วาระ 111 ปี สด กูรมะโรหิต นักเขียน นักประพันธ์ และนักสู้เพื่ออุดมการณ์กับแนวคิดสหกรณ์ สู่ทางรอดประเทศไทย

ในวาระ 111 ปี สด กูรมะโรหิต นักเขียน นักประพันธ์ และนักสู้เพื่ออุดมการณ์กับแนวคิดสหกรณ์ สู่ทางรอดประเทศไทย

ผู้เขียนได้รู้จักคุณสด กูรมะโรหิต เมื่อปี พ.ศ.2506 เพราะพำนักที่หอพักซึ่งติดกับบ้านคุณสดย่านพญาไท

ขณะนั้นผู้เขียนได้ทำค่ายอาสาสมัคร ชื่อ “กลุ่มบูรณะชนบท” ซึ่งพร้องกับมูลนิธิบูรณะชนบทของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งอยู่ที่ชัยนาท แต่กลุ่มบูรณะชนบทของพวกเราทำมาก่อน และได้เชิญคุณสด กูรมะโรหิต เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม

ซึ่งคุณสดได้เคยไปเยี่ยมเยียนค่ายอาสาสมัคร

คณะกรรมการที่ปรึกษาของกลุ่มบูรณะชนบท ประกอบด้วย หม่อมดุษฎี บริพัตร, คุณสด กูรมะโรหิต, อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, คุณสมบูรณ์ วรพงษ์, คุณไกรศรี นิมมานเหมินท์

จากนั้นมาผู้เขียนก็เริ่มศึกษาชีวิตและผลงานของคุณสดมาโดยตลอด

หากจะกล่าวถึงภาพยนตร์ทีวีซีรี่ส์แนวแอ๊กชั่น-ดราม่า ในช่วงปี พ.ศ.2541 ที่มีเรตติ้งสูงถึง 25 ซึ่งไม่เคยมีภาพยนตร์ซีรี่ส์แอ๊กชั่นเรื่องใดทำได้สูงเท่านี้มาก่อนในสมัยนั้น ทุกคนต้องกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ “ระย้า” ที่อำนวยการสร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร

ด้วยเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดในสมัยญี่ปุ่นบุกเข้าเมืองไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทำงานของขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ

มีฉากต่อสู่ที่เข้มข้น ดุเดือดจนคนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้จะโลดแล่นอยู่บนจอภาพยนตร์อย่างน่าติดตามไม่ได้เลยถ้าขาดผู้เขียนบทประพันธ์ที่มีการศึกษาประวัติศาสตร์ในทุกรายละเอียด บรรยายด้วยสำนวนภาษาของผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่องอย่างสด กูรมะโรหิต

สด กูรมะโรหิต เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2451 ที่ตำบลท่าเรือจ้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

เป็นบุตรของพระจรูญภารการกับนางเหนย พระจรูญภารการ เป็นต้นตระกูลกูรมะโรหิต ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระจรูญภารการรับราชการเป็นอัยการสังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมาย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์ หลวงรามฤทธิ์รงค์ ตำแหน่งยกกระบัตรเมือง และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี

การที่สดได้เห็นบิดาทำงานเพื่อประชาชนมาตลอด ได้รับรู้ถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สดจึงถูกปลูกฝังแนวคิดที่จะกระทำประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองตราบสิ้นลมหายใจ

สดได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนใหญ่ที่สุดและดีที่สุดโรงเรียนหนึ่งในประเทศไทย

เพื่อนร่วมโรงเรียนรุ่นเดียวกันที่เป็นนักเขียนมี ปกรณ์ บูรณศิลปิน ม.ล.เดช สนิทวงศ์ โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ก่อน 1 รุ่น และครูอบ ไชยวสุ

สดเรียนเก่งเป็นที่ 1 มาตั้งแต่ชั้นมัธยม 2 จนถึงชั้นมัธยม 8 ได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน

ขณะอยู่ชั้นมัธยม 7 ได้คะแนนสอบไล่ 97% ได้รับขนานนามว่าเป็นช้างเผือกของเทพศิรินทร์

ที่เทพศิรินทร์นี้เองที่หล่อหลอมให้สดรักในงานเขียน สดและเพื่อนร่วมชั้นได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ “ดรุณสาสน์” ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และสร้างผลงานด้านงานประพันธ์ต่างๆ ไว้มากมายด้วยความสนับสนุนของหลวงสำเร็จวรรณกิจ ผู้ที่ท่านปลูกฝังให้สดเป็นคนกล้าเผชิญกับความจริง ไม่กลัวใคร ถ้าเชื่อว่าทำถูกต้องอย่างสุจริต

