ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด กลิ่นเหม็นเน่าของหัวใจและปาก (กา) ที่ดังกึกก้องของ “ลูกแก้ว โชติรส”

น่าจะเป็นความบังเอิญจากหน้าปกสยิวๆ ที่วาดโดย “อุทิศ เหมะมูล” รวมเรื่องสั้นและความเรียง Black Cherry “ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด” ของนักเขียนหญิง “ลูกแก้ว โชติรส” (สารภาพว่าผู้เขียนไม่เคยรู้จักชื่อนี้มาก่อน) จึงถูกผู้เขียนหยิบมาอ่านและรวดเดียวจบ

รวมเรื่องสั้นชุดนี้บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์รักและร้าวรานในมุมมองของผู้หญิงอย่างเปิดเผยและไม่ปกปิด แม้หลายเรื่องน้ำหนักส่วนใหญ่จะเทไปในเรื่องทางเพศอย่างโจ่งครึ่ม (อ่านแล้วตื่นยิ่งกว่าดื่มกาแฟ) แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนอารมณ์

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “บ้านพี่ผีดุ” และ “พี่จ๋า” (เรื่องนี้ชวนเศร้ามาก) หรือเรื่องที่อ่านแล้วชวนอมยิ้มอย่างเรื่อง “การเดินทาง” หรือเรื่องที่บอกเล่าความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาใน “กว่าจะเป็นแบบกู” รวมถึงเรื่องที่มีภาวะอารมณ์รุนแรงในแบบที่ผู้ชายควรทำความเข้าใจในตัวผู้หญิงให้มากกว่านี้ อย่างในเรื่อง “คิดถึงอีกคน” ฯลฯ

และหนึ่งในเรื่องที่ผู้เขียนอยากหยิบยกมาพูดถึงก่อนขยายความสู่เรื่องอื่นๆ ในลำดับถัดไป คือเรื่องสั้นๆ ที่มีชื่อว่า “เหม็น” (เรื่องสั้นส่วนใหญ่ของเธอแม้จะสั้นๆ ก็จริง แต่หลายเรื่องก็ให้อารมณ์ที่บาดลึก)

 

เรื่องสั้นเรื่องนี้บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงความสัมพันธ์บนเตียงของคู่รักต่างวัย ที่ฝ่ายชายผู้มากประสบการณ์ชอบขอให้คนรักอมนกเขาให้ ซึ่งฝ่ายหญิงก็ยินดีพร้อมใจทำตาม แต่ลึกในใจกลับคิดว่า

“ของพี่แม่งเหม็นมากนะ”

เธอยอมอมให้ทั้งที่รู้สึกคลื่นเหียน และกล่าวถึงความรู้สึกนี้ในหลายต่อหลายครั้งทำนองว่าเป็น “พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ไร้ที่มา” บ้าง “พิธีกรรมชวนพะอืดพะอม” บ้าง “พิธีกรรมเก่าๆ” บ้าง ราวกับการทำออรัลเซ็กซ์ตามความเข้าใจของเธอเป็น “พิธีกรรมร่วมเตียงอย่างหนึ่ง” ที่จำเป็นต้องมี นอกจากใช้แสดงออกถึงความรักแล้ว นัยหนึ่งยังใช้ปลุกกระตุ้นอารมณ์ตื่นตัวทางเพศและผูกมัดใจชายได้อีก (เราสามารถอ่านพิธีกรรมนี้ได้โดยละเอียดในคัมภีร์กามสูตรของอินเดียที่มีทั้งภาพประกอบและการบรรยาย)

หากเราลองถอดความตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เราจะได้ยินเสียงของฝ่ายชายพูดออกมาชัดเจนว่า

“ของพี่เหม็นไหม” ตามมาด้วยคำว่า “อมให้หน่อยสิ”

ส่วนฝ่ายหญิงได้แต่ “เงียบงัน” และคิดอยู่ในใจ ก่อนเอ่ยออกมาสั้นๆ “อื้อ ได้” แล้วปฏิบัติตามคำสั่งอย่างว่าง่าย โดยเธอกล่าวถึงความสัมพันธ์รัญจวนใจครั้งนี้ว่า

“ตอนเราเอากันครั้งแรกฉันยังเด็ก เขาโตกว่าฉันหลายปี ซึ่งมากพอที่จะรู้ความต้องการของตัวเองและมากพอที่จะรู้จักบริหารเสน่ห์ใส่ฉัน”

เหตุผลของเธอทำให้เรารับรู้ว่า ในห้วงยามเสน่ห์รัดรึงราวกับงูกอดรัดเหยื่อนี้ คำรักหวานหูหว่านล้อมจากชายผู้มากประสบการณ์และกามารมณ์นั้น ยากจะไถ่ถอนตัวให้หลุดพ้นจากความเย้ายวนที่ฝ่ายชายรู้จัก “บริหารเสน่ห์ใส่”

ซึ่งการรับรู้กลิ่นของกันและกัน (ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นตัวหรือกลิ่นน้ำหอมประจำตัว) การได้ครอบครอง การแสดงความเป็นเจ้าของ การปฏิบัติต่อกันภายในห้องที่ปิดประตูมิดชิด การปลดเปลื้องอาภรณ์ กอดรัด การเผยให้เห็นทุกสิ่งอย่างและรับรู้กันอยู่แค่สองคน โดยเฉพาะเรื่องบนเตียง จึงเป็นความใคร่ปรารถนาที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจตกลงทำร่วมกัน

การบอกให้อมหรือ “ใช้ปาก” คือการแสดงออกทางอำนาจอย่างหนึ่งของผู้ชาย ในมุมมองของฝ่ายหญิง การสมยอม “ปิดปาก” สนองตอบตามความต้องการของฝ่ายชาย จึงไม่ต่างจากการพร้อมใจตกอยู่ใต้อำนาจที่ถูกครอบงำด้วยความเสน่หา

เธอไม่เหมือนกับ “โลลิต้า” ที่มีจริตจะก้านและรู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากศาสตราจารย์ฮัมเบิร์ต

แต่เธอเหมือนกับ “เอเลน่า” ในภาพยนตร์ Fat Girl ของแคทเธอรีน เบรลญาต์ มากกว่าที่พลังทางเพศพลุ่งพล่านและพร้อมทำรักให้คนรักของเธอโดยไม่สนใจว่ามีน้องสาวร่างอ้วนแอบมองการร่วมรักอยู่ด้วย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องที่เข้าทำนองหมิ่นเหม่ศีลธรรมหรือล่อลวงผู้เยาว์แต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เธอทำก็เต็มไปด้วยรักและเซ็กซ์ที่พร้อมปรนเปรอ แม้พิธีกรรมชวนคลื่นเหียน ชวนพะอืดพะอมจะหมุนเวียนไม่จบสิ้น และแม้ว่าเธอจะ “เหม็น” แต่เธอก็ยอมทนต่อกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งเธอเองก็สารภาพในเวลาต่อมาว่า

“จริงๆ ตอนนั้นฉันก็ไม่เด็กมาก แต่ความคิดก็ไม่โตพอที่จะรู้ว่าการเอากันคือความสุขของทั้งสองฝ่าย เราไม่ต้องฝืนอมให้ใคร หรือทำอะไรเพื่อใครแค่เพราะอยากให้เขาชอบเรา”

ชื่อเรื่อง “เหม็น” เรื่องสั้นๆ นี้ นอกจากจะใช้เป็นคำกล่าวเฉพาะเจาะจงถึงอวัยวะเพศของฝ่ายชายแล้ว ยังสะท้อนถึงตัวตนที่ฉาบฉวย ไม่ต้องการการผูกมัด ต้องการเพียงเพศรสมาเติมเต็มความคึกคะนองมากกว่าที่จะสานสัมพันธ์จริงจังเหมือนที่ฝ่ายหญิงมีให้ กลิ่นที่ไม่หอมโชยติดจมูกและลวงเลือนสายตา จึงให้คำนิยามความหมายมากกว่าเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายรวมไปถึง “หัวใจ” ที่เน่าเหม็นพอกัน ซึ่งกลิ่นดังกล่าวก็ฟุ้งออกมาตั้งแต่คำแรกที่ฝ่ายชาย “เอ่ยปาก” ขอแล้วว่า

“ของพี่เหม็นไหม”

ในตอนจบของเรื่องเราจึงได้เห็นแล้วว่าเมื่อถึงที่สุด เมื่อเธอเติบโตขึ้น กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น ปากที่เคยเก็บงำเงียบมาตลอด ก็ถึงเวลาที่เธอจะป่าวประกาศเรียกร้องสิทธิ์ของเธอออกมาบ้างด้วยการ “เปิดปาก” พูดสิ่งที่อยู่ในใจและไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติหรือพิธีกรรมของฝ่ายชายอีกต่อไป

“เออ โคตรเหม็นเลยแหละ” ฉันกล้าพูด เหมือนได้ชัยชนะเหนือมวลมนุษยชาติทั้งปวง (หน้า 72)

 

โดยภาพรวมเรื่องสั้นและความเรียงส่วนใหญ่ในเล่มนี้ คล้ายคนอ่านกำลังต่อจิ๊กซอว์เป็น “ภาพใหญ่” กล่าวคือ แต่ละเรื่องคล้ายโยงใยหากันอยู่ไม่มากไม่น้อย พอเราอ่านเรื่องนี้ต่ออีกเรื่องต่อเนื่องไปจนจบเล่ม ก็ให้อารมณ์ความรู้สึกประหนึ่งเหมือนอ่านประสบการณ์ในหลากหลายช่วงตอนของตัวละครหญิงคนเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เธอเล่าถึงเรื่องความผิดที่ดูเหมือนว่าจะร้ายแรงในสายตาผู้ใหญ่ เธอโดนครูทั้งโรงเรียนประชาทัณฑ์ แต่แม่กลับไม่กล่าวโทษและเป็นคนเดียวที่เข้าใจเธอมากที่สุด เธอจึงผ่านพ้นเรื่องนี้มาได้

