ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ วิกฤตหมอกควัน บทสะท้อนภาวะผู้นำ

บทเรียนจากต่างประเทศ

เดือนธันวาคม ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) ในยามที่อากาศหนาวเหน็บ นครลอนดอนเกิดวิกฤตหมอกควันครั้งร้ายแรงที่สุด เรียกว่า The Great Smog of London 1952 คำว่า smog คือภาวะที่มีการผสมผสานของควันที่เกิดจากการเผาไหม้ (smoke) กับหมอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (fog)

วิกฤตหมอกควันครั้งนั้นถูกจัดว่าเป็นพิบัติภัยครั้งรายแรงลำดับที่ 10 ที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์

เหตุการณ์นั้นทำให้ประชาชนเสียชีวิตประมาณ 12,000 คน

หลังจากที่เกิดหมอกประหลาดสีเหลืองหนาทึบในนครลอนดอนเป็นเวลา 5 วัน

ตอนแรกไม่มีผู้ใดให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์หมอกประหลาด

ผู้คนยังคงเดินฝ่าหมอกสีเหลืองไปทำงานตามปกติ เพราะนครแห่งนี้ถูกปกคลุมด้วยหมอกเป็นประจำอยู่แล้ว เนื่องจากช่วงนั้นอากาศหนาวเย็นมาก ทำให้ทุกบ้านเรือนและอาคารสถานที่ต่างๆ เร่งโกยถ่านหินเข้าไปในเตาผิง เพื่อให้เกิดการเผาไหม้และแผ่ความร้อนให้ร่างกายอบอุ่น

สมัยนั้นถ่านหินถือว่าเป็นเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยม เพราะให้ความร้อนสูงกว่าฟืนไม้

คนอังกฤษหารู้ไม่ว่า ควันจากการเผาไหม้ถ่านหินจะมีความเป็นพิษสูง

แต่การเผาไหม้ถ่านหินปริมาณมากทำให้ทัศนวิสัยหรือความสามารถในการมองเห็น (visibility) ลดลงเหลือเพียงไม่กี่เมตร ทำให้การขับรถยนต์สัญจรไปมาลำบาก

ในวันที่ 3 ของช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันในลอนดอน ทัศนวิสัยเหลือเพียง 1 ฟุต

แม้ว่าก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตหมอกควันหลายวัน นักวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ส่งรายงานเตือนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศไปยังวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในขณะนั้นหลายฉบับ

แต่ข้อเท็จจริงไม่ถึงมือผู้นำ

หนึ่งในทีมเลขาฯ หน้าห้อง หลังจากที่เปิดเอกสารลับแล้ว แทนที่จะส่งต่อไปให้ถึงมือเชอร์ชิลผู้เป็นเจ้านาย ชายคนนี้คือ “เกลือเป็นหนอน” ลอบนำเอาเอกสารลับฉบับนั้นไปให้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน หวังที่จะโค่นเชอร์ชิลให้ออกจากตำแหน่ง เพราะรับใช้ประชาชนมายาวนานเกินไป!

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าในประเทศไหนในโลก ก็มักจะมีกลุ่มที่คิดถึงผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นระยะๆ

 

เมื่อเชอร์ชิลไม่ได้รับข้อมูล เขาก็ไม่คิดว่าปรากฏการณ์หมอกควันสีเหลืองนั้น จะวิกฤตขนาดที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากเจ็บป่วยและล้มตายในฉับพลัน

และไม่คาดคิดว่าสถานการณ์เช่นนี้สามารถโค่นเก้าอี้ของเขาลงได้ง่ายๆ

นายกรัฐมนตรีอดีตวีรบุรุษสงครามโลกผู้นี้ จึงปล่อยให้ประชาชนเดินสูดดมและสัมผัสหมอกควันพิษซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นแขวนลอย (Particulate Matter หรือ PM) และมีความเป็นกรดสูง เพราะการเผาไหม้ของถ่านหินปลดปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อผสมกับความชื้นในอากาศจึงกลายเป็นกรดซัลฟุริก ซึ่งมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนสูง สามารถทำลายอวัยวะภายในของร่างกายอย่างฉับพลันหลังจากที่สูดดมเข้าไป

ผลก็คือประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และล้มตายเป็นจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาล แต่ยังไม่มีการสั่งการจากผู้นำของประเทศ

จนทำให้ทีมแพทย์และประชาชนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำของเชอร์ชิล

บังเอิญมีเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งทำงานให้เชอร์ชิล ถูกรถชนตายหลังจากที่นำแม่เข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา เชอร์ชิลไปโรงพยาบาลเพื่อเคารพศพเธอเป็นครั้งสุดท้าย

