ผู้นำในทัศนะ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’

“เป็นไปได้ยังไง ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”

เป็นคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ให้ไว้เมื่อนักข่าวทำเนียบถามถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์ South China Moring Post สื่อฮ่องกงชื่อดังเผยแพร่บทความ

“Who will be Thailand”s next prime minister? Billionaire Dhanin Chearavanont of CP Group might have an idea” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตถึงการลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการและกรรมการ บมจ.ซีพีออลล์ ว่า อาจจะไปรับตำแหน่ง “สมาชิกวุฒิสภา” หรือถึงขั้นก้าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ของประเทศไทย

และในท้ายที่สุดข่าวนี้ก็ถูกสยบเมื่อกลุ่มซีพีทำจดหมายชี้แจงไปถึง South China Morning Post ว่า การลาออกของนายธนินท์เป็นเพียงกระบวนการวางตำแหน่งให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบทอดกิจการเท่านั้น ข่าวที่ลือสะพัดไปทั่วจึงสงบราบคาบลงในที่สุด

แม้ว่า “ธนินท์” จะไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่หากมองดูถึงภารกิจที่เขาให้ความสนใจขณะนี้ ก็ถือว่าไม่พ้นไปจากตำแหน่ง “ผู้นำ” มากนัก

เพราะต้องไม่ลืมว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์” จะมีอายุครบรอบ 100 ปีในอีก 2 ปีข้างหน้า กระบวนการผ่องถ่ายเพื่อส่งต่อให้ทายาทรุ่นที่ 3 รับไม้ต่อจึงเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ที่ธนินท์พร้อมพี่น้อง 3 คน ได้แก่ จรัญ, มนตรี และสุเมธ เปิดทางให้ทายาทรุ่นที่ 3 นำโดย “ศุภชัย เจียรวนนท์” เข้าบริหารเครือซีพีอย่างเป็นทางการในฐานะ CEO และให้สุภกิต เจียรวนนท์ นั่งแท่นประธานกรรมการ

“ท่าน (ธนินท์) อยากจะไปโฟกัสเรื่องสถาบันผู้นำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านวางแผนไว้ก่อนหน้านี้แต่ดีเลย์มาเรื่อยๆ” ศุภชัยกล่าวตอนหนึ่ง ในการให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/ict/news-328586)

กระบวนการสร้างผู้นำใหม่ ไม่ใช่ว่าธนินท์เพิ่งจะมาคิดไม่นานนี้ แต่สร้างมาตั้งแต่ปี 2558

ในนาม “สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์” ที่ตัวของเจ้าสัวมีดำริสร้างผู้นำสำหรับโลกยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เพื่อซีพี แต่มองไปถึงการสร้างผู้นำให้ประเทศด้วย

“ธนินท์” เคยให้มุมมองเกี่ยวกับผู้นำไว้เมื่อครั้งที่พบปะพูดคุยกับคณะนิสิตนักศึกษาทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประจำปีการศึกษา 2559 ว่า คุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้นำได้นั้น ต้องไม่ใช่คนเก่ง แต่ต้องเป็นคนดี รู้จักเสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่น ผู้นำต้องยอมเสียสละให้ผู้น้อย ต้องคอยช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า คนถึงจะนับถือ ผู้นำต้องทำงานมากกว่าคนอื่น ต้องรู้จักเสียเปรียบ ต้องขยันกว่าคนอื่น ต้องทำเรื่องที่ยากที่สุดที่ไม่มีใครอยากทำ

และที่สำคัญต้องบังคับตัวเองได้ เพราะการเป็นผู้นำ เป็นเบอร์หนึ่ง จะไม่มีใครกล้ามาบังคับให้เราทำอะไร ดังนั้น เราต้องบังคับตัวเราเอง ให้เราต้องทำงานมากกว่าคนอื่น ต้องขยันมากกว่าคนอื่น มีจิตใจช่วยเหลือคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว ช่วยกันทำงานให้สำเร็จ เมื่องานสำเร็จก็แบ่งปันกัน ไม่ใช่เก็บไว้คนเดียว

รวมถึงต้องกล้ารับผิดชอบต่อความผิดพลาด ไม่โทษผู้อื่น กล้ารับผิด และรู้ว่าเมื่อผิดพลาดแล้วมีทางแก้ไขได้อย่างไรให้สำเร็จ ผู้นำที่จะทำงานสำเร็จและเติบโตได้ ต้องทำให้คน 3 ระดับสนับสนุน คือ 1.ผู้นำที่เหนือกว่า หรือหัวหน้างาน 2.เพื่อนร่วมงาน 3.ลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำต้องใช้เวลาก่อนนอนของทุกๆ วัน ทบทวนว่าวันนี้ทำอะไรไปบ้าง ที่ทำถูกหรือทำดี ดีใจได้ แต่ไม่ต้องจดจำ ที่ทำผิดต้องทบทวน ต้องจดจำ เพื่อไม่ทำผิดซ้ำ

“เครือซีพีไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องอยู่กับซีพี ถ้าคนไหนเก่ง คนไหนมีโอกาสที่ดี จะไปอยู่ที่อื่น เครือซีพีก็ดีใจ ยินดี ว่าเราได้สร้างคนเก่งๆ ให้สังคม สถาบันผู้นำแห่งนี้ สร้างขึ้นมาก็เพื่อสร้างคน สร้างผู้นำให้กับสังคม โรงงานในเครือซีพีมีมากมาย แต่ไม่มีโรงงานไหนผลิตสิ่งที่มีมูลค่าสูงเท่าที่นี่

เพราะสิ่งที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ผลิตคือ การสร้างคน สร้างผู้นำ ซึ่งตีเป็นมูลค่าไม่ได้” ธนินท์กล่าวในช่วงท้าย

ถือเป็นวิชั่นของ “ผู้นำเก่าและเก๋า” ที่ส่งต่อถึง “ผู้นำใหม่” อย่างทระนงในตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กรที่มีมูลค่ารวม 9.4 แสนล้านบาท แม้จะไม่มีความทะยานอยากทางการเมือง แต่สิ่งที่ทำมาของธนินท์ตลอด 55 ปีน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีในตัวมันเอง