ผมชอบทหาร แต่ไม่ชอบการปฏิวัติ | ฉมณ์คิด แผนสมบูรณ์

ผมชอบทหาร ผมรักทหาร ผมยกย่องทหาร ผมเชิดชูทหาร ผมเคารพทหาร ผมนับถือทหาร

แต่ผมไม่ชอบการปฏิวัติ

ถ้าจะถามว่า ทำไม? ผมจึงชอบทหาร

ทำไม? ผมจึงไม่ชอบการปฏิวัติ

ที่ผมชอบทหาร เพราะผมรู้ว่าทหารคือใคร? ทหารมีหน้าที่อะไร? ทหารมีความสำคัญอย่างไร? ต่อประเทศชาติของเรา และทุกคนก็รู้เหมือนที่ผมรู้ เข้าใจเหมือนที่ผมเข้าใจ

คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ย่อมเห็นคุณค่าคุณประโยชน์ของทหารอย่างมหาศาลต่อประเทศชาติอย่างหาที่สุดมิได้

ถ้าจะเท้าความย้อนอดีตจะกี่ร้อยกี่พันปีก็แล้วแต่ เราจะเห็นว่ากลุ่มบุคคล คณะบุคคลผู้สร้างชาติสร้างแผ่นดินในทุกชาติทุกแผ่นดิน เราก็จะเห็นทหารเป็นผู้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระมหากษัตริย์ในทุกชาติทุกประเทศ

ไม่ว่าชาตินั้นจะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือประชาธิปไตย

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นมาก่อนระบบการปกครองอื่นๆ เป็นระบอบที่ประชาชนให้ความเคารพอย่างสูงสุดในประเทศชาตินั้นๆ และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตยเกิดขึ้นมาเพราะการรวมตัวของกลุ่มชนชั้นนักปกครองที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละชาติแต่ละภาษา

ดังในประวัติศาสตร์อินเดียในยุคสมัยแผ่นดินที่เรียกชื่อว่าชมพูทวีป เมื่อกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ก็มีระบอบการปกครองของชนชั้นในทวีปนั้นที่เรียกว่าวรรณะ 4

อันประกอบด้วยกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

กษัตริย์ มีหน้าที่ในการปกครองประเทศหรือที่เรียกในยุคนั้นว่าแคว้น และการปกครองประเทศก็มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด พระมหากษัตริย์ย่อมเป็นทหารผู้แกล้วกล้า แกร่งกล้า มีความสามารถในการสู้รบ มีความเฉลียวฉลาดในการปกครองบ้านเมืองให้ประเทศชาติสงบร่มเย็น ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า

พระมหากษัตริย์ที่เก่งกล้าย่อมมีทหารคู่ใจเข้มแข็งแกร่งกล้าคู่ราชบัลลังก์ในตำแหน่งต่างๆ ทั้งมหาอุปราช อุปราช มหาอำมาตย์ อำมาตย์ เสนาบดี เหล่านี้เป็นต้น

แม้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งจีน รัสเซีย อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ไทย เหล่านี้เป็นต้น ล้วนเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์พร้อมด้วยทหารร่วมกันสร้างชาติ รักษาชาติ

ปกป้องชาติของตนให้พ้นจากอริราชศัตรูเหมือนกันมาก่อนทุกประเทศ

พราหมณ์ มีหน้าที่ในการอบรม สั่งสอนให้ประชาชนได้รู้จักขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ทั้งเป็นเจ้าพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตน และหน้าที่การสั่งสอนของพราหมณ์นี้เองที่ทำให้เกิดลัทธิต่างๆ มากมาย โดยการตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิอบรมสั่งสอนไปตามแนวทางของตน ตามความรู้ของตน ดังครูทั้ง 6 ที่มีหลักฐานมาในสามัญญผลสูตร ประกอบด้วย

1. ปูรณกัสสปะ เจ้าลัทธิที่ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า อกิริยทิฏฐิ หรืออกิริยวาท เป็นทัศนะที่ปฏิเสธพลังงาน ปฏิเสธกรรมไปด้วยพร้อมกัน

2. มักขลิโคสาล เป็นเจ้าลัทธิที่ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าอเหตุกทิฏฐิ หรืออเหตุกวาท เป็นทัศนะที่ปฏิเสธกรรมและพลังความเพียรว่าเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย สัตว์ทั้งหลายไม่ต้องทำความเพียร และไม่ต้องทำความดีเพื่ออะไร เพราะการบรรลุโมกษะไม่ได้สำเร็จด้วยความเพียรหรือด้วยกรรมใดๆ สัตว์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดจากภพสู่ภพไปโดยลำดับ เมื่อถึงภพสุดท้ายก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้เอง ความบริสุทธิ์ประเภทนี้เรียกว่า “สังสารสุทธิ” เจ้าลัทธินักบวชที่ชื่อว่าอาชีวก

