บรรจง บุรินประโคน / “นกในกรงของเพื่อนบ้าน” : ตอน ประเทศของเรากำลังพัฒนา

ที่มาภาพหนังสือ : https://readery.co

หลังละเลียดอ่านหนังสือ กวีนิพนธ์ “นกในกรงของเพื่อนบ้าน” Birds in the Neighbor”s Cage ของปรเมศวร์ กาแก้ว กวี นักเขียนหนุ่มจากเมืองพัทลุง จบลง พบว่า ผลงานกวีนิพนธ์หลายชิ้นต่างถูกประกอบสร้างจากชิ้นส่วนของสังคมและวิถีชีวิตผู้คนอันหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็น การบ้านการเมือง การอยู่การกิน ความรัก ความรู้ ความเป็นไปของยุคสมัย Internet of Things (IoT) หรือยุคอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง ฯลฯ

กวีนิพนธ์แปดสิบกว่าชิ้น โดยแบ่งออกเป็นสองภาค คือ

ภาคแรก “เด็กๆ กำลังร้องเพลงชาติ”

และภาคที่สองคือ “งานเลี้ยงบนร่างเรา”

กวีนิพนธ์ทั้งสองภาค ล้วนถูกร้อยเรียงผ่านท่วงทำนองเฉพาะตัว ทั้งยังฝังแฝงน้ำเสียงเสียดสีประชดประชัน อย่างตรงไปตรงมา

บางชิ้นมีอารมณ์ขัน

บางชิ้นโรแมนติกจนน่าสะอิดสะเอียน

หากแต่หลายรสชาติ หลายอารมณ์ความรู้สึก จึงทำให้ดูไม่เลี่ยนเกินไปนัก สำหรับนัก (ชิม) อ่าน ผู้ชมชอบในงานกวีนิพนธ์

และด้วยเป็นงานกวีนิพนธ์เชิงบันทึกเหตุการณ์ความสัมพันธ์ของเหตุบ้านการเมือง จึงไม่แปลกที่กวีนิพนธ์ “นกในกรงของเพื่อนบ้าน” จะอุดมไปด้วยชิ้นส่วนของบ้านเมือง

และสะเก็ดสังคมอย่างกระจัดกระจายหากแต่มีมิติ

 

นอกจากเจ้าตัวจะเป็นกวี นักเขียนแล้ว เจ้าตัวยังเป็นอะไรอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นคนลั่นชัตเตอร์ เป็นฟรีแลนซ์ เป็นคุณพ่อของเด็กชายเขน ฯลฯ

สำหรับด้านผลงานการเขียน ปรเมศวร์ กาแก้ว ยังมีเรื่องสั้น “เพียงกวีไม่มีชื่อ” (2545) กวีนิพนธ์ “คืนฟ้าร่ำไห้” ฉบับทำมือ (2546) และผลงานสารคดี “เมื่อ “ลม” มาเยือน” (2553)

ทั้งยังเคยได้รับรางวัลชมเชย สารคดีจุดประกาย Feature Award 2545 ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จากผลงานสารคดีเรื่อง “กอและกับชีวิตที่เก้าเส้ง : วิถีอันเรียบง่ายของคนกับเรือ และในปี 2557 ก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ด ประจำปี 2557 จากเรื่องสั้น “ถนนโค้งและลื่น”

 

“หัวกระสุนพุ่งออกจากรังเพลิง สวนทางกับขบวนจักรยานของเด็กๆ ภารกิจเร่งรีบเกินไป เลยไม่ได้แวะทักทายรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ คนลั่นไกไม่ทันสังเกต หลวงพ่อกำลังออกบินฑบาต โต๊ะอิหม่ามกำลังไปสุเหร่า สวนทางกันตรงราวนกกรงหัวจุกของร้านน้ำชา ภารกิจคงเร่งรีบเกินไป มันเลยไม่ได้แวะฟังคำพรจากหลวงพ่อ ไม่ได้แวะทักทายพี่ตำรวจและพี่ทหาร

………

ไม่มีใครว่างพอจะทักทาย

ข้าพเจ้าก็ยุ่งกับแปลงดอกไม้”

(ไม่มีใครว่างพอจะทักทาย / บางทีอาจจะเป็นคำนำ : 13)

จากเนื้อความข้างต้น จะเห็นว่าผู้เขียน ปรเมศวร์ กาแก้ว ได้หยอกล้อกับความเป็นไปของสังคมอย่างมีชั้นเชิง “หัวกระสุนพุ่งออกจากรังเพลิง สวนทางกับขบวนจักรยานของเด็กๆ ภารกิจเร่งรีบเกินไป เลยไม่ได้แวะทักทายรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ คนลั่นไกไม่ทันสังเกต หลวงพ่อกำลังออกบินฑบาต โต๊ะอิหม่ามกำลังไปสุเหร่า สวนทางกันตรงราวนกกรงหัวจุกของร้านน้ำชา ภารกิจคงเร่งรีบเกินไป” การบอกเล่าเรื่องราวผ่านงานกวีนิพนธ์เล่มนี้จึงเสมือนเป็นการสะกิดสังคม วิถีและชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ที่มีความวูบไหวไม่แน่นอน

การดำรงอยู่ของชีวิตจึงดูคล้ายการเล่นเกมการเสี่ยงทายในแต่ละวัน

 

จากกวีนิพนธ์ “รัฐไม่เคยขูดรีด” จะเห็นว่าผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสังคม การเมือง วิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงความเป็นไปของโลกด้วยน้ำเสียงเสียดสี ประชดประชัน ทั้งยังมีอารมณ์ขันขื่น คล้ายจะกระตุกอารมณ์ความคิดผู้อ่านอย่างร้ายกาจ

กดข้ามชาวนาไป

รัฐไม่เคยขูดรีด

แค่น้ำท่วมถุงยังชีพประชาชน

ผู้ปกครองเหมือนทะเลเงียบเสียงทุกฤดู

เรือร่อนเร่ยังขนถ่ายลมหายใจข้ามแดน

แรงงานเดินสวนทางกันเอง

รัฐไม่เคยขูดรีดกรีดเลือดเนื้อ

ประเทศเราไม่เคยหลงทาง

(รัฐไม่เคยขูดรีด : 20)

หรือแม้แต่กวีนิพนธ์ “ข่าวถึงชาวนา” การวิพากษ์รัฐบาลผ่านงานกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ ดูช่างรื่นรมย์ขื่นขม ลมๆ แล้งๆ หากแต่ก็กระทุ้งเอาผู้อ่านแทบจุก “เราเป็นชาติกสิกรรม เพลงเก่าแก่บอกเช่นนั้น” ดังในเนื้อความกวีนิพนธ์ดังกล่าวทีว่า

แดดร้อนชวนดอกไม้ขับสี

ข่าวรัฐบาลห้ามทำนาเพื่อชาติ

ชนชั้นกลางผลิยิ้มถึงความถูกต้อง

กระดูกสันหลังปาดหน้าผาก

รอยเหี่ยวโรยบนใบหน้าบอกฤดูกาล

เราเป็นชาติกสิกรรม

เพลงเก่าแก่บอกเช่นนั้น

ใครคนหนึ่งแต่งเพลงไว้

เพื่อชาติกสิกรรมของเรา

(ข่าวถึงชาวนา : 29)

 

“ไม่มีสงคราม…มีแต่ความสูญเสียกรีดร้อง…แต่ไม่ใช่สงคราม” บางตอนจาก กวีนิพนธ์ “ประเทศนี้ไม่มีสงคราม” ด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันอยู่ในทีของกวี จึงดูเหมือนว่า เราคนอ่าน ที่เพิ่งสบตาผ่านชื่อกวีนิพนธ์ดังกล่าว ต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า “ประเทศนี้ไม่มีสงคราม” จริงไหม? ดังเนื้อความกวีนิพนธ์ที่ว่า

ไม่มีสงคราม

เรามีแค่ความไม่สงบ

มีแค่ความรุนแรง

มีแค่การกดขี่ขูดรีด

และความเหลื่อมล้ำถ่มถุย

เรามีรอยยิ้มของคนจน

และรอยน้ำตาคนรวย

มีเสียงความสูญเสีกรีดร้อง

แต่ไม่ใช่สงคราม

(ประเทศนี้ไม่มีสงคราม : 34)

 

“จริงหรือไม่? ที่เราต่างถือความจริงกันคนละชุด และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความจริงที่เราถือนั้นเป็นความจริงของเราเอง ไม่ใช่ของคนอื่น” ในกวีนิพนธ์ “ประวัติศาสตร์เป็นความจริง” ผู้อ่านจะเห็นถึงความจริงของสังคมผ่านบทกวีที่ถูกประกอบสร้างผ่านประวัติศาสตร์ความจริง แบบลักๆ ลั่นๆ เป็นความจริงของฉัน ความจริงของเธอ เพราะท้ายที่สุดแล้ว “ประวัติศาสตร์เป็นความจริง (ที่) ใครคนหนึ่งแต่งมันไว้ (ประวัติศาสตร์เป็นความจริง : 52)

เพราะว่า “อคติ” กับ “อุดมคติ” นั้นเขียนต่างกันแค่นั้นใช่หรือไม่? จึงดูเหมือนว่าก้อนคำและก้อนความหมายของชุดคำดังกล่าว ดูจะเป็นเหมือนปริศนาคำทายที่ยังแหวกว่ายอยู่ในทะเลสังคมเสมอมา จากกวีนิพนธ์ “แผลเป็น” จะเห็นว่า ปรเมศวร์ กาแก้ว ได้บรรจงฝังแฝงรอยแผลเป็นไว้ในหัว (ใจ) ของผู้อ่านอย่างแนบนียน ดังในเนื้อความที่ว่า

หลงเข้าไปในโถงถ้ำของอคติ

มืดแสงไม่พบหนทาง

โลกข้างนอกตีบตันอยู่ภายใน

คมหินบาดเฉือนสร้างภาพทรงจำ

แผลเป็นบางแห่งไม่ทิ้งร่องรอย

(แผลเป็น : 82)

 

“เราแค่อยากเป็นผู้จารึกประวัติศาสตร์ หลอกประชาชนให้เราก่อน” จากเนื้อความดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า กวีนิพนธ์ “อย่าเพิ่งทิ้งไป” ชิ้นนี้ กวีบอกเล่าเรื่องราวผ่านน้ำเสียงอ้อนวอน มิต่างน้ำเสียงของนักการเมืองในยุคหาเสียงเลือกตั้ง การถ่ายทอดบทกวีชิ้นนี้ จึงเสมือนเป็นการล้อเลียนลูบคมอำนาจด้วยมือเปล่าๆ อย่างเฉยชา แต่ไม่ยักจะชาชินสักที อันแสดงถึงความงามง่าย มิต่างกับนโยบายหาเสียงก่อนการรับฟังผลคะแนน ที่เสียงนั้นอ้อนออดจนเคลิ้ม ดังในเนื้อความกวีนิพนธ์ที่ว่า

อย่าเพิ่งทิ้งเราไป

หลอกประชาชนให้เราก่อน

กล่อมให้หลงทำให้เชื่อง

ฝึกให้ดูโง่ๆ

สอนเทคนิควิธีไว้

หลอกให้ขุดคุ้ยฝังกลบ

ฝึกให้เลียเล็บมือเล็บเท้า

อย่าเพิ่งทิ้งเราไป

ประชาชนกำลังตามทัน

เราแค่อยากเป็นผู้จารึกประวัติศาสตร์

หลอกล่อประชาชนให้เราก่อน

(อย่าเพิ่งทิ้งไป : 109)

ด้วยความคิด ความหมาย และภาษาที่สอดร้อย รัดรึง ขึงพืด สั้น กระชั้น กระชับ ปาด เฉือน แล่ เล็ม กัดเซาะ กร่อน ควบแน่น อดีต ปัจจุบัน อนาคต ผนวกกับการบอกเล่าที่มีกลิ่นไอเฉพาะตัว จึงไม่แปลกที่กวีนิพนธ์ “นกในกรงของเพื่อนบ้าน” Birds in the Neighbor”s Cage เล่มนี้ จะดูงดงามทั้งภาษาและความหมาย ทั้งยังกักขังความเป็นไปของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องของการบ้านการเมืองที่ยังคงไม่เข้าที่เข้าทาง อนึ่ง แม้ว่างานกวีนิพนธ์จะถือเป็นงานแต่ง (Fiction) ไม่ใช่เรื่องจริง (Non-Fiction) แต่อย่างไรก็ตาม “ประวัติศาสตร์บางประวัติศาสตร์ต่างถูกบอกเล่าผ่านนามปากกา” จนเราเองอาจหลงลืมไปแล้วว่า เป็นตัวเราเองที่บอกเล่าเรื่องราวนั้นๆ

“ลืมไปแล้วว่าเป็นตัวเอง ตั้งแต่ไปเป็นคนอื่น ลืมว่ามีมิตรภาพ ลืมว่ามีอุดมการณ์ จำได้ก็แต่ ตอนนี้มีอำนาจ” (ตั้งแต่ไปเป็นคนอื่น : 63)