จะกำหนดต่อไป

2. สำนักงานองคมนตรี รับผิดชอบกิจการเกี่ยวกับองคมนตรี (แยกมาจากสำนักราชเลขาธิการแต่เดิมมาตั้งเป็นกรมใหม่) โดยให้องคมนตรีมีสถานะเป็นข้าราชการในพระองค์ด้วย

3. หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งรวมงานถวายความปลอดภัยจากตำรวจและทหารมาไว้ในหน่วยเดียวกัน