วิษณุ เครืองาม : ลงเรือแป๊ะ (1)

หมายเหตุมติชนสุดสัปดาห์ : เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ลงเรือแป๊ะ ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

“ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ”
ขืนไม่ตามใจแป๊ะ แป๊ะก็ไล่ลงจากเรือ
เรือเอ๋ยเรือแป๊ะ

เรือแป๊ะไม่ใช่ชื่อหรือประเภทของเรือดังที่เราเรียกเรือชื่อต่างๆ เช่น เรือสำเภา เรือสำปั้น เรือแหวด เรือกอ และเรือเอี้ยมจุ๊น เรือหางแมงป่อง เรือตังเก หากแต่เป็นเรืออะไรก็ได้ที่เป็นของแป๊ะ แป๊ะเป็นเจ้าของ เป็นคนพายหรือแจว เป็นคนสำคัญที่สุดในเรือ

คำว่าแป๊ะใช้เรียกผู้ชายชาวจีนสูงอายุ มีเพลงไทยสำเนียงจีนชื่อเพลงแป๊ะ มีสำนวนภาษาพูดว่า “เยอะแยะตาแป๊ะไก๋” แปลว่ามากมายเหลือจะนับ

ส่วนคำว่าปลาช่อนแป๊ะซะนั้นคนละแป๊ะไม่เกี่ยวกัน

แป๊ะมาจากภาษาจีนว่า “แปะ” หรือ “อาแปะ” แปลว่าลุงหรือผู้สูงอายุ

อย่างที่คนไทยเห็นชายจีนรุ่นเยาว์ก็มักเรียกอาตี๋ พอสูงอายุรุ่นพี่ก็เรียกอาเฮีย ย่าง 30-40 ปี ก็เรียกอาเจ็กซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นเจ๊ก พอเข้าวัยสี่ซ้าห้าสิบปีก็เรียกอาแปะหรือแป๊ะ แต่ถ้าแก่เฒ่าก็เรียกอากงหรือก๋ง

สรุปคือแป๊ะไม่ใช่คำเรียกแบบดูหมิ่นดูแคลนอะไร แต่เรียกแบบเคารพนับถือ นับญาติยกย่องตามวัยเหมือนที่เราเรียกลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายาย

คงเป็นอย่างที่สังคามาระตาบอกวิหยาสะกำในเรื่องอิเหนาว่า “สุดแต่ว่าจิตพิศวาส ก็นับเป็นวงศ์ญาติกันได้”

อีกนัยหนึ่งตรงกับพระบาลีที่ว่า “วิสสาสะปรมาญาติ” ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่งนั่นเอง

เคยเห็นผู้ใหญ่ในวงราชการ เช่น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคุณสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีชื่อเล่นว่า “แป๊ะ” พอใหญ่มากๆ สื่อก็เรียก “บิ๊กแป๊ะ”

จะเป็นชื่อเล่นที่ครอบครัวเรียกมาแต่เด็ก หรือเพื่อนฝูงเห็นท่าทางแก่แดดเหมือนชายจีนสูงอายุจึงตั้งสมญาเรียกว่าแป๊ะก็ไม่ทราบ

รวมความแล้วเรือแป๊ะก็คือเรือของอาแป๊ะหรือตาแป๊ะ และแป๊ะจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารหรือตำรวจ

และไม่จำเป็นว่าเป็นไทยหรือจีน

 

มีปัญหาว่าทำไมจึงต้องเป็นเรือแป๊ะ

เหตุใดไม่เป็นเรือป๋า เรือมาม่าซัง เรืออาบัง เรือเมอสิเออร์

คำตอบคือ สมัยก่อนป๋าของฝรั่ง มาม่าซังของญี่ปุ่น อาบังของแขก เมอสิเออร์ของฝรั่งเศส ไม่ได้มาพายเรือ แจวเรือหรือแล่นเรือโล้สำเภาในเมืองไทย

