รุ่งนภา พิมมะศรี : กระแสต้าน “ฮิโนกิแลนด์” สะท้อนสังคมไทยเข้าใจ “วัฒนธรรม” แคบเกินไป

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เรื่องผลการคัดเลือก 10 แหล่งวัฒนธรรมที่ต้องไป

ซึ่งอันที่จริงประกาศนี้ออกมาตั้งแต่เดือนเมษายน แต่เพิ่งมาเป็นกระแสอยู่ในความสนใจของสังคมหลังจากมีการเผยแพร่กันในโซเชียลมีเดีย

และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างหนักถึงความเหมาะสมในการคัดเลือก

10 แหล่งวัฒนธรรมที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ 1.ดอยตุง จ.เชียงราย 2.ฮิโนกิแลนด์ จ.เชียงใหม่ 3.จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จ.นครราชสีมา 4.ปราสาทสัจธรรม จ.ชลบุรี 5.สวนนงนุช จ.ชลบุรี 6.หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จ.สุพรรณบุรี 7.วู้ดแลนด์ เมืองไม้ จ.นครปฐม 8.เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ 9.สยามนิรมิต กรุงเทพมหานคร 10.ภูเก็ตแฟนตาซี จ.ภูเก็ต

“ฮิโนกิแลนด์” จังหวัดเชียงใหม่ คือสถานที่ที่ตกเป็นเป้ากระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในครั้งนี้

 

เหตุผลที่ก่อให้เกิดคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็เพราะว่า ฮิโนกิแลนด์เป็นสถานที่ที่สร้างให้เป็นเมืองญี่ปุ่นจำลอง ไม่ได้สะท้อนวัฒนธรรมไทย บ้างก็ว่าก๊อบปี้มาจากที่อื่น บ้างก็ว่าสถานที่ที่เพิ่งสร้างไม่กี่ปี จะเป็นแหล่งวัฒนธรรมได้อย่างไร

แยกประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ได้เป็น 2 ประเด็นหลัก คือ

1. ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย เป็นการสร้างลอกเลียนแบบญี่ปุ่น

2. เป็นสถานที่ที่เพิ่งสร้าง ไม่มีคุณค่าในด้านความเก่าแก่

สารภาพตามตรงตอนที่ผู้เขียนเห็นข่าวที่แชร์ๆ กันแบบที่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดประกาศ ผู้เขียนก็เกิดคำถามเหมือนกันว่า โผล่มาได้ยังไง

แต่เมื่ออ่านประกาศและเห็นรายชื่อครบทั้ง 10 สถานที่ที่ได้รับการคัดเลือกถึงได้เข้าใจ

เนื้อหาในประกาศมีอยู่ว่า

 

“กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบนโยบายให้คัดเลือกสุดยอดงานด้านวัฒนธรรม เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ รณรงค์ให้มีการรักษามรดกศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรม ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคัดเลือก 10 แหล่งวัฒนธรรมที่ต้องไปนั้น บัดนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้คัดเลือก 10 แหล่งวัฒนธรรมที่ต้องไปเรียบร้อยแล้วดังนี้”

จากเนื้อหาในประกาศ จะเห็นเจตนารมณ์ว่า กระทรวงวัฒนธรรม และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ได้มีธงว่าจะต้องเป็นวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิมที่เข้าใจกันเท่านั้น ไม่มีเนื้อความตรงไหนเลยที่บอกว่า “วัฒนธรรมไทย” (ซึ่งถ้าจะพูดเรื่องวัฒนธรรมไทยแท้คืออะไรก็คงยาว ตัดประเด็นนั้นไปก่อน)

“คัดเลือกสุดยอดงานด้านวัฒนธรรม เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ รณรงค์ให้มีการรักษามรดกศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรม ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ” ตรงนี้ชัดเจนมากว่าต้องการรักษามรดกวัฒนธรรม และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับสถานที่ทางวัฒนธรรมนั้นๆ โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นวัฒนธรรมไทยโบราณที่ผ่านกาลเวลานานกี่ร้อยปี

 

ย้อนกลับไปดู 10 สถานที่ที่ได้รับคัดเลือก ส่วนมากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่คนสร้างขึ้นและเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือเป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ ไม่ได้เก่าแก่ผ่านการส่งต่อสืบทอดมาอย่างยาวนาน อย่างที่เรามีมายาคติกับคำว่า “วัฒนธรรม” ในแบบเดิมๆ หรือแบบแคบๆ

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การคัดเลือกมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอยู่ 5-6 ข้อ ซึ่งแต่ละสถานที่ต้องมีวัฒนธรรมที่ชัดเจน แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ละสถานที่ที่ได้รับการคัดเลือกมาจากการสำรวจข้อมูลและเสนอรายชื่อ ซึ่ง 10 แหล่งวัฒนธรรมตามประกาศที่ได้รับเลือกนั้น ถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีการสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมที่โดดเด่น

ทีนี้เรามาดูว่าฮิโนกิแลนด์มีความโดดเด่นอย่างไร

 

