ธีรพล บัวกระโทก : ฤๅ “แอนิมอล ฟาร์ม” ของลุงตู่ จะเป็นเพียง “กบเลือกนาย”?

เกิดความตื่นตะลึงไปทั่วบรรณพิภพอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แนะนำให้ชาวไทยไปหาหนังสือนิยายระดับโลกนามกระเดื่องอย่าง “แอนิมอล ฟาร์ม” มาอ่านกัน

เพราะ “เป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี” ตามที่ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา

สร้างความคึกคักให้กับวงการหนังสือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีผู้ไปตามหาซื้อหนังสือเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นที่หลายสำนวนแปลภาษาไทยขาดตลาด

และผู้ผลิตหนังสือบางรายถึงกับเรียกร้องให้ท่านนายกฯ แนะนำหนังสือน่าอ่านทุกสัปดาห์กันเลยทีเดียว

แต่ประเด็นใหญ่กลับไม่ใช่ความคึกคักของวงการหนังสือ แต่เป็นข้อกังขาของสังคมที่ว่า ท่านนายกฯ นายพลผู้นี้ได้อ่านหนังสือเรื่องดังกล่าวแล้วจริงหรือ?

 

ข้อกังขาดังกล่าวมาจากสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก แอนิมอล ฟาร์ม เป็นหนังสือนิยายที่แต่งโดยจอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1945 ซึ่งออร์เวลล์ยังเป็นผู้เขียนนิยายเรื่อง “หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่” อันเป็นที่รู้จักกันดีถึงเนื้อหาที่โจมตีผู้นำเผด็จการที่คอยสอดส่องยุ่มย่ามกับชีวิตของพลเมืองอีกด้วย

นิยายเล่มนี้เคยสร้างความหวาดหวั่นให้กับรัฐบาล คสช.มาแล้วในอดีต ถึงขั้นที่ต้องคุมตัวผู้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวไปปรับทัศนคติหลายต่อหลายคน

ส่วนประการที่สองคือ เนื้อหาของแอนิมอล ฟาร์มที่เสียดสีโจเซฟ สตาลิน จอมเผด็จการแห่งโซเวียตอย่างเผ็ดร้อน โดยอาศัยท้องเรื่องเป็นโรงนาแห่งหนึ่งที่เหล่าสัตว์ได้ทำการปฏิวัติโค่นอำนาจมนุษย์เจ้าของโรงนาลง ก่อนที่จะสถาปนาระบอบการปกครองโดยสัตว์เพื่อประโยชน์สุขของหมู่สัตว์ทั้งมวล แต่ท้ายที่สุดแล้วหมูซึ่งเป็นสัตว์ผู้นำการปฏิวัติกลับทำตัวเยี่ยงมนุษย์ที่ตนเคยขับไล่เสียเอง

จากข้อกังขาดังกล่าวจึงเกิดคำถามตามมาว่า การแนะนำให้คนไทยไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านจะไม่เป็นการ “เข้าตัว” ของท่านนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารเองหรอกหรือ?

 

เพราะหากมองเบื้องต้น เนื้อหาของแอนิมอล ฟาร์มดูจะพุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์พฤติกรรมเผด็จการของสตาลิน ที่หลังจากเถลิงอำนาจในสหภาพโซเวียตก็เบนเข็มอุดมการณ์มาร์กซิสต์ที่ชาวโซเวียตยึดมั่นด้วยความหวังจะสร้างสังคมคอมมิวนิสต์อันเท่าเทียมให้ “ปรากฏเป็นจริง” กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่นำมาซึ่งความหายนะแก่ชาวโซเวียตอย่างมหาศาล

แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้วเนื้อหาของแอนิมอล ฟาร์มกลับกำลังดูแคลนขบวนการปฏิวัติของมวลชน

ประหนึ่งว่า ความหวังที่จะมีอิสระเสรีของผู้คนที่เข้าร่วมการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มการขูดรีดและความเอารัดเอาเปรียบของสถาบันพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นความเพ้อฝันไร้สาระ

ที่สุดท้ายแล้วก็จบลงด้วยการที่ประชาชนยังคงทุกข์ยากจากผู้นำคนใหม่อย่างสตาลินที่เลวร้ายไม่ต่างจากเดิมหรือเลวร้ายกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 

กลับมามองที่การเมืองไทยในปัจจุบัน แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ความหวังที่ประเทศไทยจะกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบจะริบหรี่เต็มที

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่สร้างความตระหนกให้กลุ่มอำนาจเดิมอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ “ฟิวเจอริสต้า” และ “ชาวฟ้า (รักพ่อ)” ฐานเสียงของพรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง “พรรคอนาคตใหม่” ที่มาพร้อมนโยบาย “ปักธงอนาคต” หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจและลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งได้ใจคนหนุ่มสาวผู้มีสิทธิเลือกครั้งแรกจำนวนมากจนสามารถกวาดคะแนนผลักดันสมาชิกพรรคเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 81 ที่นั่ง

ความสดใหม่ของผู้คนและความกล้าหาญทางอุดมการณ์นี้ได้พลิกฟื้นความหวังให้กับผู้รักประชาธิปไตยอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็สร้างความปั่นป่วนให้กลุ่มอำนาจเดิมไม่น้อย จากการที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ “ผิดแผน” หลายครั้ง

ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบมามุ่งหวังทำลายพรรคใหญ่และกวาดที่นั่งในสภาจากคะแนนปัดเศษ แต่กลับต้องสูญเสียคะแนนจำนวนหนึ่งให้พรรคน้องใหม่นี้

สร้างความชอกช้ำระกำใจจนต้องงัดแง่มุมทางกฎหมายมาเล่นงานจนหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ต้องถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการชั่วคราว

แต่ทั้งหมดนี้กลับเป็นภาพสะท้อนว่า คนไทยอย่างน้อยก็คนรุ่นใหม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศชาติไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย ที่ทุกคนในสังคมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน

จนกลายเป็นขบวนการเรียกร้องผู้นำคนใหม่ที่เพียบพร้อมไปด้วยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและมาจากการเลือกของประชาชน

น่าสงสัยว่าความเคลื่อนไหวในการเลือกตั้งที่สั่นคลอนกลุ่มอำนาจเดิมนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาแนะนำให้คนไทยอ่านแอนิมอล ฟาร์มอย่างน่ากังขาหรือไม่?

 

หากประมวลภาพรวมทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้น่าเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะมีโอกาสได้อ่านแอนิมอล ฟาร์มแล้วจริง และไม่ได้อ่านและตีความอย่างผิวเผินอย่างที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่กลับตีความอย่างลุ่มลึกถึงขั้นกระแหนะกระแหนขบวนการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม

แอนิมอล ฟาร์มของ พล.อ.ประยุทธ์ หากกล่าวให้เห็นภาพคงเข้าได้กับสำนวน “กบเลือกนาย” ที่เรียกร้องไม่ยอมรับนายที่เป็นขอนไม้ ท้ายสุดเทวดารำคาญจึงส่งนกกระสามากินกบจนพินาศไปทั้งสระ ดังนั้น การเอาแต่เรียกร้องหาผู้นำคนใหม่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสังคม ลงท้ายแล้วอาจต้องผิดหวังกับผู้นำคนใหม่ที่ไม่ต่างไปจากเดิม ซ้ำร้ายการพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ยังจะสร้างความสับสนวุ่นวายในสังคม นำมาซึ่งความขัดแย้งทำให้สังคมกลับจะยิ่งฟอนเฟะลงไปจากที่เป็นอยู่

ดังนั้น สังคมจะมีเสถียรภาพได้จำเป็นต้องให้ผู้นำคนเก่าสานต่อนโยบายที่ริเริ่มไว้แล้วให้เข้ารูปเข้ารอย ใช้ระยะเวลาในการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง ไม่ใจเร็วตื่นเต้นไปกับความใหม่ที่วูบวาบแต่ไม่ยั่งยืนและ “เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้”

เหนือสิ่งอื่นใดผู้นำคนเก่ายังเป็นคนดีมีคุณธรรมและ “ไม่โกง” เป็นที่เชื่อถือกันในกลุ่มชนชั้นนำ และยังพร้อมพิทักษ์รักษาคุณค่าวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมไว้ แม้จะอารมณ์ร้ายบ้าง แต่นั่นคือความจริงใจ ประดุจมนุษย์เจ้าของโรงนาในแอนิมอล ฟาร์ม ที่เวลาดีก็ดีใจหาย เลี้ยงสัตว์ในไร่ด้วยความเอาใจใส่ แต่เวลาร้ายก็เฆี่ยนตีให้ได้รับความเจ็บปวด เรียกได้ว่า ดูแลฝูงสัตว์ด้วย “พระเดชพระคุณ” จนทำให้โรงนามีแต่ความสงบสุขฉาบหน้า

กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ถูกเหล่าสัตว์ลุกฮือขึ้นขับไล่เสียแล้ว

 

ท้ายที่สุดแล้วคงไม่อาจก้าวล่วงไปตัดสินได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ตีความแอนิมอล ฟาร์มอย่างไร

จะวางตัวเองเป็นมนุษย์เจ้าของโรงนาที่ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้ายจนฝูงสัตว์ร้องหาผู้นำใหม่

หรือเป็นหมูเผด็จการอย่างที่หลายคนวิจารณ์ก็สุดจะคาดเดา

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็เชื่อเหลือเกินว่านายกฯ คงอ่านแล้วจริงๆ ก่อนที่ท่านจะมาแนะนำให้ปวงชนชาวไทยได้อ่านกัน

และไม่ว่านิยายแอนิมอล ฟาร์มจะจบลงอย่างสิ้นหวังอย่างไร แต่สักวันเมื่อเหล่าสัตว์สำเหนียกถึงสิทธิเสรีภาพของตนอีกครั้ง เมื่อนั้นก็จะหมดเวลาทั้งมนุษย์และหมูครองเมือง

และฝูงกบคงจะเลือกกบสักตัวที่มีความสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำ

โดยไม่ต้องรอให้เทพยดาตนใดมาประทานขอนไม้ไร้ประโยชน์ที่ได้แต่ล่องลอยไปตามกระแสธารแห่งอำนาจและธนานุภาพมาเป็นนายของพวกตน