เปิดความจริง! สถานการณ์ชายแดนใต้ หลังอุสตาซปอเนาะพ่อมิ่ง ทั้งถูกยิงและถูกจับ

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายยูโซะ ยะลา หรือเป็นที่รู้จักคืออุสตาซซอและห์ ของเด็กๆ และเพื่อนๆ ครูสอนศาสนาโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม หรือปอเนาะพ่อมิ่ง ที่บริเวณลานพักภายในโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม ม.3 ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ได้รับบาดเจ็บ

หลังจากนั้นสองวัน (2 กรกฎาคม 2562) เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 6 คันรถเข้าจับกุมอุสตาซ มุกตาร์ อับดุลเลาะ ท่ามกลางนักเรียนกว่าพันคน ภายในโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง ต.พ่อมิ่ง อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี

ตอนนี้ส่งตัวเข้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อีกชุดได้เข้าจับกุมน้องเขยอุสตาซซอและห์ ที่โดนยิงเมื่อคืนวาน อุสตาซเพาซี อุมา เจะฆู ตาดีกา บ้านท่าน้ำ ม.1 ต.ท่าน้ำ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี (อันนี้สำนวนข่าว wartani สื่อท้องถิ่นชายแดนใต้)

ในขณะที่สถาบันข่าวอิศรารายงานข่าวนี้อีกสำนวน กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนำกำลังเข้าเชิญตัวอุสตาซ (อุสตาซมุกตาร์ อับดุลเลาะ) ในปอเนาะพ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เพื่อซักถามข้อมูลคดีคนร้ายบุกยิงนายยูโซะ ยะลา อุสตาซคนดังของปอเนาะจนได้รับบาดเจ็บคาโรงเรียน

แต่เหตุการณ์หวิดบานปลายเมื่อนักเรียนฮือออกมาล้อมกรอบ จนเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำตัวอุสตาซขึ้นรถขับออกไปอย่างรวดเร็ว

(โปรดดู https://www.isranews.org/south-…/other-news/78073-huee.html…)

สําหรับสถานการณ์ชายแดนใต้ หลังอุสตาซปอเนาะพ่อมิ่งทั้งถูกยิงและถูกจับนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอผลสรุปจาก (ส่วนใหญ่เป็นทัศนะผู้เขียน) “การเสวนา เป้าหมายอ่อน (Soft Target) กับสังคมไร้ค่า! ฆ่า” เมื่อ 5 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์จัดการความขัดแย้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือที่ผู้คนรู้จัก [DeepSouthWatch] การเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรร่วมเสวนาดังนี้ซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการสำนักจุฬาราชมนตรี/สมาชิกวุฒิสภา (โฟนอิน) นายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ จชต. อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ ดินอะ (ผู้เขียน) คณะทำงานสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ นายชนาธิป ทองจันทร์ คนรุ่นใหม่ ปาตานี ฟอรั่ม

และ ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันวาซอฎียะห์ สำนักจุฬาราชมนตรี ดำเนินรายการโดย รอฮานี จือนารา สื่ออิสระ

ในการเสวนาครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะตอบโจทย์ว่า “เราจะอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ การสร้างเหตุการณ์ความรุนแรงจากกลุ่มคนในม่านหมอกที่เกิดต่อประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องมาจากมีผู้ตกเป็นเหยื่อ ทั้งเด็ก สตรี ผู้นำศาสนาพุทธ มุสลิม ครู เจ๊ะฆูตาดีกา (ครูสอนศาสนาอิสลามในชุมชน) หรือแม้นกระทั่งความคลางแคลงใจต่อการปฏิบัติการ ปิดล้อมตรวจค้น รวมไปถึงการเชิญผู้ต้องสงสัยประชาชนจากกรณีเหตุการณ์ความมั่นคง

3 คำถาม จับกระแสสังคมมีพูดถึงอย่างไร และมันกำลังสะท้อนอะไรบ้าง? แนวโน้มมันจะทำให้เกิดปัญหาอะไรตามมา? และสังคม องค์กรมุสลิม ส.ส.ภาครัฐ ต้องรับมือ จัดการสิ่งเหล่านี้อย่างไร?

