พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : กะเทาะเปลือก “นโยบายทวงคืนผืนป่า” มาตรการหักด้ามพร้าวิถีชุมชน

เป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษแล้วนับตั้งแต่การก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาลจากการทำรัฐประหารในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และแน่นอนว่า ปัจจุบันเขาคือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 แห่งราชอาณาจักรไทย

ย้อนไปในช่วงเวลาที่ คสช.เข้ามาควบรวมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ หลายฝ่ายเห็นดีเห็นงาม ยินยอมพร้อมใจวางเอกสิทธิ์ของตนให้แก่รัฐบาลชุดนี้ดูแล เพราะคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนเหตุการณ์รัฐประหารจะเกิดขึ้น ประเทศไทยเกิดการเมืองบนท้องถนนยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปี

การเข้ามาโดยวิธีที่ผิดฝาผิดตัวเช่นนี้จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นไปในลักษณะของการ “ฉีกกติกา” เสียทีเดียว

แต่ คสช.นี่แหละคือฮีโร่ที่จะเข้ามาช่วยพลิกฟื้นประเทศทั้งด้านความสงบ เศรษฐกิจ และปัญหาเบ็ดเตล็ดมากมายที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมายาวนาน

และหากยังจำกันได้ นโยบายแรกๆ ที่ คสช.ประกาศกร้าวรุกคืบอย่างแน่วแน่ก็คือนโยบายทวงคืนผืนป่า

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียว

รวมถึงสกัดกั้นการถือครองที่ดินของนายทุนรายใหญ่ และเอื้อประโยชน์แก่ชาวบ้าน-เกษตรกรสำหรับเป็นที่ดินทำกิน

นโยบายทวงคืนผืนป่าถูกร่างขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบของคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และฉบับที่ 66/2557 ทั้งสองฉบับระบุการมอบอำนาจในการลงดาบผู้กระทำผิดให้แก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หน่วยงานที่ถูกจัดตั้งเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เมื่อครั้งอดีต

แม้จะผ่านมาหลายปีดีดัก แต่ปัจจุบัน กอ.รมน.ยังคงอยู่ โดยถูกเปลี่ยนแปลงสลับบทบาทสู่หน้าที่ในการธำรงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

สถานะของ กอ.รมน. จึงเป็นหน่วยงานสังกัดกองทัพที่มีอำนาจเต็มในการปราบปราม และจับกุมผู้ถือครองที่ดินอันขัดกับคำสั่ง คสช.

และเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่าจึงเป็นการแย่งยึดพื้นที่คืนเต็มกำลังโดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยรอบข้างประกอบการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีมานี้พื้นที่ป่าที่ถูกออกคำสั่งให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐกลับไม่ใช่พื้นที่ของนายทุนดังที่รัฐเคยลั่นวาจาไว้

แต่กลับเป็นพื้นที่ทำกินสำคัญของชาวบ้าน

ไม่นานมานี้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ก็เป็นอีกเคสหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการในพื้นที่แนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้ารามทับ

หลังจากมีการประกาศคำสั่งออกไปกลุ่มชาวบ้านได้ทำหนังสือเอกสารข้อตกลงถึงรัฐเพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

ทว่ารัฐปฏิเสธและไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่กลับยึดเอาข้อกฎหมายเพียวๆ ในการงัดข้อยืนยันหลักการเสียมากกว่า

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบหลายร้อยกรณีที่เกิดขึ้น

 

ความย้อนแย้งในนโยบายชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดกรณีบุกรุกป่าอันโด่งดัง อย่างโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ

หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” หรือกรณีรังเย็นรีสอร์ตในจังหวัดเลย บ้านพักที่ดันไปตั้งอยู่อย่างโดดๆ ท่ามกลางหุบเขาโดยมีชื่อของนายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอผู้โด่งดังจากกรณีเสือดำนั่งแท่นกรรมการบริหารบริษัทเจ้าของรีสอร์ตแห่งนี้อีกด้วย

ทั้งหมดที่ว่ามายิ่งเป็นการตอกย้ำให้ภาพของนโยบายทวงคืนผืนป่าแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติแก่คนบางกลุ่ม

ซ้ำร้ายยังใช้นโยบายอันสวยหรูบังหน้าในการแย่งยึดที่ทำกินจากชาวบ้านอย่างมหาศาลเพื่อสร้างสถิติความสำเร็จให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างน้อยร้อยละ 40

วันเวลาผ่านมาเกือบห้าปีรัฐทำการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไปแล้วมากกว่า 5 แสนไร่

นี่คือสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีใช่หรือไม่?

