ชาคริต แก้วทันคำ : ปัจจัยเสี่ยงและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง กับ “การฆ่าตัวตายของพลวัต”

“พวกเราต่างพกบาดแผลมาเต็มหลัง ทะเยอทะยานและบาดเจ็บมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็กระโจนลงสู่สมรภูมิอีกครั้ง ใช่ว่าชีวิตจะกดดันไม่มีทางเลือก แต่เรานั่นเองที่เฆี่ยนตีตนเองจนแทบไม่มีทางเลือกอื่น เพียงเพราะหวาดกลัวว่าหากหยุดนิ่ง จะสูญสิ้นความหมาย ถูกทิ้งเดียวดายลำพัง” (น.99)

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกของจิดานันท์ ตัวละครที่มีชื่อเดียวกับผู้เขียน ได้ไตร่ตรองชีวิตของตนกับพลวัตและพบว่า “พวกเราต่างพกบาดแผล” เป็นความรู้สึกหวาดกลัวและสะท้อนพฤติกรรมที่อาจตีความได้ว่าเกี่ยวข้องกับความสิ้นหวัง (hopelessness) ในชีวิต ที่ “มีเพียงคนแบบเดียวกันเท่านั้นที่จะเข้าใจ”

เป็นลักษณะของปัจเจกบุคคลที่ขาดความค้ำจุนทางอารมณ์

ความรู้สึกจากการขาดที่พึ่งทางใจและรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงทำให้ปัจเจกบุคคลโดดเดี่ยวและกลายเป็นคนที่มีความอ่อนไหวต่อการกระทบกระเทือนทางอารมณ์

ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดอยากฆ่าตัวตายและนำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวยังสามารถอธิบายความเชื่อมโยงการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมาของพลวัตตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmud Freud) ที่เกิดจากสาเหตุ “การสูญเสียการทำงานของจิตสำนึก” (distubance of ego functioning)

เช่น การปรับตัวที่ผิดปกติ เป็นต้น

 

บทความนี้จะศึกษาปัจจัยเสี่ยงและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย ในเรื่องสั้น “การฆ่าตัวตายของพลวัต” ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ ปี 2560 โดยเรื่องสั้นที่จะนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของตัวละคร พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย”

เรื่องสั้น ” การฆ่าตัวตายของพลวัต” ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ให้ “ฉัน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นผู้เล่าเรื่องที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือพยาน (withness narrator) โดยนำเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของพลวัตมาเล่าในลักษณะที่มีความรับรู้แบบจำกัด (limited)

ชีวิตในวันธรรมดาของจิดานันท์ไม่ธรรมดา เมื่อเธอได้รับโทรศัพท์จากเต้ที่ส่งข่าวมาบอกว่ากิตติน้องชายของพลวัตกำลังจะมาหา ทำให้เธอย้อนกลับไปสองสามปีก่อนที่ได้รู้จักกับพลวัต เหตุผลที่กิตติมาหาจิดานันท์ เพราะเขาได้อ่านข้อความในเฟซบุ๊กจากมือถือพี่ชาย และรู้ว่า “จิดานันท์เป็นคนที่บอกให้พลวัตฆ่าตัวตาย”

ขณะพ่อแม่กำลังวุ่นอยู่กับการจัดงานศพของพลวัต กิตติมาหาจิดานันท์เพราะอยากรู้ว่าทำไมพี่ชายเขาถึงจากไป และเขาก็รู้คำตอบที่แท้จริงหลังจากได้อ่านข้อความในมือถือ ชีวิตของพี่ชายเขามันลำบาก เหมือนติดอยู่ในกรงขัง แต่ครอบครัวกลับไม่มีใครรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ มีเพียงจิดานันท์ที่เป็นเพื่อนสนิทที่สุด พูดคุยและรับรู้อารมณ์หนักอึ้งก่อนที่พี่ชายเขาจะฆ่าตัวตาย

ที่สำคัญจิดานันท์ไม่ได้ห้ามพลวัตด้วย

การที่กิตติมาหาจิดานันท์ นอกจากพูดคุยกันแล้ว เขามาเพื่อขอโทษที่พิมพ์ข้อความไม่ดีส่งมาให้เธอ พอเขาเข้าใจเหตุผลและการตัดสินใจฆ่าตัวตายของพี่ชาย

กิตติกลัวว่าจิดานันท์จะจากโลกนี้ไปอีกคน เขาจึงมาเพื่อปลอบโยนเธอ

 

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย

“ฉันรู้ว่าเขาใช้ยาในบางคืนเพื่อดับความว้าเหว่ ไม่ได้ต่อเนื่องทุกปักษ์ทุกเดือน ทว่าแต่ละครั้งละก็หนักหนาเจียนคร่าชีวิต ครั้งหนึ่งเขาแชตเฟซบุ๊กมาบอกฉันว่าเลือดออกจมูก ฉันจึงโทร.ไปหา คุยเป็นเพื่อนจนถึงเช้า เวลาอยู่กับคนที่ไม่สนิท พลวัตวางท่าเป็นคนร่าเริง คนที่สนิทกับเขาเพียงผิวเผินจึงช็อกกับเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วกิตติผู้เป็นน้องชายล่ะ สนิทกับเขาเพียงผิวเผินหรือเปล่า” (น.100)

ข้อความข้างต้น การที่จิดานันท์รู้ว่าพลวัต “ใช้ยาบ้างในบางคืนเพื่อดับความว้าเหว่”

เท่ากับว่าการใช้สารเสพติดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย และ “ความว้าเหว่” ของพลวัต ยังเป็นอาการของโรคซึมเศร้าที่เกิดจากความท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต และน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาคิดและฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ เมื่อจิดานันท์ตั้งคำถามว่ากิตติรู้จักพี่ชายดีพอหรือแค่เพียงผิวเผิน จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่และคนในครอบครัว ที่อาจมีสัมพันธภาพไม่ดีต่อกัน หรือเพราะพลวัตขาดความผูกพันกับพ่อแม่

การตั้งคำถามของจิดานันท์จึงน่าขบคิด สะท้อนสถาบันครอบครัวยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เท่าที่ผ่านมา พลวัตพูดคุยและสื่อสารกับเพื่อนในโลกเสมือนมากกว่า ทำให้เขาแยกตัว (isolation) ออกจากโลกความจริง

ดังนั้น การใช้สารเสพติดและมีอาการของโรคซึมเศร้า จึงไม่เป็นที่สังเกต รับรู้หรือใส่ใจของคนในครอบครัว

“สเตตัสสุดท้ายบนเฟซบุ๊กของพลวัตเขียนไว้ว่า “ความโดดเดี่ยวเปรียบประหนึ่งตั๋วเที่ยวเดียว สู่ความเศร้าและความตายอันพึงปรารถนา” ฉันแชตคุยกับพลวัตอยู่ระหว่างที่เขาโพสต์ข้อความนี้ เขาจึงกล่าวกับฉันว่า ผมจะไปแล้วนะ ผมตัดสินใจว่า คงจะเป็นคืนนี้ การสนทนาทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหนึ่งครั้ง ครั้งก่อนพลวัตบอกว่าคุณช่วยห้ามผมที ฉันก็เลยห้าม โทรศัพท์ไปหาเขาและคุยกับเขาจนกระทั่งคืนอันมืดมิดผ่านพ้นไป แต่ครั้งนี้เขาบอกฉันว่า คุณอย่าห้ามผมนะ ฉันจึงบอกว่า อืม จะไม่ห้าม” (น.104)

ข้อความข้างต้น แสดงว่าพลวัตเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน การพยายามฆ่าตัวตายจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตายซ้ำ และเมื่อชีวิตถึงทางตัน การฆ่าตัวตายก็เป็นทางออกเดียวสำหรับเขาและพอจิดานันท์ไม่ห้าม เธอเชื่อว่ามันจะปลดปล่อยพลวัตจากทุกสิ่ง แม้ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับปัญหา เพราะเขายังไม่เคยเข้ารับการรักษา แต่มันเป็นการตัดสินใจของเขา

ในเมื่อการพยายามมีชีวิตอยู่เท่ากับถูกกดทับให้ทรมานตลอดไปเช่นกัน

 

ทฤษฎีการฆ่าตัวตายของบุคคลของ Emile Durkheim

การฆ่าตัวตายเพื่อตนเอง (egoistic suicide) ตามแนวคิดของอีมิล เดอร์ไคม์ มีลักษณะดังนี้

1. ปัจเจกบุคคลขาดการเข้าร่วมกับวิถีชีวิตของกลุ่มอย่างเข้มข้น ดังนั้น ถ้าเขาจะฆ่าตัวตายก็จะไม่ถูกยับยั้งจากความรู้สึกส่วนลึกที่มีความผูกพันหรือมีพันธะต่อผู้อื่น และเขาจะไม่คำนึงถึงผลจากการฆ่าตัวตายของเขาต่อกลุ่มหรือผู้อื่น

2. ปัจเจกบุคคลขาดความรู้สึกที่ต้องการจะทำให้ชีวิตของตนมีค่า ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่บุคคลนั้นมีความผูกพันกับคนรอบข้างน้อย

3. ปัจเจกบุคคลขาดการค้ำจุนทางด้านอารมณ์ความรู้สึกจากกลุ่ม ดังนั้น การขาดที่พึ่งทางใจและรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้เมื่อต้องเผชิญปัญหา ทำให้ปัจเจกบุคคลรู้สึกโดดเดี่ยวและกลายเป็นบุคคลที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์ ซึ่งนำไปสู่สาเหตุการฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตายเพื่อตนเองจึงเป็นผลจากการขาดประสิทธิภาพในการผสมผสานความเป็นปัจเจกบุคคลกับสังคม รวมไปถึงการผสมผสานความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างบุคคลและชีวิตครอบครัวด้วย

ดังนั้น การฆ่าตัวตายเพื่อตนเองตามแนวคิดของเดอร์ไคม์ ที่เชื่อว่าบุคคลนั้นมองว่าตนถูกแยกส่วนออกมาจากสังคม มีความรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ สังคมมองไม่เห็นตัวเขา จึงฆ่าตัวตายเพราะคิดว่าเขาไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ในสังคมต่อไป

เช่นเดียวกับชีวิตและความคิดของพลวัตที่ “เหมือนถูกขังอยู่ในร่างกายตนเอง”

 

เรื่องสั้น “การฆ่าตัวตายของพลวัต” ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นอกจากจะนำเสนอปัญหาและความขัดแย้งภายในใจของตัวละครที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายจากปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเพศภาวะ (gendar) อาการของโรคซึมเศร้า เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตายและการใช้สารเสพติดเพื่อดับความว้าเหว่แล้ว

ปัจจัยที่มาจากครอบครัวก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวละครตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะขาดความรัก ความอบอุ่นและความสัมพันธ์อันดีจากคนในครอบครัว และการแยกตัวออกมาจากโลกแห่งความเป็นจริงยิ่งส่งผลให้ครอบครัวขาดการเฝ้าระวังและช่วยเหลือตัวละครที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายด้วย

อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ การที่กิตติในฐานะผู้สูญเสียมาพบและพูดคุยกับจิดานันท์ ที่น่าจะมีอาการและแนวโน้มฆ่าตัวตายไม่ต่างจากพลวัต การมาปลอบโยนแทนการกล่าวโทษจึงเป็นการเรียนรู้คุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ของทั้งสองตัวละครที่ได้รับผลกระทบจากความตายของพลวัต แทนที่จะจมปลักอยู่กับความเจ็บปวดเท่านั้น

ดังนั้น การปลอบโยนจึงเป็นทางแก้ที่อาจช่วยเหลือหรือเยียวยาชีวิตที่โดดเดี่ยวอ้างว้างและแปลกหน้าในโลกใบนี้ให้มีความหวังที่จะอยู่ต่อไปได้

นอกจากนี้ การให้จิดานันท์เป็นตัวละครชื่อเดียวกับผู้เขียน ยังแฝงนัยได้อีกว่า อาการของโรคซึมเศร้าและสาเหตุของการคิด พยายามหรือฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคนใกล้ตัวหรือสมาชิกในครอบครัวของเราด้วย

และการฆ่าตัวตายของพลวัต คำว่า “พลวัต” หมายถึง มีกำลัง เกี่ยวข้องกับแรง ที่อาจส่งผลต่อผู้เขียน ผู้อ่านหรือสังคมปัจจุบัน ที่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาใกล้ตัวและยังเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น

มีความรุนแรงและแปลงเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

———————————————————————————————————–

บรรณานุกรม

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท. (2560). วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย. นครปฐม : เม่นวรรณกรรม.
รตพร ปัทมเจริญ. (2552). การฆ่าตัวตาย : ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม. วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 5(2) : 7-24.
สุพัตรา สุขาวห และสุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล. (2560). ปัจจัยเสี่ยงและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น : การทบทวนวรรณกรรมเชิงลึก. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 62(4) : 359-378.