จับกระแสสังคมมีพูดถึงอย่างไรและมันกำลังสะท้อนอะไรบ้าง?

แนวโน้มมันจะทำให้เกิดปัญหาอะไรตามมา?

จากความไม่ไว้วางใจสู่ Hate Speech อันจะกระทบต่อกระบวนการสันติภาพระยะยาว

ต้องยอมรับข่าวอุสตาซปอเนาะพ่อมิ่ง ทั้งถูกยิงและถูกจับได้รับความสนใจทั้งในโลกโซเชียลและร้านน้ำชาทั่วชายแดนใต้ ไม่ว่าอุสตาซที่ถูกจับหรือจะเรียกเชิญตัวหรือไม่อย่างไร แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดต่อหน้านักเรียนและเพื่อนครูกว่าสองพันชีวิตในเวลาเรียน หลังจากครูของพวกเขาถูกยิงในรั้วโรงเรียนที่มีนักเรียนในหอพักกว่าสองพันชีวิตเช่นกันกำลังเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดของโรงเรียนในเวลา 20.00 น.โดยประมาณ

ในโลกโซเชียลเราเห็นวิวาทะของสองฟากฝั่งเช่นกันที่โต้ตอบกันรุนแรงบ้างไม่รุนแรงบ้าง หรือบางครั้งเลยเถิดจนรู้สึกว่าสะใจ กับที่อุสตาซโดนลอบยิงและถูกจับกุม อันเป็นผลสะท้อนจากความไม่ไว้วางใจในอดีต (ตลอด 15 ปีของความรุนแรง) อันเนื่องมาจากหลายคดีที่เป้าหมายอ่อน แต่ละฝ่าย (พุทธ-มุสลิม) ไม่ได้ถูกคลี่คลายคดีด้วยกระบวนการยุติธรรมที่มาตรฐานสากล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้แต่ละฝ่ายไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม

หลายครั้งผู้ต้องหาถูกซ้อมซึ่งปฏิเสธไม่ได้ในข้อมูลเชิงประจักษ์ ทำให้แต่ละฝ่ายไม่ไว้วางใจซึ่งกันและจนเป็นพลวัตสู่ Hate Speech “วาจาที่สร้างความเกลียดชัง” รู้สึกสะใจเมื่ออีกฝ่ายถูกละเมิด กล่าวหาฝ่ายตรงข้าม บางครั้งยอมนำข้อมูลเท็จเพื่อจัดการอีกฝ่าย

การกล่าวหาบางคนจนเลยเถิดไปสู่คนที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน/นักการเมืองในพื้นที่ว่าเป็นแนวร่วมโจรใต้บ้าง แบ่งแยกดินแดนบ้างและปกป้องฝ่ายตัวเองที่หนุน

ซึ่งไม่ต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพมหานครเช่นเหตุการณ์ทำร้ายจ่านิว เพียงแต่ Hate Speech ที่ กทม.นั้น เปิดหน้าผู้พูดอย่างชัดเจน แต่ที่ชายแดนใต้ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เช่น เพจผีจากทั้งสองฝ่าย

ถ้าปล่อยให้ยังคงดำเนินอยู่เช่นนี้จะกระทบต่อกระบวนการสันติภาพระยะยาว

สังคม องค์กรมุสลิม ส.ส. ภาครัฐ ต้องรับมือ จัดการสิ่งเหล่านี้อย่างไร?

ทุกภาคส่วนต้องร่วมหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพด้วยตัวเอง เชื่อมเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อน แตกต่างแต่ไม่แตกแยก

คำถามนี้ความเป็นจริงต้องทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะองค์กรมุสลิมอย่างเดียว

พุทธหรือทุกศาสนิก ทุกชาติพันธุ์ รวมทั้งภาคประชาสังคมชายแดนใต้ต้องร่วมมือ ร่วมด้วยช่วยกันทำภารกิจที่เรียกว่าหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ยุติความรุนแรง เท่าที่ตัวเองมีหน้าที่รับผิดชอบ เท่าที่มีความสามารถ

