ธวัชชัย พิณะพงษ์ : สัญวิทยา และการเปิดเผยที่มาแห่งอำนาจ (จบ) มองผ่านละครหลังข่าว

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงคนดีในทัศนคติของท่านไว้ว่า

“คนไม่ดีก็ยังมีอยู่ มีความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์และเปิดหน้าออกมาเรื่อยๆ บางเรื่องเราทำดีแต่เขากล่าวหาว่าไม่ดี ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะคณะทำงานและส่วนราชการ ต้องรู้จักทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการขยายความเข้าใจไปสู่วงกว้าง”

หรือคนดีผ่านคำขวัญวันเด็กแห่งชาติในปี พ.ศ.2559 ความว่า “เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต”

การอ้างหลักการแห่งศีลธรรมอันสูงส่งคือสิ่งหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขทางการเมืองของกลุ่มอำนาจใหม่ที่ทำรัฐประหารขึ้นมา สามารถที่จะทำได้ และได้รับความชอบธรรม

เพราะในอีกมิติหนึ่ง กลุ่มอำนาจดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้นำที่ตัดขาดจากระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยโดยเด็ดขาด

สะท้อนให้เห็นว่ามีเพียงการเชิดชูศีลธรรมอันสูงส่งในตัวเองเท่านั้น จึงจะได้รับการยอมรับจากสังคม

การกำหนดคุณค่าความดีและความชั่วในสังคมไทยถูกกระทำซ้ำๆ หลายวิถีทาง

แต่ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะเลือกวิเคราะห์เฉพาะละครหลังข่าว

เพราะละครหลังข่าวเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากสังคมไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะคนรวย คนจน คนดี คนชั่ว คนเมือง คนชนบท ทุกๆ คนล้วนแล้วแต่ติดตามละครหลังข่าว

ผู้เขียนเชื่อว่าในสังคมไทยไม่มีใครไม่เคยดูละคร เพราะอย่างน้อยๆ แล้วต้องมีซักเรื่องที่ต้องติดตาม หรือเคยติดตาม

 

ละครโทรทัศน์ไทยคือรูปแบบหนึ่งของรายการโทรทัศน์ประเภทความบันเทิงของไทย

ละครโทรทัศน์ไทยเรื่องแรกคือ “สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน” ออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหม ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2499

ในปีแรกๆ มีละครโทรทัศน์เพียง 6 เรื่องได้แก่ สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน (ดังที่กล่าวไปแล้ว)

กระสุนอาฆาต (ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2499)

ดึกเสียแล้ว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2499)

น้ำสาบาน (ออกอากาศเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2499)

ศัตรูลับของสลยา (ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2499)

และ ง่ายนิดเดียว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2499)

ละครโทรทัศน์ในสังคมไทยขณะนั้น ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องราวที่ยึดโยงกับชนชั้นนำหรือชนชั้นสูงของสังคม

มุ่งเน้นโครงเรื่องไปที่ฝ่ายดี ฝ่ายเลว มักจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม (happy ending)

อันเป็นการบ่งบอกว่าธรรมย่อมชนะอธรรม

ซึ่งต่อมาได้มีการนำเอาโครงเรื่องในลักษณะนี้มาทำซ้ำ ถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม

 

สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดตัดผ่านร่วมกันของละครทีวีไทยทุกยุคทุกสมัย ก็คงพอกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่แสดงอารมณ์ที่ล้นเกินของความริษยา อาฆาต

คำถามมีอยู่ว่า เหตุใดจึงต้องแสดงอารมณ์ความริษยาที่มันมากเกิน?

คำตอบคือ อารมณ์ริษยาที่แสดงออกมาอย่างล้นเกิน มันสามารถเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่ติดตามละครได้เป็นอย่างดีที่สุด ในการแสดงสัญญะของความชั่วร้าย

นอกจากนี้ บรรดาผู้ที่รับบทแสดงเป็น “ตัวร้าย” “ตัวโกง” ก็มักที่จะได้รับการจัดวางสัญญะผ่านการแต่งการ

เช่น เสื้อผ้าที่มีโทนสีเด่นชัดฉูดฉาด หรือที่หนักกว่านั้นก็คือสีการแต่งหน้าก็เช่นกัน มักกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกผู้ชม ให้มีความรู้สึกว่ามีความน่ากลัวอยู่ภายใน

นี้ยังไม่รวมบทบาทความเป็นตัวแทนแห่งแรงอาฆาต ริษยา หรือความชั่วร้ายที่แสดงผ่านการกระทำ

เช่น การตบตีโดยไม่คำนึงถึงความเป็นคนของอีกฝ่าย

การทำร้ายร่างกายที่ขัดกับกฎหมายและศีลธรรม

การด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคาย

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงพอที่จะกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่ามันเป็นการจัดวางตัวแทนแห่งชั่วร้ายผ่านการกระทำและคำพูด หรือผ่านสิ่งที่เราเข้าใจกันว่า “บทบาทในการแสดง”

เป็นที่น่าคิดต่อไปว่า ดาราท่านใดเป็นคนตีบทแตก สามารถมอบอารมณ์ความเกลียดชังให้เข้าไปอยู่ในใจของคนดูละครได้อย่างชัดเจนและสมจริง ละครมีแนวโน้มว่าจะเป็นที่เรื่องได้รับความนิยม

แต่ในระยะหลังๆ เราจะเห็นว่ามีการฉีกบทบาทให้มีความแตกต่างในการจัดวางสัญญะตัวแทนแห่งความชั่วร้าย

เรามักจะเห็นในเร็วๆ นี้ที่ตัวร้ายจะถูกจัดบทบาทเหมือนกับฝ่ายดี

ซึ่งเป็นการซ่อนความชั่วร้ายไว้ภายใต้ความดีอีกทีหนึ่ง อันทำให้คนดูแทบแยกไม่ออกว่าดาราท่านนี้กำลังรับบทอะไรอยู่ ตัวร้ายหรือดี

ในระดับของอารมณ์ของผู้ดูชมนั้น จึงมีทั้ง “สงสาร” และ “สมน้ำหน้า” ไปพร้อมกัน

ความจริงข้อนี้ย่อมสอดคล้องกับชีวิตในสังคมของผู้คน ที่ทุกๆ สิ่งอย่างเริ่มมีความไม่ชัดเจน “คนดี” กับ “คนเลว” เริ่มมีลักษณะที่คล้ายกัน

 

ที่นี้เราลองมาดูการวางสัญญะผ่านตัวละครฝ่ายดี หรือตัวแทนแห่งความดี คือ จะเน้นภาพฝ่ายที่ถูกกระทำมากกว่าเป็นฝ่ายที่กระทำเอง

อันเป็นภาพตอกย้ำว่ามีลักษณะเป็นผู้ดีที่ไม่ใช้ความรุนแรง กำลังในการตัดสินปัญหาต่างๆ

หรือที่จะให้วิเศษขึ้นไปอีกกว่านั้นก็คือผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นสุภาพชน

ความเป็นตัวแทนแห่งความดีของสังคมพวกเขาจะถูกจัดวางทุกๆ กิริยาอาการ ตั้งแต่การการพูด การแต่งกาย มารยาท

หรือที่มากกว่านั้นก็คือ ความหล่อ

สิ่งเหล่านี้ให้อารมณ์ที่มีลักษณะความนิ่มนวล สุขุม สุภาพ ซึ่งมีน้อยครั้ง ที่ตัวแทนแห่งความดีจะแสดงอาการที่นอกเหนือจากนี้

ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วคือ ฝ่ายคุณธรรมต้องเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ

ใจความสำคัญของบทบาทคือ ภาพความใสสื่อ

จิตใจต้องมีลักษณะเป็นแม่พระ ไม่ตกอยู่ในวงจรแห่งความอาฆาตแค้น หรือความริษยา

การวางภาพความใสสื่อแบบจิตผู้สูงส่ง ยังถูกจัดวางอยู่ในการแต่งกายเช่นเดียวกันกับฝ่ายมารร้ายดังที่กล่าวไปแล้ว

แต่ทว่ามีลักษณะที่ต่างออกไปคือ เน้นโทนสีที่ดูสบายตา เช่น สีขาว ที่แสดงถึงความมีจิตใจที่ผุดผ่องและบริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยเมตตา

สีชมพูอ่อน อันหมายถึงความอ่อนหวานที่แฝงไปด้วยเรื่องวาจา อิริยา หรือแม้กระทั่งสกุลที่สูงศักดิ์

และสีเขียวอ่อน ที่บ่งบอกถึงความชุ่มฉ่ำ ธรรมชาติ การกำลังก่อเกิดของชีวิต ให้อารมณ์ที่ไม่แห้งเฉา ตายซาก

 

จากที่อธิบายมาทั้งหมดถึงการจัดวางสัญญะระหว่างฝ่ายดี-ฝ่ายร้ายแล้ว เราคงเห็นภาพของการจัดวางที่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปโดยธรรมชาติ แต่มีลักษณะที่สัมพันธ์กันกับอำนาจในการจัดวางเสมอ

กล่าวคือ ภาพของความดีที่ปรากฏอยู่ ละครทีวีจึงเป็นสิ่งที่ถูกจัดวางตามกรอบแห่งความดีของระบบสังคม กล่าวคือ จะดีภายใต้อะไร? และอย่างไร?

เช่น ดีภายใต้กรอบของศีลธรรม กฎหมาย ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเสียสละ ความเห็นแก่ผู้อื่น ความไม่โลภในกิเลส และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายมารก็มีภาพแห่งความชั่วร้ายที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผู้คนในสังคมส่วนมากมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ความชั่วร้ายที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับศีลธรรม

เช่น ผู้ที่รับบทเป็นผู้ฆ่าฟันหรือรังแกผู้อื่น ผู้ที่เสพสุราเป็นอาชีพ ผู้ที่ผีแห่งการพนันเข้าสิงสู่ ความชั่วร้ายที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับกฎหมาย ผู้ที่แย่งชิงทรัพย์สมบัติผู้อื่นโดยการฉ้อโกง

ภาพนักธุรกิจที่ทำการค้าที่ผิดกฎหมาย ภาพการทำร้ายร่างกาย หรือการหมิ่นประมาทด้วยคำ การค้าอาวุธเถื่อน การค้ายาเสพติด และอื่นๆ เป็นต้น

 

เมื่อเรารู้ถึงกระบวนการจัด “สัญญะ” ของความดีที่ล้นเกินกับความชั่วที่สามานย์แล้ว

เราลองมาดูการต่อสู้ที่ปรากฏอยู่ในละคร

ทั้งนี้ผู้เขียนต้องบอกก่อนว่า ผู้เขียนไม่สามารถที่จะยกตัวอย่างความสัมพันธ์ที่จะแสดงความขัดแย้งและการต่อสู้ของการจัดวางสัญญะแห่งความดีงามกับความชั่วร้ายได้ครบทั้งหมด

ดังนั้น จะขอตัวยกเพียงแค่เพื่อทำให้เห็นภาพความดีที่ปรากฏต่อผู้ชม หรือภาพความชั่วช้าที่ทุกคนไม่อยากจดจำ

หากเราพิจารณาความสัมพันธ์ในการดำเนินท้องเรื่อง คงยากที่จะปฏิเสธว่ามันก็คือละครที่เป็นการปะทะหรือต่อสู้กันระหว่างพระเอกและนางเอกที่เป็นตัวแทนแห่งความดีงามและตัวร้ายที่เป็นตัวแทนแห่งความชั่วร้าย

เรามักจะพบว่า วิธีการที่จะจัดการต่อเรื่องหนึ่งๆ ในการที่จะทำให้ตนเองสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาของตัวแทนดีและฝ่ายร้ายมักจะเป็นทิศทางที่ตรงกันข้าม

จนอาจกล่าวได้ว่ามีความสุดขั้วของความเป็นฝ่ายตรงข้าม

สัญญะแห่งความดี (นางเอก) มักจะกระทำสิ่งต่างๆ ภายใต้กรอบความดีงามทางศีลธรรม กฎเกณฑ์ของสังคม สิ่งที่ผู้คนยึดถือ หรือเห็นว่าดี

การกระทำมักไม่เร่งรีบ ไม่ชิงสุกก่อนห่าม สิ่งที่ถูกจัดวางเหล่านี้ สามารถสร้างภาพแห่งการรับรู้ในมิติที่ไม่ฉับพลัน ไม่ผลีผลาม สุขุม

และยังให้มุมมองที่อ่อนโยน เบาบาง สันติ และเคารพผู้อื่นอีกด้วย

ในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายสัญญะแห่งความชั่ว (ตัวร้าย) สิ่งที่ถูกจัดวางภายใต้กรอบนี้ ยังคงเป็นกรอบที่อิงกับศีลธรรมและกฎเกณฑ์ของผู้คน แต่อยู่ในทิศทางที่อยู่ขั้วตรงข้าม

สิ่งนี้จะเล่นกับภาพการทำลายกรอบแห่งศีลธรรมทางสังคม กล่าวอย่างถึงที่สุดคือเป็นภาพสิ่งที่จะบั่นทอนหรือลดทอนความดีงาม

 

ภาพเหล่านี้สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้กับสังคมโดยรวมในการที่จะใช้วิธีการตอบโต้สัญญะแห่งความชั่วร้ายโดยความรุนแรงนอกกรอบของศีลธรรมทางสังคมของผู้คนส่วนใหญ่

ในระหว่างการติดตามละครเรื่องโปรดของผู้ชมทุกยุคทุกสมัย การสร้างภาพความชั่วร้ายสามารถทำให้ผู้คนเกิดอารมณ์ร่วมในภาพที่ถูกจัดวาง

แน่นอนว่าผู้ดูละครจะไม่รู้สึกตัวว่าตนเองกำลังเลือกข้าง หรือกำลังส่งเสริมวิธีการตอบโต้ที่รุนแรงนอกกรอบของศีลธรรมและกฎหมาย บ่อยครั้งเราจะมีอารมณ์ว่า “ทำไมตัวร้ายถึงไม่ตายๆ ไปซะ เนื่องจากทำสิ่งที่ชั่วช้า” ภาพเหล่านี้เล่นกับเราและมอบอำนาจร่วมในการตัดสินและชี้ขาดบทบาทที่ถูกแสดงออกมาโดยไม่ใส่ใจว่าบทบาทดังกล่าวล้วนแล้วแต่ถูกจัดวาง

การร่วมพิพากษานี้ไม่ใช่สิ่งที่บังเอิญเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

แต่เป็นความรู้สึกที่ได้รับอิทธิพลจากการกำหนดบทบาทโดยสัญญะต่างๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาจนกระทั่งกลายเป็นบทบาทต่างๆ

และสามารถกระตุ้นความรู้สึกดังกล่าวได้

 

จากที่กล่าวมานั้น คงพอสรุปได้ว่า ละครทีวีก็คือสิ่งที่ถูกกำหนดโดยระบบการให้คุณค่าของสังคม สิ่งนี้ยังถูกสะท้อนผ่านระบบการเมืองไทย

กล่าวคือ มีคนจำนวนมากที่ต้องการระบบการเมืองแบบระบบคนดี คนเก่ง มากกว่าระบบที่สามารถตรวจสอบความดีความเก่งของผู้มีอำนาจ

ระบบการให้คุณค่าเรื่องความดีความชั่วนี้ มันยังถูกสะท้อนผ่านการที่ผู้คนในสังคมจะสนับสนุนกลุ่มนักการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดนั้น พวกเขาจะร่วมตัดสินหรือพิพากษาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้มีภาพแห่งตัวแทนของความชั่วร้าย และพร้อมเลือกข้างที่ดีมีคุณธรรม

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า มันคือการมอบภาพความเลวร้ายให้อีกฝ่าย แล้วทำให้ฝ่ายตนมีความสูงส่ง

อีกประการหนึ่ง การที่ละครทีวีหรือละครหลังข่าวแสดงอารมณ์ในลักษณะที่ล้นเกิน

ดังที่เป็นจุดร่วมเดียวกันกับการวิเคราะห์ของ Barthes ในบทความที่มีชื่อว่า “Le monde o? l”on catche (โลกของมวยปล้ำ)” นั่นเท่ากับว่าสังคมไทยและสังคมฝรั่งเศสกำลังส่งเสียงบอกว่า พวกเขาต้องการเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างความดีกับความชั่ว

