จากลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า ถึงจ่านิว ภารกิจร่วมทั้งส่วนกลางและชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

สองข่าวดังที่มีการพูดคุยถกเถียงมาก

หนึ่งข่าวที่ชายแดนใต้คือลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า

อีกหนึ่งข่าวที่ส่วนกลางในเวลาต่อมาคือการลอบทำร้ายจ่านิวปางตาย

การลงทะเบียนซิมการ์ด

ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า

จากกรณี กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า และอัตลักษณ์ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้นั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ และวงน้ำชาอย่างกว้างขวางในพื้นที่

ว่าการบังคับให้ประชาชนลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และบังคับให้สแกนใบหน้าและอัตลักษณ์นั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

มีทั้งเห็นด้วยและค้านในประเด็นนี้

นักวิชาการที่ทำงานด้านสันติภาพ เช่น นางสาวสุวรา แก้วนุ้ย โพสต์ทำโพลให้ผู้ไปลงความเห็นกับมาตรการดังกล่าวว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร

ปรากฏว่ามีผู้เข้าไปให้ความเห็นและร่วมออกเสียงล่าสุดประมาณ 1,300 ราย ตัวเลขผู้เห็นด้วยมีไม่ถึง 10%

ส่วนคนจำนวนมากเกิน 90% ไม่เห็นด้วย (โปรดดู https://www.facebook.com/100000618905042/posts/2673420239355247?s=1245604111&sfns=mo)

ในกลุ่มผู้เข้าไปแสดงความเห็นเพิ่มเติมนั้น มีหลายคนที่เห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะป้องกันความรุนแรงได้ จึงเห็นด้วย

บ้างก็ตำหนิคนที่กล่าวอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิว่าเป็นแนวร่วมขบวนการก่อความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้แสดงความเห็นว่าไม่ต้องการมาตรการดังกล่าวจำนวนมากเช่นกัน หลายคนตั้งคำถามว่า ในการซื้อซิมการ์ดนั้น ผู้ใช้ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนจดทะเบียนอยู่แล้ว

ดังนั้น ข้อมูลของผู้ใช้ได้รับการเปิดเผยแล้ว นอกจากนั้น มาตรการนี้ยังเป็นการทำงานซ้ำซ้อนเสียเวลาประชาชน

บางรายระบุว่า นี่เป็นมาตรการที่จะต้องใช้เงินงบประมาณของประชาชนมาดำเนินการ หากไม่ได้ประโยชน์เพิ่มก็ถือเป็นเรื่องเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ

ผู้ใช้อีกส่วนระบุว่า หากจะทำเช่นนี้ก็ควรทำทั้งประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติ มีผู้ใช้บางรายเห็นว่า มาตรการนี้เป็นการล่วงล้ำข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป (โปรดดู https://prachatai.com/journal/2019/06/83072)

ในเฟซบุ๊กของชัยบดี กากะ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากในภาคภาษามลายูถิ่นปตานี ไม่เห็นด้วยและแสดงเหตุผลมากมายถึงความไม่เหมาะสม รัฐ “จะเอาอะไรกันหนักหนากับคนมลายู”

(โปรดดู https://www.facebook.com/100005131680345/posts/1201434196704292?s=1245604111&sfns=mo)

ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น โดย พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีคำสั่งดังกล่าวเป็นประกาศ กสทช.ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา และประกาศเพิ่มเติมในวันที่ 21 มิถุนายน ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ หลังพบปัญหาการขโมยตัวตนและอัตลักษณ์ของบุคคลไปทำธุรกรรมทางการเงิน

เช่น การแจ้งโทรศัพท์หายแล้วนำบัตรประชาชนไปซื้อซิมการ์ดตามเบอร์ของผู้อื่นแล้วนำมาทำธุรกรรมทางการเงิน

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำซิมการ์ดจากประเทศเพื่อนบ้านและนอกพื้นที่มาก่อเหตุ โดยเฉพาะเหตุระเบิดรูปปั้นเงือกทอง แหลมสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าซิมการ์ดที่นำมาจุดชนวนระเบิดถูกสั่งซื้อแค่ใช้อีเมลส่วนตัวโดยครูโรงเรียนตาดีการายหนึ่งใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งรับสารภาพว่าได้สั่งซื้อโดยใช้อีเมลจำนวน 10 ซิม แล้วนำมาให้สามีก่อเหตุรุนแรง

ยืนยันว่าการลงทะเบียนซิมจะเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชนทั่วไปไม่ให้ถูกขโมยตัวตน และแบ่งแยกผู้ก่อเหตุออกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์