ตัวอย่างเช่น วันที่ 2 กรกฎาคม เราเห็นจุดยืนสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ซึ่งเป็นองค์ประชาสังคมที่โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามอยู่ในเครือข่ายออกมาแสดงจุดยืนประณามการใช้ความรุนแรงดังกล่าวในพื้นที่ปลอดภัยต่อบุคคลากรทางศาสนาและการศึกษาในครั้งนี้

และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันยุติการใช้ความรุนแรงในทุกทางต่อครูสอนศาสนา ผู้นำทุกศาสนา ครู เด็ก สตรีและผู้บริสุทธิ์

ตลอดจนคนเห็นต่างและร่วมกันเคารพผู้มีความเห็นต่างที่แสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่าง ด้วยความอดทนอดกลั้นทั่วประเทศไทย

รวมทั้งเคารพในคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รวมถึงยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา ทัศนะทางการเมือง รวมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน้าที่บริบาล รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลง

ดังหลักแห่งราษฎร ในการรักษาความปลอดภัยของประชาชนอย่างเสมอภาคและเร่งนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว และกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เหตุการณ์ความรุนแรงลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

โดยเฉพาะต่อผู้นำทางศาสนาทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีมาตลอด 15 ปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษ

เราเห็นสำนักจุฬาราชมนตรีออกแถลงการณ์หลายต่อหลายครั้งเตือนสติมุสลิมและทุกคนว่า “อย่าอ้างศาสนามาทำร้ายผู้คน” แม้จะไม่ทุกครั้งซึ่งอาจจะทำให้คนพุทธหรือมุสลิมเองอาจออกมาน้อยใจบ้างในบางครั้ง

แต่สำนักจุฬาราชมนตรีก็พยายามบริหารความรู้สึกทั้งพุทธ-มุสลิมที่ผ่านมารวมทั้งครั้งนี้จุฬาราชมนตรีและคณะลงมาเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบทั้งพุทธ-มุสลิม สภาเครือมนุษยธรรมสำนักจุฬาราชมนตรี ก็ออกมาช่วยเหลือเยียวยาทั้งวัตถุและจิตใจผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่เลือกว่าเป็นมุสลิม-พุทธ

เป็นที่ยินดีและมิติใหม่ของนักการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ว่าพรรคฝ่ายค้าน (ประชาชาติ) ฝ่ายรัฐบาล (พลังประชารัฐ) นำความเดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องอุสตาซถูกยิง ถูกจับ และเรื่องก่อนหน้านี้ในเรื่องข้อกังวลของชาวบ้านที่หน่วยความมั่นคงร่วมมือกับบริษัทโทรศัพท์มือถือให้ทุกคนลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ด้วยระบบสแกนใบหน้า เราเห็นหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา จากพรรคภูมิใจไทย ถามกระทู้เสนอให้กำหนด “วันสารทเดือนสิบ” ของพี่ไทยพุทธชายแดนใต้เป็นวันหยุดราชการผ่านสภา

ดังนั้น การเปิดพื้นที่ทางการเมืองโดยนักการเมืองลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนประชาชนแล้วนำไปเสนอในสภาจะช่วยลดปัจจัยความรุนแรง และทำให้หน่วยความมั่นคงต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าในแง่ความชอบธรรมนั้น นักการเมืองเขาได้รับการเลือกตั้งผ่านเสียงชาวบ้าน

การเปิดพื้นที่ทางการเมืองจากเรื่องใต้ดินสู่บนบนดินผ่านเวทีวิชาการตราบใดไม่ใช้อาวุธแต่ใช้ปัญญา ถกเถียงด้วยเหตุและผล ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืน

สิ่งที่น่ายินดีมากๆ ในพื้นที่ถึงแม้มีอุณหภูมิความร้าวร้อนตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็ยังมีกิจกรรมดีๆ ของสตรีทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ชาวบ้านหรือคนในเมือง ผู้สูงอายุหรือวัยรุ่น นักเรียน-นักศึกษา ที่เชิญบรรดาสตรีแกนนำจากทุกศาสนามาร่วมเสวนา และมีผู้รับฟังนับหมื่นในงาน “หัวใจสันติภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม” วันที่ 6-7 กรกฎาคม 2562

