พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : การเมืองเรื่อง PM 2.5 กลุ่มทุนได้ประโยชน์ ภาครัฐลอยตัว ชาวบ้านคือแพะรับบาป

เป็นวิกฤตระดับวาระแห่งชาติที่ดำเนินมายาวนานกว่าหลายสัปดาห์แล้วสำหรับสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำปาง

สำหรับเชียงใหม่เองถือว่าวิกฤตหนักที่สุดรั้งอันดับหนึ่งเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก

แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายวันแล้วแต่ฝุ่นควันในตัวเมืองเชียงใหม่กลับไม่มีวี่แววจะลดลง ซ้ำร้ายยังพุ่งสูงต่อเนื่องไร้ทีท่าของผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว เห็นก็แต่เพียงการระดมกำลังฉีดน้ำขึ้นฟ้าอย่างแข็งขัน วิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาท้วงติงแล้วว่า ไม่สามารถลดค่าฝุ่นละอองในอากาศได้แต่อย่างใด

ทว่าสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเกิดขึ้นมายาวนานเกือบทศวรรษเห็นจะได้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปอยู่ที่เชียงใหม่เป็นระยะเวลา 4 ปีเศษๆ สถานการณ์ฝุ่นพิษที่ว่ามักจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี

และเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ว่านี้โดยตลอด

เมื่อลองสอบถามเพื่อนชาวเชียงใหม่หลายคนมองว่า เป็นวิกฤตที่ต้องเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว และผู้ที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นชาวบ้านที่บุกรุกเผาป่าเผาหญ้าเพื่อหาผักหวาน-เก็บเห็ดเผาะมาขาย

ซึ่งสาเหตุที่ว่านี้ก็เคยได้รับการยืนยันจากอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเองด้วย

 

หากเราลองคิดกันแบบหยาบๆ ตามคำบอกเล่าที่ทางการกล่าวอ้าง การเผาป่าเผาหญ้าเพื่อเก็บเห็ดเก็บผักมาขายนั้นสามารถก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ลุกลามบานปลายไปทั่วทั้งจังหวัดได้เพียงนั้นเชียวหรือ?

จริงอยู่ที่การเก็บผักหวานและเห็ดเผาะต้องอาศัยการเผาหน้าดินเพื่อการแตกยอดของผักหวาน แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นพิษ-หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออันมหาศาลขนาดนี้

เพราะแท้จริงแล้วภายใต้ม่านควันสีขาวคลุ้งลอยตัวกลางอากาศมีต้นตอจากกระบวนการทำไร่ข้าวโพดของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ผูกขาดต่างหาก

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาภาครัฐอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน

นโยบายที่ว่าได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทั่วประเทศ 53 จังหวัด เฉพาะในภาคเหนือมากถึง 15 จังหวัด ด้วยความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในท้องตลาดที่มีสูงถึง 7.95 ล้านตัน

ในขณะที่ไทยมีพื้นที่ปลูกเพียง 6.71 ล้านตันเท่านั้น

รัฐจึงทำการอัดฉีดเงินทุนสนับสนุนด้วยข้อเสนอแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ 1 สตางค์โดยให้เกษตรกรกู้เป็นเงินทุนหมุนเวียนไร่ละ 3 พันบาท

 

ความมุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรจากภาครัฐไม่ใช่ความหวังดีกับภาคประชาชนหรือภาคเกษตรชาวบ้าน แต่เป็นการเกื้อหนุน-สนับสนุนให้กับเอกชนนายทุนรายใหญ่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ากลุ่มทุนรายใหญ่ของประเทศมีรายได้เติบโตด้วยเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยแบบก้าวกระโดด

ซึ่งกลุ่มทุนที่ว่าก็มีรายได้มาจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเมล็ดพืชเป็นสำคัญ

เมื่อวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์อย่างข้าวโพดไม่เพียงพอจนต้องมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า

ทำให้ทุกปีภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้มีการออกนโยบาย-แรงจูงใจส่งเสริมให้ภาคเกษตรหันมาทำไร่ข้าวโพด แทนที่การปลูกข้าวนาปรัง

