สะเทือนวงการพระกรุ! ‘ชัยฤทธิ์ โสภณโภไคย’ ถอดรหัส พระปลอม พระเก๊

หากพูดถึงวงการพระเครื่องในปัจจุบัน รวมถึงคนในวงการแล้ว มักถูกมองว่าหาความจริงใจไม่มี เบื้องหลังเบื้องลึกล้วนเรื่องหลอกลวง จริงคือเท็จ-เท็จคือจริง หาความแน่นอนไม่ได้

หากใครจะปฏิเสธก็คงเป็นเรื่องยาก ข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

บางครั้งเป็นข่าวใหญ่โตและนำไปสู่จุดจบของชีวิตได้อย่างง่ายดาย

เนื่องเพราะผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินมากมายมหาศาลนั่นเอง

“ชัยฤทธิ์ โสภณโภไคย” เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระกรุกำแพงเพชร พิพิธภัณฑ์เอกชนที่รวบรวมพระกรุไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง และถือเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร มีตั้งแต่พระซุ้มกอ พระกำแพงเขย่ง พระลีลาเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ ฯลฯ ผู้คนในวงการพระเครื่องรู้จักเขาเป็นอย่างดี

และยังเป็นคนทำหนังสือ “พระกรุกำแพงเพชร” ที่ครองหนังสือพระขายดี ถือโอกาสตีแผ่วงการพระเครื่อง โดยเฉพาะ “กรุกำแพงเพชร”

ชัยฤทธิ์เริ่มต้นง่ายๆ สบายๆ บอกว่า พระกรุถ้าจะให้ได้ราคาดีแค่ไหน จำเป็นต้องมีชื่อวัดต่อท้าย

หากจะถามว่าพระกำแพงเพชรมีกี่กรุ?

ดูกันจริงๆ มีราว 100 กรุได้ แต่ที่ซื้อหาเล่นกันจริงๆ มีไม่กี่กรุ ไม่ถึง 10 กรุด้วยซ้ำ

ส่วนกรุไหนสามารถทำรายได้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมาอยู่ที่ว่าเป็นกรุของวัดไหน

เช่น กรุทุ่งเศรษฐี ต้องแยกออกไปอีกว่ากรุทุ่งเศรษฐีของวัดไหน ซึ่งนิยมเล่นกันมี 2 กรุ คือ กรุวัดพิกุล และกรุวัดบรมธาตุ

ถึงตอนนี้เขาบอกว่า คำว่า “กรุวัดพิกุล” ค่อนข้างสับสนสำหรับเขา

เพราะคำว่า “วัดพิกุล” ถ้าหมายถึงวัดพิกุลในปัจจุบัน กลับเป็นวัดเพิ่งสร้างอายุยังไม่ถึง 100 ปี ขัดแย้งกับอายุขององค์พระอย่างสิ้นเชิง

แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อคนเล่นพระซื้อขายกันระบุว่าต้องเป็นกรุวัดพิกุล

“ถ้าเป็นวัดพิกุลละก็ทำราคาได้ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องระบุว่าเป็นพระกรุวัดอะไร เพราะ “พระกรุวัดไหน?” มีความสำคัญอย่างมากนี่เอง ที่ทำให้คนมีอาชีพในวงการพระทั้งหลายต้องกระทำการ “อันไม่สุจริต”

ชัยฤทธิ์ไม่ขอยกตัวอย่าง แต่ขอเล่าเรื่องที่ประสบพบกับตัวเอง

“ในอดีตที่ผ่านมาประมาณปี 2556 นักขายพระ ผมขอเรียกอย่างนี้ก็แล้วกัน เป็นเซียนพระมีชื่อระดับประเทศมาหาผมที่บ้านถึง 2 ครั้ง เพื่อมาขอซื้อพระ

แต่ผมบอกไปว่าเป็นพระกรุจริง แต่ไม่รู้ว่ากรุวัดไหน

เซียนพระคนนั้นบอกว่าไม่รู้ไม่เป็นไร ขอให้ขายให้เขาเถอะ เดี๋ยวเขาจะไป “ยัดกรุ” เอง

จากคำพูดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแน่นอนว่าย่อมมีการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำอันไม่สุจริต

เขาบอกด้วยว่า ที่กำแพงเพชร ตั้งแต่ปี 2520 มีการ “กดพระ” ไปขายที่ส่วนกลางแล้ว โดยระบุด้วยว่าเป็นพระกรุวัดนั้น วัดนี้

ไม่ได้มีเพียงการ “กดพระ” ไปขายเท่านั้น แต่ยังมี “พระปลอม” ออกจากเมืองนี้ไปขายด้วยเช่นกัน

พระปลอม คือพระที่สร้างขึ้นมาแล้วนำไปฝังดิน สาดด้วยนมเปรี้ยว ซังข้าวโพด แม้แต่ปัสสาวะคนก็ราดลงไป เพื่อทำให้เกิดการเน่าเสียและเกิดเป็น “รา” ขึ้น

คนทำพระปลอมนิยมทำปลอมพระซุ้มกอและลีลาเม็ดขนุนเพราะอยู่ในเบญจภาคี แล้วคนก็เชื่อซื้อหากัน เชื่อว่า “มีกูแล้วไม่จน” ชัยฤทธิ์กล่าวปนหัวเราะ

“ไม่ใช่คนซื้อนะที่ไม่จน แต่เป็นคนขายพระปลอมต่างหากที่ไม่จน ทำพระปลอมขายจนรวยเป็นล่ำเป็นสัน”

“การเรียนรู้ดูพระกรุว่าจริงหรือไม่จริง เก๊หรือไม่เก๊ ต้องเรียนรู้จากของจริง องค์จริงเท่านั้น เรียนรู้จากหนังสือบอกเลยว่าไม่มีใครถ่ายภาพองค์พระที่ออกมาเหมือนองค์จริง 100% ถ้าไม่สวยกว่าองค์จริง ก็ขี้เหร่กว่าองค์จริง เพราะฉะนั้น ต้องหาองค์จริงดูให้ได้ องค์จริงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นองค์ครู การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเห็นด้วยตา ไม่งั้นจะเหมือนตาบอดคลำช้าง” ชัยฤทธิ์กล่าว

สิ่งที่ต้องดูอันดับแรกเป็น “เนื้อพระ” ซึ่งมีตั้งแต่เนื้อดำ เนื้อแดง เนื้อผิวไผ่รวก เป็นต้น

หลังจากนั้นมาดู “คราบรา” จุดนี้อาจจะดูยากหน่อย เพราะทุกวันนี้สามารถปลอมคราบราได้

วิธีการปลอมง่ายมาก ใช้หมึกสีดำใส่ลงบนแปรงสีฟันแล้วสลัดลงไปบนองค์พระ ก็ดูเป็นราแล้ว

แต่ถ้าใครดูเป็นจะเห็นว่ามันเหมือนกับหยดน้ำที่หยดลงไป ไม่ใช่รา

เมื่อคนรู้ทัน พวกปลอมพระทั้งหลายก็เปลี่ยนวิธีการใหม่ หันไปใช้แกนของถ่านไฟฉายมาขูดเป็นผงๆ เอาไปคลุกกับหมึกจีน แล้วค่อยสลัดลงบนองค์พระ เห็นเป็นตุ่มเม็ดเล็กๆ ก็ตื่นเต้น

แต่คนเขาก็ยังจับได้อีก ทำไงทีนี้ เพื่อให้ราแน่นเข้ากับน้ำแล้วขูดไม่ออก ให้มันซึมลงไปในเนื้อ ก็ใช้วิธีการหลังจากเผาเสร็จใหม่ๆ เอาด่างทับทิมสาดผสมเข้าใส่ไปด้วย ให้จับเนื้อดูดเข้าไปติดชนิดต้มสามวันจ็ดวัน เอาแปรงมาขัดยังไงก็ไม่ออก

“แต่…ความต่างมันมี ด่างทับทิมสีไม่เหมือนราที่แท้จริง”

ชัยฤทธิ์อธิบายว่า “ราแท้จริงเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้น มันมีตีน เมื่อมันเกิดขึ้นมันจะเดินแล้วกระเถิบแบบไม่มีทิศทาง ถ้าเป็นหมึกสลัด สลัดจากขวาไปซ้าย ทุกมุมจากแปรงสีฟันที่ออกไปมันจะสาดไปที่เดียวกันหมด หมึกสลัดดูออก แต่ถ้าราจริง มันขึ้นจุดนั้นจุดนี้ ย้อนไปย้อนมา และมีทุกจุด จุดใหญ่จุดเล็ก คนรุ่นก่อนถึงเปรียบว่าราเหมือนใบตำลึง ราที่เหมือนใบตำลึงเป็นราที่เกิดขึ้นกับกรุที่ชื้นอย่างมาก ถ้าชื้นน้อยหน่อยเปรียบเหมือนผักชี ไม่ต่างกันเท่าไหร่

“มาถึงตอนนี้พระปลอมยังไม่จบง่ายๆ ยังมีขั้นตอนที่แสนพิสดาร เป็นขั้นตอนที่ดูยากมากๆ คือคราบราที่เกิดจากการหมักจริง 20-30 ปี เป็นราแท้ๆ ที่ผสมเข้าไปในองค์พระ”

เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระกรุเล่าเหมือนจะจนมุมหาทางออกไม่ได้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาแค่ถาม “ราแท้ๆ ดูออกไหม?”

ก่อนจะบอกว่า หากมาถึงขั้นนี้ต้องกระโดดข้ามจาก “รา” ไปหา “นวลกรุ”

คำว่านวลกรุ คือสิ่งสะสมที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย สะสมไปเรื่อยๆ ติดแน่นขึ้นแทบจะเป็นเนื้อเดียวกับองค์พระ ตามซอกต่างๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้

“รา” กับ “นวลกรุ” ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ราต้องเกิดติดเนื้อองค์พระก่อน ไม่ว่าอะไรก็ตาม เช่น ขนมปังหรือข้าวเหนียวลองวางทิ้งไว้สองสามวัน ราเกิดขึ้นก่อนอย่างอื่นแน่นอน

องค์พระก็เช่นกัน ราต้องเกิดขึ้นก่อน

“…เพราะฉะนั้น ถ้าหยิบพระองค์ไหนมาส่องแล้วเห็นว่าราทับนวลกรุ ให้โยนทิ้งเลยทันที เพราะมันผิดจากหลักวิทยาศาสตร์ ราต้องอยู่ใต้นวลกรุ นวลกรุจะปิดทับราเสมอ…”

ต่อจากนวลกรุ ยังไม่จบ ต้องดู “มิติองค์พระ”

คือลักษณะของพระที่ดูแล้วเป็นเหมือนกับคนจริงๆ ทั้งการเดิน การนั่ง นอน คนโบราณจะพิถีพิถันมาก

“ไม่มีครับ พระซุ้มกอแขนสั้นข้างยาวข้าง คอเอียงด้านนี้แต่แขนไปกระดกอีกด้าน เป็นไปไม่ได้ผิดวิสัย”

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่อธิบายมา ชัยฤทธิ์บอกว่ามาจบลงที่ “พระแกะ” ซึ่งทุกคนพลาด

พระแกะเป็นการนำเอาดินใต้กรุที่แข็งแล้วไปตัดขนาดเท่าองค์พระ เช่น ทำพระซุ้มกอก็ตัดเลยขนาดเท่าซุ้มกอ 2 x 2.8 ซ.ม. แล้วทำโค้งให้เรียบร้อย เสร็จแล้วนำมาแกะตกแต่ง ขั้นตอนสุดท้ายใช้ไม้ตีให้แตกปลายแล้วใช้ลบรอยแตกให้หมด

พระแกะนี่แหละทำคนเสียเงินกันมาเยอะแล้ว เพราะเนื้อก็เก่า คราบราก็ฝังเนื้อแท้ นวลก็นวลแท้ เสร็จหมด

จุดนี้จะจับผิดได้อย่างไร? ต้องไปหาคำตอบในการอบรมการดูพระกรุกำแพงเพชร ซึ่งร่วมกับมติชนอคาเดมี จัดขึ้นที่ห้องประชุม นสพ.ข่าวสด สามารถสอบถามได้ที่มติชนอคาเดมี

เขาเพิ่มเติมว่า ในการทำราคา “พระ” ที่บรรดาเซียนทั้งหลายทำกันนั้น ครั้งแรกเลยจะมีคนไปเดินหาซื้อพระตามแผงพระมาราคาไม่เกิน 100 บาท แล้วนำมาขัดแต่งแล้วนำไปขายในราคา 1,000 บาท

คนที่เป็นเซียนพระท้องถิ่นจะนำพระไปปรับแต่งอีกครั้งให้เหมือนของแท้ แล้วใช้ชื่อเสียงของเขาเองการันตี

ทำให้ราคา 1,000 บาทกลายเป็น 10,000 บาท จากเส้นสายที่วางไว้มีการโยงต่อไปถึงเซียนระดับประเทศ ได้ใช้หน้าตา ชื่อเสียงของเขาการันตีอีกที พระจากราคา 10,000 บาท ก็ขยับไปที่ 100,000 บาท หรือ 1,000,000 บาท

เพราะฉะนั้น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ นายทหารใหญ่ทั้งหลาย แม้แต่เจ้าสัวดังๆ ของเมืองไทย จะไม่รู้เลยว่าตัวเองถูกหลอก

ชัยฤทธิ์เองเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์พระกรุกำแพงเพชร มรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยคุณตา “ขุนโสภณโภไคย” กระทั่งมาถึงรุ่นคุณแม่ของเขาได้เก็บสะสมของทรงคุณค่านี้สืบทอดให้ลูกหลาน

ดังนั้น เขาจึงมีโอกาสมากกว่าใครที่จะได้เห็นพระองค์จริงและศึกษาหาความรู้จากพระแท้

“ผมพูดพระแท้ได้ เพราะพระที่ผมมีไม่ใช่พระไปซื้อหากันตามแผงพระ หรือเซียนขายพระนำมาขาย แต่เป็นพระที่มีการเก็บสะสมมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแม่ผมเป็นคนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง หลักฐานเป็นภาพถ่ายของแม่ผมเมื่อครั้งเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี แม่ถือพระพุทธรูปทองคำแท้หน้าตัก 5 นิ้ว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จฯ กำแพงเพชรเป็นครั้งแรก พระองค์ที่แม่ทูลเกล้าฯ ถวายนี้ได้จากกรุวัดพระแก้ว”

สิ่งที่ชัยฤทธิ์เน้นย้ำคือพระที่แม่ของเขาได้มานั้น เป็นพระจากกรุที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ใช่ได้จากพวกลักลอบขุด

“แม่บอกเสมอว่า พวกลักลอบขุดเป็นนักทำลาย ทำให้สิ่งที่ควรให้คนรุ่นหลังได้ดูหายไป

ดังนั้น แม่จึงซื้อเก็บไว้ สมัยก่อนการซื้อพระไม่ได้ใช้เงินซื้อ แต่ใช้ทองคำแลก

แม่เป็นเจ้าของร้านทอง ทุกอย่างใช้ทองคำแลกมาทั้งหมด มีพระกรุวัดพระแก้วประมาณ 20 องค์ พระกรุวัดในจังหวัดอ่างทองทั้งหลาย ผมจึงมีโอกาสได้ศึกษาจากพระจริง”

มาถึงวันนี้บางคนเรียกขานชัยฤทธิ์ว่าเซียนพระหรืออาจารย์ แต่เขาบอกว่าเขาไม่ใช่เซียนพระและไม่ชอบคำนี้

เขาขอเป็น “ผู้ชี้แนะ” ก็พอ ส่วนคำว่า “อาจารย์” ก็ไม่ใช่ เพราะในความเห็นของเขา ครูอาจารย์ที่แท้จริงคือ “องค์พระแท้” นั่นเอง