ผลงานประพันธ์ที่หลวงสําเร็จวรรณกิจมอบหมายให้สดเขียนในหนังสือพิมพ์แถลงการณ์เทพศิรินทร์ที่ท่านเป็นบรรณาธิการคนแรก เมื่อสดอยู่ชั้นมัธยมหก คือ การถอดบทประพันธ์อังกฤษ ชื่อ Man Born To Be King เป็นกลอนหก คือ ลิลิตราธูปไตย ที่ท่านตั้งชื่อให้ อันเป็นบทประพันธ์ยาวเรื่องแรกของสด

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่สามารถค้นหางานประพันธ์ที่มีค่ายิ่งชิ้นนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นฉบับหรือที่ตีพิมพ์

ในการสอบชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ด้วยคะแนนยอดเยี่ยมเป็นที่ 1 ของประเทศ สดจึงต้องเข้าสู่ศึกชิงสกอล่าชิประหว่างเทพศิรินทร์และสวนกุหลาบฯ ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดมาตลอด เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ในครั้งแรกเกิดป่วยเป็นโรคลำไส้จึงต้องสละสิทธิ์ แต่อายุยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะเข้าสอบได้อีกปีหนึ่ง สดจึงเรียนกวดวิชากับอาจารย์เอ็น.แอล เชลลี่ย์ และอาจารย์เอ็ม.พี.คีน

แต่ด้วยความประมาท อยากเป็นนักประพันธ์ มัวเพลินกับการเขียนหนังสือตีพิมพ์ในตลาด จนขาดความสนใจในการเตรียมตัวเข้าสนามชิงทุนสกอล่าชิปครั้งสำคัญและครั้งสุดท้าย ในปี พ.ศ.2469

ผลปรากฏว่าปราชัยแก่สวนกุหลาบฯ คู่แข่งทั้งที่ 1 และที่ 2

สดเดินออกจากรั้วเทพศิรินทร์ด้วยน้ำตาของผู้แพ้ และเศร้าสลด ที่ทำให้เทพศิรินทร์ต้องขายหน้าในสนามสกอล่าชิปทั้ง 2 ปี

เมื่อพลาดจากการสอบชิงทุน สดจึงตัดสินใจเรียนต่อที่โรงเรียนกฎหมาย ประมาณปี พ.ศ.2470 พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้เสด็จตรวจราชการที่จังหวัดสระบุรี ที่บิดาสดเป็นผู้ว่าราชการอยู่ สดจึงมีโอกาสเข้าเฝ้า

ทรงศึกษาการเรียนของสด และทรงสนับสนุนให้สดไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนเพื่อกลับมาคุมโรงเรียนจีนในประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2471 สดจึงได้ออกเดินทางจากประเทศไทยไปพำนักอยู่ที่ฮ่องกงเพื่อเตรียมตัวด้านภาษาที่โรงเรียนเซนต์สตีเฟ่นส์ คอลเลจ

ต่อมาในปี พ.ศ.2475 สดก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ โดยศึกษาในแผนกวิชาประวัติศาสตร์ เรียนภาษาอังกฤษวรรณคดีเพิ่มเติม และเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเลือก โดยเรียนอยู่ 4 ปีจึงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี

ในช่วงที่เรียนที่ปักกิ่งนี่เองที่สดได้พบกับความอยุติธรรม ความโหดร้ายทารุณ ความเหลื่อมล้ำ ความเกลียดชังระบอบคอมมิวนิสต์จากการที่ประเทศจีนอยู่ในระหว่างการปฏิวัติและมีการรุกรานจากญี่ปุ่น

ประกอบกับประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มีคำสั่งยึดทุนการศึกษา ต้องกู้เงินจากรัฐบาลเพื่อเรียนต่อโดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำงานใช้ราชการเป็นเวลา 10 ปี และเสียดอกเบี้ยร้อยละ 3 จนกว่าจะใช้หนี้หมด

สดต้องบริหารค่าใช้จ่ายที่มีเพียงน้อยนิด อีกทั้งยังต้องอดทนต่อสภาพสังคมที่ตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นการใช้ความรุนแรงในการปกครอง

ด้วยสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้สดมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเมืองที่มุ่งสู่ประชาธิปไตยและสันติภาพ รวมถึงเรื่องสหกรณ์ ที่กำจัดการกินแรงของคนกลาง เน้นความเท่าเทียม สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน จนนำไปสู่งานเขียนที่น่าสนใจหลายเรื่อง

อาทิ ปักกิ่งนครแห่งความหลัง เลือดสีแดง เลือดสีน้ำเงิน เจียงเฟ เมื่อหิมะละลาย คนดีที่โลกไม่ต้องการ เป็นต้น

ชีวิตสมรสของสดนั้นเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ตรึงตราที่สดมอบให้เนียนอย่างหมดหัวใจยิ่งกว่าเทพนิยายก็ว่าได้ เนียนเป็นชื่อที่สดตั้งให้ เพราะเป็นชื่อที่สดชอบ เหมาะกับบุคลิกที่นุ่มนวลเป็นผู้ดีของเนียน