ณ บริเวณศูนย์อิสลามฯ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่สำคัญงานนี้ผู้จัดเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ร่วมกับองค์กรเอกชน มาดีนะตุสลาม อันเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีอิทธิพลต่อคนพื้นที่มากที่สุด โดยมีภาคีเครือข่ายสำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการอิสลาม ศอ.บต. สำนักผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพภาคที่ 4 สำนักงานการศึกษาเอกชน เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ

1. รัฐในฐานะผู้ดูแลประชาชนปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ โดยจะต้องออกมาชี้แจงถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมใดในการปฏิบัติการเชิญตัวอุสตาซต่อหน้านักเรียนนับพันและได้ทราบว่าข่าวล่าสุด (6/7/62) หน่วยความมั่นคงได้ปล่อยตัวอุสตาซมุกตาร์แล้ว แต่สังคมยังสงสัยอยู่ว่าทำไมถึงปล่อย และอีกคนยังไม่ปล่อย ทำไม ซึ่งมีการโพสต์ในโลกโซเชียลเร็วมากๆ

2. เตือนโดยเฉพาะเยาวชน (จริงๆ) ท่านอาจรู้สึกโกรธแค้นที่เห็นอุสตาซถูกกระทำต่อหน้า จงอดทนไม่ไปทำอะไรที่วู่วาม ระวังผลการปฏิบัติที่ขาดสติอาจเข้าทางผู้ที่วางแผนอยู่เบื้องหลัง (เพราะศาสนาคือการตักเตือน) ซึ่งตอนนี้มีเพจผีฝ่ายเห็นต่างเริ่มออกมาเชิญชวนผ่านคำถามว่า “เป็นไปได้ไหมเมื่อครูมุสลิมถูกลอบยิง ลอบทำร้าย เราจะทำอย่างนั้นต่อครูพุทธ คนพุทธแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ประมาณนั้น”

เพราะการโจมตีเป้าหมาย “อ่อน” แม้ในภาวะสงคราม ก็ไม่มีความชอบธรรม (legitimacy) ใดๆ ต่อคู่ต่อสู้ แต่กลับผลักให้มวลชนไปอยู่อีกฝ่าย ที่สำคัญมันผิดหลักการอิสลามอย่างชัดเจนเพราะมันผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลามซึ่งปราชญ์โลกมุสลิมระบุในนาม ????? ??????? (Maqasid al-Shariah) ซึ่งผดุงไว้ห้าประการหลัก

1.ศาสนา 2.ชีวิต 3.สติปัญญา 4.ทรัพย์สิน 5.เชื้อสาย (ตระกูล)

สังคมจะไร้ค่าถ้ามีการอนุญาตหรือเราเห็นชอบ/สะใจ/นิ่งเฉยต่อการฆ่าดังกล่าว

สถานการณ์ความไม่สงบที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ได้เกิดอย่างยืดเยื้อและเรื้อรัง มีความพยายามทุกรัฐบาลในการแก้ไขและยุติปัญหาดังกล่าว

แต่ปัญหายังดำรงอยู่

เพียงแต่สถานการณ์ความรุนแรงในบางช่วงได้ลดระดับและขนาดลงเป็นการชั่วคราวและย้อนกลับมามีความรุนแรงขึ้นอีกสลับไปมา

ซึ่งปัญหาได้ลดทอนความเจริญในจังหวัดชายแดนภาคใต้และส่งผลโดยรวมเป็นปัญหาประเทศไทยมาก

ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะเป้าหมายอ่อน (Soft Target) ที่จะดำรงชีวิตอย่างปกติในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม มีหลักประกันความเป็นธรรมและความยุติธรรมการทำความจริงให้ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา

มีความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ

และต้องรีบนำไปสู่การปฏิบัติ

ดังนั้น ท้ายสุด ในระยะยาวเราต้องร่วมรณรงค์ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้หรือในภาพรวมประเทศไทยให้จงได้

หมายเหตุ : ฟัง “การเสวนา เป้าหมายอ่อน (Soft Target) กับสังคมไร้ค่า! ฆ่า” ฉบับเต็มใน https://www.facebook.com/1245604111/posts/10219838641016873?s=1245604111&sfns=mo