ใครไม่ทำก็ไม่เป็นไรไม่บังคับ แต่ก็ต้องยอมรับในการเสียสิทธิการสื่อสาร ซึ่งมันคือวาทกรรมเดียวกันระหว่างเรื่องตรวจ DNA ทหารเกณฑ์ชายแดนใต้กับเรื่องถ่ายรูปใบหน้าพิสูจน์อัตลักษณ์ “ว่าเราไม่บังคับ แต่ถ้าใครไม่ทำจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้”

จากผลของทัศนะที่แตกต่างกันทั้งสองฝั่งปรากฏว่ามีการคุกคามผู้ที่รณรงค์การคัดค้านนโยบายหน่วยความมั่นคงจากรัฐ

ไม่เพียงเท่านั้น มีการรณรงค์ผ่าน IO เพจผี กล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมโจรใต้อันสร้างความเกลียดชังระหว่างประชาชนด้วยกันมากกว่าการถกเถียงว่าด้วยเหตุและผลอย่างมีอารยะ

ไม่เพียงเท่านั้น ส.ส.พรรคประชาชาติทั้ง 7 คน ที่ตั้งกระทู้ถามต่อเรื่องนี้ในสภาและตั้งคณะทำงานลงพื้นที่เข้าหาประชาชนต่อเรื่องนี้เช่นกันก็โดนกล่าวหาเป็นแนวร่วมโจรใต้

(โปรดดู https://www.facebook.com/1019244704857445/photos/a.1019277744854141/2355727574542478/?type=3&theater และ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10219735992410722&set=pcb.10219735998810882&type=3&theater)

จากการลงพื้นที่พบว่า ไม่เพียงเท่านั้น อำนาจรัฐยังใช้ผ่านหน่วยงานทางปกครองระดับอำเภอส่งผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กดดันชาวบ้านให้ออกมาลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิพื้นฐานต่างๆ นานา

ตอนนี้ตามห้างร้านในเมืองมีประชาชนออกมามาลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าแล้วเพราะกลัวว่า ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ (แม้ว่าลึกๆ ไม่เห็นด้วย เรียกว่าจำยอมต้องทำ)

การลอบทำร้ายจ่านิวปางตาย

สืบเนื่องจากเหตุการณ์การลอบทำร้ายร่างกายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว (รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 63) จนได้รับอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ในโลกโซเชียลต้องยอมรับว่ามีวิวาทะคนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย สะใจเพราะจ่านิวมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

น่าเสียใจมากๆ ว่าการสะใจที่จ่านิวถูกทำร้ายมันมีในสังคมไทยแล้วหรือ?

การสะใจที่จ่านิวถูกทำร้ายมันเลยเส้นของความเป็นมนุษย์หรือเรียกว่ามนุษยธรรม เพราะคุณค่ามนุษยธรรมต้องอยู่เหนือกว่าความแตกต่างด้านความเชื่อศรัทธา เเละความคิดเห็นทางการเมือง

นายซากีย์ พิทักษ์คุมผล ส.ว. 1 ใน 250 ท่าน ให้ทัศนะว่า “ไม่ว่าจะมีสถานะทางการเมืองและสังคมอย่างไร หรือจะพูดในฐานะการเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่เพื่อนทางวิชาการหลายคนประณามและอันเฟรนด์ผม ผมยังยืนอยู่ที่เดิม ยังยึดมั่นอยู่กับการปฏิเสธความรุนแรง ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่เชื่อว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใดที่จะศักดิ์สิทธิ์ไปกว่าชีวิตของผู้คน หยุดใช้ความรุนแรงกับคนเห็นต่างทางการเมือง หากเขาเหล่านั้นทำความผิด ก็บังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการ ไม่มีใครลงทุนจัดฉากเรียกร้องความสงสารด้วยการเอาความสูญเสียทางร่างกายและชีวิตเข้าแลก”

ดังนั้น มันจึงเห็นผลว่า ทั่วทุกสารทิศทั้งไทยและเทศต่างประณามต่อเหตุการณ์ครั้งนี้และเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วนเพราะการใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้เห็นต่าง อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งในฐานะรัฐบาลปฏิเสธหน้าที่นี้ไม่ได้ ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านก็ต้องมีจรรยาบรรณอย่าล้ำเขตเอาชีวิตจ่านิวมาปั้นกระแสการเมือง

การเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวน ตลอดจนชี้แจงกรณีนี้โดยเร็ว เพื่อจะไม่ให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน เฉกเช่นในเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในอดีตที่ผ่านมา จุดร่วมของทั้งสองคือภารกิจร่วมทั้งส่วนกลางและชายแดนใต้

จุดร่วมของทั้งสองคือผู้เห็นต่างทางการเมืองกับรัฐแม้จะใช้สันติวิธียังถูกคุกคามเพียงแต่ต่างวิธีต่างวิธีการเท่านั้นหรือ!