คุยผู้กำกับหนังสั้น “อีกฝั่ง” | ครรชิต สพโชคชัย ว่าด้วย “งานประจำปี” ที่ทำให้ชีวิตมีค่าขึ้น

“มันเหมือนงานประจำปี ที่ทำแล้วมีความสุขน่ะครับ” กรรมการผู้จัดการและผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาแห่งบริษัท หับ โห้ หิ้น บางกอก จำกัด ครรชิต สพโชคชัย บอกกับ “มติชนสุดสัปดาห์” อย่างนั้น เกี่ยวกับงานกำกับภาพยนตร์สั้น “อีกฝั่ง” ที่นำเพลงชื่อเดียวกันของวง Klear มาตีความ

บอกด้วยเสียงที่พอได้ยินได้ฟังแล้วก็รู้สึกได้ว่าเจ้าตัวนั้น “แฮปปี้” จริง

และพอทักไปอย่างนั้น เขาก็หัวเราะ พร้อมยอมรับว่ายังคงมีความรู้สึกดังกล่าว แม้งานที่ว่าจะแล้วเสร็จไประยะหนึ่งแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ภาพยนตร์สั้นซึ่งพยายามสะท้อนเรื่องโซเชียลมีเดียที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ใน “โลกจริง” ดังกล่าวเกิดขึ้นจากความคิดของเสริมสิน สมะลาภา ที่มีโปรเจ็กต์ทำงานร่วมกับศิลปิน นักร้อง ครีเอเตอร์ด้านต่างๆ เพื่อนำเสนอผลงานที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคม

ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเองก็เคยร่วมโปรเจ็กต์ดังกล่าวมาก่อน และแน่นอนว่ายังเคยทำงานเพื่อสังคมในลักษณะนี้กับหน่วยงานอื่นๆ มาแล้วด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะงานเพื่อผู้ป่วย HIV, งานช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ต้องการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคต่างๆ

ในชีวิตประจำวัน ครรชิตบอกว่า งานโฆษณาของเขาคืองานเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งเขาเองก็ชอบและรักที่จะทำ อีกทั้งก็ยังรู้สึกภูมิใจทุกครั้ง เวลาส่งงานแล้วลูกค้าชื่นชอบ

“แต่มันไม่เหมือนกันครับ” เขาว่า

“คือเวลาลูกค้าชอบงานเรา เราก็ภูมิใจ ว่าเออ…มีคนชอบในสิ่งที่เราทำ ภูมิใจไปกับทีมงานที่ทำด้วยกัน แต่แป๊บเดียว กลับบ้านมันก็หมด ก็ลืมน่ะ แต่เวลาที่ทำงานเชิงอาสาสมัคร โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเรามีค่ามากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่างานไม่จบ เหมือนเป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ แล้วเราก็จะรู้สึกว่ามีความอิ่มใจบางอย่างที่ได้ทำ”

“ไม่ได้สุขแบบดีใจ๊ดีใจ เป็นความอิ่มใจมากกว่าฮะ อิ่มใจแล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีค่า ในแง่ที่ไม่ได้อยู่เปล่าๆ”

กับงานที่ “มีตั้งแต่ไม่คิดเงินเลย” หรือพูดง่ายๆ ว่าตัวเขาทำให้ฟรี ไปจนถึงที่ได้รับค่าแรงตามแต่จะให้นั้น ครรชิตบอกว่า ในส่วนของออฟฟิศหับ โห้ หิ้นเอง นอกจากจะไม่ได้กำไรแล้ว ยัง “อาจจะต้องควักเนื้อบ้าง เป็นบางครั้ง” โดยงบประมาณที่ได้มานั้นจะถูกใช้ไปกับค่าโปรดักชั่น ขณะเดียวกันก็ต้องนำไปเป็นค่าแรงของทีมช่าง ไม่ว่าจะช่างไฟหรือช่างอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับค่าจ้างแบบวันต่อวัน

