“กัญชา” หรือจะสู้ Pill-Harmonic ดนตรีบำบัด Platform ใหม่ ฟังเพลงผ่าน SD Card

“ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า”

นอกจากจะเป็นเพลงดังของ “แม็กซ์ เจนมานะ” แล้ว ยังเป็น “ใบสั่งยา” ของคุณหมอรุ่นใหม่แห่งรัฐ South Dakota สหรัฐอเมริกา

นั่นคือ ParkRx

หลังจากวินิจฉัยและรักษากันมาหลายขนาน คนไข้ก็ไม่หายสักที

คุณหมอรุ่นใหม่แห่งรัฐ South Dakota คนนี้ จึงคิดค้นวิธีการรักษาแนวใหม่ นั่นคือ การออกใบสั่งยา “ให้ไปเดินป่าพักผ่อน” หรือ Park Prescriptions สำหรับรักษาอาการเหนื่อยล้า รวมถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวเรื้อรังจากความเครียด

จึงเกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ คือ “ใบสั่งยา” ParkRx ขึ้น

การบำบัดความป่วยไข้รูปแบบใหม่ในลักษณะที่ไม่ใช่ทั้ง “แพทย์แผนปัจจุบัน” หรือ “แพทย์แผนโบราณ” นอกจาก “เข้าป่า” แล้ว “ดนตรีบำบัด” ดูเหมือนจะเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็น เพลงเบาๆ เคล้าคลอแก้เครียดในชั่วโมงทำงาน

ลดความดันสูงให้ต่ำลงด้วยการฟังเพลง

ดนตรีหัวเตียงช่วยให้นอนหลับลึก

เชื่อมเซลล์สมองจากเพลงของ Beethoven

ฟัง Mozart แก้โรคอัลไซเมอร์

ฯลฯ

โดยเฉพาะดนตรีสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกแรกคลอด ที่กลายเป็นสินค้าขายดิบขายดีในยุคหนึ่ง

ทั้งที่ในยุคนั้น และโดยเฉพาะยุคนี้ เป็นช่วงเวลาที่ขอเรียกว่าเป็น “ยุค CD ล่มสลาย”

โดยเฉพาะการปิดตัวของแผนกขาย CD ของ B2S ร้านขาย CD ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในห้าง Central ทุกสาขา ถือเป็นสัญญาณไฟไหม้วงการ CD อย่างแท้จริง

ยังไม่ต้องพูดถึงร้าน CD ร้านเล็กร้านน้อย ที่ทยอยปิดกิจการ พร้อมๆ กับแผงหนังสือพิมพ์ริมถนน

คนรัก CD เห็นสถานการณ์แล้วก็ปวดหัวใจยิ่งนัก เพราะคนรุ่นใหม่ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Music Streaming กันหมดแล้ว

เหลือแต่คนแก่ๆ ที่ยังคงฟังเพลงจากแผ่นเสียง CD และเทปคาสเส็ต ที่แม้จะมีกระแส Music Retro กลับมาเป็นระยะ ทว่า ก็มิอาจต้านทานได้

อย่างไรก็ดี มีปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งน่าสนใจจากญี่ปุ่น คือข่าวคราวของวง Japan Philharmonic Orchestra วงดนตรีคลาสสิคอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามเชื่อมโยงดนตรีคลาสสิคกับสังคม ด้วยการลดช่องว่างผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสู้ภัยพิบัติ ด้วยการนำวง Orchestra ไปปลุกขวัญปลอบใจผู้ประสบภัยสึนามิ หรือตอนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima เกิดระเบิด

การลงพื้นที่นำดนตรีคลาสสิคเข้าสู่ชุมชน ด้วยการเปิดฟรีคอนเสิร์ตให้กับผู้สูงอายุ และมินิคอนเสิร์ตให้เด็กๆ ในโรงเรียน

โดยเฉพาะสัปดาห์ Family Orchestra ดนตรีสำหรับครอบครัวที่พ่อแม่พาบุตรหลานไปฟังดนตรีคลาสสิคด้วยกัน แทนที่จะไปเดินห้าง

ยังไม่นับการเปิดคอร์สสอนดนตรีฟรีให้กับผู้สูงวัยอายุ 60 อัพ และเด็กเล็ก

โดยโครงการที่น่าสนใจและมีชื่อเสียงที่สุดของ Japan Philharmonic Orchestra ก็คือ Japan Pill-Harmonic ที่เล่นคำ-ล้อความ คำว่า Phil กับ Pill ที่แปลว่า “ยา”

แนวคิดของ Japan Pill-Harmonic ก็คือ การผสมสูตรยาโดยใช้ดนตรีคลาสสิคเป็นส่วนผสมหลัก ที่ทางวงเรียกว่าเป็น Alternative Medicine คล้ายใบสั่งยา “ให้ไปเดินป่าพักผ่อน” ของ South Dakota

“ยา” ของ Japan Pill-Harmonic จะมาในรูปแบบของ SD Card จำนวน 20 ขนาน สามารถเลือกใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้ด้วยการฟังเพลงคลาสสิค

ไม่ว่าจะเป็น ยาประทินหมายเลข 12 ของ Antonio Vivaldi ที่มาพร้อมเพลงดัง The Four Seasons รักษาโรคผิวหนัง ผิวแห้ง แก้คัน ช่วยให้ผิวพรรณดูเปล่งปลั่ง

ยาธาตุเบอร์ 14 คือเพลง The Barber of Seville ของ Gioachino Rossini แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน และช่วยเจริญอาหาร

หรือจะเป็น ยากระษัยหมายเลข 10 ของ Gustav Mahler ที่ส่ง Symphony No.10 เข้าประกวด แก้อาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ที่เปิดฟังแล้วจะหลับลึก

โดยเฉพาะ Best Seller ยาหมายเลข 11 บรรเทาโรคอกหักรักคุด ที่ Gustav Mahler ประพันธ์ Symphony No.5 รอไว้เกือบ 120 ปีแล้ว ขายดิบขายดีทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ

นอกจากนี้ ยังมีตัวยาอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ ยาระบายหมายเลข 18 แก้ท้องผูก ด้วย Symphony No.1 ของ Johannes Brahms หรือยาสลิมมิ่งหมายเลข 5 สำหรับคนอยากผอม ก็ต้อง Symphony No.9 ของ Ludwig van Beethoven

และที่สำคัญก็คือ ยาลดความหล่อเบอร์ 4 คือ Symphony No. 40 ของ Wolfgang Amadeus Mozart สำหรับบรรเทาอาการตกหลุมรักง่าย เป็นต้น

“ยา” ของ Japan Pill-Harmonic และแนวทางการรักษาโรคของยาหมายเลขต่างๆ นี้ ไม่ใช่สูตรยาผีบอก หรือทำขึ้นอย่างมั่วซั่ว

เพราะยาทั้ง 20 ตัวของ Japan Pill-Harmonic ผ่านการค้นคว้า วิจัย และทดสอบในห้องปฏิบัติการอย่างรัดกุม รอบคอบ รวมถึงทดลองใช้กับผู้ป่วยอาการต่างๆ จนแน่ใจแล้ว จึงนำออกเผยแพร่

“ยา” ของ Japan Pill-Harmonic จำนวน 20 ขนานนี้ จะมาในรูปแบบของ SD Card ที่แจกให้ฟรี ในแพ็กเกจ “ซองยา” สีสันสดใส เป็นมิตรกับคนไข้หลากเพศหลายวัย และดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี

เมื่อผู้ป่วยนำ SD Card ต่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว Copy เพลงรักษาโรคเอาไว้แล้ว ก็สามารถส่งต่อให้กับญาติสนิทมิตรสหาย หรือคนป่วยไข้ไม่สบายรายอื่นๆ ต่อๆ กันไปได้อย่างไม่รู้จบ

หากนำโครงการ Japan Pill-Harmonic ของ Japan Philharmonic Orchestra เทียบกับข่าวการนำกัญชามารักษาโรคในบ้านเราแล้ว

คิดว่า “ยา 20 ขนาน” ของ Japan Pill-Harmonic ดูจะจับต้องได้ ไม่เพ้อฝัน ฟุ้งเฟ้อ หรือเป็นแค่นโยบายหาเสียง

แม้จะมีผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือมีบทความวิชาการมากมายที่ชี้ให้เห็นประโยชน์จากการนำกัญชามาบำบัดอาการป่วยไข้ ทว่า ปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย หรือการกำกับ ควบคุม ดูแล ที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน

โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ที่สุดแสนจะสับสน

ระหว่างที่รอความชัดเจนของนโยบายกัญชา จึงคิดว่า แนวคิดดีๆ จากโครงการ Japan Pill-Harmonic น่าจะเป็นประโยชน์ หรือเป็นต้นแบบให้กับวงการดนตรีไทยในการสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีๆ แบบนี้บ้างครับ