เรือที่รับจ้างพายหรือแจวขึ้นล่องตามแม่น้ำลำคลองไม่ว่าในชนบทหรือในพระนครมักเป็นเรือชาวจีน

ที่จริงคนไทยก็พายเรือได้และมีอยู่ทั่วไปอย่างที่มีสำนวนว่า “ผู้หญิงยิงเรือ ผู้ชายพายเรือ” แต่มักเป็นเรือส่วนตัว มีอยู่ประจำบ้านร้านโรงของใครของมัน

ไม่ได้เป็นเรือรับจ้างขนส่งสาธารณะหรือแมส ทรานซิส

มีเรือชนิดหนึ่งชื่อเรืออีแปะ คำนี้ฟังคล้ายเรือแป๊ะ แต่ที่จริงไม่ได้เกี่ยวกับเรือแป๊ะ

อีแปะเป็นเรือที่ใช้ไม้กระดานต่อขึ้น ท้องเรือแบนเสริมกราบเรือสูงเหมือนเรือสำปั้น แต่หัวเรือสั้นกว่า คนพายเรืออีแปะอาจจะเป็นแป๊ะ แขก ลาว หรือคนไทยก็ได้

เรือแป๊ะจึงไม่ใช่เรืออีแปะ

เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 หลังการขุดคลองต่างๆ ชาวจีนที่มารับจ้างขุดคลองหัวคิดดี รู้จักหาเรือมารับจ้างบรรทุกคนไปตามคลองเหล่านั้น

กิจการอย่างนี้เป็นสตาร์ตอัพในสมัยนั้นและเป็นที่นิยมของลูกค้าขาจรเดินทางจากบ้านนอกเข้ากรุง หรือเป็นพวกไม่มีเรือของตัวเอง คนจีนมีนิสัยหนักเอาเบาสู้ ทั้งอาชีพนี้ก็ไม่ใช่อาชีพสงวนจึงมีเรือแป๊ะบริการทั่วไป

บางทีเจ้าของเรือหลายลำก็รวบรวมกันเหมือนสหกรณ์รถแท็กซี่สมัยนี้ ตั้งเป็นท่าเรือรับจ้างขนส่งสาธารณะ พบเห็นได้ทั่วไปแถวตลาดพลู คลองบางกอกน้อย คลองบางหลวง และชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

อย่างที่ “คุณพุ่ม” กวีหญิงคนหนึ่งสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ท่าเรือจ้างของแป๊ะพวกนี้

จึงได้สมญาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง”

เรื่องนี้คงคล้ายๆ ที่คนไทยสมัยนี้ไม่นิยมเป็นลูกเรือประมงเพราะงานหนัก เหนื่อย ออกทะเลทีหลายวันกว่าจะได้กลับบ้านเห็นหน้าลูกเมีย ลูกเรือประมงส่วนใหญ่จึงเป็นชาวพม่า

สมัยก่อนคนไทยคงไม่ใคร่รับจ้างพายเรือเพราะเป็นอาชีพกรำแดดกรำฝน

พวกรับจ้างพายเรือแจวเรือส่วนใหญ่จึงเป็นแป๊ะ แม้แต่ที่โล้สำเภาลำโตๆ ก็เป็นแป๊ะทั้งนั้น

 

“แจว” และ “พาย” นั้นเป็นอาการพุ้ยน้ำให้เรือเคลื่อนไปทั้ง 2 คำ แต่ใช้เครื่องมือพุ้ยน้ำต่างกัน แจวจะมีคันถือยาว ส่วนพายคันถือจะสั้นป้อม

ส่วนใหญ่ท่าทางคนบังคับเรือก็ต่างกัน คนพายมักนั่งเพราะใบพายด้ามสั้น ในขณะที่คนแจวมักยืนแจวจะสะดวกกว่านั่งเพราะคันแจวยาวกว่าใบพาย

ผมยังทันเห็นแป๊ะร่างผอมเกร็ง สวมเสื้อกุยเฮงผ่าอกกลัดกระดุมมีกระเป๋าล่างสองข้าง นุ่งกางเกงขาสั้น บางทีก็เป็นกางเกงขาก๊วย สวมหมวกกุ้ยเล้ยหรืองอบแบบจีนยืนแจวเรือเอี้ยมจุ๊นบ้าง เรือหางแมงป่องบ้าง รับจ้างส่งผู้โดยสารและสินค้าตามลำคลอง

ผู้ใหญ่ชี้ให้ดูและบอกว่าเป็นพวกเรือแป๊ะ

บางทีแป๊ะก็สูบบุหรี่ใบจากพ่นควันไปพลางหรือร้องเพลงจีนหงุงหงิงๆ อย่างสบายอารมณ์ ผู้โดยสารไม่เต็มลำ เรือก็ยังไม่ออก

การแจวเรือจ้างอย่างสบายอารมณ์เป็นลักษณะพิเศษของเรือแป๊ะ

ยิ่งกว่านั้น การนั่งเรือแป๊ะจะต้องมีระเบียบกติกามารยาท เช่น ผู้โดยสารจะเร่งให้ไปเร็วๆ เพราะรีบร้อนจะไปให้ทันถวายเพลที่วัด รีบไปโรงหมอให้ทันอาการที่คนไข้กำลังทรุด หรือรีบไปแจ้งความโรงพักให้ทันก่อนผู้ร้ายจะหนีไปได้

ทั้งนั้นเพราะแป๊ะแกจะไม่ยอมรับรู้ด้วย อย่างมากแกก็ร้องฮ่อๆ แล้วแจวเรือเอื่อยๆ พ่นควันใบจากหรือร้องเพลงงิ้วของแกต่อไป

แม้แต่ใครจะบอกให้แป๊ะแจวช้าๆ แบบอ้อยอิ่งชมวิวหรือขอเทียบเรือแม่ค้าซื้อโน่นซื้อนี่ก็ไม่ได้

บอกให้แป๊ะหยุดร้องเพลงก็ไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ที่แป๊ะ

การตัดสินใจเป็นเรื่องของแป๊ะ

ทุกคนต้องเอาใจและรู้จักเกรงอกเกรงใจแป๊ะ

 

แป๊ะเป็นกัปตัน ผู้นำ ผู้บัญชาการทหารเรือ นี่เองเป็นที่มาของสำนวนไทยแท้แต่โบราณตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ว่า “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” ขืนไม่ตามใจแป๊ะ แป๊ะก็ไล่ลงจากเรือ ใครรับกติกาเรือแป๊ะไม่ได้ แป๊ะก็บอกว่าลื้อจงไปนั่งเรืออื่น หรือไม่ก็จงว่ายน้ำไปเอง

พูดถึงการต้องตามใจแป๊ะซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ไม่ยักเหมือนสมัยนี้ที่หลักบริหารธุรกิจสอนว่าต้องตามใจผู้รับบริการหรือลูกค้าย่อมถูกเสมอ ความพอใจของท่านคือบริการของเรา

ผมนึกถึงร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าอร่อยแถวตลาดสามย่านข้างจุฬาฯ เจ้าหนึ่งซึ่งบัดนี้ย้ายไปแล้ว

ในร้านมีป้ายแถลงกติกาว่า โปรดสั่งทีเดียวให้เสร็จ ห้ามกินเสร็จแล้วสั่งใหม่ ถ้าสั่งห่อไปห้ามนำมากินในร้าน ถ้ากินในร้าน กินไม่หมดห้ามขอใส่ถุงกลับบ้าน กินเสร็จกรุณารีบลุก ลูกค้าอื่นรออยู่

นี่ก็เข้าสูตรกินร้านเจ๊ ตามใจเจ๊ แต่คนก็เข้าคิวกินกันตรึม กลายเป็นว่าเสน่ห์ร้านเจ๊อยู่ตรงการมีกรอบกติกานี่เอง

เสน่ห์เรือแป๊ะก็คงอยู่ที่การต้องตามใจแป๊ะทำตามกติกาแปลกๆ ของแป๊ะ

 

มีคนเล่าอีกกระแสต่างออกไปว่า สำนวนลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ น่าจะมาจากสำเภาจีนลำโตๆ ขนคนขนสินค้าไปเมืองจีน สมัยก่อนจึงโล้สำเภาจีนขนส่งระหว่างไทยกับจีน สำเภาพวกนี้เป็นของชาวจีน เรือจะออกจากท่าน้ำราชวงศ์วันไหน ขนได้เท่าใด อยู่ที่แป๊ะเจ้าของเรือจะกำหนด จึงเป็นที่มาของสำนวนเดียวกันนี้

ลงท้ายเลยไม่ชัดแจ้งว่าเรือแป๊ะเป็นเรือลำเล็กหรือสำเภาลำใหญ่

รู้แต่ว่าแป๊ะเป็นเจ้าของทั้งสิ้น และใครลงเรือเหล่านี้ต้องตามใจแป๊ะเหมือนๆ กัน

แต่ผมเชื่อเรื่องเรือลำเล็กมากกว่า

เป็นอันว่าเมื่อรักจะลงเรือแป๊ะก็ต้องตามใจแป๊ะ อำนาจต่อรองอยู่ที่แป๊ะ

โลจิสติกส์อยู่ในมือแป๊ะ โปรโตคอลต้องเป็นอย่างที่แป๊ะกำหนด

ผู้โดยสารนั่งให้ดี มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ และว่าไงก็ควรว่าตามกัน อย่าแตกแยกแตกคอแตกกลุ่ม

คนรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่รู้จักเรือแป๊ะตั้งแต่มีเรือยนต์ เรือหางยาว เรือสปีดโบ๊ตเข้ามาแทนที่ แป๊ะรุ่นโน้นถ้าไม่ล้มหายตายจากก็เป็นเถ้าแก่เจ้าของท่าเรือ อู่เรือ เป็นเจ้าของธุรกิจขนส่งขนาดใหญ่กันไปหมดแล้ว

ไม่มีใครหลังขดหลังแข็งแจวเรือรับจ้างหรือโล้สำเภาอีกต่อไป สำนวนเรือจ้างกลายเป็นนำไปอุปมากับอาชีพครูแทน

บัดนี้จึงเหลือแต่สำนวนไทยเชยๆ ว่า “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ”

 

ขุนวิจิตรมาตรานักเขียนเรื่องเก่าๆ ผู้โด่งดังใช้นามปากกาว่า “กาญจนาคพันธุ์” เคยเขียนไว้ในหนังสือเรื่องสำนวนไทย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2543 ในหน้า 492 อธิบายว่า “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” แปลว่า “อยู่ร่วมกับเขา ไปกับเขา อาศัยเขาก็ต้องยอมตามเขา ไม่ขัดขืน เขาจะให้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น”

สรุปอีกทีก็คือ เมื่อร่วมหอลงโรงกันแล้ว เข้ากลุ่มเข้าพวกกับเขาแล้วต้องมีระเบียบวินัย ว่าไงก็ต้องว่าตามกัน โดยเฉพาะคือต้องเกรงใจหัวหน้าหรือผู้นำ

สำนวนนี้จึงคล้ายๆ คำว่าลงเรือลำเดียวกัน เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ตกกระไดพลอยโจน

หรือเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย อะไรทำนองนั้น

 

สํานวน “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” ฮิตอยู่พักหนึ่งคราวที่ผมนำไปใช้เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดประชุมสัมมนาสมาชิกที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 หัวข้อว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติควรมีบทบาทและทำงานอย่างไรในยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)

ผมบรรยายแก่สมาชิกสภาว่า ทำไปตามปกติให้เป็นธรรมชาติ โดยคำนึงถึงประโยชน์บ้านเมือง

แต่ขอให้ตระหนักด้วยว่าเราไม่ใช่ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ไม่ใช่ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คสช.เป็นคนตั้งเรามาร่วมแก้วิกฤตบ้านเมือง และบ้านเมืองยามนี้ก็ไม่ปกติ

