2500 สฤษดิ์ เผ่า เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด : นาทีเผชิญหน้า | โดย พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

2500 สฤษดิ์ เผ่า เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด (2)

นาทีเผชิญหน้า

“ใครเป็นผู้บังคับรถถังคันนี้” เจ้านายชะโงกออกมาถาม

นายทหารในเครื่องแบบร้อยตรีคนหนึ่งเดินลงมาจากป้อมปืน ตรงเข้ามาหายกมือตะเบ๊ะ “ผมร้อยตรี…ครับ” เขารายงาน (ที่…ไว้นั้น เพราะจำชื่อเขาไม่ได้)

“ขึ้นรถ ทิ้งรถไว้ก่อน เดี๋ยวจะให้คนมาส่ง” เจ้านายสั่ง “จะไปหอประชุมกองทัพบก ไอ้อ้วนเปิดประตูให้เขาขึ้นมา”

ไอ้อ้วนเอื้อมมือไปเปิดประตูรถข้างมัน ร้อยตรีคนนั้นก้าวขึ้นนั่งปิดประตูเรียบร้อยแล้ว อ้วนก็ถอยรถออกมาจากหน้ารถถัง ตั้งหน้ารถบึ่งเข้าถนนพิษณุโลก ออกราชดำเนินมาเลี้ยวเข้าถนนที่ผ่านหน้ากองทัพที่ 1

ตรงสะพานที่จะข้ามผ่านกองทัพ เจอด่านทหารอีกด่าน นายทหารยศร้อยเอกเข้ามาก้มมองในรถ

“เอ้า ผู้กอง” เจ้านายสั่งการ “ขึ้นรถแล้วเอาหมวดคนนี้ไปส่งที่ยมราชด้วย จะไปหอประชุมกองทัพบก”

ร้อยเอกผู้รักษาด่านคนนี้ก็ขึ้นรถมาด้วยดี สั่งการให้รถจี๊ปที่ด่านไปส่งร้อยตรีคนนั้น แล้วตัวเองก็ขึ้นไปนั่งแทนที่ สั่งเปิดเครื่องกีดขวางให้รถผ่าน

ทีนี้ก็มาถึงอีกด่านหนึ่งหน้ากองทัพพอดี จะเลี้ยวผ่านเข้าหอประชุมกองทัพบก นายทหารที่คุมเครื่องกีดขวางเดินเข้ามาหาที่รถ ทีนี้เป็นทหารยศพันโท ผมรู้จักดีเพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ผมชะโงกหน้าออกไปแทนเจ้านาย

“เฮ้ย ไอ้ยศ” ผมเรียกมัน

“เจ้านายจะไปที่หอประชุมกองทัพบกเว้ย มึงขึ้นรถพาไปที และเอารถไปส่งผู้กองนี่ที่ด่านเขาด้วย” ไอ้เพื่อนผมหลีกทางให้ร้อยเอกคนนั้นลงจากรถ แล้วมันก็ก้าวขึ้นมานั่งแทน เมื่อสั่งการให้ทหารที่ด่านมันเอารถไปส่งผู้กองคนนั้นกลับไปที่ด่านของเขาเรียบร้อยแล้ว รถก็ผ่านเข้าไปถึงทางเข้าหอประชุมกองทัพบก

ไอ้เพื่อนผมก็สั่งการทหารเปิดเครื่องกีดขวางขั้นสุดท้ายออกให้รถผ่านเข้าไปในหอประชุมได้โดยไม่มีปัญหาอะไร

รถมาจอดอยู่หน้าทางขึ้นตึกที่ประชุม มันก็ลงไปเปิดประตูให้เจ้านายลง ผมกับไอ้อ้วนก้าวลงตามหลังไปติดๆ ก้าวขึ้นบันได 2-3 ขั้นที่หน้าตึกไป ตรงหน้าทางเข้าเป็นประตูกระจกมองเห็นข้างใน มีนายทหารหลายคนอยู่ข้างใน ที่ชานหน้าประตูทางเข้าห้องก็พบนายตำรวจของผมคนหนึ่งอยู่ในเครื่องแบบทหารยศพันตรี ผมเข้าไปตบไหล่เขา

“เป็นทหารไปแล้วหรือ” เขาทำท่าอายๆ เพราะเขาเป็นนายตำรวจยศพันตรีประจำอยู่สันติบาลในบังคับบัญชาของผม แต่วันนั้นเขาดันแต่งเครื่องแบบทหารยศพันตรีเข้าให้

“ผิดกฎหมายนะคุณ” ผมสัพยอกเขา

เขาถอยห่างออกไปอย่างเขินๆ แล้วเปิดประตูกระจกเดินเข้าไปข้างใน ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าห้องนั้นยังมีนายทหารนายตำรวจอีกหลายคนยืนถือแก้วเหล้าอยู่ คนหนึ่งเดินมาหาผมส่ง แก้วที่มีเหล้าชั้นดีผสมอยู่บางๆ มาให้ ผมรับมายกดื่ม รสมันชื่นใจ

เจ้านายยังยืนอยู่ที่หน้าประตูกระจกนั้น ข้างในผมเห็นมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั่งกันอยู่เป็นกลุ่มที่โต๊ะกลมใหญ่ลึกเข้าไปด้านใน แล้วก็เห็นท่านจอมพลสฤษดิ์ลุกขึ้นจากกลุ่มนั้น เดินรีบๆ มาผ่านประตูกระจก

ท่านจอมพลมองเห็นเจ้านายยืนอยู่ที่ตรงชานหน้าห้อง ก็ผลักบานประตูกระจกออกมา แต่ผลักประตูผิด ไปผลักบานที่มันไม่เปิด ดันไม่ออก นายทหารคนหนึ่งมาผลักบานประตูอีกบานที่เปิดได้ให้ท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติออกมาจับมือท่านอธิบดี แล้วสวมกอดพลางพูดรำพันว่า

“ไอ้เผ่า กูดีใจที่เห็นมึง เข้ามาข้างในคุยกัน”

แล้วท่านก็ดึงเอาเพื่อนรักเข้าไปข้างใน ทิ้งผมไว้ที่ตรงนั้น ผมสองคนก็ยืนจิบเหล้าอยู่กับพรรคพวกที่ตรงชานหน้าห้องกระจกนั้น คุยกันสนุกสนานเหมือนไม่มีอะไร สักครู่ก็มีนายทหารคนหนึ่งเปิดประตูออกมาบอกว่า ท่านข้างในให้เชิญผมทั้งสองคนเข้าไปในห้อง

ผมทั้งสองก็ตามนายทหารคนนั้นเข้าไปที่โต๊ะที่ท่านผู้ใหญ่นั่งกันอยู่ ที่โต๊ะนั้นนอกจากท่านจอมพลสฤษดิ์แล้วก็ยังมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่าน เท่าที่จำได้ก็มี พลจัตวากฤษณ์ สีวะรา พล.ท.ถนอม กิตติขจร พล.ท.จิตติ นาวีเสถียร พล.ท.ประภาส จารุเสถียร นอกจากนั้นผมจำชื่อไม่ได้

พอเข้านั่งโต๊ะ ผมก็เห็นเจ้านายเอาเท้าเขี่ยท่าน พล.ท.ประภาสเล่นแล้วสัพยอกว่า

“ว่าไงไอ้ตุ๊ มึงจะเอายังไงกับกู” พี่ตุ๊ปัดป้อง

“เอ้า มาเตะกันอยู่ได้ โน่นพูดกับคนโน้น” แล้วชี้มือไปที่ท่านจอมพล

“เฮ้ย ไอ้เผ่า มึงจะไปนอก หรือจะบวช”

ท่านอธิบดีหัวเราะ

“บวชมันจะตลกไปหน่อยโว้ย กูจะไปเมืองนอก”

“มึงอยากไปที่ไหนล่ะ” ฝ่ายปฏิวัติถาม

“มึงจะให้กูไปที่ไหนล่ะ” คนแพ้ย้อนถาม

“ไปสวิตเซอร์แลนด์ไหม” คนชนะบอก “แล้วมึงจะเอาใครไปด้วย”

“กูเอาไอ้อ้วนไป” คนแพ้ตอบ ตบที่เข่าไอ้อ้วนที่นั่งอยู่ข้างๆ

“แล้วไอ้พุฒล่ะ” หัวหน้าคณะปฏิวัติถาม หันมาชี้ที่ผมที่นั่งอยู่ต่อจากไอ้อ้วน

“ไอ้พุฒ มึงอยู่เถอะวะ” ผู้แพ้ต่อรอง

“มึงไปด้วย”

เสียงท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติสวนมาทันที พยักหน้ากับผม ผมยังไม่ทันได้คิดอะไร ถ้าให้ผมตอบ ผมคงไม่ต้องไป เพราะผมมีวิธีตอบที่แนบเนียนกว่านั้น ผมมีพี่เขยที่เป็นนายทหารคนสนิทคนหนึ่งของท่านจอมพลหัวหน้าคณะปฏิวัติ และท่านหัวหน้าเองก็เคยพบกับผมมาแล้วอย่างถึงอกถึงใจ ท่านเชื่อผมพอดู แต่เมื่อท่านอธิบดีชิงตอบเสียก่อนก็เลยโดนกระแทกกลับทันควัน เพราะน่าจะไว้ใจวางใจยากหากจะทิ้งผมไว้อาจสร้างปัญหาให้ทีหลังก็ได้ ผมมองท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติ แล้วว่า

“พาสปอร์ตผมไม่มีครับ”

“เดี๋ยวกูทำให้” เสียงสวนมาทันที

“รูปถ่ายผมก็ไม่มีครับ”