3. อชิตเกสกัมพล เป็นเจ้าลัทธิทางพระพุทธศาสนาเรียกว่านัตถิกทิฏฐิ หรือนัตถิกวาท เป็นทัศนะที่ปฏิเสธว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีชาติหน้า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ปฏิเสธกรรมดีกรรมชั่ว ปฏิเสธพิธีกรรมทางศาสนาว่าไร้ผล ปฏิเสธความสมบูรณ์ทางจิต ไม่มีใครทำดี ไม่มีใครทำชั่ว เพราะสัตว์ประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม จึงไม่มีสัตว์ใดๆ คงมีแต่กลุ่มธาตุ ชาตินี้ของสัตว์สิ้นสุดลงที่การตาย ไม่มีอะไรเหลืออีกหลังจากตาย

4. ปกุทธกัจจายนะ เป็นเจ้าลัทธิทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าสัสสตทิฏฐิ เป็นทัศนะที่ลัทธินี้มีความเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเคยเกิดอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้น เช่น โลกเที่ยง จิตเที่ยง สัตว์ทั้งหลายเคยเกิดอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้นต่อไปตลอดกาล ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นของเที่ยง การฆ่ากันนั้นไม่มีใครฆ่าใคร เพียงแต่เอาศาสตราสอดเข้าไปในธาตุ (ร่าง) ซึ่งยั่งยืนไม่มีอะไรทำลายได้

5. สัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นเจ้าลัทธิทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าอมราวิกเขปิกทิฏฐิ ลัทธินี้ความเห็นไม่แน่นอน ซัดส่ายไหลลื่นเหมือนปลาไหล เพราะเหตุหลายประการ เช่น เกรงจะพูดปด เกรงจะเป็นการยึดถือ เกรงจะถูกซักถาม เพราะโง่เขลา จึงปฏิเสธว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่ยอมรับและไม่ยืนยันอะไรทั้งหมด ซึ่งเคยเป็นอาจารย์เดิมของอุปติสสะ (พระสารีบุตร) โกลิตะ (พระมหาโมคคัลลานะ) เจ้าลัทธิของนักบวชที่ชื่อว่าปริพพาชก

6. นิครนถนาฏบุตร เป็นเจ้าลัทธิทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค และอเนกานตวาท ลัทธินี้ถือการทรมานกายว่าเป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ มีความเป็นอยู่เข้มงวดกวดขันต่อร่างกาย เช่น อดข้าว อดน้ำ ตากแดด ตากลม ไม่นุ่งห่มผ้า เช่น พวกนิครนถ์ และนิครนถนาฏบุตร หรือท่านศาสดามหาวีระ ศาสดาองค์ที่ 24 ของศาสนาเชน (ชีเปลือย)

แพศย์ มีหน้าที่ในการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตด้วยการค้าขาย คหบดี เศรษฐี และเกษตรกร

ซึ่งเป็นประชาชนระดับชนชั้นกลาง

เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ศูทร มีหน้าที่ในการประกอบอาชีพเป็นกรรมกร ลูกจ้าง คนรับใช้ต่างๆ

จะเห็นได้ว่าประชาชนที่สมัครใจเข้ารับราชการในยุคนั้นสมัยนั้น มีประเภทเดียวคือทหาร

เมื่อบ้านเมืองไม่สงบจากโจรภัยน้อยใหญ่ ทหารของพระมหากษัตริย์ก็จะออกปราบปรามโจรทั้งหลายเหล่านั้นด้วยพละกำลังที่ฝึกอบรมมาตามหลักศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันประกอบด้วย

1.ยุทธศาสตร์ วิชานักรบ 2.รัฐศาสตร์ วิชาการปกครอง 3.นิติศาสตร์ วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ 4.พาณิชยศาสตร์ วิชาการค้า 5.อักษรศาสตร์ วิชาวรรณคดี 6.นิรุกติศาสตร์ วิชาภาษาทั้งของตนและของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน 7.คณิตศาสตร์ วิชาคำนวณ 8.โชติยศาสตร์ วิชาดูดวงดาว 9.ภูมิศาสตร์ วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ 10.โหราศาสตร์ วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ 11.เวชศาสตร์ วิชาแพทย์ 12.เหตุศาสตร์ วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา 13.สัตวศาสตร์ วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดีหรือร้าย 14.โยคศาสตร์ วิชาช่างกล 15.ศาสนศาสตร์ วิชาศาสนา รู้ความเป็นมาและหลักศาสนาทุกศาสนา 16.มายาศาสตร์ วิชาอุบาย หรือตำรับพิชัยสงคราม 17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำ หรือนาฏยศาสตร์ และวิชาดนตรี หรือดุริยางคศาสตร์ 18.ฉันทศาสตร์ วิชาการประพันธ์

ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรศิลปศาสตร์ 18 ประการ หรือเพียงแค่จบหลักสูตรยุทธศาสตร์ก็สามารถเป็นทหารของพระราชาได้

เมื่อมองดูประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทหารมีความสำคัญยิ่งในการรักษาประเทศ รักษาแผ่นดินถิ่นแคว้นให้มั่นคง มีเสถียรภาพอย่างเป็นเอกภาพในการสร้างแผ่นดิน รักษาแผ่นดิน ปกป้องแผ่นดิน ทั้งข้าศึกภายนอกทั้งข้าศึกภายใน ต้องอาศัยกำลังทหารของพระราชาเป็นผู้ขจัดข้าศึกทั้งหลายเหล่านั้นให้พ่ายแพ้ไป ให้หมดสิ้นไป

ราชอาณาจักรไทยก็ไม่ต่างไปจากประเทศทั้งหลายในโลกมนุษย์ที่จำเป็นต้องมีทหารของพระราชาไว้ปกป้องแผ่นดิน รักษาประเทศเขตแดน ให้คงความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ไปด้วยความเอกราชนับตั้งแต่ราชอาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี

จวบจนปัจจุบันสมัยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ทหารคือใคร?

