เปิดผลสรุปการประชุม “กลาโหมอาเซียน” ผนึกกำลังแก้ปัญหาทุกมิติ เปลี่ยนทะเลจีนใต้เป็นพลังสันติภาพ

นับตั้งแต่มีการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งแรก จนมาถึงปัจจุบัน ครั้งที่ 13 (13th ASEAN Defence Ministers” Meeting : ADMM) รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนทั้ง 11 ประเทศผนึกกำลังร่วมกันสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงและมิตรภาพที่แน่นแฟ้น พร้อมให้ความสำคัญการแก้ปัญหาในภูมิภาคทุกมิติ ด้วยวิธีสันติและใช้กฎหมายระหว่างประเทศ

เป็นบทสรุปของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุม ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

อาทิ ดะโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย ในฐานะเลขาธิการอาเซียน, พล.ต.ดะโต๊ะ ปาตูกา เชอรี ฮาจิ จากบรูไน, สมเด็จเตีย บันห์ จากกัมพูชา, พล.อ.รามิซาร์ด ราชูดู จากอินโดนีเซีย, ฮาจิ โมฮัมหมัด บิน ซาบู จากมาเลเซีย, พล.อ.จันสะหมอน จันยาลาด จากประเทศลาว, นายเดลฟิน ลอเรนซานา จากฟิลิปปินส์, ดร.เอิง เอ็ง เฮ็น จากสิงคโปร์ และ พล.ท.เส่ง วิน จากเมียนมา

กล่าวได้ว่าการประชุมประสบความสำเร็จในการบรรลุถึงเป้าหมายสำคัญๆ และเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้อย่างน่าพอใจ

ทั้งในด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์กับโลกภายนอก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะการประชุม ร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ อีก 10 ประเทศ

หลังเสร็จสิ้นการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนและเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมในพิธีลงนามในการที่จะร่วมกันสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน

รวมทั้งยังได้รับรองเอกสารความร่วมมือจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่

1.การประเมินผลการปฏิบัติของความคิดริเริ่มในกรอบ ADMM

2.บทบาทของฝ่ายทหารอาเซียนในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน

3.การขยายโครงสร้างการสื่อสารโดยตรงของประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังประเทศคู่เจรจา

4.ขอบเขตการปฏิบัติงานโครงการ ASEAN Our Eyes

5.การจัดตั้งกลไกการประชุมแพทย์ทหารอาเซียน

และ 6.แนวทางปฏิบัติในการปฏิสัมพันธ์ทางทะเล

ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

อาทิ ด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติ มีการจัดตั้งกองกำลังเตรียมความพร้อมอาเซียน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

และในปีนี้ได้บรรจุ “ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน” ไว้ในกฎบัตรอาเซียน เพื่อยกระดับความร่วมมือทางการแพทย์และเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือภัยพิบัติด้วย

ต่อมาเป็นด้านการต่อต้านการก่อการร้าย มีการจัดตั้งกลไกอาเซียน our eyes เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารทางยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ได้ริเริ่มกลไกของฝ่ายทหารในการบริหารจัดการชายแดนเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ การฝึกเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดนให้มีความเข้มแข็ง ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในชีวิต รวมทั้งการค้า การลงทุน และการเดินทางไปมาหาสู่กัน

และมุ่งแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมี “การหารือทวิภาคี” ทั้ง 9 ประเทศ และสำนักเลขาธิการอาเซียนด้วย

เนื้อหาในการหารือนั้นจะเป็นประเด็นปลีกย่อยและรายละเอียดลงไปในแต่ละประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงที่ยั่งยืนตามประเด็นหลักของการประชุม และจะได้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในแต่ละประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ช่วงท้ายของการหารือทวิภาคี ประเทศสมาชิกอาเซียนและเลขาธิการอาเซียนได้ให้คำมั่นร่วมกันในการที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาค

สำหรับประเด็นปัญหาที่สำคัญ “ทะเลจีนใต้” ที่ประชุม ADMM ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีต่างๆ ในทะเลจีนใต้ และการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยืนยันถึงความสำคัญของการรักษา ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความปลอดภัยในการเดินเรือ และบินผ่านทะเลจีนใต้

ที่ประชุมเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เพื่อยับยั้งการกระทบกระทั่ง ที่อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งยังมุ่งมั่นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อปรับเปลี่ยนทะเลจีนใต้ให้เป็นพลังแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ

และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนปัญหาสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี

พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า ไทยยินดีต่อการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐกับผู้นำเกาหลีเหนือที่เขตปลอดทหาร บริเวณชายแดนของเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจของสหรัฐและเกาหลีเหนือ ที่จะกลับสู่กระบวนการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ในการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์

จึงนับเป็นพัฒนาการเชิงบวกของการแก้ปัญหาสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

อย่างไรก็ดี ในการประชุมยังกล่าวถึงสถานการณ์ที่มีผลกระทบกับภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าเรื่องของฟรีเทรด อะกรีเมนต์ หรือความมั่นคงไซเบอร์ ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในขณะนี้

เพื่อจะได้เตรียมรับมือได้อย่างมั่นคง