ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข : การทูตแบบผู้นำโลกเผด็จการ อันมีระบบ AI เป็นกลไกขับเคลื่อน

ภาวะตึงเครียดจากสถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น

นอกจากประเด็นทางด้านการเปรียบเทียบผลประโยชน์ทางการค้าที่สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่สหรัฐมองว่าสำคัญไม่แพ้กันเลยในสงครามครั้งนี้ก็คือ ประเด็นทางด้านความมั่นคงในโลกไซเบอร์ (cybersecurity)

ที่ Donald Trump ได้กล่าวหารัฐบาลจีนและกลุ่มทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เช่น Huawei จากจีนนั้นมีท่าทีแนวโน้มที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาโดยตรง

ตั้งแต่การดักจารกรรมข้อมูล ไปจนถึงการนำส่งข้อมูลของผู้ใช้งานกลับไปให้แก่หน่วยงานด้านความมั่นคงภายใต้รัฐบาลจีนเพื่อเหตุผลทางด้านการสอดแนม

ทำให้มีการสร้างกระแสความไม่ไว้วางใจในกลุ่มทุนดังกล่าวขึ้นในสหรัฐ

พร้อมๆ ไปกับการข่มขู่ที่จะโจมตี (ในทางการค้า) ถึงกลุ่มทุนเหล่านั้นในหมู่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอีกด้วย

 

สิ่งที่ Donald Trump และชนชั้นนำภายในสหรัฐกังวลในประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริง

หรือเป็นการใส่สีตีไข่เพื่อให้เกิดความขัดแย้งและความเกลียดชังรัฐบาลจีนในกลุ่มผู้ที่สนับสนุนสหรัฐเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

เหตุเพราะเมื่อลองหันมาคิดในมิติทางด้านความมั่นคงและในทางภูมิรัฐศาสตร์ จากมุมของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญแห่งโลกเสรีประชาธิปไตยแล้วนั้น

พฤติกรรมการค้า การลงทุนของรัฐบาลจีน และกลุ่มทุนด้าน IT จากจีนมันชวนให้เกิดความระแวงแกมกังขาอยู่ไม่น้อย ว่าทางฝั่งผู้นำโลกเผด็จการอย่างจีนนั้นกำลังมีแผนหรือเป้าหมายอะไรในการพยายามเข้าไปเล่นเกมทางยุทธศาสตร์บนโลกดิจิตอลเป็นสำคัญ

หากยังพอจำกันได้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มทุนด้าน IT ภายในจีนได้มีการเปิดตัวระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับกลไกการทำงานที่ล้ำสมัย อย่างซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ และระบบการจัดเก็บคะแนนจิตพิสัยของประชาชนผ่านการวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ชุดดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนภายในจีนไม่ให้มีพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

และเพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้ประชาชนก่อความไม่สงบวุ่นวายภายในอาณาเขตของจีนด้วย

หากผู้ใดละเมิดหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมในสังคมก็จะถูกกล้องวงจรปิดอัจฉริยะทำการบันทึกภาพพฤติกรรมเหล่านั้น แล้วนำมาพิจารณาตัดคะแนนจิตพิสัย และเมื่อคะแนนจิตพิสัยมีระดับต่ำจากการถูกหักคะแนนบ่อยครั้งเข้า

คนคนนั้นอาจถึงขั้นไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆ ได้อีกเลยในฐานะบทลงโทษทางวินัยจากภาครัฐ

 

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่จีนและกลุ่มทุนที่รัฐบาลจีนหนุนหลังอยู่นั้นกำลังมีแผนจะส่งออกและถ่ายทอดเทคโนโลยี AI รวมถึงระบบการสอดแนมอัจฉริยะทั้งหมดไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศทั่วโลก อาทิ มาเลเซีย เอกวาดอร์ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซิมบับเว และเคนยา เป็นต้น

โดยจีนและกลุ่มทุนจีนจะเข้าไปทำการลงทุนในประเทศคู่ค้าผ่านโครงการประเภท Safe/Smart Cities, Digital Hub และ Digital Silk Road ภายใต้กรอบการลงทุน Belt and Road Initiative

ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปแบบของการทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีการสอดแนม และโครงการความร่วมมือพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม และการก่อการร้ายภายในพื้นที่ประเทศคู่ค้า

Huawei, ZTE และ C.E.I.E.C. (China National Electronics Import & Export Corporation) รวมถึง SenseTime และ CloudWalk กลุ่มทุน IT กลุ่มใหญ่ที่มีรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนนั้นก็มีชื่อโผล่ออกมาในรายการผู้ร่วมลงทุนและพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีการสอดแนมดังกล่าวให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในหลายๆ ประเทศนั้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เพราะในสายตาของชนชั้นนำในสหรัฐ กลุ่มทุนด้าน IT และการสื่อสารจากจีนนั้นมักมีเป้าหมายแอบแฝงนอกเหนือจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและการค้า

ซึ่งก็คือเหตุผลทางด้านความมั่นคงในโลกดิจิตอล และการจารกรรมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งกลับไปให้ยังคลังข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนภายหลัง

 

และที่สำคัญคือ ศักยภาพการสอดแนมของเทคโนโลยีจีนนั้นมีลักษณะที่ค่อนข้างคุกคาม กล่าวคือ ระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ และระบบ AI ที่ชนชั้นนำภายในรัฐบาลและกลุ่มทุนจีนร่วมกันพัฒนาขึ้นมานั้น สามารถที่จะแยกแยะใบหน้าของผู้คนบนท้องถนนว่าเป็นผู้ใด ชื่ออะไร ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ก็พร้อมที่จะปรากฏขึ้นมาบนจอมอนิเตอร์ในทันทีเมื่อกล้องวงจรปิดจับภาพที่หน้าของเป้าหมายนั้นๆ