 

ผู้เขียนได้ทำการศึกษาข้อมูล และเคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาบ้างพบว่า ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและพื้นที่ป่าเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกันมาตลอด

ชาวบ้านเองไม่เพียงแต่แสวงหาประโยชน์การทำกินเลี้ยงชีพจากพื้นที่ป่าเท่านั้น

แต่พวกเขายังเป็นกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยดูแลรักษาป่าและต้นไม้ไว้ยิ่งชีพ

การไหว้ขอพร-บูชา-บวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา หรือความเชื่อเรื่องปู่แสะ-ย่าแสะของชาวเชียงใหม่เองก็ดี ล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อ ความเคารพศรัทธา และการให้เกียรติแก่เจ้าของพื้นที่ตามความเชื่อของคนท้องถิ่น

สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเกิดความรัก หวงแหน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดูแลพื้นที่ป่ากันเป็นประจำ

เพราะในห้วงความคิดของชาวบ้านที่โตมากับวิถีป่าชุมชน “ป่า” สำหรับพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้ใบหญ้าที่ตั้งอยู่อย่างโดดๆ แต่ป่าคือศูนย์รวมจิตวิญญาณของทุกคน

แม้แต่ในวิกฤตหมอกควันภาคเหนือที่ชาวบ้านกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาหลายๆ คน ทว่าในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านเองนี่แหละ คือคนที่คอยดูแลความเรียบร้อย และช่วยป้องกันเหตุแห่งไฟป่า รวมถึงคอยจับตาสอดส่องผู้ไม่หวังดีที่เข้ามาเผาป่าด้วย

เมื่อชาวบ้านถูกกีดกันทั้งในฐานะของผู้ทำกิน-เกื้อหนุนซึ่งกันและกันกับป่า และในแง่ของพลเมืองแห่งรัฐก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านกลายเป็นอื่นจากป่ามากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับพื้นที่ภาคการเกษตรหรือตามป่าเขาบนดอยด้วยแล้ว ชาวบ้านและพื้นที่ป่านั้นมีมาก่อนการเกิดขึ้นของคำสั่งที่ว่านี้อีก

หรือหากจะให้พูดอย่างถึงที่สุดแล้วความสัมพันธ์ระหว่างป่าและชาวบ้านมีมาก่อนการขึ้นของรัฐชาติด้วยซ้ำ

นโยบายทวงคืนผืนป่าจึงยิ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนของภาครัฐที่ขาดความเข้าอกเข้าใจวิถีชุมชน

ขณะที่ชาวบ้านคือผู้ใกล้ชิดกับป่ามาโดยตลอด และรัฐคือส่วนกลางที่ทำหน้าที่ออกคำสั่งแจกจ่ายให้แขนขาของตนทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด ปราศจากความร่วมมือระหว่างส่วนกลางและชุมชน นโยบายที่ไร้ซึ่งการตกผลึกนี้จึงไม่เพียงแต่จะสร้างรอยร้าวระหว่างประชาชนและรัฐเท่านั้น

หากยังรวมไปถึงบทบาทการดูแลป่าของชาวบ้านที่จะถูกลดทอนลงอีกด้วย

 

อีกข้อสำคัญที่ทำให้นโยบายนี้คว้าน้ำเหลวในเชิงปฏิบัติอย่างไม่เป็นท่าก็เห็นจะเป็นการออกแบบนโยบายโดยปราศจากการทำประชามติจากภาคประชาชน มีเพียงแต่บรรดาเจ้าหน้าที่บนหอคอยงาช้างที่ทำหน้าที่ร่างนโยบายคำสั่งต่างๆ ออกมามากมาย ในแง่หลักการและในทางบังคับใช้แล้วจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะเป็นการบีบรัดประชาชนไร้การพูดคุยประนีประนอมอย่างน่าฉงนใจแล้ว นโยบายกลับไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างทั่วถึงกัน นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องถูกตั้งคำถามกลับ

ยังไม่รวมถึงพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่เหล่าเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และชาวบ้านร่วมต่อสู้ผลักดันกันมาหลายสิบปี แต่ท้ายที่สุดเมื่อ พ.ร.บ.ถูกบังคับใช้จริงๆ รัฐก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้และไม่ได้ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรดูแลทรัพยากรอย่างที่ควรจะเป็น

เป็นอีกหนึ่งในปมปัญหาที่รัฐบาลล้มเหลว และไม่ได้ปฏิบัติตามหลักแห่งประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย