จีนเที่ยวจีน 40 ล้านคน บนทางสายไหมโบราณ 5,000 ก.ม. ซินเจียงอุยกูร์

“เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์” อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน บนพื้นที่ 1.6 ล้าน ตร.ก.ม. กว้างใหญ่ 1 ใน 6 ของจีน มากเป็น 4 เท่าไทยทั้งประเทศ ทิศเหนือติดคาซัคสถานกับรัสเซียและมองโกเลีย

ทิศใต้จดเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนกับอินเดีย ทิศตะวันออกติดมณฑลชิงไห่กับกานซู ส่วนทิศตะวันตกติดคาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถานและปากีสถาน

ประชากร 21.81 ล้านคน เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ 47 เผ่า สูงสุด 45% คืออุยกูร์หรือ “เหวยอู๋เอ่อ” 8.3 ล้านคน รองลงมาจีน “ฮั่น” 41% หรือ 8 ล้านคน นอกนั้นเป็นคาซัค “ฮาซาเด่อ” หุย, คีร์กิซ “เคอเอ่อเค่อซือ” มองโกล, ตงเซียง, ทาจิก, ซีเปอ แต่มีแค่ 0.2-7% เท่านั้น

ซินเจียงมักมีบทอัศจรรย์ ที่ชาวฮั่นเชื้อสายจีนขยันกระทบกระทั่งอุยกูร์สายพันธุ์มุสลิมเติร์ก (ตุรกี) ก่อสงครามกลางเมืองกันบ่อยครั้งทั้งที่อยู่แผ่นดินเดียวกัน

กลางปี 2552 คนงานชาวฮั่นทะเลาะกับคนงานอุยกูร์ ในโรงงานกลางเมือง “อูหลู่มู่ฉี” อุยกูร์ตายไป 2 คน กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เมื่ออุยกูร์ลุกขึ้นมาต่อต้าน อ้างเจ้าหน้าที่จีนหนุนฮั่น และเลือกปฏิบัติแบบไม่เสมอภาคกับอุยกูร์

เรื่องนี้มาจากความขัดแย้งที่มีกันมานาน รัฐบาลจีนก็รู้อยู่เต็มอกว่าอุยกูร์ได้รับแรงหนุนจาก “ขบวนการอิสลามเตอร์กีสถานตะวันออก” ซึ่งมีฐานปฏิบัติการลับๆ อยู่แถบตะเข็บชายแดนที่คิดจะแยกดินแดนซินเจียงเป็นรัฐเอกราชอุยกูร์ให้ได้

เหตุจลาจลครั้งนั้นมีคนล้มตายไป 156 คน บาดเจ็บกว่า 1,000 คน ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ขณะนั้นต้องสั่งกองกำลังเต็มอัตราไปคุมสถานการณ์ เพราะมองว่าเป็นการตบหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉาดใหญ่…อย่างไม่เกรงใจกัน!

วันนี้…ถึงเหตุการณ์จะยุติแล้ว แต่จีนก็ยังรู้ว่าอุยกูร์แอบเป็นหนามยอกอก รับเงินและอาวุธจากกลุ่มแนวร่วมแยกดินแดน รัฐบาลกลางปักกิ่งจึงคิดจะกลืนคน “ชาติพันธุ์อุยกูร์” ด้วยการอพยพชาวฮั่นจากมณฑลต่างๆ เข้าไปทำกินอยู่ในซินเจียงเพิ่มมากขึ้น

นี่คือประวัติศาสตร์บทหนึ่งของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ที่น่าจับตาดู!

แต่ อีหม่าปู้ ไน่ซือเอ่อดิง ผู้บริหารระดับสูงสำนักงานท่องเที่ยวซินเจียง กลับมองเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยบนความขัดแย้งจากคน 2 กลุ่ม ไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีโดยรวมของซินเจียง

“ซินเจียงเป็นเมืองโบราณอายุกว่า 2,000 ปี สมัยวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาแดงกับดินเผาดำ ยุคราชวงศ์เซี่ย เรื่อยมาหลายราชวงศ์ สุดท้ายที่ราชวงศ์ฮั่นเมื่อปี ค.ศ.220”

อีหม่าปู้ยังบอกด้วยว่า ยุคราชวงศ์ถังถิ่นนี้เคยรุ่งเรืองด้านการค้า การคมนาคม และวัฒนธรรมผสมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แล้วตกผลึกเป็นวัฒนธรรมเดียวกันบนซีกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือจีน และต่อมากลายเป็นเส้นทางสายไหมที่ยาวไกลจากเหนือจรดใต้กว่า 5,000 ก.ม.