หรือเรื่องของพ่อที่เธอเคยรักมากที่สุด แต่กลับเป็นคนทำร้ายหักหาญน้ำใจเธอมากที่สุดจนตัดสัมพันธ์กันไป “ฉันเปลี่ยนบ้านหนแรกเพราะต้องย้ายเข้าไปอยู่โรงเรียนนายร้อยฯ แต่บ้านของหัวใจฉันแหลกสลายลงทันทีที่พ่อพูดคำนั้น” (หน้า 158)

หรืออย่างในเรื่อง “บ้านพี่ผีดุ” กับเรื่อง “พี่จ๋า” (ราวกับเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน) ก็ไม่ต่างจากกลิ่นที่ชวนคลื่นเหียนในเรื่อง “เหม็น” ที่หากมองถลำลึกลงในความสัมพันธ์ของคนที่เธอเคยรักและหอบข้าวของมาอยู่ด้วยแล้วก็น่ากลัวและดุยิ่งกว่า “ผีที่มองไม่เห็น”

กลิ่นของความเหม็นเมื่อตอนรักและยังมองไม่เห็นตัวตนที่แท้ มันจึงซ้ำซ้อนวนเวียนอยู่ในชีวิตของเธอ-ตัวละครตัวนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็เป็นการ “ผลิตซ้ำ” ความเจ็บปวดที่เหมือนชื่อหนังสือ “ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด” ที่แม้จะเสพติด ถวิลหา แต่เธอก็หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีพอที่จะกล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา

อย่างในเรื่อง “กว่าจะเป็นแบบกู” ตัวละครของเธอก็พูดเสียงดังฟังชัดว่า

“จากสายตาคนอื่น ฉันดูเก่ง ดูกล้า ดูแรดและไม่อายที่จะยอมรับว่าตัวเองแรด ถ้าเงี่ยนฉันจะบอกว่าเงี่ยน ถ้ารักฉันจะบอกว่ารัก ฉันชัดเจนกับความรู้สึกตัวเองเสมอ” (หน้า 78)

ไม่ต่างจากในเรื่อง “ไม่มีใครครอบครองแมวได้” ที่กล่าวแทนตัวเองว่าไม่ต่างจากนิสัยแมวตัวหนึ่ง

“ฉันจะมาเมื่ออยากมา และจะไปเมื่ออยากไป ใช่ ไม่มีใครครอบครองแมวได้ บางครั้งฉันก็ชอบที่ฉันเป็นของฉันแบบนี้ แต่บางครั้งก็เกลียดสิ่งที่ตัวเองเป็นเหลือเกิน” (หน้า 21-22)

 

หรือจะในเรื่องเกี่ยวกับผู้เขียน “ลูกแก้ว โชติรส” ก็จัดเต็มแบบไม่อ้อมค้อมบอกเล่าความเป็นตัวตนของเธออย่างที่เรามักไม่ค่อยเห็น “นักเขียนหญิง” กล้าเปิดเผยกันเท่าไหร่นัก

ซึ่งนอกจากจะเป็น “หญิงสาวผมสั้นที่รักแมวและมีรอยสักรูปแมว”

เธอยังบอกว่า “ชอบดื่มเบียร์แล้วติดลมไม่ยอมกลับบ้าน เสพติดเสียงฝนและเสียงคลื่น อ่านหนังสือเพราะอยากอ่าน ขายวิญญาณให้กับงานเขียน”

และสง่าผ่าเผยพอที่จะบอกกับคนอ่านงานของเธอว่า “สนใจเรื่องเพศและการเอากันเพราะความเงี่ยนอยากและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซ่อนอยู่ในนั้น” (คงไม่มีนักเขียนชายคนใดบอกชอบเขย่าเจ้าโลกตัวเองเป็นงานอดิเรก)

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า ถึงแม้หลายเรื่องน้ำหนักส่วนใหญ่จะเทไปในเรื่องเพศอย่างโจ่งครึ่มจัดหนัก แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่าการเขียนอย่างไม่ประนีประนอมหรือประหยัดคำสุภาพตกแต่งให้ดูสวยงาม อำพรางความรู้สึกแท้จริงที่อยากถ่ายทอดออกมา คงออกจะอึดอัดในเสรีภาพที่เธออยากนำเสนอและอยากให้คนอ่านได้เสพสมและเข้าถึง “ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด” เล่มนี้อย่างถึงพริกถึงขิงจริงๆ

เธอจึงปลดเปลื้องเปลือยภาษาแบบไม่บันยะบันยังและแสดงเจตจำนงเสรีในการนำเสนอตัวตนของเธอที่แม้อ่านแล้วออกจะฟุ้งกลิ่นคาวโลกีย์ไปบ้าง แต่ก็คงดีกว่าปกปิดตัวตนที่แท้เอาไว้ ซุกซ่อนตัวตนที่แท้จริงเอาไว้ในรูปของ “คนดี” ที่ข้างในมืดบอดศีลธรรมและความเน่าเหม็นกำจายเกลื่อนทั่วสังคม!