วิเคราะห์กรณีศรีลังกา : ความสูญเสีย ที่หวั่นกระทบสันติภาพ

กรณีศรีลังกา : เสียใจต่อความสูญเสีย และหวั่นกระทบสันติภาพ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกคน

21/4/62 โลกได้รับข่าวเศร้าอีกครั้ง จากข่าวระเบิดในศรีลังกา โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งอย่างน้อย 207 คน ส่วนเป้าหมายการก่อเหตุคือโบสถ์คริสต์และโรงแรมหรู

(โปรดดูรายละเอียดใน 1.https://www.bbc.com/thai/international-48002445 2. https://www.theguardian.com/world/2019/apr/21/sri-lanka-explosions-80-believed-injured-in-blasts-at-two-churches?fbclid=IwAR1fDvp0Z_onFXbRSgYfNcSXgjH1XfyoVYbN3TWrPwxCia8_lMRbw5LzgM8)

ผู้เขียนในฐานะมุสลิม (คนหนึ่ง) พลเมืองไทย และพลเมืองโลก ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียของทุกผู้ทุกนามในเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะการสูญเสียครั้งนี้ค้านกับหลักมนุษยธรรมในความเป็นประชาชาติเดียวกัน ค้านกับหลักศาสนธรรมที่คอยสอนเราตลอดถึงความเมตตาธรรม

ที่สำคัญ มันค้านกับหลักการอิสลามอันบริสุทธิ์ที่หลายต่อหลายครั้งกลุ่มขบวนการ (อ้างว่า) อิสลามออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือถูกโจมตี

สหพันธ์อุลามาอ์ (ปราชญ์) อิสลามนานาชาติ (IMUS) ในฐานะองค์กรด้านปราชญ์ผู้รู้อิสลามสายกลางและทรงอิทธิพลต่อโลกมุสลิม ออกแถลงการณ์ประณามการก่อการร้ายในศรีลังกา ทั้งที่ในโบสถ์ 3 แห่ง และโรงแรม 3 แห่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 138 คน

ระบุเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับหลักการศาสนาอิสลามและทุกศาสนาในแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่า ในทางศาสนาอิสลามนั้น การสังหารผู้บริสุทธิ์ หรือการทำร้ายคนในศาสนสถาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ถือเป็นบาปใหญ่มหันต์

ดังที่อัลลอฮ์กล่าวว่า

“ผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นการชดใช้ชีวิตหนึ่งหรือการบ่อนทำลายในโลก ก็เหมือนการฆ่ามวลมนุษย์ทุกคน และผู้ใดช่วยชีวิตหนึ่งก็เหมือนกับการช่วยชีวิตมวลมนุษย์ทุกคน” [ อัลกุรอาน, อัลมาอิดะฮ์ : 32]

(หมายเหตุ : แถลงการณ์นี้สรุปความโดย Dr.Ghazali Benmad)

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2183781011846809&set=pcb.1730321320444824&type=3&theater

โลกต้องช่วยกันประคับประคองสันติภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังความขัดแย้งทางชนชาติและศาสนาของศรีลังกาอันยาวนาน อย่าให้เข้าทางกลุ่มสุดโต่งด้านศาสนาที่คอยจะอ้างความชอบธรรมการแก้แค้น

ถ้าเราติดตามความขัดแย้งที่นี่พบว่า

“กว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพและเกิดสภาพทางการเมือง สังคมที่ดีกว่าเก่านั้น คนศรีลังกาต้องจ่ายกับคำว่าสันติภาพในราคาแพงมากๆ สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์นับไม่ถ้วน”

ในอดีต กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬนับถือศาสนาฮินดู ต่อสู้กับรัฐบาลศรีลังกาซึ่งส่วนใหญ่มาจากนับถือศาสนาพุทธแบบเคร่งครัด

สงครามอันนองเลือดในศรีลังการะหว่างชาวทมิฬในเขตจัฟนา ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นหนึ่งในความขัดแย้งภายในที่รุนแรงที่สุดในการเมืองโลกยุคร่วมสมัย จนแทบไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถยุติปัญหานี้ได้อย่างราบคาบเมื่อปี 2552

ถึงแม้ว่าชาวทมิฬจะนับถือศาสนาฮินดู ขณะที่ชาวสิงหลนับถือศาสนาพุทธแบบเคร่งครัด แต่ความแตกต่างในด้านความเชื่อไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวทมิฬเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ รากเหง้าของปัญหานี้ที่แท้จริงเกิดจากกระบวนการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” หรือ Divide and Rule ของอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคม

เมื่อศรีลังกาประกาศเอกราชจากอังกฤษ และเริ่มกระบวนการสร้างชาติสมัยใหม่ ความแตกแยกระหว่างชนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ก็ยิ่งร้าวลึกยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลสั่งควบรวมกิจการสถานศึกษาเป็นของรัฐ และบังคับใช้หลักสูตรที่มีเนื้อหายกย่องชาวสิงหลและศาสนาพุทธเพียงฝ่ายเดียว

ทำให้ชาวทมิฬรู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง จนก่อเกิดเป็นขบวนการประกาศเอกราช นำโดยกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือทมิฬไทเกอร์

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาแบ่งแยกดินแดนในศรีลังกาซับซ้อนอย่างมากก็คือการที่รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ สนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องทมิฬในศรีลังกา

ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และสร้างความแตกแยกภายในประเทศ

โดยนายราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียผู้เดียวที่กล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬของรัฐบาลทมิฬนาฑู ก็ต้องพบกับจุดจบที่น่าเศร้า

โดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียง ซึ่งคาดกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้สนับสนุนพยัคฆ์ทมิฬในอินเดีย

ท่ามกลางการต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬ มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

จนกระทั่งในปี 2552 นายมหินทรา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข

ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์

แม้ว่าในปัจจุบันสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะรายงานตรงกันว่าปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้นเป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากก็ตาม

(โปรดดู https://www.voicetv.co.th/read/66372)

ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า “โลกต้องช่วยกันประคับประคองสันติภาพดังกล่าว”

และอย่า (เปิดพื้นที่) ให้เข้าทางกลุ่มสุดโต่งด้านศาสนาและชาติพันธุ์ (ที่เริ่มขยายมากกว่าเดิม กล่าวคือ จากปัญหาเฉพาะระหว่างฮินดู-พุทธเป็นตัวละครใหม่ มุสลิม คริสเตียน) ที่คอยจะอ้างความชอบธรรมการแก้แค้น