“สเปอร์ส” ไม่ได้พ่ายแพ้ให้กับลิเวอร์พูล แต่เป็นเพราะระบบทุนนิยมที่โหดร้าย

ความพ่ายแพ้ของทีมฟุตบอล Tottenham Hotspur ในการชิงถ้วยสโมสรยุโรป UEFA Champions league ประจำฤดูกาล 2018-2019

มีอะไรที่น่าขบคิดมากกว่าผลการแข่งขัน และการต่อสู้ทางแท็กติกของผู้จัดการทีม

โลกฟุตบอลยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะความเหี้ยมโหดของระบบทุนนิยมได้เข้ามาสอดแทรกในวงการนี้ทั่วทุกอณูขุมขน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปั้นเด็กจากทีมเยาวชนขึ้นมาและปล่อยให้พวกเขาเติบโต จนกระทั่งสามารถคว้าแชมป์ได้ เป็นเรื่องยากมากถึงยากที่สุด

เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร “ความเก่งกาจ” ของนักเตะจากทั่วทุกมุมโลก จะถูกรับรู้อย่างรวดเร็ว ผ่านการวิเคราะห์อย่างละเอียดยิบ ดังนั้น โอกาสที่จะถูกดึงตัวจากคู่แข่งทีมอื่นจึงมีเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน นักฟุตบอลในทีมก็สามารถเปิดรับข้อมูลข่าวสารได้จากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น การย้ายทีมไปต่างประเทศ จึงมีความกังวลน้อยลง พวกเขาสามารถเรียนรู้ทั้งภาษาและการปรับตัวในเรื่องอื่นๆ ได้ง่ายดายและสะดวกสบายยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

ทีมที่มีเงินเยอะกว่า และใช้เงินอย่างชาญฉลาด ย่อมสามารถเลือกหานักฟุตบอลจากทีมอื่นเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งและปิดจุดอ่อนของตนเองได้ง่ายดายกว่าเดิม ซึ่งย่อมส่งผลให้ทีมนั้นมีโอกาสชนะและคว้าแชมป์ในถ้วยต่างๆ ได้มากกว่าทีมที่มีเงินน้อยนิด

การไม่ใช้เงินซื้อตัวนักเตะของทีมสเปอร์ส ในฤดูกาล 2018-2019 จึงทำให้เสียเปรียบทีมลิเวอร์พูลที่ใช้เงินไปเกือบ 200 ล้านปอนด์ เป็นอย่างยิ่ง

ที่สำคัญ การซื้อขายนักเตะของทีมลิเวอร์พูล ไม่ได้อาศัยเพียงทีมงานแมวมองเท่านั้น หากทว่ายังมี Ian Graham ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ และโมเดลคณิตศาสตร์เข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัย ในการเลือกเฟ้นนักฟุตบอลให้กับทีมลิเวอร์พูลอีกด้วย

ความก้าวหน้าในการประมวลผลของเครื่องคอมพิวเตอร์ ความมหาศาลของข้อมูลข่าวสาร และความล้ำลึกของโมเดลทางคณิตศาสตร์ จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันชิงชัยของโลกฟุตบอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้กระทั่ง Jurgen Klopp สุดยอดผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ก็ยังถูกคัดสรรเข้ามา จากการวิเคราะห์โดยทีมงานของ Ian Graham อีกด้วย

การวิเคราะห์ของทีมงาน Ian Graham มีความซับซ้อน และไม่ได้ต้องการนักฟุตบอลอันดับ 1 เท่านั้น เพราะบุคคลเหล่านี้ย่อมมีราคาสูง ในขณะที่นักฟุตบอลซึ่งมีคุณภาพระดับรองลงมา แต่มีราคาที่ถูกกว่ามากๆ ก็อาจเป็นที่ต้องการจากทีมงานของ Ian Graham มากกว่า

นี่คือเกมการเงิน ที่เรียกว่า Moneyball เพราะในท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัด การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้เราได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้

โดยเฉพาะในยุคที่มีกฎ Financial Fair Play เข้ามาควบคุมสโมสรฟุตบอลทั้งหลาย ไม่ให้ใช้เงินอย่างเกินตัว การมีกลยุทธ์การซื้อขายนักฟุตบอลอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

“ฟิลิปเป้ คูตินโญ่” เป็นนักฟุตบอลคนหนึ่ง ที่ได้รับการซื้อตัวเข้าสู่ทีมลิเวอร์พูล จากคำแนะนำของทีมงาน Ian Graham โดยมีราคาเพียงแค่ 8.5 ล้านปอนด์เท่านั้น แต่กลับใช้งานได้อย่างคุ้มค่าเต็มพิกัด ในที่สุดเมื่อถึงเวลาต้องลาจาก ก็สามารถทำเงินให้สโมสรมากกว่า 100 ล้านปอนด์อีกด้วย

สิ่งที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นก็คือ ลิเวอร์พูลไม่ได้เก็บเงินจำนวนนี้เข้ากระเป๋าและหนีหาย แต่พวกเขายังนำเงินที่ได้มาต่อยอดในการซื้อนักเตะราคาแพง เพื่อเติมเต็มในตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อนได้อย่างฉลาด นั่นคือผู้เล่นกองหลังที่แพงสุดในโลก Van Dijk ในราคา 75 ล้านปอนด์ และผู้รักษาประตูที่แพงอันดับ 2 ของโลก Alisson Becker ที่มีราคามากกว่า 60 ล้านปอนด์

โลกทุนนิยมที่เกรี้ยวกราดได้บีบให้ทีมฟุตบอลต้องตัดสินใจซื้อนักเตะในราคาที่แพงขึ้นเรื่อยๆ หากทว่าการตลาดและการสร้างความนิยมให้กับเกมฟุตบอล ก็ทำให้สโมสรที่มีชื่อเสียงและได้แชมป์ในถ้วยสำคัญๆ ได้รับผลตอบแทนทางการเงินสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย

ในศตวรรษที่ 21 การแข่งขันฟุตบอลในสนาม จึงแยกไม่ออกจากการชิงไหวชิงพริบนอกสนาม โดยเฉพาะการใช้เงินต่อเงิน เพื่อซื้อความสำเร็จ และช่วงใช้ความสำเร็จนั้นผลิตเงินออกมา เพื่อต่อยอดความสำเร็จไปอีกขั้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในการซื้อตัวนักฟุตบอลก็ย่อมไม่แตกต่างจากการลงทุนในเรื่องอื่น นั่นคือความเสี่ยงและความไม่แน่นอน

เพราะแม้แต่โมเดลการคำนวณของ Ian Graham ก็ยังมีข้อผิดพลาด และไม่อาจพึ่งพาได้ 100%

ดังนั้น การมีผู้จัดการทีมแบบ Jurgen Klopp ซึ่งสามารถปลุกเร้าลูกทีมให้สู้ตายถวายชีวิต และทำเพื่อทีมมากกว่าเพื่อตัวเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้

โดยเฉพาะการกระตุ้นให้ลูกทีมเล่นฟุตบอลให้เต็มศักยภาพที่มีหรือมากกว่านั้น ย่อมเป็นการลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดและพ่ายแพ้ได้ระดับหนึ่ง ในท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลการแข่งขัน ซึ่งยากจะมีโมเดลคณิตศาสตร์ใดที่สามารถคำนวณอย่างละเอียดขนาดนั้น

การมีเจ้าของทีมอย่าง John Henry ซึ่งเข้าใจเรื่องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และทีมเบสบอลเป็นอย่างดี ก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในความสำเร็จ

เพราะจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้เขามีความเปิดกว้างในการประยุกต์ใช้โมเดลคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยในซื้อขายนักเตะให้ประสบความสำเร็จได้

รวมถึงความอดทนและใจเย็นในการเก็บเกี่ยวความสำเร็จ โดยให้เวลากับผู้จัดการที่ชื่อว่า Jurgen Klopp อย่างยาวนานเพียงพอ ไม่ใช่รีบร้อนไล่ออก เพียงเพราะความล้มเหลวไม่ได้ถ้วยแชมป์ภายในเวลา 3 ปี

นี่คือความล้มเหลว เมื่อพิจารณาเพียงผิวเผิน

หากทว่า John Henry ยังมองเห็นตัวแปรที่มากกว่านั้น นั่นคือ พื้นฐานที่แข็งแกร่งของทีม ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ

ซึ่งในท้ายที่สุด เมื่อเวลาเหมาะสมมาถึง จึงเติบโตเบ่งบานเป็นแชมป์ถ้วยใหญ่สุดของยุโรป UEFA Champions league ประจำปี 2018-2019 ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง สำหรับทีมฟุตบอลสเปอร์ส ที่เคยได้รับคำแนะนำจาก Ian Graham ตั้งแต่ปี 2008-2012 แต่ผู้จัดการและทีมงานของสเปอร์สไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ในแนวทางนี้มากนัก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าใด เพราะการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ในกีฬาฟุตบอลยังเป็นเรื่องแปลกใหม่เกินไป

โชคดีจึงเป็นของ John Henry เจ้าของทีมลิเวอร์พูล ซึ่งเห็นคุณค่าในความเชี่ยวชาญด้านโมเดลคณิตศาสตร์ของ Ian Graham จึงได้จ้างเขาเข้ามาในปี 2012

และกลายเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับชัยชนะของลิเวอร์พูล

เมื่ออ่านบทความมาถึงตรงนี้ คนที่เป็นแฟนลิเวอร์พูลบางส่วนก็อาจจะไม่พอใจผม ที่ไม่เห็นความเก่งกาจและความพยายามยิ่งใหญ่ของเหล่านักฟุตบอลที่ทุ่มเททุกอย่างในชีวิตลงไปในสนาม

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะบอกว่า ผมเองก็เป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลคนหนึ่ง และรู้สึกอิ่มเอมเปรมปรีดิ์อย่างยิ่ง ที่ทีมของเราได้แชมป์ยุโรปเป็นสมัยที่ 6

หากทว่าผมก็ไม่ได้รังเกียจที่ทีมของเราจะได้ชัยชนะเพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาช่วย อย่างเช่น โมเดลคณิตศาสตร์ของ Ian Graham ที่ช่วยในการซื้อขายนักฟุตบอลอย่างชาญฉลาด

ยิ่งมีสิ่งตัวช่วยมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อทีมเรามากเท่านั้น

ดังนั้น ผมจึงอยากสรุปปิดท้ายบทความด้วยคำพูดสั้นๆ นั่นคือ

“ลิเวอร์พูลจงเปิดกว้างและใช้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมอย่างชาญฉลาด”

เพราะนี่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ในการสร้างชัยชนะ คว้าถ้วยรางวัล และสร้างความสุขให้กับแฟนๆ ที่กำลังก้าวเดินไปพร้อมกับคุณ