ไร้เงาเพลงลูกทุ่ง จุดพลุวรรณศิลป์ ศิลปินแห่งชาติ 2562

หลายปีมาแล้วที่เมื่อถึงคราวประกาศศิลปินแห่งชาติในแต่ละปี สาขาวรรณศิลป์มักเป็นที่กล่าวขวัญกันระเบ็งเซ็งแซ่ จนถึงปีนี้ 2562 กระทรวงวัฒนธรรมประกาศชื่อ “จำลอง ฝั่งชลจิตร” และ “เสน่ห์ สังข์สุข” เสียงตอบรับของคนในแวดวงวรรณกรรมก็ออกมาในทางเห็นพ้องเป็นส่วนมาก

ขอจุดพลุแสดงความยินดี

จำลอง ฝั่งชลจิตร หรือ ลอง เรื่องสั้น เป็นที่ยอมรับในฐานะนักเขียนที่ทำงานต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ผลงานเรื่องสั้นของเขาได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากและสร้างสีสันให้กับนักอ่านเรื่องสั้นอยู่เสมอ ชื่อของจำลอง ฝั่งชลจิตร เป็นที่รู้จักมาพร้อมๆ กับชาติ กอบจิตติ และมาลา คำจันทร์ ซึ่งสองท่านนี้ก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติก่อนหน้ามาหลายปีแล้ว

ในบรรดาสามสหาย คนชื่อจำลอง น่าจะเป็นคนที่อาภัพที่สุด เพราะชาติ กอบจิตติ กับมาลา คำจันทร์ ได้รางวัลซีไรต์กันไปแล้ว เหลือแต่จำลอง ฝั่งชลจิตร ต่อมาสองคนนั้นก็ได้รางวัลศิลปินแห่งชาติไปก่อนหน้าจำลองอีก

ถึงขนาดเดากันเล่นๆ ว่าจำลองคงพลาดทั้งซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติ

เมื่อปีนี้ประกาศชื่อจำลองออกมา ทุกๆ คนก็ยินดีปรีดากันโดยทั่วหน้า

พูดกันถึงเรื่องรางวัลทางวรรณกรรม โดยเฉพาะซีไรต์ จำลอง ฝั่งชลจิตร กับวัฒน์ วรรลยางกูรนั้นตกที่นั่งเดียวกันคือ ผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปหลายต่อหลายหน แต่ไม่เคยได้ขึ้นแท่นรับรางวัลสักทีจนถูกล้อว่าเป็นนักเขียนที่มี “ปม” กับซีไรต์

พอมาถึงศิลปินแห่งชาติ ทั้งสองคนก็พลาดแล้วพลาดอีกมาหลายหน จนนักเขียนรุ่นน้องหลายคนแซงหน้าไป พอจำลองได้เป็นศิลปินแห่งชาติในปีนี้ จึงมีเสียงถามหาวัฒน์ วรรลยางกูรบ้าง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนถามหาชื่อวัฒน์ วรรลยางกูร ในทำเนียบศิลปินแห่งชาติ เพราะตั้งแต่ประกาศผลศิลปินแห่งชาติปี 2558 เป็นต้นมา เสียงถามหาชื่อวัฒน์ วรรลยางกูร ก็แว่วๆ มาอยู่ทุกๆ ปี

ชาติ กอบจิตติ เคยเล่าผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สามสหายคือ ชาติ มาลา จำลอง แม้อายุจะมากกว่าวัฒน์ แต่ในแวดวงวรรณกรรมนั้น ตอนที่พวกเขาเริ่มเขียนหนังสือ วัฒน์ วรรลยางกูร มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ก่อนแล้ว

คนอ่านหนังสือ โดยเฉพาะคอวรรณกรรมสายเพื่อชีวิตก็ย่อมรู้ดีว่า ตำบลช่อมะกอกโด่งดังมาก่อนหนังสือเล่มแรกของศิลปินแห่งชาติทั้ง 3 คนหลายปี

ไม่ได้บอก ไม่ได้คิด และไม่เคยคิด ว่านักเขียนอย่างชาติ กอบจิตติ มาลา คำจันทร์ และจำลอง ฝั่งชลจิตร ไม่เหมาะสมกับศิลปินแห่งชาติ มากไปกว่านั้นยังคิดว่าเหมาะสม และสมเกียรติอย่างยิ่ง ที่นักเขียนคุณภาพทั้ง 3 ท่านได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

แต่นักเขียนอย่างวัฒน์ วรรลยางกูร ไม่เหมาะสมหรืออย่างไร?

แล้วนักเขียน ศรีดาวเรือง แรคำ ประโดยคำ คมทวน คันธนู เหล่านี้มีผลงานไม่เพียงพอแก่การเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์หรืออย่างไร?

ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้กับเสน่ห์ สังข์สุข ชื่อนี้ทำให้บางคนในแวดวงวรรณกรรมถึงกับงงก็มี แต่ถ้าเอ่ยชื่อแดนอรัญ แสงทอง ก็คงไม่ต้องอธิบายความ

เงาสีขาวสร้างความตื่นตะลึงให้กับนักอ่านมาแล้ว รวมทั้งอสรพิษ เจ้าการะเกด นอกจากนี้ งานแปลในนามมายา และเชน จรัสเวียง ก็ประจักษ์แก่สายตานักอ่านว่าลีลาของเขาเป็นเอกลักษณ์เพียงใด

แดนอรัญ แสงทอง ได้รับการยกย่องในแวดวงพอสมควร จนถึงมากคนหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้รับเหรียญอัศวินด้านศิลปะและอักษรศาสตร์จากฝรั่งเศส (Chevalier de l”Ordre des Arts et des Lettres)

ดีกรีของแดนอรัญนั้นเป็นนักเขียนซีไรต์ เป็นศิลปินศิลปาธร แต่เขาก็ “มีปม” กับซีไรต์มาก่อนเหมือนกัน เมื่อมีเรื่องที่ทราบกันดีว่า กรรมการคัด “เงาสีขาว” มาสเตอร์พีซของเขาออกจากการประกวดซีไรต์เพราะเนื้อหา “หมิ่นเหม่ศีลธรรม” สมศักดิ์ศรีที่เพื่อนพ้องน้องพี่เรียกเขาว่า “ขบถวรรณกรรรม”

แล้วปีนั้นนิยายเรื่องเวลา ก็ทำให้ชาติ กอบจิตติ เป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนแรก

หลายปีต่อมาสำนักพิมพ์สามัญชนเก็บเรื่องสั้นที่กระจัดกระจายเป็นนิยายเล่มเล็กๆ ของแดนอรัญ แสงทอง มีเรื่อง “อสรพิษ” เป็นเรื่องเด่นมารวมเล่มใหม่ เป็นรวมเรื่องสั้นชื่อ “อสรพิษ และเรื่องราวอื่น” ที่มีการคาดการณ์กันว่าประวัติการตีพิมพ์ครั้งแรกที่แต่ละเรื่องตีพิมพ์มาแล้วเป็นเวลามากกว่า 3 ปี จะผิดกติกาของซีไรต์หรือไม่ แต่กรรมการยืนยันว่าให้ถือการรวมเล่มครั้งแรกเป็นหลัก ปีนั้นแดนอรัญจึงทำลายปมซีไรต์ลงได้

มีบางคนซุบซิบในโลกออนไลน์ว่า ครั้งนั้นเป็นการ “คืน” รางวัลให้แดนอรัญ เหมือนที่ซีไรต์เคย “คืน” รางวัลให้กับกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ด้วยรวมเรื่องสั้น แผ่นดินอื่น

ตัดเรื่องซุบซิบนินทาออกไป ว่ากันโดยผลงานและการทำงานต่อเนื่องมายาวนาน ความรักในความสมบูรณ์แบบของวรรณกรรมทำให้งานของแดนอรัญนั้นละเมียดละไมเป็นที่กล่าวขวัญ ภาษาและลีลาที่เป็นเอกลักษณ์ของแดนอรัญ ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับของวงการ ตลอดจนการวางตัวของเขาที่ไม่ค่อยเข้าหาใคร มีชีวิตเป็นศิลปินแท้ๆ ที่มุ่งมั่นตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างหนัก ก็สมควรอย่างยิ่งแล้วที่เขาจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

เสียงชื่นชมศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปีนี้จึงดังกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านๆ มา และดูจะเป็นเอกภาพไปทุกกลุ่มก๊กของวงการวรรณกรรมไทย

เรียกว่าเป็นการสร้างความสามัคคีก็คงได้

คนอื่นๆ ที่เป็นสีสันอีกคนคือ เพชรา เชาวราษฎร์ ที่วงการภาพยนตร์ลุ้นกันมาหลายปีดีดัก พอปีนี้เปิดชื่อนางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้งออกมา ก็ถึงกับถอนหายใจโล่งอกว่า “ได้เสียที”

พร้อมทั้งสาขาศิลปะการแสดงมีวงเล็บใหม่คือ สร้างสรรค์งานบันเทิง ให้กับประภาส ชลศรานนท์ คาดว่าต่อไปสาขานี้คงมอบแก่ทีม “สถาปัตย์ จุฬาฯ” ในวงการบันเทิงอีกหลายคน

พอไล่รายชื่อย้อนกลับไปอีกก็พบว่า 4 ปีแล้ว นับจากครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (2557) สาขาเพลงลูกทุ่งก็ยังไม่มีใครได้เป็นศิลปินแห่งชาติอีกเลย

ตัวพ่อครูพงษ์ศักดิ์เองนั้น คณะกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติก็ถูกตำหนิว่าให้เมื่อแก่มากแล้ว และยิ่งปีถัดมาหลังจากได้เป็นศิลปินแห่งชาติ พ่อครูก็อำลาโลกไป ทำให้มีเสียงถามกันมาว่า คณะกรรมการสรรหาทำอะไรอยู่ที่ไหนถึงไม่รู้จัก “พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา” และปล่อยให้ล่วงเลยมาถึงป่านนี้

แต่คำถามสำหรับปีนี้ก็คือ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีนักเพลงลูกทุ่งคนไหนเหมาะควรแก่การเป็นศิลปินแห่งชาติเลยหรือ?

สังเกตจากสถิติที่ผ่านมา สาขาเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่เป็นนักเพลงยุค “กำเนิดเพลงลูกทุ่ง” มาทั้งนั้น คือล้วนแล้วแต่เป็นนักเพลงลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงมาในยุคหลังจากสุรพลเล็กน้อย เรียกว่าร่วมยุคสุรพลก็ยังได้ นับแต่ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ชาย เมืองสิงห์ ชัยชนะ บุณยโชติ ชินกร ไกรลาศ เพลิน พรหมแดน และผ่องศรี วรนุช คนหลังนี้ต้องนับว่าเป็นศิษย์สุรพลที่ครูสุรพลปั้นมากับมือ

นอกเหนือจากนั้นก็เป็นนักแต่งเพลงที่เคยเป็นนักร้องในวงของสุรพลบ้าง ไวพจน์บ้าง หรือวงของนักร้องคนอื่นๆ มาก่อนบ้างก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักแต่งอาชีพ และส่วนใหญ่เคยเข้าบ้านครูไพบูลย์ บุตรขันมาก่อน โดยเฉพาะพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา กับลพ บุรีรัตน์ ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์ก้นกุฏิครูไพบูลย์

ส่วนชลธี ธารทองนั้นเคยเป็นนักร้องวงสุรพล สมบัติเจริญ ด้านประยงค์ ชื่นเย็น ก็เป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานคู่บารมีของชลธี เพราะสองคนนี้ปั้นสายัณห์ สัญญา และเสรี รุ่งสว่างมาด้วยกัน บางท่านโดดไปรับด้านดนตรีสากลหรือเพลงไทยสากลไป เช่น พยงค์ มุกดา เป็นต้น

ถ้าจะตั้งคำถามว่า ยุคหลังจากสุรพล ไวพจน์มานี้ ไม่มีนักเพลงลูกทุ่งคนไหนเหมาะควรแก่ฐานะศิลปินแห่งชาติเลยหรือ

ศิษย์สุรพลหลายคนล่วงลับไปเปล่าๆ อย่างก้าน แก้วสุพรรณ เป็นต้น หรือกระทั่งที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างเรียม ดาราน้อย ไพรวัลย์ ลูกเพชร ก็ยังไร้วี่แววว่าจะได้ หรือจะเป็นสดใส รุ่งโพธิ์ทอง ศรเพชร ศรสุพรรณ ที่เป็นนักร้องร่วมรุ่นกับ “สายัณห์-ยอดรัก” นั้น ไม่มีใครมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นศิลปินแห่งชาติเลยหรือ?

นักแต่งเพลงอย่างฉลอง ภู่สว่าง สุรินทร์ ภาคศิริ เจนภพ จบกระบวนวรรณเล่า?

หรือจะปล่อยให้ศิลปินเหล่านี้เสียชีวิตไป ก่อนอย่างพีระ ตรีบุปผา จิ๋ว พิจิตร สุชาติ เทียนทอง กานท์ การุณวงศ์ อย่างนั้นหรือ?

หรือจริงๆ เราควรให้ประชาชนรู้โดยทั่วไปว่า ศิลปินแห่งชาติมีเพื่ออะไร มิใช่ให้รู้เพียงว่าเป็นรางวัลประจำปีรางวัลหนึ่งเท่านั้น แต่ควรให้ประชาชนรู้ว่าเราจ่ายเงินเดือนให้ศิลปินไปเพื่อให้เกิดผลอันใดต่อสังคมและประเทศของเราต่อไป

มันคงจะทำความเข้าใจง่ายขึ้นถ้าเราเข้าใจว่า ไม่มีรางวัลไหนเป็นอิสระจากการเมืองนับแต่โนเบล มาถึงศิลปินแห่งชาติของประเทศไทยกระมัง