How to Become Myself : เราทุกคนเล่นบทเป็นคนอื่นอยู่ทุกวัน

นอกจากภาพการต่อสู้ดิ้นรนในเมืองใหญ่ ล้มลุกคลุกคลานกว่าจะประสบความสำเร็จอย่าง Tokyo Tower (2005) ผลงานของผู้กำกับฯ โจจิ มัตซึโอกะ ที่นำหนังสือขายดีในชื่อเดียวกันของ “ลีลี่ แฟรงกี้” มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์แล้ว

ภาพสะท้อนของคนเมืองในโตเกียวที่ไม่ได้มีแต่สีสันลูกกวาดก็มีให้ชมใน Tokyo Marigold หนังปี 2001 ผลงานของผู้กำกับฯ จุน อิชิกาว่า ที่ว่าด้วยเรื่องราวความเปลี่ยวเหงาของคนเมืองและรักที่ไม่สมหวัง ซึ่งถ่ายทอดออกมาได้อย่างเจ็บปวดและลุ่มลึก (ในปีเดียวกันนั้น ยังมีผลงานของชุนจิ อิวาอิ อย่าง All About Lily Chou-Chou ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากัดกร่อนหัวใจได้เจ็บปวดยิ่งกว่า)

หรือถ้าอยากค้นลึกในอารมณ์เหงาๆ ของชายวัยกลางคนผู้รักสันโดษสักคน ก็ขอแนะนำให้ไปดู Tony Takitani หนังปี 2004 ของผู้กำกับฯ คนเดียวกัน ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของนักเขียนดังอย่างฮารูกิ มูราคามิ (ความโดดเดี่ยว รักสันโดษ ยังเป็นตัวละครในแบบฉบับของมูราคามิในอีกหลายต่อหลายเรื่อง) แต่หากอยากทำความเข้าใจความคิดอันว้าวุ่นสับสนของเด็กในวัยเรียนก็ให้ดูเรื่อง How to Become Myself (2007) ผลงานในอีก 3 ปีถัดมาของเขา ที่ว่าด้วย “การค้นหาตัวเอง” และ “การก้าวพ้นผ่านช่วงวัยอันสับสน”

และเพื่อเป็นการระลึกถึงการจากไปของผู้กำกับฯ ท่านนี้ ผู้เขียนก็อยากจะขอนำภาพยนตร์ How to Become Myself มากล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ (เพราะถัดจากหนังเรื่องนี้เพียง 1 ปีให้หลัง จุน อิชิกาว่า ก็เสียชีวิต)

หากถามว่า How to Become Myself เป็นหนังที่ควรค่าแก่การสละเวลาเกือบสองชั่วโมงมานั่งดูไหม?

ก็ขอตอบตามตรงว่า มันเป็นหนังที่คุ้มค่าที่คุณจะสละเวลาอันมีค่ามานั่งดู

ยิ่งถ้าคุณเป็นคน “ไม่รักตัวเอง” ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเองด้วยแล้วยิ่งควรต้องดู

เพราะพล็อตหลักใจความสำคัญของหนังเรื่องนี้กำลังพูดถึง

“การเลือกเป็นคนอื่นมากกว่าอยากเป็นตัวของตัวเอง!”

พล็อตเรื่องปูพื้นให้เราเห็นตั้งแต่ต้นว่า “ฮานาดะ คานาโกะ” เธอเคยเป็นที่ชื่นชอบในหมู่เพื่อนๆ สมัยประถม จนเพื่อนในกลุ่มเดียวกันอย่าง “ซุงิทานิ จูริ” เห็นแล้วยังนึกอิจฉาอยากเป็นเหมือนอย่างเธอบ้าง

แต่แล้ววันหนึ่งหลังความเห็นไม่ลงรอยกันในหมู่เพื่อน คานาโกะก็ไม่เป็นที่รักของผองเพื่อนอีกต่อไป

จูริเคยนึกสงสารเพื่อนอีกคนในห้องเดียวกันที่ชื่อ “มานามิ” เธอไม่มีเพื่อนเลยสักคน ซ้ำยังโดนเพื่อนๆ โดยเฉพาะพวกผู้ชายกลั่นแกล้งอยู่เป็นประจำ ไม่มีใครสมัครรักใคร่อยากเป็นเพื่อนเล่นกับเธอ ทว่าเพียงไม่นานป๊อปสตาร์ประจำกลุ่มกลับเปลี่ยนมาเป็น “มานามิ” ที่เพื่อนๆ ทุกคนเข้าหา

ในวันนี้มานามิกลายมาเป็นที่รักของผองเพื่อนแทนที่คานาโกะไปเสียแล้ว

หลังเรียนจบชั้นประถม จูริบังเอิญเข้ามาเจอคานาโกะในห้องสมุด ซึ่งนี่น่าจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ทั้งสองคนได้พูดคุยกัน ประหนึ่งเหมือนเป็นการปลดเปลื้องเผยความในใจให้กันและกันฟัง คานาโกะชำเลืองไปนอกหน้าต่างมองดูเพื่อนๆ ที่กำลังลากับมานามิอยู่ แล้วพูดขึ้นว่า