การดำเนินชีวิตในสังคมทุนนิยม กำลังลดทอนภาพความชัดเจนของสิ่งต่างๆ ทุกๆ สิ่งกำลังได้รับการกำหนดให้มีมิติที่ซับซ้อน

ความดีความชั่วที่ถูกจัดวาง หรือการให้คุณค่าว่าด้วยความดีความชั่วนี้ แน่นอนว่าไม่ได้รับข้อยกเว้นในเงื่อนที่ว่า

มันเป็นการกำหนดโดยอำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจ

ในสังคมไทยอย่างน้อยเรานิยมเรื่องราวของชนชั้นสูงในสังคมหรือไม่ก็กลุ่มผู้ที่มีฐานะทางสังคม

อีกอย่าง การให้ระบบคุณค่าความดีนั้น หากเราพิจารณาความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานของมัน เราจะพบว่า ระบบความดีมีลักษณะที่ถูกจัดวางอยู่บนความเป็นตัวบุคคลมากกว่าความเป็นระบบ

หรือความเป็นอัตวิสัยมากกว่าความเป็นภววิสัย

ความดีเป็นเรื่องของตัวบุคคล เป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีเท่านั้น

 

ในมุมมองของ Friedrich Nietzsche เขาให้คำอธิบายเกี่ยวกับศีลธรรมของผู้มีอำนาจไว้ว่า

คุณค่าทางศีลธรรมที่แตกต่างกันมักจะเกิดขึ้นภายใต้ในแต่ละลักษณะของการครอบงำ และความรู้สึกในความเป็นอยู่ที่ดีมันคือจิตสำนึกของความแตกต่างระหว่างตัวเองและผู้ที่ถูกครอบงำทั้งหลาย

หรือไม่ก็ความแตกต่างเหล่านี้ได้ขึ้นมาครอบงำในหมู่ประชาชน ทาสและผู้ที่อยู่ในการควบคุมของทุกๆ ลำดับชั้น

ในกรณีแรกเมื่อการครอบงำประชาชนกำหนดมโนทัศน์ (determine the concept) ของ “ความดี” มันคือการได้รับการยกระดับสภาวะของความภาคภูมิใจของจิตที่ได้รับรู้เป็นพิเศษ และเป็นเช่นนั้น การกำหนดลำดับชั้นผู้ที่มีเกียรติจะแยกตัวของเขาเองออกจากปัจเจกบุคคล

แต่ในทางตรงกันข้ามของการยกระดับกับสภาวะของความภาคภูมิใจที่ได้รับการแสดงออกมาเช่นนั้น เขาจึงได้ชิงชังประชาชน

มันจึงชัดเจนในทันทีว่า ในชนิดแรกของศีลธรรมนี้ การเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกันระหว่าง “ความดี” และ “ความเลวร้าย” ที่ได้บังเกิดขึ้นกับสิ่งหนึ่งที่อยู่ระหว่าง “ความสูงสง่า” และ “ความต่ำทราม” (ความแตกต่างระหว่าง “ความดี” และ “ความเลว” มีพื้นฐานของความแตกต่างอยู่หนึ่งสิ่ง)

และนอกจากนี้ ศีลธรรมของผู้เป็นนาย มักจะให้คุณค่าต่ออำนาจความสูงศักดิ์ และความเป็นอิสระ

ฉะนั้นแล้วมันจึงอยู่ในฐานะถัดไปจากความดีและสิ่งที่เลวร้าย

ส่วนศีลธรรมผู้ที่เป็นทาสมักจะให้คุณค่าต่อความสงสาร ความเมตตา และความถ่อมตัว ซึ่งได้รับการยอมรับโดย Nietzsche ในฐานะ “ศีลธรรมแบบหมู่รวม (herd-morality)”

ประวัติศาสตร์ของสังคม Nietzsche เชื่อว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างสองภาพเหล่านี้ การรวมกลุ่มของคนพยายามที่จะกำหนดคุณค่าที่เป็นสากลของมัน แต่ผู้มีอำนาจเก่าจะอยู่เหนือความเป็นมาตรฐานกลางของพวกเขา (mediocrity)