คสช.มีนโยบายและแนวทางในการแก้ปัญหาเก่าที่ตกค้างจากอดีต ปัญหาใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาและปัญหาระยะยาวอยู่แล้ว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทุกท่านเป็นเสมือนแม่น้ำสายหนึ่งในจำนวน 5 สายที่จะไหลไปรวมกันเป็นมหาสมุทรใหญ่ จะทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองทำตามใจชอบ ทำตามความคิดหรือนโยบายตัวเองเสียหมดไม่ได้

ประเทศนั้นเรามักเรียกว่า “รัฐนาวา” นายกรัฐมนตรีเป็นกัปตัน สำนวนนี้เปรียบเทียบแบบฝรั่ง แต่ขอยกสำนวนไทยแท้แต่โบราณมาเปรียบเทียบแทนว่า “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ”

คสช.คือแป๊ะ ฉะนั้น จะทำอะไรก็ช่วยชำเลืองดูแป๊ะหน่อย เรื่องนี้ไม่ถึงกับอำนาจนิยม แต่เป็นเรื่องกาลเทศะ

ถ้าแป๊ะยังไม่มีนโยบาย เราก็เดินตามที่เราเห็นควร

ถ้าแป๊ะมีแต่จุดหมายปลายทางยังไม่รู้วิธีการว่าจะทำอย่างไร เราก็ช่วยกันหาวิธีการที่ดีที่สุด เหมือนช่วยกันแจวช่วยกันพาย

ถ้าแป๊ะมีวิธีการแต่เราเห็นว่าไม่ถูก ทำอย่างนี้จะเสียหาย เราก็ต้องท้วงติง ไม่งั้นถ้าเรือล่มแป๊ะจม เราก็จม จึงต้องช่วยกัน

ถ้ามีเหตุผลและพร้อมใจพูดภาษาเดียวกัน แป๊ะฟังอยู่แล้ว ขอให้ดูทิศทางลมและดูอารมณ์ของแป๊ะก็แล้วกัน

แต่ถ้าแป๊ะฟันธง กำหนดเป้าหมายและวิธีการชัดเจนแล้วก็ช่วยรับมาพิจารณาหน่อยเหมือนระบบวิปในสภา แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วยและคิดว่าทำอย่างนั้นบ้านเมืองจะเสียหายก็จงอย่าหลับหูหลับตาเอาใจแป๊ะ ควรขอลงจากเรือแยกลำไปดีกว่า

ปล่อยแป๊ะไปตามประสาของแป๊ะเถิด!

 

หลังจากนั้นสื่อก็เอาไปขยายความว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเรือแป๊ะ

ตอนแรกๆ ท่านนายกฯ ก็ไม่ปลื้มกับสำนวนนี้ มักขมวดคิ้วงงๆ

และเคยถามคนใกล้ชิดเหมือนกันว่าแป๊ะคือใคร

ทั้งเรือลำนี้เป็นรัฐนาวาลำใหญ่ไม่ใช่เรือแป๊ะลำเล็กๆ แต่พอรู้คำอธิบายแล้วว่าเป็นสำนวนไทยอย่าไปคิดมาก คงอาจมีใครเอาหนังสือขุนวิจิตรมาตราให้ดูที่มาที่ไปก็ได้

และคงเรียนท่านว่าที่เรียกว่าสำนวนนั้นเขาไม่แปลตรงตามอักษร แต่ให้ดูความหมายที่แฝงไว้มากกว่า

อย่างแป๊ะในที่นี้จะเป็นลุงตู่หรือหมายถึง คสช. หรือ ป.ป.ป. (คือ ประยุทธ์ ป้อม ป๊อก) ก็ได้

ส่วนนัยที่แฝงอยู่คือว่าไงว่าตามกัน สามัคคีกัน ท่านเลยหัวเราะขำตามไปด้วย

เรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละครับพี่น้อง! เข้าใจตรงกันนะ!