เปิดแผน-ความพร้อม 100% ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน แสวงจุดร่วม “สันติภาพ-ความมั่นคง”

พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ พร้อม 100% ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน แสวงจุดร่วม “สันติภาพ-ความมั่นคง”

จากอดีตที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอาเซียนต้องเผชิญกับปัญหาและภัยคุกคามต่างๆ นานัปการ โดยเฉพาะภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การเผชิญหน้าทางการทหาร แต่เป็นเรื่องของภัยร้ายที่เกิดขึ้นจากภายนอกภูมิภาค แล้วแพร่ขยายเข้ามาพร้อมความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และแนวคิดการทำงานแบบใหม่ในยุคโลกไร้พรมแดน ไม่ว่าการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติจากธรรมชาติ

เหล่านี้เป็นความท้าทายที่ประเทศอาเซียนต้องเผชิญ แต่ไม่ใช่ในแบบ “ตัวใครตัวมัน” อีกต่อไป

ที่ผ่านมาประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างดำเนินนโยบายในการแก้ปัญหาและป้องกันตัวเอง รวมถึงการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มศักยภาพทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์

สิ่งที่ตามมาคือ “ความไม่สบายใจ” ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง และยังนำไปสู่ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

ฉะนั้น จึงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่าการหันหน้าร่วมมือหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันในภูมิภาคอย่างสุข สงบ สันติ และมีเสถียรภาพ มั่นคง

ซึ่งเป็นที่มาของการจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน หรือ ADMM

และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM-Plus

กลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันทางการทหารของประเทศสมาชิกอาเซียน

10-12 กรกฎาคม 2562 เป็นอีกปีที่จะมีการประชุม ADMM ครั้งที่ 13 และ ADMM-Plus ครั้งที่ 6 โดยประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ

“พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม บอกเล่ารายละเอียดของเรื่องนี้ว่า แนวปฏิบัติที่วางไว้ในการทำงานคือ “3S”

ได้แก่ S1-Sustainable เสริมสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน

S2-Strengthening-Consolidating การบูรณาการและขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กล่าวง่ายๆ คือ เป็นการประเมินเอกสารต่างๆ ที่ผ่านมา 12 ปี นับแต่ก่อตั้งการประชุมมาว่าเป็นอย่างไร มีเอกสารบางอันที่ล้าสมัยจะต้องเสนอยกเลิก เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือเอกสารที่มีความทับซ้อน อาจต้องนำมารวมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

S3-Supporting-Cross-Pillar Activities เป็นเรื่องของการสนับสนุนกิจกรรมคาบเกี่ยวระหว่าง 2 เสาหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ความร่วมมือเชื่อมโยงในภูมิภาค การพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชนอาเซียน

“สำหรับประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนและจะมีการลงนามหรือให้ความเห็นชอบในการประชุม ADMM ครั้งนี้ มีหลายเรื่อง อาทิ ปฏิญญาร่วม และแถลงการณ์ร่วม ที่จะลงนามร่วมกันของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา เพื่อนำไปแถลงการณ์ร่วมในการประชุมเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ ส่วนเอกสารแนวความคิดอื่นๆ ของไทย ที่เสนอและได้รับความเห็นชอบแล้ว จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ADMM วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ มีสองเรื่องคือ

1. เอกสารแนวความคิดทางฝ่ายทหารอาเซียนจะสนับสนุนการบริหารจัดการแนวชายแดนอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ในอนาคต เห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2558 ที่ประกาศรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน บอกว่าการเดินทาง การข้ามแดน รวมไปถึงการค้าขายระหว่างกันจะง่ายขึ้น และปลอดภาษี ฉะนั้น ปัจจุบันการเคลื่อนย้ายผ่านแดนมีมากขึ้น จึงต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้การบริหารจัดการชายแดนมีความมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ

เอกสารที่ 2 คือเรื่องของไอยูยู (IUU) หารือการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาขาดการรายงานและการควบคุม…”

“เรื่องของไอยูยู-การทำประมงผิดกฎหมาย ถือเป็นเรื่องดีที่ไทยเจอปัญหานี้ ทำให้ได้แก้ไขจนสามารถยกเลิกใบเหลืองไปแล้ว นับเป็นความสำเร็จสำคัญอันหนึ่งที่ต้องบอกว่าทหาร โดยเฉพาะกองทัพเรือได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีนัยยะสำคัญ ฉะนั้น อาจเป็นตัวอย่างให้บางประเทศในอาเซียนที่ไม่ได้ใช้ทหารในการแก้ปัญหาได้เรียนรู้ และเห็นว่าทหารทำอะไรได้บ้าง”

นอกจากนี้ ประเทศบรูไนเสนอเรื่องการสื่อสาร “ฮอตไลน์” โดยตรง ระหว่างผู้นำทางทหารหรือรัฐมนตรีกลาโหมในประเด็นความขัดแย้งหรือขอความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันได้นำมาปฏิบัติแล้ว และจะขยายเข้าไปใช้ในประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินเดีย, รัสเซีย และสหรัฐอมริกา โดยนำเสนอในการประชุมครั้งนี้

ประเทศเมียนมาเสนอการประชุมแพทย์ทหารอาเซียน โดยอยากให้มีขั้นตอนปฏิบัติหรือการประชุมทุกปี

ประเทศอินโดนีเซียเสนอเรื่องเอกสารขอบเขต “ทีโออาร์” (TOR of ASEAN Our Eyes) เป็นเรื่องขอความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การให้ข้อมูลเกี่ยวกับลัทธิสุดโต่ง ลัทธิรุนแรงต่างๆ โดยจะสร้างโครงข่ายและรูปแบบขึ้นมาให้ความร่วมมือกัน

ส่วนฟิลิปปินส์เสนอการปฏิบัติความสัมพันธ์ทางทะเล การเดินเรือ และการเดินทางทางทะเล จะต้องมีหลักปฏิบัติและความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดแล้วนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต

“จะเห็นได้ว่าหลายเรื่องได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในกลุ่มอาเซียน แต่กรอบที่เห็นชัดเจนคือกรอบที่ร่วมมือกับ 8 ประเทศคู่เจรจา ที่จะมีกิจกรรมร่วมกับกลุ่มอาเซียน ตัวอย่างเช่น วงรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยกับจีนร่วมเป็นเจ้าภาพในการต่อต้านการก่อการร้าย ในปีนี้ (2562) ก็จะมีทั้งการประชุมและการฝึกร่วมกัน โดยจะไปประชุมที่จีนและมาฝึกซ้อมที่ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562” พล.อ.รักศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี การประชุมจะพูดภาพกว้างทั้งอาเซียน จะไม่พูดถึงกลไกแก้ปัญหาเจาะจงเรื่องเขตแดน การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวและอาจไม่ใช่หน้าที่ของกลาโหมโดยตรง

สุดท้าย พล.อ.รักศักดิ์ย้ำถึงการประชุมว่า เป้าหมายสูงสุดคือ “ประชาชน”

ถ้ามองจากประเทศไทยแล้ว คนไทยต้องได้รับประโยชน์ จะต้องมีเสถียรภาพ สันติภาพ มีความมั่นคง กินดีอยู่ดี และมีความปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ประชาคมอาเซียน 460 ล้านคนเท่านั้น แต่กว้างออกไปในกรอบอีก 8 ประเทศคู่เจรจา จะรวมประชากรได้ถึง 4,000 ล้านคน

ซึ่งถ้าคิดเป็นตัวเลขกำลังทหาร กำลังยุทโธปกรณ์แล้ว ต้องบอกว่า 90% ของโลกอยู่ในเวทีของการประชุม ADMM และ ADMM-Plus ด้วยอย่างแน่นอน