ผมรู้ว่าทหารคือนักรบผู้แกล้วกล้า เก่งกล้า ผู้ผ่านการฝึกในด้านยุทธศาสตร์การรบมาอย่างเชี่ยวชาญและช่ำชอง ทหารคือนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในฝ่ายการรบ ทหารคือผู้มีอาวุธในมือ ในปัจจุบันแยกออกเป็น 3 เหล่าทัพ อันประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ

ทหารมีหน้าที่อะไร?

ผมรู้ว่าทหารมีหน้าที่ในการรักษาประเทศ ปกปักรักษาแผ่นดินให้ปราศจากหมู่อริราชศัตรู รักษาชาติ ทำนุบำรุงพระศาสนาและรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีเสถียรภาพมั่นคงยิ่งใหญ่อย่างถาวรตลอดไป และในปัจจุบันยังมีทหารพัฒนาประเทศไปทั่วทุกภูมิภาคในถิ่นทุรกันดาร ทหารก็เข้าไปสร้างสรรค์ท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองในด้านคมนาคมอย่างดีเยี่ยม

ทหารมีความสำคัญอย่างไร?

ผมรู้ว่าทหารมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทหารเป็นนักรบผู้เสียสละอย่างยิ่งใหญ่ ประเทศชาติจะขาดทหารมิได้ ถ้าประเทศชาติใดขาดกองกำลังทหาร ประเทศชาตินั้นย่อมถึงซึ่งความหายนะและจักสูญสิ้นความเป็นชาติโดยฉับพลัน

ทหารจึงเป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญอย่างสูงสุดในการปกปักรักษาประเทศให้มีเสถียรภาพอย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่นแน่นหนาปราศจากอริราชศัตรูและขจัดโจรภัยให้หมดสิ้นไป

ทหารจึงเป็นหน่วยงาน หน่วยรบที่สำคัญยิ่งในทุกชาติทุกภาษา

ผมจึงชอบทหาร ผมรักทหาร ผมยกย่องทหาร ผมเชิดชูทหาร ผมเคารพทหาร ผมนับถือทหาร แต่ผมไม่ชอบการปฏิวัติ

ทําไม? ผมจึงไม่ชอบการปฏิวัติ

เพราะการปฏิวัติของคณะบุคคลผู้มีอำนาจทั้งหลายชอบดูถูกหยามหมิ่นประชาชน ไม่ให้เกียรติประชาชน จึงเป็นเสมือนคนไร้ศักดิ์ศรี แม้มีตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศก็เป็นผู้นำที่มากไปด้วยอุปกิเลส มีอกุศลจิตในการดำเนินงาน ไม่เข้าใจระบบเศรษฐกิจของชาติ รู้จักแต่ระบบเศรษฐกิจของกูเท่านั้น

นักรบผู้มีหัวใจทหารย่อมไม่ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของประชาชน นักรบผู้มีหัวใจเป็นทหารย่อมไม่ทำลายรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

นักรบผู้มีจิตใจ มีหัวใจความเป็นทหารย่อมยกย่อง เทิดทูน และเชิดชูพระราชดำรัสนี้ไว้เหนือเกล้าด้วยกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้

แต่นักรบผู้ขาดสภาวะแห่งจิตใจความเป็นทหาร ย่อมไม่คำนึงถึงพระราชดำรัสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอำนาจแห่งมักขะ คือความไม่รู้จักบุญคุณท่าน ลบหลู่บุญคุณท่าน เมื่อมักขะเกิดขึ้นในใจย่อมส่งผลให้จิตใจเกิดอติมานะตามมา บุคคลที่มีมักขะและอติมานะย่อมมิใช่วิสัยของนักรบที่ชื่อว่าทหาร จะเป็นทหารได้แค่เพียงเครื่องแบบเท่านั้น แต่จิตใจหาใช่ทหารไม่ เพราะทหารย่อมรู้จักบุญคุณท่าน ไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน ไม่ดูหมิ่นดูแคลนท่าน ไม่เหยียดหยามหรือดูถูกท่าน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ผมไม่ชอบการปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติ รัฐประหาร เป็นการกระทำของคณะบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุปกิเลสที่แฝงอยู่ภายในจิตใจให้เผยออกมาทางกายกรรม วจีกรรม เป็นพฤติกรรมที่เป็นอกุศลทั้งสิ้น

ผมชอบทหาร แต่ไม่ชอบการปฏิวัติ