กัปตันมาร์เวล ศิลปินแห่งชาติ และจักรวาลของนักเขียน เมื่อครั้งยุคก่อนที่เฟซบุ๊กยังไม่เข้ามา

ต้นเดือนมีนาคมจักรวาลมาร์เวลได้ฤกษ์เปิดตัว Captain Marvel ฮีโร่หญิงพันธุ์แกร่ง ผู้ที่จะเข้ามาร่วมทีมกำจัดจอมวายร้ายอย่าง “ธานอส” ใน Avengers Endgame

โดยในเรื่องนี้ได้ย้อนเรื่องราวของเธอไปยังยุค “90 ตอนที่ “นิก ฟิวรี่” ยังไม่รู้ว่ามีเผ่าพันธุ์จากต่างดาวกำลังเข้ามาคุกคามและโลกนี้มีมนุษย์พลังพิเศษที่ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

เขาได้เป็นหัวหน้าหน่วยชีลด์ (S.H.I.E.L.D.) คอยประสานงานเหล่าฮีโร่ในจักรวาลมาร์เวลเข้าด้วยกัน

ยุค “90 ที่กัปตันมาร์เวลตกลงมาในร้านเช่าวิดีโอบล๊อกบัสเตอร์ชื่อดัง (คุ้นๆ ไหมว่าฉากดังกล่าวเหมือนใน Terminator 2 ที่แสดงโดยอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์-ไว้ตอนท้ายจะมาเฉลย) เป็นยุคสมัยเดียวกับที่ตำนานเพลงกรั้นจ์ร็อกอย่าง “เคิร์ต โคเบน” ยังมีชีวิตแผดเสียงร้อง Smells Like Teen Splits

เกมตู้อย่าง Street Fighter II กำลังได้รับความนิยม

โทรศัพท์สาธารณะยังมีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง

อินเตอร์เน็ตยังเชื่อมต่อเชื่องช้า (โปรแกรมสนทนา MSN รุ่นแรก)

คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องใหญ่กับแผ่นดิสก์

ผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “เพจเจอร์” เป็นเครื่องพกพา ในยุคสมัยนั้นทุกสิ่งอย่างยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้

แน่นอนว่าคนยังไปดูหนังในโรงภาพยนตร์มากกว่านี้ ยังใช้บริการเช่าวิดีโอเทปมานอนดูหนังที่บ้าน ซื้อม้วนเทปเพลงและแผ่นเสียง หยอดเหรียญเล่นเกมตู้ หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ นักเขียนยังอยู่หลังแป้นพิมพ์

คนอ่านรู้จักเขาเธอเหล่านั้นผ่านทางตัวหนังสือมากกว่าช่องทางสื่อสารออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก

และที่สำคัญ คำว่า “ญาติน้ำหมึก” ยังทรงพลัง

ตอนนั้นเองผู้เขียนยังคงบ้าดูหนังและอ่านบทวิจารณ์หนังเป็นอาหารจานหลัก

บอกอของผู้เขียนในขณะนั้นคือ “พี่ตั้ม-เกรียงศักดิ์ เตชะเกรียงไกร” แห่งนิตยสารหนัง Starpics เป็นผู้แนะนำให้ลองฝึกมือโดยการคัดลอกงานเขียนของนักวิจารณ์ที่เราชื่นชอบลงสมุด

แรกๆ ให้ใช้วิธีนี้นำทาง อาจติดสำนวนภาษามาบ้าง แต่ต่อไปเมื่อชำนาญมากขึ้น ทักษะสูงขึ้น เราจะกลั่นกรองและเลือกใช้คำได้เอง การเริ่มต้นเขียนบทวิจารณ์อย่างหามรุ่งหามค่ำก็เริ่มจากจุดนี้

ไม่กี่ปีต่อมาเมื่อผู้เขียนเริ่มหันมาหยิบจับเรื่องสั้นและอ่านนวนิยายอย่างจริงจัง (ยังคงใช้วิธีคัดลอกงานเขียนเหมือนกัน) ชื่อของนักเขียนอย่าง “จำลอง ฝั่งชลจิตร” และ “แดนอรัญ แสงทอง” (รวมทั้งสำนวนแปล) ก็เป็นสองนักเขียนที่นักอ่านส่วนใหญ่ต้องเคยหยิบจับหนังสือของพวกเขา