แล้วเขาก็ต้องตกตะลึงกับสภาพที่เห็นในโรงพยาบาล

 

เชอร์ชิลพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และแสดงภาวะความเป็นผู้นำอย่างชนิดที่ฝ่ายตรงข้ามคาดไม่ถึง เขาให้เจ้าหน้าที่เชิญนักข่าวไปฟังการแถลงข่าวที่โรงพยาบาลในบัดดล นอกจากการสั่งเพิ่มงบประมาณและเพิ่มบุคลากรให้แก่โรงพยาบาลแล้ว เขาสั่งการให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งหยุดเครื่อง เพื่อลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ

ความเฉียบขาดของผู้นำ ทำให้วิกฤตหมอกควันในนครลอนดอนคลี่คลายไปในเวลาอันสั้น

แม้เวลาล่วงเลยมาแล้วเกือบ 70 ปี The Great London Smog 1952 เป็นบทเรียนชี้ให้คนทั่วโลกเห็นโทษภัยของมลพิษทางอากาศที่มีต่อชีวิตมนุษย์ ยกเว้นผู้นำบางประเทศที่ยังมองไม่เห็นในขณะนี้

ในช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันในนครลอนดอน เชอร์ชิลมิได้กล่าวโทษว่าปัญหาเกิดจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความควบคุมของเขา โดยข้อเท็จจริง ช่วงนั้นสภาพอากาศในลอนดอนเป็นแบบแอนตี้ไซโคลน (Anticyclone) คือ เกิดภาวะความกดอากาศสูงอยู่ตรงกลาง อากาศโดยรอบเคลื่อนที่อย่างช้าๆ และทำให้ลมสงบนิ่ง มลพิษทางอากาศจึงสะสมและเข้มข้น

เมื่อแอนตี้ไซโคลนเกิดในซีกโลกด้านเหนือเส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา หากเกิดในซีกโลกด้านใต้จะหมุนทวนเข็มนาฬิกา

นักการเมืองที่มีภาวะผู้นำสูงอย่างยิ่งอย่างเชอร์ชิล ได้ใช้อำนาจอันชอบธรรมในขอบเขตของนายกรัฐมนตรีสั่งการ และสามารถคลี่คลายปัญหาได้อย่างฉับไว สามารถพลิกสถานการณ์ จากคนที่ประชาชนเกือบจะหมดศรัทธา มาเป็นผู้นำที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นมากกว่าที่เคยเป็นมา

บทเรียนจากจีนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จีนรายงานว่าผู้บริหารกรุงปักกิ่ง ซึ่งเผชิญกับวิกฤตคุณภาพอากาศทุกปี เขามิได้โทษว่าเป็นเพราะลมพัดทรายมาจากทะเลทรายโกบี ทำให้ควบคุมอะไรไม่ได้ แต่เขาได้วางแผนตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

และเขาประสบความสำเร็จในการที่สามารถลดระดับความรุนแรงของปัญหาลงไป 10-20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

ภาวะผู้นำไทย

ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำไทย ตั้งแต่ระดับสูงสุด (นายกฯ) และข้าราชการระดับสูงของจังหวัด (ผู้ว่าฯ) ผู้ที่ต้องดูแลรับผิดชอบความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมากว่า ภาวะวิกฤตหมอกควันซึ่งบั่นทอนชีวิตของประชาชนไทยทั่วหน้า เป็นผลมาจากสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่ตนทำอะไรไม่ได้ และต้นตอของปัญหามาจากที่อื่น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก อยู่นอกเหนือความควบคุม

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่และขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ด้วยลีลาและเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันว่า ปัญหาหมอกควันเกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ในพื้นที่ที่ตนดูแลรับผิดชอบมี Hotspot ไม่กี่จุด แต่ไม่ได้บอกว่ามีการดับไฟเหล่านั้นจนเหลือศูนย์ (zero burning) หรือไม่

พร้อมกับกล่าวว่า ลมฟ้าอากาศเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ และจุด hot spot อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง

และอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า

 

PM 2.5 มัจจุราชเงียบ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ แถลงในนามตัวแทนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า ฝุ่นละอองจิ๋วขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) (1 ไมครอน = 1 ในล้านส่วนของเมตร) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ถ้าหายใจเอา PM 2.5 เข้าไปในร่างกาย ในระยะเวลา 1 วัน อาจเกิดอาการอักเสบ ทำให้โรคประจำตัวกำเริบ หากเข้าปอดอาจทำให้ปอดอักเสบ โรคถุงลมโป่งพองกำเริบ

ผ่านจากปอดแล้วทะลุทะลวงเข้าไปสู่อวัยวะอื่นๆ หากเข้าไปในเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

และหากเข้าไปในหลอดเลือดในสมองแล้วอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก (stroke) หากไม่เสียชีวิตเฉียบพลัน ก็อาจทำให้เป็นอัมพาตได้

นอกจากนี้ ฝุ่นจิ๋วขนาด PM 2.5 ยังทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัด ไซนัสกำเริบ ความสามารถในการเรียนและออกกำลังกายในนักเรียนลดลง ทำให้ประสิทธิภาพของคนในวัยทำงานลดลง เมื่อการนอนหลับสนิทถูกรบกวน กระทบคุณภาพชีวิต ความเจ็บป่วย และสุขภาพโดยรวม

ในระยะยาว หากอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี PM 2.5 อยู่ในระดับสูงตลอดปี จะทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดแข็งตัว มะเร็งปอด

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วงที่เชียงใหม่เริ่มประสบปัญหาหมอกควัน ญาติของคนที่ผู้เขียนรู้จักเสียชีวิตอย่างฉับพลันด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก 2 ราย คนหนึ่งเป็นเพศหญิง เลือดกำเดาไหลแล้วคิดว่าไม่เป็นอะไร ไปนั่งกินข้าวที่ร้านอาหาร แล้วก็เลยฟุบเสียชีวิตคาจานข้าว

อีกรายหนึ่งเป็นเพศชาย เลือดกำเดาไหลในเวลากลางคืนจนเปื้อนหมอน แล้วก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกไม่นาน

คำแถลงของศาสตราจารย์ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จึงช่วยไขปริศนาสาเหตุของอาการเส้นเลือดในสมองแตกอย่างเฉียบพลันในผู้ที่เสียชีวิตได้เป็นอย่างดีว่ามาจาก PM 2.5 นี่เอง

 

คุณหมอสรุปทิ้งท้ายว่า PM 2.5 เป็นฆาตกรที่มองไม่เห็น ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าอย่างอื่น

นอกจากนั้น ในการบรรยายหัวข้อ “มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง” ที่คณะแพทยศาสตร์จัด ศาสตราจารย์ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ยังได้เผยว่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นตลอดชีวิต อายุขัยสั้นลง 0.98 ปี

PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่เพิ่มขึ้นต่อวัน จะทำให้มีอัตราการเข้ารับการรักษาทั้งที่ห้องฉุกเฉินและผู้ป่วยใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งเกิดจากภาวะเฉียบพลันของโรคเส้นเลือดแตกในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพอง และหอบหืดกำเริบ

สาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของคนไทย 5 ลำดับคือ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด และการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต 4 ลำดับแรกสัมพันธ์กับมลพิษทั้งสิ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกับสาเหตุการเสียชีวิตของคนในต่างประเทศที่พบว่า PM 2.5 สัมพันธ์กับการเสียชีวิตจาก 4 โรคดังกล่าวเช่นกัน

คุณหมอบอกว่า ในระยะยาว ผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ประชาชนจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี และจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8-14 เป็นความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

ในช่วง ค.ศ.2016-2018 คุณหมอได้ศึกษาวิจัยหาความเชื่อมโยงระหว่างค่า PM 2.5 กับการเสียชีวิตของประชากร พบว่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อลลูกบาศก์เมตรสัมพันธ์กับการเสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์

ผลกระทบที่เกิดจาก PM 2.5 ทั้งจากการทำวิจัยในพื้นที่ และจากหลักฐานทางการแพทย์ในระดับสูง ยืนยันว่า ในระยะยาว จะทำให้เด็กโง่ขึ้น เป็นออทิสติกเพิ่มขึ้น และมีอารมณ์เพี้ยนตอบสนองต่อสังคมแบบแปลกๆ ส่วนผู้ใหญ่จะเป็นอัลไซเมอร์ และพาร์กินสันเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น คุณหมอได้ลงพื้นที่ที่อำเภอเชียงดาว ซึ่งมีการเผาในที่โล่งมาก พบว่าค่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนเชียงดาวเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5

ข้อเท็จจริงที่น่ากลัวอีกประการหนึ่งของ PM 2.5 คือ แม้เราจะใส่หน้ากากป้องกันทางจมูกแล้ว แต่ด้วยอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้ PM 2.5 สามารถซึมผ่านรูขุมขนเข้าไปในร่างกายมนุษย์ จนทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ด้วย

 