สดสมรสกับเนียน ตันสัจจา ซึ่งเป็นธิดาของเตี่ยเมฆ ตันสัจจา และแม่เอี๋ย ครอบครัวบิดามารดาของเนียนเป็นครอบครัวใหญ่มาก ลำพังลูกชายหญิงมีถึง 15 คน ลูกทุกคนของเตี่ยเมฆ ตันสัจจา ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดียิ่ง ท่านเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น

สดและเนียนได้พบกันเมื่อครั้งสดไปเรียนที่ปักกิ่ง โดยการแนะนำของหลิน ฉี หวู่ ซึ่งรู้จักกับสดและอยู่มหาวิทยาลัยเยียนจิงเช่นเดียวกับเนียน

เนียนช่วยเหลือสดอย่างมากในด้านภาษาจีนและเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง

ทำให้สดประทับใจในตัวเนียนอย่างซาบซึ้งเทิดทูน เป็นช่วงเวลาที่สดมีความสุขที่สุดในชีวิต

เมื่อเนียนต้องเดินทางกลับเมืองไทยหลังเรียนจบปริญญาตรีอักษรศาสตร์ด้านวรรณคดีจีน แต่สดยังต้องอยู่ที่ปักกิ่งเรียนต่ออีก 3 ปี

สดเศร้าโศกและอาลัยสุดซึ้ง เฝ้าเขียนจดหมายถึงเนียนทุกวันด้วยจดหมายรักที่เมื่อใครได้อ่านก็ต้องประทับใจทุกครา

จนในที่สุดเนียนได้เดินทางกลับไปที่ปักกิ่งอีกครั้งและทั้งสองก็ได้เข้าพิธีแต่งงานกันถูกต้องตามประเพณีที่สมาคมนักเขียน มหาวิทยาลัยชินหวา กรุงปักกิ่ง

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติจราจลในจีน และสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทำให้เกิดวิกฤตในกรุงปักกิ่ง สดและเนียนจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมด้วยลูกสาวอายุ 11 เดือน

และได้จดทะเบียนสมรสกันอีกครั้งในปี พ.ศ.2479

และใช้ชีวิตร่วมกันจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตตามปณิธานที่ตั้งไว้ ทั้งคู่มีบุตร-ธิดา รวม 5 คน ได้แก่ เวณิกา, กุลภัทร, อัปสร, ครรชิต และชนินทร์

งานด้านวรรณกรรมของสดนั้น ในช่วงแรกสดเพียรพยายามสร้างสรรค์งานเขียนและส่งไปยังโรงพิมพ์ต่างๆ และมองเห็นว่ามีนักเขียนมากมายที่มีผลงานที่ดี แต่กว่าจะได้รับการตีพิมพ์ต้องใช้เวลานานมาก หรืออาจไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์เลย

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2487 สดและเพื่อนศิลปินได้ร่วมกันก่อตั้ง “จักรวรรดิศิลปิน” ขึ้นที่โรงพิมพ์อักษรนิติ สี่แยกบางขุนพรหม เพื่อดำเนินกิจการรวมตัวศิลปิน 5 สาขาได้แก่ วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม นาฏกรรม และสถาปัตยกรรม เพื่อช่วยเหลือกันในรูปแบบคล้ายสหกรณ์ พัฒนางานศิลปะไปพร้อมๆ กับการมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ดียิ่งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร และขจัดปัญหาขูดรีดจากนายทุน นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการรวมกลุ่มกันของศิลปินและมีการจัดแสดงศิลปกรรม

จากการจัดตั้งจักรวรรดิศิลปินโดยเอาแนวคิดสหกรณ์ที่ต้องการขจัดปัญหาการขูดรีดจากนายทุนมาใช้ ทำให้สดมีแนวคิดที่จะนำระบบสหกรณ์มาใช้พัฒนาการเกษตร

ในปี พ.ศ.2489 เมื่อใช้ทุนจบ สดลาออกจากราชการและมาซื้อที่ดินที่ตำบลดงหัวโขน จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 60 ไร่ เพื่อสร้าง “ไร่แผ่นดินไทย” ทำการปลูกไผ่ตงและนำแนวคิดเกี่ยวกับสหกรณ์มาทดลองใช้ในโครงการบูรณะชนบท

เป็นการริเริ่มนำระบบสหกรณ์มาใช้ในเชิงปฏิบัติเป็นครั้งแรกของเมืองไทย

ระบบสหกรณ์ เป็นอุดมคติของสดที่ทุ่มเทต่อชาติบ้านเมืองด้วยความหวังความฝันที่จะเห็นเมืองไทยเป็น “เมืองสหกรณ์” อย่างแท้จริง

ในยุคนั้น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ในเมืองไทยมีเวลาว่างจากการทำงาน 200 กว่าวันต่อปี ซึ่งถ้าเอาเวลาเหล่านี้มาทำงานเพิ่ม เศรษฐกิจก็จะเพิ่มพูนมหาศาล

ระบบสหกรณ์ก็คล้ายกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทย

ในระหว่างที่สดดำเนินโครงการไร่แผ่นดินไทยนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลาน ในครั้งเริ่มแรกนั้นได้บุกเบิกทำไร่ไผ่ตง ที่ตำบลดงหัวโขน ปราจีนบุรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย และถูกกลั่นแกล้งจากทหาร

ซ้ำยังถูกพ่อค้าคนกลางรังแกจนหาตลาดไม่ได้ อีกทั้งยังถูกกดราคาจากผู้ซื้อชาวจีนอีก ทำให้ประสบความล้มเหลวจนต้องขายไร่นั้นไป

ต่อมาสดได้ไปซื้อที่ดินที่หนองจับเต่า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่แปลงนี้อยู่ติดถนนสุขุมวิท กิโลเมตรที่ 160.5 มีพื้นที่หลายพันไร่ ติดกับที่ตั้งของสวนนงนุชและวัดญาณสังวร ด้านขวามือของถนนสุขุมวิทติดทะเล

ปัจจุบันเป็นกลุ่มโรงแรมตะวันรอน ซึ่งเจ้าของเป็นทายาทของสด กูรมะโรหิต

ย้อนกลับไปในการทำไร่แผ่นดินไทย สดพยายามสร้างเมืองสหกรณ์ขึ้นโดยให้คนยากจนในย่านนั้นมารวมกันในเมืองสหกรณ์ ให้มีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีการกู้เงินโดยความร่วมมือกับองค์การสหกรณ์ระหว่างชาติ โดยมีความเชื่อว่าจะสามารถสร้างคนและเมืองที่มีคุณภาพ รวมถึงสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมได้

แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ความคิดแบบคอมมิวนิสต์

เนื่องจากระบบสหกรณ์เป็นแนวคิดที่อยู่ตรงกลางของระบบทุนนิยมและสังคมนิยม จึงถูกบีบจากทั้งสองฝ่าย

อีกทั้งยังประสบปัญหาอีกหลายอย่าง อาทิ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หาตลาดขายสินค้าไม่ได้ แรงงานไม่ทำงานตามเวลาที่กำหนด ทุนหมุนเวียนไม่พอต้องกู้หนี้ยืมสิน จึงทำให้ไร่แผ่นดินไทยต้องปิดตัวลง

แต่แนวคิดที่เชื่อว่าระบบสหกรณ์จะช่วยสร้างความเท่าเทียมให้แก่สังคม กำจัดการกินแรงจากคนกลางก็ไม่เคยเลือนหายไป

สด กูรมะโรหิต ได้สร้างสรรค์งานเขียนโดยมีผลงานเชิงบทความและนวนิยายที่เต็มไปด้วยความคิดทางสหกรณ์ อาทิ บทความเรื่องเมืองสหกรณ์ โครงการบูรณะชนบท และข้อคิดจากไร่แผ่นดินไทย ออกเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบและตระหนักถึงการพัฒนาสังคมด้วยระบบสหกรณ์ โดยหวังที่จะให้ทุกคนมีชีวิตในฐานะที่เท่าเทียมกัน ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะหมดไป ไม่มีใครว่างงาน และทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

แต่ปัจจุบันคนไทยทำเกษตรกรรมน้อยลง หันมาเน้นเรื่องอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยทิ้งคนชราและเด็กไว้บ้านนอก หนุ่มสาวมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ทำงานโรงงาน ข้อเท็จจริงอันหนึ่ง ปัจจุบันสังคมไทยแบ่งประชาชนเป็น 3 ประเภทคือ คนรวย, คนชั้นกลาง และชั้นกรรมกร

ช่องว่างของรายได้ของคนรวยกับกรรมกร สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก จึงเกิดความขัดแย้งในเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งนับวันจะมากขึ้น จนยากที่จะแก้ไข

สรุป

สังคมไทยเรา ควรหันกลับมาเน้นการทำเกษตรกรรมเหมือนเก่าก่อน เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยอย่างแรกที่ต้องคำนึงถึงคืออาหาร

ถ้าสังคมไทยเรายึดตามแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสไว้ซึ่งคล้ายกับระบบสหกรณ์ โดยทำไร่นาแบบสวนผสม เราจะมีผลผลิตไว้กินตลอดทั้งปี เมื่อกินเหลือ ก็จะขายเป็นรายได้

เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับครอบครัว เพราะคนเราต้องบริโภคทุกวัน