พยัคฆ์ร้าย 007 : ถอดรหัสมาร์ตินี | จิตวิญญาณจากหลังม่านเหล็ก – สายลับผู้คิดสูตรค็อกเทล

พยัคฆ์ร้าย 007 : ถอดรหัสมาร์ตินี (จบ)

จิตวิญญาณจากหลังม่านเหล็ก

นิยายเรื่องแรกสุดในชุดเจมส์ บอนด์ ของเอียน เฟลมมิ่ง คือ Casino Royale ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1953 และประสบความสำเร็จอย่างสูง มียอดขายถึง 41,000 เล่มภายในปีเดียว

ขณะที่เอกสารของทางการระบุว่า ปริมาณการบรรจุขวด vodka ในสหรัฐได้พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระหว่างนั้น คือจากเดิมในปี 1950 ที่มีจำนวนน้อยกว่า 387,000 แกลลอน ได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านแกลลอนในปี 1955

David A. Embury ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับค็อกเทลเล่มสำคัญคือ The Fine Art of Mixing Drinks (1958) กล่าวว่า เรื่องนี้น่าประหลาดใจไม่น้อย เพราะ vodka นั้นเป็นเครื่องดื่มของชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นอริกับชาวอเมริกัน

แล้วยังมีคุณสมบัติที่ผิดกับเหล้าทั่วๆ ไปที่ชาวอเมริกันนิยมดื่ม ซึ่งมักมีกลิ่นรสเฉพาะตัวอย่างวิสกี้หรือบรั่นดี

ขณะที่ vodka เป็นเหล้าไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และมีสถานะแทบไม่ผิดไปจากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ถูกเจือจางลงด้วยน้ำเปล่า

ยิ่งกว่านั้น Embury ยังบอกว่า เหล้ากลั่นแบบ vodka จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากเหล้าขาวเหล้าพื้นบ้านประเภท Mountain Dew, White Mule หรือ Cawn Likker ที่มีการกลั่นกันอยู่ทั่วไปนานแล้วทางตอนใต้ของสหรัฐ

ในความเห็นของ Embury การตลาดที่ยอดเยี่ยมของบริษัท Heublein ผู้จัดจำหน่าย vodka ตรา “Smirnoff” จึงถือเป็นผลงานขั้นยอดเยี่ยม ที่สามารถชักจูงคนหนุ่มสาวจำนวนมากให้หันมาชื่นชอบ vodka ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

และความสำเร็จของ Smirnoff ก็เกิดขึ้นด้วยการทุ่มโฆษณาอย่างหนักหน่วง สร้างภาพลักษณ์ว่ามันเป็น “สิ่งใหม่” ที่ทุกคนควรได้ลอง มีการใช้ดารานักแสดงดังๆ เป็นผู้โฆษณา

เช่น ในชิ้นหนึ่งมีสโลแกนว่า “Come out of your shell… try Smirnoff” (ออกมาพบสิ่งใหม่ๆ บ้างสิ… ลอง Smirnoff) พร้อมกับภาพนักแสดงชื่อดัง Woody Allen กำลังโผล่หน้าออกมาจากเปลือกหอย แสดงให้เห็นถึงการหลุดพ้นจากความซ้ำซากจำเจของเครื่องดื่มแบบเดิมๆ

ส่วนคำถามที่ว่าจะดื่มอย่างไร ทาง Smirnoff นำเสนอเมนูค็อกเทลจาก vodka มาพร้อมๆ กับการโฆษณาอย่างหลากหลาย มีทั้ง VODKA MARTINI และ VODKA & TONIC ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการพยายามจับ vodka ลงไปสวมแทนเครื่องดื่มดั้งเดิมอย่าง gin นั่นเอง

โดยหนึ่งในคำโฆษณายังระบุด้วยว่า คุณสมบัติสำคัญของ vodka คือความใสบริสุทธิ์ และไม่ทำให้ผู้ดื่มต้องรู้สึกถึง “กลิ่นเหล้า” เลยแม้แต่น้อย

ประเด็นนี้จึงถูก Embury นำมากล่าวล้ออย่างอดไม่ได้ว่า – ก็ถ้าคนเราไม่ต้องการได้กลิ่นเหล้าแล้วเขาจะกินเหล้าไปทำไมหรือ?

แต่อย่างไรก็ตาม ความบริสุทธิ์ไร้รสไร้กลิ่นของ vodka ก็ทำให้มันสามารถไปกันได้กับส่วนผสมที่หลากหลาย ทั้งน้ำผลไม้ ทั้งโทนิค ฯลฯ และเกิดเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในเวลาต่อมาหลายชนิด เช่น BLOODY MARY ซึ่งมีส่วนผสมเป็น vodka กับน้ำมะเขือเทศ ซอสปรุงรส เกลือ พริกไทยดำ

โดยมักเชื่อกันว่าการดื่ม BLOODY MARY ในมื้ออาหาร Brunch (ระหว่างมื้อเช้ากับกลางวัน) จะสามารถบรรเทาอาการเมาค้างจากคืนวานได้

และยังเกิดเมนูที่โด่งดังมากคือ MOSCOW MULE ที่ผสม vodka เข้ากับ ginger beer (น้ำขิงรสหวานอัดก๊าซ) อย่างง่ายๆ ในแก้วทรงเหยือกที่ทำจากทองแดงขนาดใหญ่ อัดแน่นไปด้วยน้ำแข็งบดละเอียดเพื่อคลายร้อน

นอกจากนั้น ยังปรากฏดารา-นักร้องและคนดังอีกหลายคนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาให้ Smirnoff เช่น Geoffrey Holder, Gypsy Rose Lee นักแสดง Elliot Janeway นักธุรกิจชื่อดัง Steve Allen ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ฯลฯ

และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ Smirnoff ย่อมไม่พลาดที่จะซื้อโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ชื่อดังอย่างเจมส์ บอนด์ ทุกภาค โดยเริ่มตั้งแต่เรื่อง Dr. No ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์เรื่องแรกซึ่งนำแสดงโดยฌอน คอนเนอรี ในปี 1962

ก่อนจะถอนสปอนเซอร์ออกในปี 2002 ด้วยเหตุผลว่ากลุ่มลูกค้าของ Smirnoff นั้นเปลี่ยนไปและไม่ใช่กลุ่มเดียวกับที่ดูหนังเจมส์ บอนด์ อีกต่อไปแล้ว

สายลับผู้คิดสูตรค็อกเทล

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าสนใจว่าในนิยายของเอียน เฟลมมิ่ง ตอนแรก (Casino Royale – 1953) ก็มีการพูดถึง vodka อยู่ในเรื่องด้วย เมื่อผู้เขียนให้เจมส์ บอนด์ คิดสูตรค็อกเทลขึ้นมาใหม่ โดยดัดแปลงจากมาร์ตินี

ในฉากหนึ่ง จึงปรากฏว่าบอนด์สั่งมาร์ตินีแบบพิเศษกับบาร์เทนเดอร์โดยระบุส่วนผสมเอง ว่าจะต้องประกอบด้วย

“Gordon”s gin สามส่วน vodka หนึ่งส่วน Kina Lillet ครึ่งส่วน เชคจนเย็นจัดอย่างน้ำแข็ง…”

(Kina Lillet คือ ap?ritif wine ชนิดหนึ่งที่บอนด์เลือกมาใช้แทนที่ vermouth)

บอนด์ตั้งชื่อค็อกเทลชนิดนี้ว่า VESPER เพื่อรำลึกถึงสายลับสาวชาวอังกฤษ Vesper Lynd ซึ่งมีสัมพันธ์สวาทกับเขา

ส่วนเรื่องที่บอนด์สั่งให้เชคหรือเขย่า (shake) แทนที่จะคน (stirr) มีหลายคนอธิบายว่าการเขย่ากับน้ำแข็งจะทำให้ค็อกเทล “เย็นกว่า”

แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่เคยชงค็อกเทลย่อมรู้ดีว่าทั้งสองวิธีไม่ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน เพราะการคนในระยะเวลาที่นานพอสมควร ย่อมสามารถทำให้ค็อกเทลมีความเย็นไม่ต่างไปจากการเชค

ยิ่งกว่านั้น ในหนังสือของ Embury ยังระบุว่าข้อเสียของการเชคก็คือเนื้อสีของค็อกเทลจะไม่ใสสวยเหมือนใช้คน เพราะ vermouth นั้นมีส่วนผสมหลักเป็นไวน์ ซึ่งจะเกิดความขุ่นเมื่อถูกเขย่าอย่างแรง

นอกจากนั้น การเชคยังทำให้น้ำแข็งในกระบอกละลายมากกว่าที่ควรจะเป็น ผลที่ได้จึงกลายเป็นมาร์ตินีที่ถูกเจือจางด้วยน้ำจนบางเกินไป

Embury จึงถึงกับระบุว่า เมื่อมาร์ตินีถูกเชค มันจะ “ไม่ใช่” มาร์ตินีอีกต่อไป แต่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า BRADFORD

และจากสูตร VESPER ของบอนด์ข้างต้น เรายังพบว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่บอนด์ดื่มก็ไม่ใช่ Vodka Martini เสียทีเดียว เพราะมันยังมีสัดส่วนของ gin ผสมอยู่ด้วยในปริมาณที่มากกว่า vodka ถึง 3 ส่วน

ในปัจจุบันมีคลับบางแห่งพยายามชงเครื่องดื่ม VESPER ของบอนด์เพื่อเป็นเมนูพิเศษ แต่ควรทราบว่านั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนผสมสำคัญคือ Kina Lillet ซึ่งแต่เดิมมีส่วนผสมของควินินและมีรสขม ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตไปแล้ว

ดังนั้น การผสมค็อกเทล VESPER เลียนแบบบอนด์ในวันนี้ จึงไม่มีทางได้ผลลัพธ์เป็นรสชาติแบบเดียวกับที่บอนด์ดื่มในปี 1953 แน่ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ความนิยมใน Vodka Martini ที่ถูกสร้างขึ้นโดยภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ ก็ปูทางให้กับการใช้ vodka ทำมาร์ตินีและเครื่องดื่มอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่านักดื่มผู้เคร่งครัดหลายคนจะพากันปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ว่ามาร์ตินีที่ใช้ vodka ทำนั้น ไม่ใช่และไม่มีทางเป็นมาร์ตินีไปได้

ดังนั้นเอง เราจึงพบชื่อที่จงใจตั้งขึ้นใหม่อย่าง VODKATINI เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า MARTINI

เขาสั่งมาร์ตินีกันอย่างไร?

โดยพื้นฐานแล้ว มาร์ตินีมี 3 แบบ คือ

1) DRY MARTINI ใช้ gin ผสมกับ dry vermouth เป็นค็อกเทลใสบริสุทธิ์ มีความ dry ไม่หวาน

2) SWEET MARTINI ใช้ gin ผสมกับ sweet vermouth สีออกแดง มีรสหวาน

3) PERFECT MARTINI (หรือ MEDIUM MARTINI) ใช้ทั้ง dry vermouth และ sweet vermouth ผสมกันอย่างละครึ่ง

ส่วนของที่เสิร์ฟพร้อมมาในแก้ว DRY MARTINI มีสองชนิดคือ

1) มะกอกดอง (olive) 1-3 ลูกเสียบไม้ มะกอกดองนี้จะกินระหว่างดื่มหรือกินหลังจากที่ดื่มมาร์ตินีหมดแก้วแล้วก็ได้

2) เปลือกเลมอน หรือที่เรียกว่า lemon twist ใช้บิดเพื่อให้น้ำมันจากเปลือกกระจายเคลือบผิวหน้าของเครื่องดื่ม ส่งผลให้มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ผู้ดื่มสามารถสั่งได้ว่าต้องการ olive หรือ lemon twist หรือหากต้องการทั้งสองอย่างก็เป็นไปได้เช่นกัน (หากไม่ระบุ บาร์ส่วนใหญ่จะเสิร์ฟพร้อมมะกอกดอง)

ส่วนในกรณีของ SWEET MARTINI สิ่งที่เสิร์ฟมาด้วยในแก้วมักเป็นผลเชอร์รี่ดองที่เรียกว่า Maraschino Cherry (มารัสคีโน เชอร์รี่ – หมายถึงผลเชอร์รี่ที่ดองในเหล้า Maraschino จริงๆ ไม่ใช่ผลเชอร์รี่สีแดงสดที่หวานจัดและใช้แต่งหน้าเค้กหรือไอศกรีม)

แต่หากผู้ดื่มต้องการให้เสิร์ฟ DRY MARTINI กับหัวหอมดอง (onion) แทนที่มะกอก เมื่อนั้นเครื่องดื่มชนิดนี้จะไม่ถูกเรียกว่า MARTINI อีกต่อไป แต่เรียกว่า GIBSON

ส่วน DRY MARTINI ที่ใส่น้ำดองมะกอกลงไปด้วยเล็กน้อย มีชื่อเรียกเฉพาะว่า DIRTY MARTINI ซึ่งก่อนสั่งควรแน่ใจว่าน้ำดองมะกอกนั้นไม่ใช่ของเก่าเก็บ เพราะน้ำดองมะกอกที่ถูกวางทิ้งไว้ในตู้เย็นเป็นเวลานานจะขุ่นและมีกลิ่นรสที่ไม่ดี

อนึ่ง ควรทราบว่าเครื่องดื่มค็อกเทลประเภทมาร์ตินีนี้เรียกกันว่า “short drink” ซึ่งหมายถึงเครื่องดื่มที่นิยมดื่มอย่างรวดเร็ว

เหตุผลสำคัญก็เนื่องมาจากมาร์ตินีเป็นเครื่องดื่มที่ไม่เจือน้ำแข็ง ดังนั้น การวางมันทิ้งไว้นานๆ เกินกว่า 5-10 นาทีจึงทำให้เครื่องดื่มนี้สูญเสียความเย็นและรสชาติอย่างที่ควรจะเป็นไปแล้ว