ณัฐสิทธิ์ ศรีนุรักษ์ และจันทร์จิรา สุขไหว เขียนในบทความ “ฮู้คิงหรือยัง มลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” ว่า จากการวิเคราะห์ขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) ซึ่งก่อตั้งโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) สรุปผลว่า PM 2.5 ซึ่งโดยมากเกิดจากการเผาไหม้และการสันดาปของเครื่องยนต์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรัศมี 300-500 เมตรจากถนน เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ส่งผลต่อการเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน ทำให้เป็นมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ดังนั้น ข้อสงสัยที่ว่าทำไมสถิติผู้ป่วยด้วยมะเร็งปอด ต่อจำนวนประชากร 100,000 คนในเชียงใหม่จึงสูงกว่าเมืองอื่นๆ

บัดนี้ก็ได้คำตอบชัดเจนแล้วว่า เพราะประชากรเชียงใหม่สัมผัสกับอากาศที่มี PM 2.5 ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนั่นเอง

 

ทำไมหมอกควันเชียงใหม่ไม่ได้รับการแก้ไข

ตอบอย่างกำปั้นทุบดินก็คือ ผู้ว่าฯ ไม่เอาจริง และเป็นมาแล้วนับ 10 ปี สถิติการย้ายผู้ว่าฯ เชียงใหม่ที่ผ่านมาคือ ไม่มีใครเคยอยู่เกิน 1-2 ปีแม้แต่คนเดียว เขาได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางให้มา ยังไม่ทันศึกษาข้อมูลของจังหวัดให้ครบถ้วน ก็เตรียมตัวไปรับตำแหน่งที่สูงกว่า

ตอบอย่างเป็นวิชาการหน่อยก็คือ ขาดการวางแผนล่วงหน้า และแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด

พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งสามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้กับการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ถ้าใช้เป็น

ทุกข์ ของคนเชียงใหม่คือ ไม่มีอากาศสะอาดหายใจ ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ทุกพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน บางปียาวนาน บางปีสถานการณ์ไม่รุนแรงนัก แม้จะปิดหน้าต่าง ประตูอย่างมิดชิด เรายังสัมผัสการเล็ดลอดของฝุ่นละอองขนาดจิ๋วและกลิ่นควันพิษจากเครื่องยนต์ได้ แต่เมื่อ “ผู้นำ” คือผู้ว่าฯ ไม่เห็นว่าหมอกควันเป็นปัญหาเร่งด่วน ดังนั้น จึงไม่ได้หามาตรการมาป้องกันและแก้ไขให้ตรงจุด ทั้งยังไม่ได้มีมาตรการให้ประชาชนป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษที่กำลังคุกคามชีวิตคนเชียงใหม่อยู่ในเวลานี้

สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ แหล่งที่ทำให้เกิดหมอกควัน โดยเฉพาะ PM 10 และ PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้และการสันดาปของเชื้อเพลิง

การเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดจุดความร้อน หรือ Hotspot ปรากฏสีแดงในภาพถ่ายดาวเทียม มีที่มาอยู่ 3 แหล่งใหญ่ คือ

การเผาในที่โล่ง

เผาในพื้นที่ป่า ชาวบ้านถูกประณามเสมอมาว่า ไฟไหม้ป่าเกิดเพราะชาวบ้านจุดเพื่อหาของป่าประเภทเห็ดถอบ ผักหวาน ไข่มดส้ม (มดแดง) ต้องขอบอกว่าไม่เป็นจริงเสมอไป บางแห่งเขามิได้เผา เพราะบ้านกับป่าอยู่ติดกัน ขืนจุดไฟอาจลามเผาบ้านวอดก็ได้ และช่วง 60 วันอันตรายประกาศตั้งแต่ต้นมีนาคม ถึง 30 เมษายน ไม่ใช่ช่วงที่ชาวบ้านจะพึงเผา เพราะผักหวานจะมีช่วงเมษายน-พฤษภาคม ส่วนเห็ดถอบจะมีช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน

จากการสำรวจในพื้นที่ และสัมภาษณ์ผู้ที่มีอาชีพเก็บของป่า เขาบอกว่าไม่จำเป็นต้องเผา เพราะมีพืชผักและของป่าอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ สามารถเก็บโดยไม่ต้องเผา

แต่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้โดยภาพถ่ายทางอากาศ คือ ในโซนเหนือ ครอบคลุมอำเภอแม่อาย ฝาง ไชยปราการ เชียงดาว มีการเผาพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม

แล้วก็มีชาวบ้านหรือนายทุนเข้าไปปลูกส้ม ลิ้นจี่ หรือผลไม้อื่นๆ เป็นบริเวณกว้าง

การเผาจะเกิดในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ติดต่อกันมาทุกปี