แต่กระนั้น เขาก็เต็มใจทำอย่างยิ่ง

“คงเป็นพื้นฐานตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือมั้งครับ” เขาคาด

“มันเหมือนกับถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเวลาที่เรามีโอกาส ให้ทำเพื่อสังคมบ้าง น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แล้วบังเอิญที่พอทำแล้ว เรามีความสุข”

“คือผมไม่ได้คิดว่าผมกำลังทำความดีหรืออะไรนะครับ ผมคิดว่าผมทำแล้วมีความสุข แล้วมันได้ช่วยคนอื่นด้วย มันก็เป็นเรื่องที่ดี”

ที่ย้ำเรื่อง “สุข” ไม่ใช่ “ดี” ครรชิตอธิบายว่า เพราะในมุมคิดของเขา “คนที่ไม่ได้ทำ ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดีนะ”

ขณะเดียวกัน เขายังมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของคนในสังคม

“ถ้าเราอยู่ในฐานะที่ทำได้ เราก็ทำ ใครไม่พร้อม ก็รอพร้อมก่อนแล้วก็ทำ”

“และพอได้ไปทำ ก็พบว่า เวลาที่เครียดจากการทำงาน แล้วได้ไปช่วยเขา งานพวกนั้นมันกลับมาช่วยเราด้วยซ้ำ มันทำให้ได้เห็นว่า เออ…ชีวิตมันยังมีอย่างอื่นอีกเยอะ ความทุกข์ข้างนอกยังมีอีกเยอะ บางครั้งที่เราโดนลูกค้าแก้งาน จริงๆ เป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับปัญหาผู้ติดเชื้อ HIV มันมีอย่างอื่นที่เขาหนักกว่าเราด้วยซ้ำ”

ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่เล่ามา ครรชิตจึงบอกว่า ที่เขาตั้งใจไว้คือ ต่อให้มีเวลาว่างหรือไม่ หรือต่อให้ยุ่งขนาดไหน ถ้าได้รับการชักชวนให้ร่วมในโปรเจ็กต์เพื่อสังคมแบบนี้ เขาก็จะต้องจัดสรรเวลาเพื่อเข้าร่วมเท่าที่พอจะทำได้

“ก็แบบเป็นงานประจำปี ที่เราจะต้องออกไปช่วยน่ะครับ” เขาว่าอย่างนั้น

สำหรับ “อีกฝั่ง”

ถ้าว่ากันตามถ้อยคำ ครรชิตบอกว่า เพลง “อีกฝั่ง” จะพูดถึงชีวิตของคน 2 คนที่เหมือนนกซึ่งบินออกมาพร้อมกัน แต่พอเจอลมพายุ ชีวิตของพวกมันก็เปลี่ยนไป ซึ่งหลังการหารือกับทีมงาน เขาก็ตัดสินใจนำเสนอผ่านเรื่องราวของโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คน

“การพยายามสร้างตัวตนของคนยุคนี้ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นประเด็นที่ผมสนใจ” ครรชิตบอก หลังสังเกตเห็นความพยายามของผู้คนมากมายที่ต้องการจะได้การยอมรับในโลกโซเชียมีเดีย และเพื่อให้ได้ผลตามต้องการ หลายคนจึงพยายามทำตัวเองให้เป็นที่รักของใครๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้จัก

ที่สำคัญคือ สิ่งที่ทำลงไปนั้น “ตกลงแล้วใช่ตัวเองจริงๆ หรือเปล่า หรือแค่อยากจะเป็นคนอีกคนหนึ่ง ที่ทำให้คนอื่นชอบ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ตัวเรา”

ขณะเดียวกันก็แทรกเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่ได้รับผลจากโซเชียลมีเดีย-อย่างมากเกินไปเหล่านั้น

 

“ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลิกใช้นะครับ” คนทำภาพยนตร์สั้น “อีกฝั่ง” ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทางยูทูบ ช่อง Genierock บอก

“แค่อยากให้ชะลอการอยู่ในโลกโซเชียลลง และอยู่กับมันยังไงให้เหมาะสม”