มากไปกว่านั้นคือ เทคโนโลยีการสอดแนมของรัฐบาลจีนยังควบคุมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์ชุดอื่นๆ อย่างโทรศัพท์มือถืออีกด้วย การดักฟัง การเข้าถึงตัวกล้องภายในโทรศัพท์มือถือของประชาชนเพื่อตรวจสอบในสิ่งที่รัฐบาลต้องการจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินกำลังเทคโนโลยีที่รัฐบาลจีนถืออยู่เลย

ทำให้มันจะกลายเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวถูกเผยแพร่กระจายไปให้ประเทศที่ยังคงเป็นเผด็จการ หรือประเทศที่มีรัฐบาลในสายอนุรักษนิยมอย่างประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เมื่อได้รับเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้แล้ว

อาจนำไปสู่การปฏิบัติการสอดแนมอย่างเข้มข้นโดยรัฐบาลที่มากขึ้น

 

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ สามารถมองผ่านมิติทางภูมิรัฐศาสตร์และการทูตได้ว่าจีนอาจมีแผนจะขยายแนวร่วมในหมู่รัฐเผด็จการและรัฐอนุรักษนิยม ให้มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในการแทรกแซงประชาชนของตนเอง และมีฐานอำนาจที่กระชับรอบด้านภายในประเทศมากขึ้น ผ่านการสร้างรัฐเผด็จการดิจิตอล (digital authoritarianism) ขึ้นมา เพื่อใช้กำกับดูแล สอดส่อง และควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศอย่างไร้รอยรั่ว (ด้วยกล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่ควบคุมด้วยระบบ AI และซอฟต์แวร์การจดจำใบหน้า)

หากรัฐเผด็จการและรัฐแนวอนุรักษนิยมทั้งหลายได้นำแนวปฏิบัติและแบบแผนการบริหารด้านความมั่นคงเหล่านี้ไปใช้งานภายในประเทศของตน ก็มีแนวโน้มที่เสรีภาพ การปฏิบัติการทางการเมืองภาคประชาชนและการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจะสามารถเกิดขึ้นได้ยากลำบากมากขึ้น

เพราะประชาชนจะมีความหวาดกลัวและระแวงในรัฐบาลของตนเองมากขึ้น (หากมีระบบคะแนนจิตพิสัยมาปรับใช้ในประเทศนั้นๆ)

และด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวก็ทำให้รัฐบาลสามารถคำนวณและคาดคะเนได้แม่นยำมากขึ้นว่า “ใคร” กำลังจะก่อความวุ่นวายขึ้นภายในรัฐ รัฐบาลอาจสามารถลงมือจับกุมก่อนได้ทุกเมื่อ

รัฐบาลจีนอาจตระหนักถึงปัจจัยและผลลัพธ์ในมิตินี้ดีอยู่ก่อนแล้ว จึงวางแผนที่จะผลักดันให้ประเทศภาคีคู่ค้ารับเทคโนโลยีเหล่านี้ไปปรับใช้ให้มากขึ้น

และยิ่งมีประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของรัฐบาล Xi Jinping นำร่องรับไปใช้ก่อน ยิ่งทำให้สหรัฐเกิดความกังวล

เนื่องจากหลายๆ ประเทศภาคีของโครงการ BRI นั้นถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ การเผยแพร่เทคโนโลยีอันตรายที่สามารถใช้ควบคุมประชาชนภายในประเทศได้ให้แก่กลุ่มเผด็จการ

จึงอาจนำมาซึ่งภาวะถดถอยในแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่ประเทศเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาไปสู่ย่างก้าวแห่งเสรีประชาธิปไตยในอนาคตได้

 

สถานการณ์ดังกล่าวเหล่านั้นนับว่าเป็นผลดีต่อรัฐบาลจีนโดยตรงในเกมทางยุทธศาสตร์และการทูต เพราะมันหมายความว่าจีนสามารถขยายได้ทั้งรัฐแนวร่วมและพันธมิตรโลกเผด็จการ-อนุรักษนิยมให้หันมาพึ่งพาประเทศจีนมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ ไปกับการกีดกันอิทธิพลของสหรัฐออกไปจากภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายการขยายเขตอิทธิพลของจีนในอนาคตอีกด้วย

หมากกระดานนี้ของรัฐบาลจีน จึงอาจเป็นการวางแผนในระยะยาวของรัฐบาลเพื่อปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ผ่านปฏิบัติการในโลกดิจิตอล ไม่ให้แนวคิด แนวปฏิบัติแบบเสรีประชาธิปไตยของสหรัฐนั้นสามารถเติบโตในกลุ่มพันธมิตรของรัฐบาลจีนได้

การวางเกมทางยุทธศาสตร์และการขยายแนวร่วมทางการทูตของรัฐบาลจีนในลักษณะนี้ ในทางตรงกันข้ามจึงเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐโดยตรง ทั้งภัยในเรื่องของระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยม ภัยจากรัฐอันธพาล (pariah states) ที่จีนอาจตั้งใจชุบเลี้ยงไว้ใช้งานและสร้างระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพิงเอาไว้

ดังนั้น การที่รัฐบาลและชนชั้นนำภายในสหรัฐจะมีทัศนคติและท่าทีที่ไม่เป็นมิตร จนถึงหวาดระแวงกลุ่มทุนด้าน IT จากจีนอย่าง Huawei จึงไม่ใช่เรื่องที่ไร้เหตุผล หรือบ้าคลั่งไปตามกระแสสงครามการค้าของ Donald Trump เสียทีเดียว