“เดี๋ยวกูถ่ายให้” เสียงสวนมาทันที

แล้วท่านหัวหน้าก็หันไปสั่งการกับนายทหารที่ยืนอยู่ข้างๆ ให้ไปตามช่างถ่ายรูปของทหารบก ชั่วประเดี๋ยวเดียวก็มีทหารยกกล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่เข้ามา ผมก็ต้องยืนพิงกำแพงถ่ายรูปเดี๋ยวนั้นแล้วท่านก็เรียกปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาพบ ตัวปลัดกระทรวงการต่างประเทศตอนนั้นคือหม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล ท่านอยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย เพราะต้องมารายงานตัวในฐานะที่ตอนนั้นไม่มีตัวรัฐมนตรีแล้ว คณะปฏิวัติล้มรัฐบาลไปแล้ว รัฐมนตรีทุกท่านก็หมดหน้าที่ไปในตัว

หม่อมปีกทิพย์ถูกสั่งให้ทำหนังสือเดินทางให้ผมให้เสร็จเร็วที่สุด เป็นหนังสือเดินทางทูตเสียด้วย แล้วก็มีการพิมพ์คำสั่งแต่งตั้งผมกับพันศักดิ์ให้ไปประจำสถานทูตไทยที่กรุงเบิร์นในสวิตเซอร์แลนด์ ในตำแหน่งเลขานุการเอกทั้งสองคน

ส่วน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์นั้นให้ไปประจำสถานทูตก่อน ตำแหน่งที่แท้จริงจะแจ้งมาให้ทราบภายหลัง แล้วให้หม่อมปีกทิพย์ส่งโทรเลขไปทางสถานทูตไทยที่สวิส แจ้งให้ท่านทูตที่นั่นทราบว่า คำสั่งนั้นด่วน เพราะพวกผมจะต้องออกเดินทางพรุ่งนี้เช้าตรู่”

วันรุ่งขึ้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.ต.อ.พุฒ บูรณะสมภพ และ พ.ต.อ.พันศักดิ์ วิเศษภักดี ก็เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ เป็นอันจบตำนาน “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” เจ้าของวาทะ “ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” อย่างถาวร

เพื่อทำความเข้าใจกับบันทึกนี้ ต้องย้อนอดีตกลับไปครั้ง “รัฐประหาร 2490”

รัฐประหาร 2490 Beginning of the End

รัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ด้านหนึ่งคือความสืบเนื่องแห่งเส้นทางที่แยกไม่ออกระหว่าง “ทหาร” กับ “การเมือง” ของไทยมาจนบัดนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นจุดเริ่มของตำนาน “มิตรภาพ” ระหว่างนายทหาร 2 ท่าน สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับเผ่า ศรียานนท์ เมื่อครั้งดำรงยศพันเอกในขณะนั้น

ผู้นำการก่อรัฐประหารครั้งนี้ เกือบทั้งหมดล้วนเป็นนายทหารนอกประจำการ โดยชั้นต้นแยกเป็น 4 กลุ่มซึ่งมีลักษณะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเคลื่อนไหวแล้วจึงมาร่วมกันในภายหลัง ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 มี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ อายุ 56 ปี เป็นหัวหน้า จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกร่วมรุ่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ อยู่ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และมีบทบาทสำคัญในสงครามมหาเอเชียบูรพา ถูกปลดประจำการเมื่อสงครามสิ้นสุดใน พ.ศ.2488

ในการกระทำรัฐประหารครั้งนี้มี พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ บุตรเขยซึ่งเป็นนายทหารนอกประจำการเช่นเดียวกันเป็นผู้ร่วมปฏิบัติงานที่สำคัญ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ เคยเป็นนายทหารคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างยิ่งจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ.2481 ถึง พ.ศ.2487

กลุ่มที่ 2 มี พ.อ.กาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) อายุ 57 ปี เป็นหัวหน้า จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกและเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีบทบาทสำคัญในการปราบปราม “กบฏบวรเดช” ได้รับบาดเจ็บหูพิการข้างหนึ่งจากการถูกหัวรถจักรฝ่ายกบฏพุ่งชน เคยเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังสงครามเป็นนายทหารนอกประจำการ ในการรัฐประหารครั้งนี้ท่านได้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมประกาศใช้โดยซุกซ่อนไว้ใต้ตุ่มจนเป็นที่มาของฉายา “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม”

กลุ่มที่ 3 มี พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท อายุ 44 ปีเป็นหัวหน้า จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เคยดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนหลายตำแหน่ง หลังสงครามเป็นนายทหารนอกประจำการ

กลุ่มที่ 4 มี พ.อ.สวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ เป็นหัวหน้า อายุ 48 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ขณะทำรัฐประหารดำรงตำแหน่ง “เจ้ากรมเกียกกายทหารบก” นับเป็นนายทหารประจำการเพียงท่านเดียว แม้จะมิได้ควบคุมหน่วยกำลังรบก็ตาม

เนื่องจากมีจุดอ่อนด้านความเป็นนายทหารนอกประจำการ ทั้งหมดจึงมีความเห็นร่วมกันให้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นแม้จะเป็นนายทหารนอกประจำการเช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่ายังมี “บารมี” ต่อหน่วยทหารส่วนใหญ่และสังคมไทยให้มาเป็นหัวหน้า

โดยมอบหมายให้ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้ชักชวน แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ตอบรับหรือปฏิเสธอย่างชัดเจน