“พวกนั้นเสียใจที่ต้องแยกจากกัน ทั้งที่ไม่เคยเข้ากันได้เลย ต่างขอบคุณกันและกัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดอย่างนั้นจริงๆ ฉันเคยเป็นหัวหน้าห้อง เคยเป็นที่รักของทุกๆ คน แต่ก็ถูกทุกคนหมางเมิน คำถามคือแบบไหนคือตัวจริงของฉันกันแน่? แล้วฉันก็ค้นพบหลังจากโดนแกล้งสารพัดมาเป็นเวลาสองเดือน ฮานาดะ คานาโกะ ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นตัวปลอม ตัวฉันก่อนหน้านี้ที่เป็นหัวหน้าห้องเป็นตัวจริงของฉัน แต่ตอนนี้ ฉันซ่อนมันเอาไว้”

คำพูดของคานาโกะทำให้จูริมึนงงเล็กน้อย ไม่เข้าใจในสิ่งที่คานาโกะพูดออกมาทั้งหมด ก่อนที่จูริจะเผยความในใจให้คานาโกะฟังบ้าง

“เธอรู้ไหม คนที่พยายามตั้งใจอ่านหนังสืออย่างหนักคือ “ซุงิทานิ จูริ” คนที่อยากให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่ความจริงคือ พ่อแม่ของฉัน คือคนที่อยากเข้าเรียนที่นั่นได้เองมากกว่า ไม่ใช่ฉัน!”

จากวันนั้นจนเรียนจบมัธยมต้น ทั้งสองก็ไม่เคยหันหน้ามาพูดคุยกันอย่างวันนั้นเลยสักครั้ง จนกระทั่งจูริทราบข่าวว่าคานาโกะย้ายเมืองไปเรียนต่อมัธยมปลายที่อื่นแล้วนั่นแหละ ภาพคานาโกะวันนั้นในห้องสมุดก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำของเธอ และมันทำให้ยูริอยากเป็นคานาโกะ

คานาโกะคนที่เคยเป็นหัวหน้าห้อง

คานาโกะคนที่เคยเป็นป๊อปสตาร์ เป็นที่รักของเพื่อนๆ

มิใช่เป็นคานาโกะคนที่ซุกซ่อนตัวตนที่แท้จริงเอาไว้

การทำอะไรเพื่อเป็นที่รักและไว้วางใจของใครสักคนไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนๆ จนความเป็นตัวเองค่อยๆ เลือนหายไป ซุกซ่อนมันไว้ลึกๆ ข้างใน จนบางครั้งเราก็หลงลืมตัวตนที่แท้จริงของเราไป การก้าวพ้นผ่านวัยเรียนด้วยการเป็นคนอื่นเพื่อให้เพื่อนๆ ยอมรับและเป็นที่นับถือในกลุ่มนั้น อาจกัดกร่อนความรู้สึกของการต้องเป็น “ตัวปลอม” อยู่ทุกวัน

การเผยตัวตนที่แท้จริง การเป็นตัวของตัวเองโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะนับถือตัวเองน้อยลงหรือกลายเป็นคนที่ไม่มีใครสนใจเลยนั้น เป็นสิ่งที่คนคนนั้นต้องใช้ความกล้าหาญอย่างแท้จริง เพื่อจะนำ “ตัวจริง” ของตัวเองกลับมา และอยู่ให้ได้ในสังคมที่คนเก่งอยู่ได้ แต่คนอ่อนแอต้องพ่ายไป

ด้านหนึ่งคานาโกะอาจเพียงแค่อยากทดลองเป็นคนอื่นที่เพื่อนๆ รักน้อยลง แต่มีความสุขกับการได้อยู่คนเดียวไม่ต้องรวมกลุ่มอยู่กับเพื่อนๆ เพื่อทำตัวโดดเด่นให้เป็นที่ประทับใจอยู่ตลอดเวลา อีกด้านหนึ่งอาจเป็นตัวตนที่แท้จริงของคานาโกะที่เธออยากเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ต้องแลกมาซึ่งการมีเพื่อนน้อยลง ไม่โดดเด่นเป็นที่จับตา และต้องถูกกลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา

คนที่ชอบแกล้งคนอื่น หรือทำให้คนอื่นต้องเจ็บช้ำน้ำใจนั้น จึงสะท้อนการไม่มีความสุขในชีวิตได้อย่างเห็นภาพ การเป็น Nobody มิใช่ Somebody ของคานาโกะ ก็สะท้อนภาวะข้างในของการอยากเป็นใครสักคน ใครสักคนที่อยู่ได้เพียงลำพัง โดยมิต้องพึ่งพิงกลุ่มเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเอง

How to Become Myself คล้ายนำจุดนี้มาเล่นและเล่าผ่านสังคมของการอยากเป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตาในสังคม ซึ่งกินความตั้งแต่การเป็นที่ยอมรับนับถือในครอบครัวและนอกครอบครัวอย่างในห้องเรียน เราจึงเห็นว่าเมื่อวันหนึ่งคานาโกะเบื่อการเป็นป๊อปสตาร์ที่ตัวตนลึกๆ ข้างในเธอไม่ได้อยากเป็นนั้น เธอก็เป็นที่หมางเมินจากเพื่อนๆ และถูกคัดทิ้งไปอย่างไม่ไยดี

การสร้างตัวตนใหม่ของมานามิ จากที่เคยเป็นเด็กอ่อนแอโดนรังแกจึงเข้ามาแทนที่เมื่อเธอเลือกเก็บซ่อนความอ่อนแอไว้ข้างใน แม้ว่าเธอจะต้องเป็นคนอื่นไม่ใช่ตัวตนที่แท้ของเธอก็ตาม

ส่วนยูริผู้มองเห็นสิ่งรอบตัวเหล่านี้ทั้งในห้องเรียนและในครอบครัวของเธอมาตลอด

เธอจึงเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองว่า ตัวตนที่ฉันอยากเป็นจริงๆ คือแบบไหนกัน

เราเป็นตัวของเราเองจริงๆ หรือถูกสังคมกำหนดให้เป็น!

ฉากหนึ่งที่หนังอธิบายได้อย่างชัดเจนและครอบคลุมครบรสที่สุดคงหนีไม่พ้นกับการตั้งคำถามของคานาโกะต่อผู้เป็นบุพการีของเธอว่า

“หนูตอนเรียนประถม มัธยม และหนูตอนย้ายมาอยู่ที่นี่แม่คิดว่าแบบไหนดีที่สุด”

และคำตอบที่ได้รับจากผู้เป็นแม่ก็สรุปได้อย่างกระจ่างชัดว่า

“ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็คือ ความเป็นตัวของลูกเอง แม่รักลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นคนแบบไหน”

น้องหนูจูริที่นำแสดงโดย “ริโกะ นารูมิ” นั้น นอกจากซีรี่ส์ที่ตัวผู้เขียนพอคุ้นตาอย่าง Ruri No Shima (ยังเด็กมากในเรื่องนี้), One Lite of Tears (โตขึ้นมาหน่อย) ก็เห็นจะมีภาพยนตร์เรื่อง Shindo นี่กระมังที่เธอดูเฉิดฉายสะดุดตาขึ้นมา (เล่นประกบคู่กับ “เคนอิจิ มัตสึยามะ” พ่อหนุ่ม L ที่คนดูน่าจะรู้จักกันดี ซึ่งปัจจุบันออกจะอืดไปสักหน่อย)

เรื่องนี้จึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เป็นบทที่เด่นและโดดเป็นตัวชูโรงของเธอเลยทีเดียว (ไม่เชื่อโปรดพิจารณาดูจากหน้าปกหนังเรื่องนี้) และเธอก็สร้างความสับสน คลุมเครือ กับการเติบโตผ่านพ้นช่วงวัยไปได้อย่างที่เรียกได้ว่า “สอบผ่าน”

ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องขอสารภาพตามตรงว่าเคยดูหนังที่จุน อิชิกาว่า กำกับฯ เพียงสองสามเรื่องเท่านั้น ซึ่งคงจะไม่สามารถรู้จักตัวตนของผู้กำกับฯ ท่านนี้ได้ลึกซึ้งครอบคลุมจากหนังเพียงเท่านี้ (อันที่จริงหนังหลายเรื่องของอิชิกาว่า เคยนำมาจัดฉายที่มูลนิธิญี่ปุ่นเมื่อหลายปีที่แล้ว อย่าง Busu, Tsugumi, Dying at Hospital-นี่ยังไม่นับรวมหนังไตรภาค Tokyo ของเขาอีก)

จนถึงตอนนี้แม้จุน อิชิกาว่า จะลาจากโลกนี้ไปนานหลายปีแล้ว แต่เมื่อย้อนสำรวจมรดกทางภาพยนตร์ที่เขาทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า ก็ทำให้เห็นถึงสายตาที่กว้างไกลในอีกหลายปีต่อมา เมื่อโลกอินเตอร์เน็ตก้าวเข้ามาแทนที่โลกความเป็นจริงโดยสมบูรณ์ และโทรศัพท์มือถือเป็นทุกสิ่งมากกว่าส่งข้อความหากันเหมือนอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ ยิ่งตอกย้ำภาพที่เจนชัดเข้าไปอีกว่าทำไมการเป็น “คนอื่น” ถึงมีความสุขมากกว่าการได้เป็น “ตัวของตัวเอง”

หากผู้อ่านท่านใดมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ผู้เขียนก็อยากฝากคำถามเก็บไปคิดต่อว่า ลองนึกดูดีๆ ว่า “ตัวตนของคุณที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ใช่ตัวตนที่คุณอยากเป็นจริงๆ หรือเปล่า”

…หรือแท้จริงแล้ว เราทุกคนก็เล่นบทเป็นคนอื่นอยู่ทุกวัน ทั้งโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว