ปรากฏการณ์ “พานไหว้ครู 2019” บทสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่กำลังถูกท้าทายจากรุ่นสู่รุ่น

พิราภรณ์ วิทูรัตน์

ถ้าพูดถึงเยาวชนไทยกับการแสดงออกทางการเมือง หลายคนน่าจะนึกถึงขบวนล้อการเมือง หรือการแปรอักษรบนสแตนด์เชียร์ภายในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

แม้ว่า 4-5 ปีหลังมานี้ต้องเจอกับฤทธิ์เดชของ คสช. ผ่านสมาชิกหัวเกรียนที่คอยเดินป้วนเปี้ยนภายในงานถี่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้กระแสตื่นตัวทางการเมืองเหล่านี้ลดลงแม้แต่น้อย

ในทางกลับกัน ปฏิกิริยาโต้ตอบกลับพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก

จากนิสิตนักศึกษาสู่เด็กนักเรียนวัยมัธยม ซึ่งพวกเขาเลือกแสดงความคิดความรู้สึกผ่านประเพณีที่คุ้นเคยกันอย่างพิธีไหว้ครูด้วยการประดิษฐ์พานสุดครีเอต

และไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียวเท่านั้นที่เกิดไอเดียบรรเจิดแบบนี้ แต่ยังมีเพิ่มเติมมาอีก 1-2 แห่งที่เด็กๆ ก็ต้องการพื้นที่ตรงนี้ในการส่ง “เสียง” ถึงคนที่คุณก็รู้ว่าใครเหมือนกัน

 

สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้นอกจากไอเดียของเด็กๆ แล้วก็คือรีแอ็กจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรานี่แหละ ตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ออกมาปฏิเสธผ่านสื่อว่า พาตราชั่งที่เอนเอียงน่าจะมาจากการติดกาวที่ไม่สนิท

หรือล่าสุดที่ทางโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยออกประกาศขอความร่วมมือจากครูอาจารย์ให้ร่วมกันตรวจสอบการประดิษฐ์พานของนักเรียนอีกแรงหนึ่ง

ทำเอาศิษย์เก่าหลายคนออกมาแสดงความไม่พอใจว่า นี่เป็นการกระทำที่พยายามปิดกั้นแนวคิดของเด็กๆ มากไปหรือไม่

หากใครเป็นคอการเมืองก็คงจะเคยได้ยินแนวคิดที่ชื่อว่า “สองนคราประชาธิปไตย” ของศาสตราจารย์พิเศษเอนก เหล่าธรรมทัศน์

พูดสรุปโดยคร่าวๆ คือ อาจารย์เสนอไอเดียอรรถาธิบายบริบททางการเมืองไทยไว้ว่า รัฐบาลถูกจัดตั้งขึ้นโดยคนชนบทหรือคนต่างจังหวัด และถูกโค่นล้มโดยชนชั้นกลางหรือคนเมือง ด้วยความที่พื้นที่เมืองเป็นฐานการดำเนินนโยบายสำคัญ ส่วนคนต่างจังหวัดเป็นฐานเสียงที่ใช้เลือกผู้แทนฯ เข้ามานั่นเอง

ประเด็นก็คือ คำอธิบายที่ว่าคงไม่สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป

การเมืองในยุคนี้ไม่ใช่การต่อสู้ของคนเมืองกับคนต่างจังหวัด

แต่กลายเป็นความขัดแย้งแบบ generation gap คนรุ่นพ่อ-แม่เลือกอีกพรรคหนึ่ง

ส่วนรุ่นลูกก็ชูอุดมการณ์ที่อยู่ขั้วตรงข้าม และเลือกพรรคการเมืองที่ดูจะไม่ถูกใจผู้ใหญ่สักเท่าไหร่

 

เส้นความขัดแย้งไม่ลงรอยตรงนี้เกิดจากการผ่านประสบการณ์บริบททางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แม้ว่ากลุ่ม New Voter หลายคนจะเกิดทันยุคที่มีการก่อม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดงกันแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า ในเชิงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเด็กรุ่นนี้ไม่ได้เกิดความรู้สึกอินเท่ากับยุคเผด็จการ (ประชาธิปไตย?)

แน่นอน หรือพูดอย่างถึงที่สุดแม้จะรับรู้ถึงความร้ายกาจของผีทักษิณมากขนาดไหน แต่พวกเขาก้าวข้ามไปได้ตั้งนานแล้ว

สิ่งที่เผชิญอยู่ตรงหน้าและเห็นโดยหลักฐานเชิงประจักษ์จึงเป็นคดีนาฬิกายืมเพื่อน

รัฐธรรมนูญที่ผิดฝาผิดตัวไปหมด หรือการที่เสียงของประชาชนถูกดูแคลนด้วย 250 ส.ว.ที่ตั้งขึ้นจากพรรคพวกตัวเอง

ทั้งหมดเป็นบริบทที่คนรุ่นนี้กำลังเผชิญเข้าอย่างจัง วิธีที่จะส่งเสียงออกไปให้ดังที่สุดจึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผ่านกิจกรรมชิ้นละอันพันละน้อยที่พวกเขามีส่วนร่วมกันได้เต็มที่

แต่ส่งเสียงออกไปได้ไม่ถึงวันก็แว่วมาว่ามีบรรดาพี่ๆ หัวเกรียนเจ้าเก่าบุกไปถึงโรงเรียนตามเคย พร้อมสั่งให้ลบรูปพานบนโซเชียลออกไปให้หมด

พอข่าวออกมาเราๆ เองก็คงจะอดขำกันไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่เหล่านี้กลัวอะไรกับอีแค่พาน?

ใช่ พานอาจจะมีเพียงไม่กี่อัน เพราะสิ่งที่รัฐกลัวไม่ใช่พานหรอก แต่เป็นความคิดของเด็กๆ เหล่านี้ต่างหาก

การประดิษฐ์พานไหว้ครูด้วยไอเดียแบบนี้สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่างมากๆ

แน่นอนที่สุด คือการที่รัฐไม่สามารถควบคุมความคิดเด็กๆ เหล่านี้ผ่านอุดมการณ์ได้อีกแล้ว

อุดมการณ์ที่ว่า อย่างเช่นหนังสือเรียนจากกระทรวงศึกษาฯ ก็ดี ครูในโรงเรียนก็ดี กฎระเบียบข้อบังคับที่ไม่ค่อยเมกเซนส์เท่าไหร่ ทุกอย่างถูกหยิบขึ้นมาตั้งคำถามที่ผู้ใหญ่เองก็หาคำตอบที่เมกเซนส์ให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้

กลายเป็นว่าในยุคที่ทุกคนสามารถเสพสื่อได้หลายช่องทางมากขึ้นก็เอื้อให้เด็กๆ แสวงหาความจริงชุดอื่นในสังคมได้ตลอดเวลาเช่นกัน

ยิ่งรัฐห้ามมากเท่าไหร่มันก็ยิ่งสะท้อนไปอีกว่ารัฐกำลังปกปิดอะไรพวกเขาอยู่รึเปล่า

ถ้าเราอยู่ภายใต้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ทำไมการแสดงออกผ่านพานไหว้ครูจึงถูกลิดรอนในเวลาอันรวดเร็ว รัฐไม่เคยจริงใจกับประชาชนเลยใช่รึเปล่า?

 

นอกจากรัฐที่เป็นเจ้าของอุดมการณ์และชุดความจริงในสังคมแล้ว ประเด็นพานไหว้ครูยังเปิดโอกาสให้เราเห็นถึงการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนรุ่นเก่าและกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเชิงความคิดด้วย นอกจากพื้นที่ในสนามการเมือง เด็กๆ ก็ไม่วายถูกติติงในพื้นที่ทางความคิดว่าด้วยความเหมาะสมของประเพณีการไหว้ครูเช่นกัน

มีหลายๆ คนออกมาแสดงความเห็นทำนองว่า พานไม่ใช่ของเล่นที่นึกจะติดจะแปะอะไรตามใจฉันได้ แต่ประเพณีไหว้ครูคือสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศเรามาช้านาน บลาๆๆ ไม่บอกก็คงจะพอเดากันออกว่าผู้ใหญ่เหล่านี้โต้ตอบเด็กรุ่นใหม่ด้วยไดอะล็อกแบบไหนกัน

ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือกลุ่มคนรุ่นเก่าเองก็ดี ทั้งหมดเป็นตัวแทนสะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มคนที่ไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นใหม่เลย ขั้วอำนาจเก่ากำลังรู้สึกว่าจุดยืนหรือพื้นที่ของตัวเองถูกคลอนไปด้วยความคิดแบบใหม่ๆ ที่พวกเขาตีตราไปแล้วว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ความจริงในแบบเดิมที่เคยยึดมั่นถือมั่นมาหลายสิบปีกำลังจะถูกหยิบมาถกเถียง หรืออาจบานปลายถึงขั้นถูกหักล้างไปเลยย่อมได้

กลุ่มคนที่ไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อในสิ่งใหม่ๆ คิดมาตลอด เชื่อมาตลอดว่าสิ่งที่ถูกต้องมีเพียงชุดเดียวจึงไม่ยอมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการต่อเติม-รื้อสร้างเด็ดขาด

 

แน่ๆ ว่าตอนนี้เริ่มมีการตั้งคำถามกลับถึงพิธีไหว้ครูด้วยเช่นกันว่า ทำไมอาชีพครูจึงเป็นเพียงอาชีพเดียวที่ต้องมีประเพณีการกราบไหว้

ทั้งที่ครูอาจารย์ก็เป็นหนึ่งในแขนงอาชีพหนึ่งเหมือนกัน

ความหมายในที่นี้คือ เอ้า แล้วอาชีพอื่นไม่สำคัญเหรอ

ศักดิ์และศรีของทุกอาชีพก็น่าจะอยู่ในระนาบเดียวกันนี่หน่า

จะบอกว่าการสอนเป็นพระคุณก็ดูจะไม่ถูกทั้งหมด เพราะการสอนก็เป็นหน้าที่ของครู และสุดท้ายครูเองก็รับเงินเดือน กระบวนการเหมือนกับการทำอาชีพอื่นๆ ทั้งหมด

หรือที่จริงแล้วควรจะมีการหยิบประเพณีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ดีมั้ย?

นี่มันปี 2019 แล้วนา…

 

เราว่าท้ายที่สุดแล้วการเขย่าชุดความคิดไปๆ มาๆ แบบนี้จะยังคงสถานะ conflict ระหว่างรุ่นไปเรื่อยๆ แน่นอน

ตราบใดที่ขั้วอำนาจเดิมยังคงกลัวการสูญเสียพื้นที่และไม่ยอมปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ยกสิ่งที่ควรนำมาถกเถียงหาข้อสรุปขึ้นไปไว้บนหิ้งจนกลายเป็นของต้องห้าม แตะต้องไม่ได้

ผลสุดท้ายสิ่งที่แย่ที่สุดไม่ได้ตกอยู่ที่คนรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนรุ่นเก่า แต่เป็นของที่อยู่บนหิ้งต่างหากที่รังแต่จะจางหายไปตามกาลเวลา

และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในทุกๆ วันได้

ด้วยความเคยชินที่ไม่ต้องถูกแตะต้อง ไม่ต้องถูกตั้งคำถาม ไม่ต้องถูกตรวจสอบ เพราะถูก verified จากคนรุ่นเก่ามาหลายสิบหลายร้อยปีแล้วว่า นี่คือสิ่งที่ดีงาม

หน้าที่ของคนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่เจ้าหนูทำไม แต่เป็นการทำตามครรลองที่ผู้ใหญ่วางไว้ให้ต่างหากล่ะ

นี่แหละคือสังคมที่ผู้ใหญ่เขาพึงปรารถนากัน ไอเดียความสงบเลยถูกซื้อกับคนเจนนี้ได้เรื่อยๆ

มากกว่าการเขย่าชุดความคิดเดิมๆ ที่เรากำลังพยายามทำกันอยู่