รวมเรื่องสั้นส่วนใหญ่ของจำลอง ฝั่งชลจิตร นั้น เชื่อว่าหากเอ่ยชื่อมาทุกคนเป็นต้องรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น “สีของหมา” “สาระขัน” “เมืองน่าอยู่” หรือ “ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป” ฯลฯ

ส่วนของแดนอรัญ แสงทอง นอกจาก “เจ้าการะเกด” กับ “อสรพิษ” ซึ่งเป็นที่เลื่องลือแล้ว นวนิยายขนาดเขื่องเล่มหนาอย่าง “เงาสีขาว” ก็จัดว่าเป็นเล่มที่นักอ่านสายแข็งทุกคนล้วนต้องอ่าน

ไม่ต่างจากเมื่อกล่าวถึงนักเขียนละตินอย่าง “กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ” ก็ต้องนึกถึงหนังสืออย่าง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว”

มาร์แซล บารังส์ นักแปลและนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส ยังถึงกับกล่าวยกย่องผลงาน “เงาสีขาว” ของเขาว่าเป็น “หนึ่งในนวนิยายที่ดีที่สุดของไทย”

จักรวาลของนักเขียนในตอนนั้นคงเหมือนงานเลี้ยงรุ่นปีละครั้ง ที่จะมารวมตัวเห็นหน้าค่าตากันในแต่ละทีก็ต่อเมื่อมีงานเสวนาหรืองานประจำปีของสมาคมนักเขียน บ้างปรากฏตัวตามงานสัปดาห์หนังสือ เพื่อนพ้องที่สนิทชิดเชื้อตั้งกลุ่มสนทนาเป็นวงเล็กๆ พูดคุยดื่มกินกันอย่างคล่องคอ

ในยุคสมัยนั้น ใครบ้างเล่าจะเชื่อว่าตัวตนเดิมๆ ของตัวเองจะเปลี่ยนไปในทางไหนกันบ้าง

คงไม่มีใครสามารถหยั่งรู้หรือคาดการณ์อนาคตได้ แม้กระทั่งการเข้ามาพังทลายวงจรธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่อย่างโทรทัศน์ ค่ายเพลง เกม และภาพยนตร์โดยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ด้วยผลงานของพ่อมดแห่งวงการไอทีอย่างสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งโปรแกรมไมโครซอฟต์อย่างบิล เกตส์

และการเชื่อมต่อคนทั่วโลกเข้าถึงกันผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อเฟซบุ๊กของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จึงทำให้ทุกสาขาอาชีพต้องปรับตัวและมีตัวตนขึ้นมาบนโลกออนไลน์ มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นจากนักสร้างหน้าใหม่ตามมาอีกมากมาย

และนักเขียนไม่ต้องอยู่หลังแป้นพิมพ์อีกต่อไป

ในรวมเรื่องสั้น “สีของหมา” ของจำลอง ฝั่งชลจิตร ตอนหนึ่งคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว เขาเองก็ยังเปรยว่า

“ถ้าหากข้าพเจ้ามีหนังสือดีๆ สัก 10 เล่มก็น่าจะเป็นที่พอใจแล้ว ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ายังไม่รู้เลยว่าหนังสือดีเป็นอย่างไร ที่เขียนเอาไว้บ้าง 4-5 เล่ม จะดีหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ ออกจะเป็นความปรารถนาที่ชวนขัน เป็นความฝันที่ชวนหัวเราะอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับคนที่หยั่งรู้กำลังสติปัญญาของข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ว่าข้าพเจ้ามีความสามารถทางวรรณศิลป์จำกัดจำเขี่ยเพียงไร แต่คนอย่างข้าพเจ้าก็อดที่จะคิดฝันไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าหลงคิดว่าเป็นสาระแห่งชีวิตอย่างเดียวที่ข้าพเจ้าพอมี”

แน่นอนว่าในตอนนั้นนักเขียนมากความสามารถผู้นี้จะยังไม่รู้ “อนาคต” ในอีก 30 ปีต่อมาของตัวเองมากเกินกว่า 10 เล่ม และรักษาระดับคุณภาพในฐานะ “ลองเรื่องสั้น” ที่เพื่อนพ้องญาติน้ำหมึกเคยตั้งฉายาให้จนได้มาเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ในวันนี้ อีกทั้งยังผลิตผลงานต่อเนื่องขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และเป็น “ผู้ใหญ่ใจดี” ให้คำปรึกษาน้องๆ นักเขียนรุ่นใหม่อย่างเป็นกันเอง เหมือนอย่างที่เขาให้เกียรติมาเป็นที่ปรึกษาในรวมเรื่องสั้น “พบกันในวันเงียบเหงา” ของกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่พร้อมเขียนคำนำ “ล่องไหลในธารน้ำหมึก” ปิดท้ายอย่างคนเข้าใจสัจธรรมชีวิตว่า

“คลื่นลูกใหม่ย่อมโถมทับข้ามรุ่นเก่าเสมอ”

ศิลปินแห่งชาติในปีเดียวกันอีกคนอย่าง “แดนอรัญ แสงทอง” แม้จะออฟไลน์ตัวตนไม่ข้องเกี่ยวโลกออนไลน์ (แต่มีแอดมินคอยอัพเดตผลงานเขียนใหม่ๆ) แต่ก็สม่ำเสมอในการผลิตผลงานทั้งผลงานเขียนและงานแปล โดยมีสำนักพิมพ์อย่าง “สามัญชน” ของ “เวียง-วัชระ บัวสนธ์” รุ่นใหญ่อีกคนในแวดวงวรรณกรรมเป็นผู้ตีพิมพ์ผลงาน

จนกระทั่งในปี 2557 รวมเรื่องสั้น “อสรพิษและเรื่องอื่นๆ” ของเขาได้รับรางวัลซีไรต์มาครอบครองได้สำเร็จ หลังจากงานเขียนของเขาได้รับการแปลไปโด่งดังนอกบ้านอยู่หลายปีและได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินเป็นที่เลื่องลือในต่างแดน

ในฐานะนักเขียนไทยชื่อของ “เสน่ห์ สังข์สุข” หรือ “แดนอรัญ แสงทอง” กับแวดวงภาพยนตร์อย่าง “เจ้ย อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ที่มีผลงานระดับคุณภาพอย่าง “สุดเสน่หา” (ได้รับรางวัลภาพยนตร์เมืองคานส์) และ “สัตว์ประหลาด” (ได้รับรางวัล Jury Prize) ซึ่งดูเหมือนว่าในตอนแรกในบ้านเกิดของเราจะเมินมองข้ามความเป็นศิลปินในตัวของทั้งสองคนไปอย่างน่าเสียดาย กว่าที่จะมอบรางวัลอะไรให้ ต่างประเทศกลับยกย่องเชิดชูไปก่อนแล้ว

หลายคนจึงไม่แปลกใจที่ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ในปี 2561 นี้ จะเป็นรายชื่อของคนทั้งสองดังที่กล่าวมา จากการที่ผลิตผลงานต่อเนื่องมาอย่างยาวนานชื่อ “จำลอง ฝั่งชลจิตร” กับ “แดนอรัญ แสงทอง” จึงเป็นสองชื่อที่คู่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้จารึกไว้ในบรรณพิภพนักเขียนไทยอย่างสมศักดิ์ศรี

ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันว่าวันหนึ่งจากการชอบดูหนัง เขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ จะเปลี่ยนกลายมาอ่านเขียนเรื่องสั้นอย่างจริงจังและได้มารู้จักกับนักเขียนทั้งสองท่านนี้

ยิ่งในทุกวันนี้นักเขียนทั้งเก่าใหม่บนโลกออนไลน์ เราสามารถพบปะพูดคุยได้ทันทีที่เปิดเฟซบุ๊กเชื่อมต่อหากัน