 

บทสรุปในอำนาจแห่งศีลธรรม

การใช้สัญวิทยาในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ รอบตัวดั่ง Barthes นับว่าทำให้เราเห็นมิติต่างๆ ที่เกิดจาการสื่อสาร นับตั้งแต่ข้อผิดพลาดหรือการบิดพลิ้วของการจัดวาง อันนำไปสู่ความเป็นมายาคติ การใช้จุดร่วมเดียวกันกับ Barthes ในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมือง แน่นอนว่ายิ่งทำให้เรามองสิ่งต่างๆ ในมิติที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะปฏิบัติการของการประกอบสร้างความหมาย

การวิเคราะห์ละครทีวีในสังคมไทยในงานชิ้นนี้ภายใต้กรอบของ Barthes สิ่งหนึ่งผู้เขียนพยายามที่จะชี้ขาดและทำให้เห็นว่าภายใต้สิ่งที่เรากำลังดูหรือติดตาม เพื่อความเพลิดเพลิน ก็เป็นสิ่งที่มีขั้นตอนของการตระเตรียมการมาอย่างดี

นั่นเท่ากับว่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือข้อผิดพลาด แต่เป็นสิ่งที่จงใจให้เกิดโดยอำนาจรัฐหรือผู้กุมอำนาจรัฐ

เราจะไม่สามารถได้รับชมละครที่มีเนื้อหาที่ผิดแผกแตกต่างจากกรอบความดี-ชั่วอันเกี่ยวพันกับศีลธรรมที่ดีของผู้มีอำนาจได้เลย

เราจะรู้เพียงเรื่องอารมณ์ริษยาที่ล้นเกินของเรื่องเกี่ยวกับผัวๆ เมียๆ หรือการแย่งชิงสมบัติระหว่างกันและกันในสกุลผู้ดี

เพราะมันง่ายที่จะแสดงอารมณ์ล้นเกินดังกล่าว อันเป็นสิ่งที่จะมีผลทับซ้อนกับกรอบความดีของผู้มีอำนาจ

ถ้าหากเราพิจารณาข้อคิดเห็นบางประการในพฤติกรรมของเยาวชนไทยในปัจจุบัน ในเรื่องเกี่ยวกับการติดตามละครชุด “ซีรี่ส์เกาหลี” หรือ “หนังฮอลลีวู้ด” มันก็คงเป็นสัญญาณที่บางเบาว่า “พวกเขากำลังหลีกหนีจากการจัดวางที่มีความซ้ำซาก จำเจ”

หรือกล่าวให้ลึกที่สุดคือ “การหลีกหนีสัญญะแห่งศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทยที่ผู้มีอำนาจเดิมเป็นผู้จัดม่านหมอกสีขาวราวกับเกิดขึ้นเองโดยน้ำมือแห่งธรรมชาติ”

ดังนั้น การทำให้พวกเขาเหล่านี้หันกลับมานิยมในละครทีวีอีกครั้งจึงเป็นหน้าที่ของพวกเขา นั่นคือการสร้างความรู้สึกชาตินิยมไทยขึ้นเพื่อกล่าวหาละครหรือภาพยนตร์ต่างชาติที่เริ่มแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น

ละครภาพยนตร์ต่างชาติมีลักษณะการจัดวางระบบศีลธรรมที่มีความหลากหลาย

และที่สำคัญ แทบจะปราศจากอารมณ์แห่งความริษยา

หรือหากจะมีก็แทบจะไม่สามารถรับรู้ได้ หรือน้อยมาก

จากที่กล่าวมานี้ ในความเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับละครหลังข่าวหรือละครทีวีไทย “มันจึงเป็นเรื่องของอำนาจในการกำหนดศีลธรรมว่าด้วยเรื่องดี-ชั่ว”

เช่นนั้นแล้ว เราจึงมักจะเข้าใจว่า “ความดีไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำทางการเมือง และต้องการคนดี มากกว่าระบบที่ดี (goodness was not determined by political elite, and wanted a good man, more than a good system).”