แม้จำนวนของการจุดเผาปรากฏในการรายงาน Hot spot มีไม่กี่จุดในแต่ละครั้ง แต่ไฟที่ถูกจุดจะคุกรุ่นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน และอาจลามเป็นบริเวณกว้าง และไม่ได้รับการสนใจติดตามเพื่อดับไฟ แม้จะมีผู้รายงานตำแหน่งการเผา แต่หามีผู้ใดไปดับไฟไม่ จนทำให้เกิดภาวะหมอกควันดังที่เห็น และเป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ดี ไฟในพื้นที่ป่าอาจเกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่ แล้วลุกลามไปในพื้นที่ป่าก็เป็นได้

 

การเผาในพื้นที่เกษตร

เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเผาไร่ข้าวโพดในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ผู้ว่าฯ แต่ละคนจึงมุ่งเน้นไปทางโซนใต้ และเข้าใจว่าความวิกฤตของปัญหาหมอกควันมีสาเหตุมาจากการเผาตอซังข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่มเป็นหลัก

จึงไม่ให้ความสนใจต่อการเผาป่าในโซนเหนือหรือพื้นที่อื่นๆ ทั้งๆ ที่โซนเหนือสูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่กว้าง และแน่นอน ย่อมก่อให้เกิดมลพิษปริมาณมาก

อนึ่ง อากาศที่ไหลเวียนไปสู่ตัวเมืองเชียงใหม่หากยังหนาวเย็น ก็ยังมีอิทธิพลมาจากจีน ผ่านมาทางภาคเหนือของไทย ดังนั้น มลพิษในโซนเหนือจึงถูกพัดพาให้ไปสะสมในเชียงใหม่มากกว่ามลพิษจากโซนใต้

การเผาวัสดุ เช่น ขยะ แต่ไม่แน่ใจว่าจุดเล็กๆ จะสะท้อนไปที่ดาวเทียมแล้วรายงานมาเป็น Hotspot หรือไม่

 

แหล่งที่เกิดการสันดาปของเครื่องยนต์

การคมนาคมขนส่งทางบกเชียงใหม่เป็นเมืองที่ต้องพึ่งพาพาหนะส่วนตัว เพราะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ มีจำนวนมอเตอร์ไซค์มากติดอันดับ 1 ของเอเชีย จำนวนรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีระบบขนส่งสาธารณะประเภทรถตุ๊กตุ๊กและสี่ล้อแดงที่มีอายุการใช้งานมานาน จึงปลดปล่อยควันดำออกมามาก แต่ภาครัฐไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาควันดำแต่อย่างใด

ในภาวะที่ PM 2.5 ในเชียงใหม่มีปริมาณสูงสุดเป็นที่ 1 ของโลก ผู้ว่าฯ มิได้มีการปฏิบัติการในการคลี่คลายปัญหา ไม่มีแม้แต่การออกมาตรการที่จะลดจำนวนพาหนะที่สัญจรไปมาให้น้อยลง

การคมนาคมขนส่งทางอากาศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเที่ยวบินที่มาลงสนามบินเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากเสียงและการสั่นสะเทือนจากการขึ้น-ลงของเครื่องบินจะรบกวนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล

ก่อให้เกิด PM 2.5 และทำให้วิกฤตหมอกควันไม่อาจเจือจางลงไปในเร็ววัน

 

ภาคการผลิต

เศรษฐกิจเชียงใหม่อยู่บนฐานของภาคบริการไม่ใช่ภาคการผลิต ดังนั้น จึงไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งมลพิษทางอากาศ เมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น และมีโรงงานทำอิฐที่ใช้วัสดุธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แต่มีจำนวนไม่มาก

นิโรธ การเข้าใจในสาเหตุแห่งทุกข์ นอกจากต้องสำรวจอย่างจริงจังแล้ว ยังต้องยอมรับแหล่งกำเนิดของปัญหาที่ไม่เคยถูกนำไปวางแผนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

มรรค หนทางแห่งการดับทุกข์ ปัญหาเกิดที่ไหนก็ต้องแก้ที่นั่น แหล่งมลพิษเกิดที่ไหนก็ต้องไปดับที่นั่น ต้องดำเนินการจนกระทั่งในเชียงใหม่ไม่มีการเผาในที่โล่งเลย มีการสัญจรเท่าที่จำเป็น มีการงดเที่ยวบิน

หากเชียงใหม่สามารถลดแหล่งมลพิษจนเหลือศูนย์แล้ว เราจึงสามารถไปบอกจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ท่านนั่นแหละทำให้เราเดือดร้อน ต้องแก้ไขด่วน