ด้วยการพยายาม propaganda ว่าหากชาวบ้านยังดันทุรังทำนาปรังแบบเดิมข้าวจะออกมาล้นตลาด สูญเสียทั้งผลผลิตและรายได้จุนเจือครอบครัว

เมื่อรัฐมีนโยบายส่งเสริม บวกกับการมีเอกชนรอซื้อผลผลิตอยู่ตรงหน้าแล้ว จึงไม่แปลกที่เกษตรกรจะหันไปทำไร่ข้าวโพดแทนอย่างที่ภาครัฐพึงปรารถนา

สิ่งที่หลงเหลือตามมาจากการทำไร่ข้าวโพดด้วยสเกลขนาดใหญ่ก็คือ ซังข้าวโพด

หลายคนสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ใช้วิธีการทำลายด้วยการฝังกลบทำปุ๋ย

นั่นก็เป็นเพราะว่าการฝังกลบในแต่ละทีไม่ได้ใช้กำลังคนขับรถไถบนหน้าดินไปมาเท่านั้น

อย่าลืมว่าปริมาณการปลูกมีพื้นที่กว่าหลายล้านไร่ ฉะนั้น วิธีการที่เร็วที่สุดในการกำจัดจึงเป็นการเผาทิ้งไปเสีย

นี่คือปัจจัยหลักของการเกิดกลุ่มหมอกควันขนาดใหญ่ที่เป็นปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้

 

ผลพวงจากการหันมาทำไร่ข้าวโพดผลิดอกออกผลในรูปแบบของฝุ่นควัน PM 2.5 ลอยคลุ้งในชั้นบรรยากาศทุกๆ หน้าแล้งของปี เมื่อบวกกับภูมิประเทศของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะทำให้เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นพิษจึงลอยตัววนเวียนอยู่ภายในพื้นที่ไม่สามารถสลายหายไปในเร็ววันเช่นเดียวกับวิกฤตฝุ่นควันในกรุงเทพมหานครได้

แม้แต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑลเองก็มีผลสืบเนื่องจากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมรถยนต์ดีเซล

หากภาครัฐออกมาตรการเข้มงวดกวดขันกับทั้งสองส่วน แน่นอนว่าผู้ที่เสียประโยชน์ คือรัฐและกลุ่มทุนผูกขาด

ซึ่งรัฐก็คงไม่เลือกที่จะทำแบบนั้นแต่หันมาใช้วิธีผักชีโรยหน้าอย่างการฉีดพ่นน้ำประมาณสี่ห้าวัน ภาวนาให้ฝนตกลงมาชะล้างฝุ่นควันเหมือนที่ท้องถิ่นเชียงใหม่กำลังทำอยู่ในขณะนี้

พอพ้นช่วงวิกฤตไปก็กลับเข้าสู่ลูปเดิม ภาครัฐนิ่งเฉย กลุ่มทุนแสวงหาผลประโยชน์ต่อ และประชาชนที่รอวันตายด้วยโรคทางเดินหายใจ

ตราบใดที่รัฐยังไม่เอาจริงเอาจัง และเห็นแก่การตักตวงผลประโยชน์ใส่กระเป๋ามากกว่าคุณภาพชีวิตของพลเมืองในรัฐ

นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดมาแล้วหายไป เพราะเมื่อถึงฤดูแล้งเมื่อไหร่สิ่งนี้จะยังคงวนเวียนกลับมาหลอกหลอนเราเช่นเดิมทุกปี นอกจากจะไม่จัดการกับต้นตอแล้ว มาตรการป้องกันเบื้องต้นอย่างหน้ากากอนามัย N95 ยังขาดตลาดซ้ำซาก แถมกลุ่มร้านค้าบางเจ้ายังมีความพยายามกักตุนสินค้าหวังเก็งกำไรอีกด้วย

ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการ ความไม่จริงใจของภาครัฐ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ภาครัฐกลับโยนความผิดให้กับชาวบ้านอย่างไม่ยี่หระ นี่ไม่ใช่เรื่องของคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องของคนเชียงใหม่ แต่ปัญหาฝุ่นควรถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องมีการเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด

ฝุ่นควัน PM 2.5 คือบทสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้โดยสิ้นเชิง