วิเคราะห์ : วิกฤตของพยาธิแพทย์… วิชาชีพที่ไขปริศนาน้องน้ำตาล

คงยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้องน้ำตาลเดอะสตาร์ที่มีเลือดไหลออกจากบริเวณหลังโพรงจมูกและทำให้เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา

และในที่สุดก็ได้รับการเฉลยว่าเกิดจากเชื้อวัณโรคโดยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา

และผู้ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยและทำให้เรื่องนี้กระจ่างก็คือ พยาธิแพทย์

หลายท่านคงงงว่าวัณโรคไม่ใช่โรคพยาธิ ทำไมจึงเกี่ยวข้องกับพยาธิแพทย์

คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าพยาธิแพทย์เป็นหมอรักษาโรคพยาธิ เพราะบังเอิญชื่อพ้องกัน

ความจริงพยาธิแพทย์คือแพทย์ที่ทำหน้าที่คล้ายผู้พิพากษา ต่างกันที่ผู้พิพากษาวินิจฉัยคดี แต่พยาธิแพทย์วินิจฉัยโรคโดยการตรวจเซลล์ของชิ้นเนื้อ

อาจกล่าวได้ว่า การวินิจฉัยของพยาธิแพทย์ ถือเป็นการวินิจฉัยที่ชี้ขาดว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร

เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่ชี้ขาดคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งหรือเนื้องอกชนิดต่างๆ ต้องได้รับการยืนยันด้วยการตรวจชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์ทุกรายก่อนที่จะได้รับการรักษา เช่น การให้ยาเคมีบำบัด หรือ การผ่าตัดอวัยวะส่วนนั้นออกไป

การตรวจด้วยเครื่องมือที่ราคาแพงและทันสมัยในปัจจุบัน เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องเอ็มอาร์ไอ หรือการตรวจสารต่างๆ ในเลือด ล้วนแต่ให้การวินิจฉัยแค่สงสัยเป็นโรคนั้นๆ เท่านั้น แต่ไม่ยืนยัน

ยังต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันก่อนการรักษาเสมอ

ด้วยเหตุที่พยาธิแพทย์มิได้ทำการตรวจต่อหน้าผู้ป่วยโดยตรงแต่ส่งรายงานการวินิจฉัยมาให้แพทย์ผู้รักษา

ผู้ป่วยจึงไม่ทราบว่าผู้ที่ให้การวินิจฉัยที่อยู่เบื้องหลัง คือ พยาธิแพทย์

 

กว่าจะมาเป็นพยาธิแพทย์ได้นั้น ต้องจบแพทยศาสตรบัณฑิตเหมือนหมอทั่วไป

และต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเป็นแพทย์เฉพาะทางเหมือนแพทย์เฉพาะทางในสาขาอื่น เช่น อายุรศาสตร์ จักษุ โสตศอนาสิก ศัลยกรรม

และต้องสอบผ่านวุฒิบัตรวิชาชีพ จึงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 9 ปี หลังจบมัธยมปลาย

ปัจจุบันทั่วประเทศมีพยาธิแพทย์ประมาณ 400 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 0.57 ต่อประชากร 100,000 คน ประเทศสหรัฐอเมริกา 5.7 ออสเตรเลีย 6.5 ฮ่องกง 3.8 และสิงคโปร์ 2.0 ต่อประชากร 100,000 คน

จะเห็นว่า ประเทศไทยยังอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนพยาธิแพทย์อย่างมาก

สาเหตุหลักเนื่องจาก

1) เป็นงานที่ปิดทองหลังพระ มิได้ทำงานต่อหน้าผู้ป่วยโดยตรง จึงไม่ได้รับการยกย่องในฐานะแพทย์เท่าที่ควร

2) เป็นงานที่มีความเครียดสูง เพราะต้องรับผิดชอบต่อผลการวินิจฉัยที่ผิดพลาดไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ไม่ถูกต้องและอาจเกิดผลเสียแก่ผู้ป่วยอย่างรุนแรง

3) ค่าตอบแทนที่ต่ำมากซึ่งค่อนข้างไม่เป็นธรรมเมื่อเปรียบกับความรับผิดชอบและเวลาที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากการวินิจฉัยของพยาธิแพทย์ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการของศูนย์แล็บต่างๆ ราคาของการตรวจชิ้นเนื้อแต่ละรายจะรวมต้นทุนวัสดุ การบริหารจัดการและค่าตอบแทนพยาธิแพทย์

เช่น กรณีของน้องน้ำตาลแม้พยาธิแพทย์จะเป็นผู้เฉลยคำถามที่เป็น top of the town หากคิดตามราคาที่กรมบัญชีกลางกำหนด พยาธิแพทย์จะได้ค่าตอบแทนเพียง 60-90 บาท ต่อการวินิจฉัยที่ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

เช่นเดียวกับในกรณีที่พยาธิแพทย์ที่ให้การวินิจฉัยชิ้นเนื้อเพื่อชี้ขาดยืนยันว่าเป็นมะเร็งหรือชนิดของมะเร็งซึ่งเป็นงานที่ไม่อาจประเมินค่าได้สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

แต่ค่าตอบแทนก็ได้ใกล้เคียงกับกรณีน้องน้ำตาล

ค่าตอบแทนที่ต่ำมากเช่นนี้อาจจะนำไปสู่การทำงานที่หักโหมจนขาดการพักผ่อน หรือเน้นจำนวนเพื่อให้ได้รายได้เพียงพอกับค่าครองชีพ

และอาจกระทบต่อคุณภาพ

 

ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีความวิปริตเกิดขึ้นในระบบ เนื่องจากพยาธิแพทย์มีความสำคัญในวงการแพทย์อย่างสูง และยังเป็นสาขาที่ขาดแคลน

แต่ค่าตอบแทนกลับไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด

ค่าวิชาชีพของพยาธิแพทย์ควรเป็นอิสระ และเป็นไปตามแนวทางที่ทางราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนด

ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่ควรผันแปรตามราคาประมูลของศูนย์แล็บต่างๆ จะช่วยทำให้พยาธิแพทย์มีรายได้ดีขึ้น และทำงานอย่างมีความสุขและลดความแตกต่างจากแพทย์ในสาขาอื่น

และเป็นเหตุจูงใจให้ได้คนเก่ง คนดี เข้ามาในระบบ ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาเนื่องจากเป็นสาขาที่มีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงวิทยาการอย่างมากไม่น้อยกว่าสาขาอื่น

เชื่อว่า หากเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้รับการแก้ไขให้ยุติธรรมเหมาะสม แม้ขณะนี้ยังเป็นภัยเงียบอยู่ ไม่เร็วก็ช้าอาจปะทุกลายเป็นวิกฤตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตศรัทธาต่อผลการวินิจฉัย การทำงานในการตรวจวินิจฉัยของพยาธิแพทย์จำเป็นต้องใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกับผู้พิพากษา ต้องใช้เวลา จิตใจที่เป็นสุขและมีสมาธิ ไม่เครียดจากปริมาณงานที่มากเกินไป

ผู้เขียนเชื่อว่าหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียมาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงใจ น่าจะป้องกันมิให้เกิดวิกฤตได้

ประเทศไทยเราทั้งภาครัฐและเอกชนต่างใฝ่ฝันจะเป็น medical hub ของภูมิภาคนี้ จะเป็นไปได้หรือ หากพยาธิแพทย์อ่อนแอ วินิจฉัยผิดพลาด แม้จะมีแพทย์ผู้รักษาที่เก่งเพียงใดก็ตาม ย่อมทำให้การรักษาไม่ถูกทาง

เช่นเดียวกับบางประเทศที่ขาดแคลนทั้งจำนวนและคุณภาพของพยาธิแพทย์ซึ่งเคยส่งชิ้นเนื้อมาปรึกษาหรือส่งผู้ป่วยมารักษาต่อที่ประเทศของเรา บ่อยครั้งที่พบว่าการวินิจฉัยชิ้นเนื้อผิดพลาด และมีส่วนทำให้การรักษาไม่ได้ผล เราอาจประสบปัญหาเช่นเดียวกันในอนาคตจนต้องส่งชิ้นเนื้อไปตรวจที่ต่างประเทศเนืองๆ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก

และเสียเวลาในการรอผลการวินิจฉัยจนเสียโอกาสหรือจังหวะการรักษาที่เหมาะสม

ผู้เขียนหวังว่าเหตุการณ์ของน้องน้ำตาลจะช่วยจุดประกายและสร้างคุณูปการให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบเพื่อให้พยาธิแพทย์ทำงานอย่างมีความสุข

และมีส่วนร่วมในการทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิผล

เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างมั่นใจต่อไป