มาร์โค โปโล นักสำรวจดินแดนคนสำคัญของโลก เคยเดินทางถึงเส้นทางสายไหมโบราณหรือ Silk Road สายนี้มาแล้วเช่นกัน

อีหม่าปู้เล่าอีกว่า ซินเจียงเป็นส่วนหนึ่งของจีนมานาน และเคยแยกตัวเป็นรัฐอิสระสาธารณรัฐเตอร์กีสถานตะวันออกอยู่สองครั้ง ท้ายสุดถูกจีนยึดคืนมาได้เมื่อปี พ.ศ.2492 พอปี 2498 จึงสถาปนาเป็นเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เทียบเท่ามณฑล และเป็นเขตปกครองตนเองขนาดใหญ่สุดใน 6 เขตปกครองตนเองของจีน

พร้อมกันนั้นก็พัฒนาทุ่งเลี้ยงสัตว์ 60 ตร.ก.ม. บนความสูง 680-920 เมตรจากระดับน้ำทะเล ให้เป็นเมืองเอกซินเจียงชื่อ “อูหลู่มู่ฉี” ซึ่งเป็นภาษามองโกลแปลว่า “ทุ่งหญ้าสุดสวย”

“รัฐบาลกลางปักกิ่งให้ความสำคัญกับถิ่นนี้ ถึงได้ทุ่มงบฯ หมื่นล้านหยวนลงไปพัฒนาให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจทางฝั่งนี้ มีการสร้างสนามบิน เส้นทางรถไฟและถนนเชื่อมมณฑลต่างๆ สร้างโรงพลังงานไฟฟ้า ท่าเรือขนส่งสินค้า ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีระหว่างประเทศ”

ปัจจุบันอูหลู่มู่ฉีมีประชากร 1.5 ล้านคน กับโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ธนาคาร สถานพยาบาล และบริการด้านสาธารณูปโภคทุกสาขา และเมื่อเมืองนี้มีชนเผ่าอยู่มาก การค้าขายที่นั่นจึงจำเป็นต้องใช้ภาษา 3 ภาษาสื่อสารกัน ได้แก่ จีน อาหรับ รัสเซีย จะเห็นได้จากป้ายประดับหน้าสถานประกอบการทั่วไปในอูหลู่มู่ฉี

ด้านท่องเที่ยวอีหม่าปู้รับว่า หลังจีนเปิดให้คนออกเที่ยวต่างประเทศได้ และขณะนี้เที่ยวกันปีละ 122 ล้านคน จากประชากร 1,400 ล้านคน แต่ยังมีคนจีนอีกมากนิยมเที่ยวในประเทศ ทว่า…ซินเจียงเคยล้าหลังเรื่องนี้มาก่อน ด้วยผู้คนยังหวั่นภัยก่อการร้าย พายุหิมะถล่ม แผ่นดินไหว อากาศแห้งแล้งไม่มีความชุ่มชื้น ปริมาณฝนน้อยมาก ปัจจัยลบซินเจียงอยู่ไกลค่าเดินทางจึงสูงมาก

เมื่อ 40 ปีก่อนคนจีนไปเที่ยวซินเจียงแค่หลักหมื่นคนต่อปี ต่างชาติปีละ 80 คน เพราะรัฐบาลยุคนั้นกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมจะถูกทำลาย โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมซึ่งมีทั้งเมืองโบราณ วัด สุสานฝังศพคนยุคนั้น ทัศนียภาพขุนเขา จึงยังไม่พร้อมที่จะขายท่องเที่ยวยามนั้น

จนเมื่อมีการออกกฎหมายแบ่งโซนสีแดงคุมเข้ม โซนสีเขียวผ่อนปรนแต่ต้องคอยระวัง รัฐบาลกลางจึงหันมาใส่ใจ จัดสรรงบประมาณให้พัฒนาปัจจัยพื้นฐานรองรับท่องเที่ยวมากขึ้น อาทิ พัฒนาสนามบิน ถนนเชื่อมมณฑลต่างๆ และสู่แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ มีการกำหนดแผนท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

โดยคำนึงถึงความสมดุลของพื้นที่กับจำนวนคน

ผลตอบรับเมื่อปี พ.ศ.2550 คนจีนแห่ไปซินเจียง 21.6 ล้านคน ต่างชาติ 4.38 แสนคน

จากนั้นเพิ่มเป็น 40 ล้านคน ต่างชาติ 1 ล้านคน มากสุดคือญี่ปุ่น รองลงมาเกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน คนไทยปีละ 1,300 คน ส่วนคนซินเจียงไปเที่ยวหาความชุ่มชื้นเมืองไทยปีละ 9,000 คน

ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมตรงที่คณะกรรมการบริหารพื้นที่ท่องเที่ยว ได้จำแนกแหล่งท่องเที่ยวเป็น 6 ประเภทตามศักยภาพ ได้แก่ ธรรมชาติซึ่งซินเจียงมีภูเขาสูง 3 แห่ง ตั้งแต่เหนือถึงใต้ คือ เทียนฉาน, คุนหลุนซาน อาเอ่อไท่ซัน กับมีที่ราบต่ำ “ถู่หลู่ฟัน” ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 157 เมตร รองจากเดดซีจอร์แดน มีภูเขาหิมะปกคลุมตลอดปีที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบ

 

นอกจากนี้มีทะเลสาบน้ำจืด “บ๋อซือเถิง” ใหญ่สุดของจีน และห่างทะเล 3,000 ก.ม. จึงไม่มีทางให้สายน้ำไหลลงสู่ทะเล มีทะเลทราย “ทากลามากัน” หรือ “ถ่าเค่อลาหม่ากัน” ใหญ่สุดในจีน ติดอันดับ 2 รองจากสะฮาราในแอฟริกา และทะเลทราย “กู่เอ่อบันทงกู่เท่อ” แหล่งน้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติชั้นนำเหนือแผ่นดินซินเจียง

แหล่งท่องเที่ยวแบบวิถีชนเผ่า ที่นี่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงม้าพาหนะชาวมองโกลกับแมนจูเรียและทิเบต โดยคนเหล่านี้จะเลือกมาสร้างกระโจมเป็นแคมป์อาศัย ในช่วงฤดูร้อนเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่อุณหภูมิ 40 องศา ซึ่งร้อนมากตอนกลางวัน และหนาวเย็นตอนกลางคืน

ช่วงนั้นกลางวันจะนานกว่ากลางคืน พระอาทิตย์ขึ้น 9 โมงเช้าค้างฟ้าไปถึงเที่ยงคืน และตามเขตกำหนดเวลา (Time Zone) ปักกิ่งจะห่าง 6 ช.ม. ซินเจียงห่าง 8 ช.ม. แต่รัฐบาลจีนกำหนดให้ใช้เวลาเดียวกับปักกิ่งทั้งหมด ดังนั้น…พระอาทิตย์จะขึ้นที่ซินเจียง 9 โมงเช้า แล้วทำมุมตั้งฉากพื้นดินบ่าย 2 โมงตรง

นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในการขายท่องเที่ยวได้อีกปรากฏการณ์หนึ่ง

ซินเจียงยังได้ชื่ออีกว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงเกษตรสำหรับชวนเที่ยวไร่องุ่น ที่เจริญพันธุ์ด้วยน้ำที่ละลายจากหิมะ เพราะไร้ฝนและแหล่งน้ำหล่อเลี้ยง กระนั้นองุ่นแดนนี้กลับมีผลผลิตป้อนตลาดทั่วจีนถึง 80% มีการจัดเทศกาลองุ่นประจำปี

และยังเป็นแหล่งปลูกฝ้ายบนที่ดินมหาศาล 3 ใน 4 ของประเทศ สร้างสินค้าจำพวกผ้าฝ้ายทอชั้นนำเสริมตลาดท่องเที่ยวได้อีกด้วย

“เดี๋ยวนี้ซินเจียงมีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก และถึงจะมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่มากก็จริง แต่เราก็เลือกมาขายเพียง 468 แห่ง เป็นเกรดเอ 152 แห่ง เกรด 5 เอ เยี่ยมสุด 3 แห่ง ที่เหลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับมาตรฐาน ด้านบริการเราสร้างบุคลากรไว้ 1.6 แสนคน เป็นไกด์ใช้ภาษาต่างประเทศได้ 9,425 คน มีธุรกิจนำเที่ยวขายคนจีน 375 บริษัท ขายต่างชาติ 51 บริษัท โรงแรม 403 โรง”

นี่คือโฉมหน้าใหม่ด้านท่องเที่ยวซินเจียง ที่รัฐบาลจีนได้เร่งแก้ปัญหาภายใน พร้อมทุ่มลงทุนสร้างกำแพงป้องกันเงินหยวนไหลออก ที่ไทยควรมองก่อนตลาดจีนจะหายไปในอนาคตอันใกล้ หากยังแก้ปัญหาทัวร์จีนแบบตาบอดคลำช้างอยู่อย่างที่เห็น!