นักเขียนมิได้อยู่หลังแป้นพิมพ์อีกต่อไป แต่นักเขียนสื่อสารกับนักเขียนหรือแฟนนักเขียนด้วยกันผ่านทางช่องทางสื่อสารออนไลน์

จักรวาลของนักเขียนมิได้อิงแอบหลบอยู่ในโลกส่วนตัวอีกต่อไป

น้อยคนนักที่จะปลีกวิเวกตัวตนออฟไลน์เขียนงานอยู่เงียบๆ เพียงลำพัง

นักเขียนจึงเป็นมากกว่านักเขียน นักเขียนต้องประชาสัมพันธ์งานของตัวเองเป็น และสามารถขายผลงานของตัวเองได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป

เพราะนักเขียนแต่ละคนจะมีกลุ่มแฟนคลับเป็นของตัวเองที่วัดผลได้จากจำนวนยอดไลก์และผู้ติดตาม

แต่ทว่าในทางกลับกัน คำว่า “ญาติน้ำหมึก” ในยุคสมัยนั้นกับในทุกวันนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

กลุ่มก้อนของนักเขียนได้แตกตัวกันอย่างชัดเจน ตั้งแต่เราสามารถสื่อสารสาธารณะโปรยเกลื่อนถ้อยคำผ่านสื่อโซเชียลได้อย่างรวดเร็ว เรากระทบกระทั่งกันง่ายขึ้น เปราะบางง่ายขึ้น และต่อต้านชุดความเห็นต่างอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

กลายเป็น “ญาติใครญาติมัน” กันอย่างไม่ไยดี

ผู้เขียนจึงคิดว่าภาพย้อนเวลาไปสู่ยุค “90 ใน Captain Marvel ในยุคที่หลายสิ่งหลายอย่างยังจับต้องได้นั้นกำลังสื่อสะท้อนให้เห็นว่าเรากำลังขาดการเชื่อมโยงจากคนสู่คนโดยตรงอยู่หรือเปล่า เช่น คนสองคนมานั่งเล่นเกมตู้ด้วยกัน เดินเข้าร้านเช่าม้วนวิดีโอแล้วพบปะพูดคุยกับพนักงาน ซื้อเทปเพลงและแผ่นเสียงกับพ่อค้าแม่ค้าโดยตรงหรือนิตยสารตามแผงร้านค้าทั่วไป ฯลฯ

การตกลงมายังโลกและค่อยๆ จดจำความได้ของตัวละครอย่าง “แครอล เดนเวอร์ส” หรือกัปตันมาร์เวลในจักรวาลที่พัฒนาไปไกลมากแล้วของเธอ อาจย้อนให้เราทบทวนว่ากาลครั้งหนึ่งโลกที่เคยออฟไลน์อยู่นั้น มนุษย์ยังปฏิสัมพันธ์กันมากกว่านี้หรือเปล่า

และกลุ่มก้อนนักเขียนยัง “ญาติดีต่อกัน” มากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่อย่างในทุกวันนี้หรือเปล่า…

นอกจากนี้ ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น ผู้เขียนรู้สึกว่าการดูกัปตันมาร์เวลในครั้งนี้ ทำให้คิดถึง “คนเหล็ก ภาค 2” มากเป็นพิเศษ ทั้งฉากตอนต้นเรื่องที่เธอตกลงมา (คนหนึ่งมาจากนอกโลก อีกคนมาจากอนาคตในปี 2029)

ฉากเปลี่ยนเสื้อผ้าปกปิดรูปลักษณ์ภายนอก (ดีไม่ใส่เรย์แบน) ฉากขี่ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ฉากตามไล่ล่า และนิก ฟิวรี่ ในตอนนั้นก็ไม่ต่างปจาก “จอห์น คอนเนอร์” ที่ได้รับการช่วยเหลือปกป้องตลอดรายทาง (หากมองตามคติทางวัฒนธรรมหรือมายาคติว่าด้วยผู้หญิงของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่แปลกที่จะคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นเฟมินิสต์)

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “หนังอิงหนัง”

คารวะแด่ยุค “90 โดยแท้จริง