ชาคริต แก้วทันคำ : การตกหลุมรักและฆ่าตัวตาย เพื่อตนเอง

รพินทรนาถ ฐากูร (Sir Rabindranath Tagore : 1861-1941) หรือที่ผู้คนชาวอินเดียให้สมญานามว่า คุรุเทพ เป็นกวี นักเขียนบทละครและนวนิยาย นักแต่งเพลง จิตรกรและนักปรัชญาชาวเบงกาลี ผู้ปฏิรูปวรรณกรรมและดนตรีพื้นถิ่นเบงกาลีในช่วงปลายคริตส์ศตวรรษที่ 19-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

และเป็นชาวอินเดียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

ปี 1913 ผลงานที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก ทั้งนวนิยาย บทกวี บทละครและงานเขียนเชิงปรัชญา ได้แก่ Gitanjali “คีตาญชลี” The Gardener “คนสวน” Sadhana “สาธนา” Fierflres “หิ่งห้อย” และ Stay Bird “นกเถื่อนหรืออิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน” เป็นต้น

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “สิ้นกรรม” ของรพินทรนาถ ฐากูร ตีพิมพ์ใน “ม่ายสาว” รวมเรื่องสั้นรางวัลโนเบลชุดที่ 17 มีนราวดี หรือนามปากกาของเพ็ญศรี เคียงศิริ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2560 เป็นผู้แปล

โดยจะศึกษาการตกหลุมรักของตัวละครตามทัศนะของ Alain Badiou และการฆ่าตัวตายจากโศกนาฏกรรมของความรัก

เรื่องสั้น “สิ้นกรรม” ของรพินทรนาถ ฐากูร ใช้ผู้เล่าเรื่องที่ไม่ใช่ตัวละครในเรื่องแบบผู้รู้ (omniscient) ที่แสดงทัศนะ วิจารณ์และสามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบันและอนาคตของตัวละครได้

โดยผู้เล่าเรื่องประเภทนี้จะเป็นเพียง “เสียงบนหน้ากระดาษ”

 

การตกหลุมรัก
ตามทัศนะของ Alain Badiou

ความรู้สึกที่ว่าภรรยาไม่เป็นของเขาอย่างแท้จริง และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในความสาวสวยของเธอ ทำให้กูว์รียึดศาสนาเป็นที่พึ่ง เพราะขาดความรัก ความเข้าใจกันและกัน จากความขัดแย้งภายในใจของตัวละครเป็นความขัดแย้งระหว่างสามีกับภรรยาและบุคคลที่สาม

“เพราะเธอปราศจากความสุขในชีวิตวิวาห์ เพราะเธอไม่มีลูกให้ชื่นชม กูว์รีจึงหันไปยึดศาสนาเป็นที่พึ่ง เธอสั่งให้คนไปเชิญนักเทศน์ชื่อพารามานันท์สวามีมาพบที่บ้าน และเนื่องจากเธอนับถือเขาเป็นครูบาอาจารย์ เธอจึงขอให้เขาสอนพระธรรมให้ ความรักความชื่นชมในหัวใจหญิงของเธอซึ่งเสมือนไม่มีคุณค่าต่อสามีนั้น เธอทุ่มไว้แทบเท้าอาจารย์หนุ่มของเธอ” (น.18)

ข้อความข้างต้น การที่กูว์รีสั่งให้คนรับใช้เชิญพารามานันท์สวามีมาพบที่บ้าน เป็นการพบกันโดยบังเอิญ ที่ชี้ให้เห็นว่าความบังเอิญคือการที่คนสองคนซึ่งแตกต่างและไม่เกี่ยวข้องกัน (two ones) ได้บังเอิญมาพบกัน จนกลายเป็น “ความรักความชื่นชมในหัวใจหญิงของเธอ” ที่ “ทุ่มไว้แทบเท้าอาจารย์หนุ่ม”

นับเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวน่าเหลือเชื่อและโศกนาฏกรรม

แม้จะไม่มีใครสงสัยในความบริสุทธิ์ของพารามานันท์

แต่มันกลับสร้างความหึงหวงและริษยาให้กับแพเร็ช จนกล้ากล่าวต่อหน้าภรรยาว่าพารามานันท์เป็นคนหลอกลวง

ด้วยความแค้นที่สามีไม่ไว้วางใจ กูว์รีจึงกล่าวว่า “ถ้าฉันรักเขาล่ะ จะทำไม”

ทำให้แพเร็ชขังเธอไว้ในบ้าน แต่เธอก็หนีออกจากบ้านไปขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ เพราะอยากจะพ้นจากการถูกเหยียดหยามในครอบครัว

เมื่อแพเร็ชรู้ข่าวว่าภรรยาไปหาอาจารย์ของเธอ เขาจึงจ้างยามไว้เฝ้าบ้าน จนวันหนึ่งกูว์รีได้รับจดหมายจากพารามานันท์

“กูว์รีซ่อนจดหมายจากพารามานันท์ไว้ในมุ่นผมของเธอ บ่ายวันรุ่งขึ้น ขณะที่เธอสยายผมก่อนที่จะอาบน้ำ เธอรู้ตัวว่าจดหมายได้หายไปเสียแล้ว มันอาจหลุดออกมาบนเตียงและแพเร็ชเก็บได้” (น.20)

ข้อความข้างต้น หลังกูว์รีตกหลุมรักอาจารย์ผู้พยายามช่วยเหลือเธอให้พ้นทุกข์ เพื่อที่เธอจะได้ไปรับใช้พระผู้เป็นเจ้าแล้ว แต่จดหมายก็สร้างความกระวนกระวายใจให้กับเธอ จนเกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความตาย

หลังต่อสู้กับความรู้สึกผิดถูกในใจ กูว์รีเดินทางไปที่ห้องของสามีและพบเขานอนครวญคราง ตาเหลือก น้ำลายฟูมปาก ในมือกำจดหมายแน่น แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นลมตายเพราะเส้นโลหิตในสมองแตก

“เมื่อกูว์รีผู้กลายเป็นหญิงม่ายมองมาจากหน้าต่างและเห็นท่าทางที่อาจารย์หนุ่มของเธอย่องมาราวกับเป็นขโมยคนหนึ่งเวียนมาริมสระน้ำในบริเวณบ้านของเธอ เธอหลบสายตาลงต่ำรวดเร็วเหมือนฟ้าแลบ ด้วยสายตาที่หลบเร็วราวสายฟ้าแลบนั้น เธอได้เห็นอย่างชัดเจนถึงความตกต่ำของพารามานันท์” (น.21)

ข้อความข้างต้น หลังสามีตาย พารามานันท์ก็มาตามนัดจดหมายในบ่ายวันนั้น แม้กูว์รีจะกลายเป็นหญิงม่าย แต่เมื่อเธอได้เห็นพฤติกรรมของอาจารย์หนุ่มนักเทศน์ที่ทำตัวตกต่ำเหมือน “ขโมยคนหนึ่ง” จึงเกิดความรู้สึกขัดแย้ง มีดวงตาเห็นธรรมในฉับพลันและเลือกจบชีวิตของตนเองในเวลาต่อมา

สรวิช ชัยนาม (2562 : 25-26) กล่าวว่า การตกหลุมรักโดยพื้นฐานแล้ว เป็นการกระทำซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเหตุผลและขึ้นอยู่กับการไปพบใครบางคนเข้าโดยบังเอิญ โดยที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาเลย

ความรักจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก ความรักจำเป็นต้องมีความอดทนเป็นอย่างมากต่อความไม่แน่นอนและโอกาสที่จะพบกับความผิดหวัง เพราะเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่ามันจะเดินไปทิศทางไหนหรือพัฒนาไปอย่างไรในวันข้างหน้า ไม่มีการรับประกันว่าจะไม่เกิดความเจ็บปวด ไม่มีใครมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนและรับความเสี่ยงนี้ได้

ดังนั้น การที่กูว์รีเห็นถึงความตกต่ำของอาจารย์หนุ่มที่มาตามนัดในจดหมาย จึงสร้างความผิดหวังให้กับเธอ

เมื่อผู้เป็นอาจารย์ต้องมีคุณธรรมและพฤติกรรมที่เปิดเผย ไม่ “ย่องมาราวกับเป็นขโมยคนหนึ่ง” ที่ส่อถึงเจตนาลักลอบ

เมื่อกูว์รีรู้และเข้าใจว่าความรักเป็นเรื่องเสี่ยง และไม่รู้ว่าจะเกิดความเจ็บปวดขึ้นอีกหรือไม่ เธอจึงไม่ลงไปพบอาจารย์หนุ่ม

 

เมื่อตกหลุมรัก ทำไมต้องฆ่าตัวตาย?

The American Association of Suicidology (อ้างถึงใน รตพร ปัทมเจริญ, 2552 : 8) ให้นิยามการฆ่าตัวตาย หมายถึง การลงโทษตนเองด้วยการตายโดยเจตนา

อย่างไรก็ตาม การกระทำหรือพฤติกรรมประเภทนี้สามารถถูกตีความได้หลายมิติ เช่น เป็นพฤติกรรมที่ถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับความสิ้นหวัง (hopelessness) ความรู้สึกมีความผิดหรือมีมลทิน (guilt) การพยายามหาทางออกสำหรับปัญหา (solution seeking) หรือพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ น่ากลัว ซึ่งพฤติกรรมการฆ่าตัวตายเป็นได้ทั้งเชิงลบ (negative act) และเชิงบวก (positive act) ขึ้นอยู่กับค่านิยม พื้นฐานทางวัฒนธรรม (fundamental cultural value) ของสังคมนั้นๆ

“เมื่อบรรดาเพื่อนของแพเร็ชรู้ข่าวการตายของเขา และพากันมาช่วยจัดงานศพ เพื่อนๆ ของเขาได้เห็นร่างที่ปราศจากวิญญาณของกูว์รี ซึ่งถึงแก่กรรมจากการดื่มยาพิษนอนเคียงข้างสามีของเธอ ทุกคนเต็มไปด้วยความงุนงงระคนชื่นชมในความภักดีที่เธอมีต่อคู่ชีวิต ความภักดีที่หาได้ยากยิ่งในโลกที่เสื่อมทรามอย่างทุกวันนี้” (น.21)

ข้อความข้างต้น หลังสามีตาย พารามานันท์มาตามนัดในจดหมายและกูว์รีได้เห็นความตกต่ำของนักเทศน์หนุ่ม เธอจึงตัดสินใจ “ดื่มยาพิษนอนเคียงข้างสามีของเธอ” ซึ่งเป็นการฆ่าตัวตายเพื่อตนเอง (egoistic suicdie)

ตามแนวคิดของอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) เมื่อปัจเจกบุคคลขาดความค้ำจุนทางอารมณ์ ความรู้สึก การขาดที่พึ่งทางจิตใจและรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้เมื่อต้องเผชิญปัญหา สอดคล้องกับความรู้สึกของกูว์รีที่ตอนนี้กลายเป็นหญิงม่ายผู้โดดเดี่ยวและมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ ทำให้ความรู้สึกภายในใจได้รับความกระทบกระเทือน

การฆ่าตัวตายในบางสังคมและวัฒนธรรมเป็นการกระทำเพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี รวมทั้งเป็นการแสดงความซื่อสัตย์ เช่นเดียวกับบรรดาเพื่อนๆ ของแพเร็ชที่ “ชื่นชมในความภักดี” ที่กูว์รีมีต่อคู่ชีวิต เพราะ “ความภักดีที่หาได้ยากยิ่งในโลกที่เสื่อมทรามอย่างปัจจุบันนี้”

ดังนั้น เจตนาการฆ่าตัวตายเพื่อตนเองของกูว์รีกลับถูกคนในสังคมเห็นว่าเป็นการฆ่าตัวตายที่เกิดจากภาวะไร้บรรทัดฐาน (anomic suicide) เนื่องจากบรรทัดฐานเป็นสิ่งชี้นำให้เห็นว่าอะไรที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะประพฤติ เมื่อปัจเจกบุคคลรู้สึกว่าเขาไม่ควรประพฤตินอกเหนือจากแนวทางที่ถูกกำหนดไว้ ชุดของบรรทัดฐานจะมีผลต่อการควบคุมปัจเจกบุคคล อีกนัยหนึ่งคือ จำกัดสิ่งที่ปัจเจกบุคคลปรารถนาและต้องการบรรลุถึง

ขณะเดียวกันปัจเจกบุคคลจะรู้ว่าเขาถูกคาดหวังอย่างไร กล่าวคือ ถ้าพวกเขาทำตามกฎเกณฑ์ที่ป็นมาตรฐานของพฤติกรรมซึ่งถูกกำหนด พวกเขาจะรู้สึกมั่นคงและบรรลุในสิ่งที่ต้องการ เมื่อได้ตระหนักตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นว่าอะไรถูกผิด และบุคคลสามารถคาดการณ์ได้ว่า ถ้าปฏิบัติหรือฝ่าฝืนบรรทัดฐานจะเกิดผลดีและผลเสียอย่างไร

ทั้งนี้ การดื่มยาพิษฆ่าตัวตายอาจทรมานน้อยกว่าการถูกบูชายัญหรือสตีของหญิงม่ายในพิธีศพสามีตามประเพณีของชาวฮินดูในประเทศอินเดีย ที่บางครั้งถูกคนอื่นหรือสังคมบังคับ

แต่การดื่มยาพิษด้วยความสมัครใจเป็นการฆ่าตัวตายด้วยตนเองที่ “ทุกคนเต็มไปด้วยความงุนงงระคนชื่นชมในความภักดีที่มีต่อคู่ชีวิต ความภักดีที่หาได้ยากยิ่งในโลกที่เสื่อมทรามอย่างทุกวันนี้” ซึ่งเป็นประโยคจบเรื่องสั้นที่เสียดสีพฤติกรรมของพารามานันท์ไปในตัวด้วย

เรื่องสั้น “สิ้นกรรม” ของรพินทรนาถ ฐากูร นอกจากจะสะท้อนการตกหลุมรักโดยบังเอิญระหว่างกูว์รีกับพารามานันท์แล้ว ผลของการตกหลุมรักจากการขาดความรัก ความเข้าใจและความไว้วางใจ ทำให้สามีของเธอต้องตายเพราะความหึงหวง และเธอก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายอันเป็นการสะท้อนแนวคิดความรักที่ทำให้เกิดทุกข์

อีกทั้งชื่อเรื่องสั้น “สิ้นกรรม” ยังสื่อความหมายได้ตรงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นชีวิตของตัวละคร หรือการจบเรื่องราวทุกอย่างลงด้วยการกระทำของตนเอง

แสดงให้เห็นถึงผลของปัญหาที่ต้องแก้ไขที่เหตุของปัญหานั่นเอง

——————————————————————————————————————
บรรณานุกรม

คนุต แฮมซุน และคณะ. (2558). ม่ายสาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. ปทุมธานี : นาคร.
รตพร ปัทมเจริญ. (2552). การฆ่าตัวตาย : ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม. วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 5(2) : 7-4.
สรวิช ชัยนาม. (2562). ทำไมต้องตกหลุมรัก : Alain Badiou ความรักและ The Lobster. กรุงเทพฯ : illuminationeditions.
อิรวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.