ฮิโนกิแลนด์ ตั้งอยู่ในอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ตามข้อมูลออฟฟิเชียลบอกว่า เป็นอาณาจักรไม้หอมฮิโนกิแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่เริ่มต้นจากความชื่นชอบไม้สนฮิโนกิจนกลายมาเป็น “บ้านไม้หอมฮิโนกิ” มูลค่ากว่าร้อยล้าน

ความเป็นมาของฮิโนกิแลนด์ เริ่มจากอนิรุทธิ์ แซ่จึง คนไทยที่เคยอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นชื่นชอบและสะสมไม้ฮิโนกิมา 10 ปี จึงทุ่มงบประมาณมหาศาลเนรมิตพื้นที่ 88 ไร่ให้เป็น “อาณาจักรไม้หอมฮิโนกิ” ในบรรยากาศแบบเมืองญี่ปุ่นจำลองแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่นี่มีรายได้จากการเก็บค่าบัตรเข้าชม ขายโปรดักต์ต่าง ๆ อย่าง สกินแคร์ ที่นอนสุขภาพ หมอนสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ไม้หอมฮิโนกิ และคาเฟ่ แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการประกาศเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-30 กันยายน 2562 เนื่องจากประสบความสำเร็จทำรายได้เกินเป้าแล้วเจ้าของจึงอยากเปิดโอกาสให้คนได้เข้าชมมากขึ้น

คุณค่าที่เกิดขึ้นที่ฮิโนกิแลนด์ ไม่ใช่เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้เข้าชมสวยๆ แต่ที่นี่มีโครงการกระจายรายได้สู่คนในชุมชน

ซึ่งโครงการนี้มีบทบาทในการช่วยเหลือส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพและมีรายได้ บางครัวเรือนยึดเป็นอาชีพหลัก บางครัวเรือนทำเป็นอาชีพเสริมในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม

ตามข้อมูลของฮิโนกิแลนด์บอกว่า เดิมทีชุมบ้านโป่ง ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนบนพื้นที่สูง ทุรกันดาร ชาวบ้านมีรายได้น้อย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปไม่มีรายได้แน่นอน ทางบ้านไม้หอมฮิโนกิจึงได้เข้าไปช่วยเหลือโดยการส่งเสริมความรู้และทักษะในการผลิตลูกไม้หอม เพื่อนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มที่นอนเพื่อสุขภาพ และต่อมาได้ขยายโครงการไปสู่ชุมชนบ้านศรีดงเย็น ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่

ภายใต้ฉากหน้าที่เรารู้กันแค่ว่านี่คือสถานที่ท่องเที่ยวที่เลียนแบบญี่ปุ่น ภายในนั้นคือสถานที่ที่ประกอบกิจการที่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชน และนำพาความเจริญเข้าสู่ท้องถิ่นทุรกันดาร

 

ทีนี้ขอพาย้อนไปดูความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม”

ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานบอกว่า วัฒนธรรมหมายถึง “สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ”

ความหมายในทางสังคมวิทยา หมายถึง วิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดจากการเรียนรู้ ถ่ายทอด สั่งสอน และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น

ส่วนข้อมูลกระทรวงวัฒนธรรมอธิบายความหมายว่า วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตซึ่งมีทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่จับต้องมองเห็น ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะประกอบอยู่ในวิถีชีวิตของคนในสังคม

ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่าวัฒนธรรมแล้ว จะเห็นว่าฮิโนกิแลนด์เหมาะสมอย่างมาก ทั้งในแง่ความสร้างสรรค์ในการสร้างสถานที่สิ่งปลูกสร้าง และคุณค่าที่เกิดขึ้นกับสังคมหลังจากสร้างสถานที่แห่งนี้

 

ย้อนกลับไปตรงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของชาวโซเชียลมีเดียที่ว่ากันว่า “นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย” “นี่เพิ่งสร้างมาไม่กี่ปี จะเป็นแหล่งวัฒนธรรมได้ยังไง”

นั่นสะท้อนว่าคนไทยเข้าใจคำว่าวัฒนธรรมแคบเกินไป

และเมื่อไหร่ที่พูดถึงคำว่า “วัฒนธรรม” เรามักจะเอาคำนี้ไปผูกติดกับความเป็นไทยแบบเดิมๆ ที่อิงกับกาลเวลา ความเก่าแก่ และพ่วงกันมาพร้อมกับกรอบความคิดแบบชาตินิยมที่ว่า คำว่าวัฒนธรรม ต้องเป็นแบบไทยๆ เท่านั้น

ทั้งที่ในสังคมไทยนั้นมีการผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมมานานหลายร้อยปี

เมื่อก่อน มักจะเห็นมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ก่นด่ากันว่ากระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหัวโบราณ

แต่เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเริ่มก้าวออกจากพื้นที่ความหัวโบราณไปแล้ว

กลับเป็นสังคมซะเองที่พยายามไปบอกว่า กระทรวงวัฒนธรรมควรย้อนกลับไปคิดแบบหัวโบราณแบบเดิม