ปืน-ปูน การค้า-มิตรภาพ ข้อคิดหลังเกมฟุตบอล เอสซีจี เมืองทอง-เคซีเมนต์ กัมพูชา

ผลการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ SCG MUANGTHONG UNITED ASEAN TOUR 2019

ระหว่าง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด กับ เคซีเมนต์ กัมพูชา ออลสตาร์

ณ สนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิก สเตเดี้ยม กรุงพนมเปญ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562

จบลงด้วยเอสซีจี เมืองทอง พ่ายให้เค ซีเมนต์ กัมพูชา ออลสตาร์ ด้วยสกอร์ 1 ต่อ 2

กองเชียร์เจ้าบ้านกว่าหมื่นคน กลับบ้านด้วยรอยยิ้มชื่นมื่น

ทิ้งให้เรา สักขีพยานจากเมืองไทย

นั่งคิดอะไรต่อ

เกมฟุตบอลของทั้ง 2 ทีม อาจจะไม่มีอะไรมากนัก เพราะเป็นนัดมิตรภาพ

ผลแพ้-ชนะไม่สำคัญ

หรือพูดให้ขำๆ บางที “การไม่ชนะ” ก็อาจเป็นเรื่องดี

เพราะทำให้สตาฟฟ์โค้ชของเอสซีจีเมืองทอง ได้เห็นจุดอ่อนของทีมเพื่อนำไปปรับปรุงก่อนลีกของไทยจะเปิดฤดู

อีกด้าน ชัยชนะของ “เคซีเมนต์” ต่อทีมชั้นนำจากลีกของไทย

ยิ่งทำให้แบรนด์ เคซีเมนต์ อยู่ในใจของชาวเขมรยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ข้อมูลที่ได้จาก “สมหวัง แม้นพิมลชัย” กรรมการผู้จัดการ กัมปอตซีเมนต์ ในเครือบริษัทเอสซีจี

ทำให้ทราบว่า “เคซีเมนต์” (K Cement) เป็นธุรกิจที่เอสซีจีเข้ามาลงทุนโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในเขมร ภายใต้แบรนด์ “เคซีเมนต์” (K Cement) มาตั้งแต่ปี 2550

ซึ่งประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

เคซีเมนต์ เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้ามีคุณภาพ เป็นเบอร์หนึ่งในแง่คุณภาพ และการยอมรับในแบรนด์ ลูกค้าไว้ใจ

การเติบโตของเคซีเมนต์ต้องถือว่าควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างแยกไม่ออก

กรุงพนมเปญมีโครงการก่อสร้างต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากมาย ไม่ว่าโครงการที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ โรงแรม ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ สำนักงานให้เช่า

นอกจากนี้ โครงการซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาแห่งใหม่ของกัมพูชา

อย่างที่ Koh Pic หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “เกาะเพชร” โครงการ Chroy Changva และโครงการที่ Kam Ko ซึ่งแต่ละโครงการล้วนมีชื่อเสียง และใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล

ทำให้มีความต้องการใช้ปูนและวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก

โดยต่างเลือกใช้ปูนสัญชาติไทยที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ

ตลาดจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

และการจะรักษาความเป็นผู้นำเอาไว้ให้ได้นั้น จะต้องไม่แสวงหากำไรอย่างเดียว

หากแต่ต้องดูแลกิจการความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ที่ผ่านมา เคซีเมนต์จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของชุมชนรอบๆ โรงงานด้วย

นอกจากนี้ยังได้ใช้กิจกรรมกีฬาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับกัมพูชาด้วย

โดยนำคณะผู้ฝึกสอนจากทีมฟุตบอลเอสซีจีเมืองทอง ยูไนเต็ด และนักกีฬาของทีม เข้าไปแนะนำความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนของกัมพูชาที่สนใจในกีฬาฟุตบอลมา 3 ปีแล้ว

การแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีม SCG Muangthong United กับทีม KCement Cambodian All Stars ของกัมพูชาก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมนั้น

รายได้จากการขายบัตรค่าเข้าชมการแข่งขันทั้งหมดนำไปมอบให้แก่โรงพยาบาลเด็ก และมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กเรียนดีแต่ยากจน อีกหลายทุน

ธุรกิจเพื่อสังคมนี้ เชื่อว่าจะมีส่วนเกื้อหนุนให้สัมพันธ์ของไทย-กัมพูชาที่ลุ่มๆ ดอนๆ ดีขึ้น

ต้องไม่ลืมว่า ในอดีต

2 ประเทศ ถึงขนาดใช้ “ปืน” ในการตัดสินความขัดแย้งมาแล้วในกรณีเขตแดนที่ต่อเนื่องถึงปัญหาเขาพระวิหาร

เราจึงไม่ควรหวนคืนกลับไปสู่ในจุดที่เลวร้ายนั้นอีก

ในวันที่เข้าไปชมฟุตบอลคู่ดังกล่าว

น้องๆ จากเคซีเมนต์ให้ข้อมูลว่า สนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิก สเตเดี้ยม กรุงพนมเปญ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2506

ความหลังก็พรั่งพรู และเมื่อกลับมาเมืองไทยลองค้นข้อมูลเพิ่ม

น่าสนใจว่าสนามกีฬาแห่งนี้ ได้สร้างขึ้นเพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ.2506

แต่ก็ถูกล้มเลิกไป เพราะกัมพูชามีปัญหากับไทย

โดยกัมพูชาได้ตัดสัมพันธไมตรีกับไทยกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหารกับไทย

เมื่อกัมพูชาเห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มกีฬาแหลมทอง จึงไม่อยากเข้าร่วมจัดการแข่งขัน

ทำให้ต้องเลื่อนออกไป จัดในปี 2508 แทน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง 14-24 ธันวาคม (https://pantip.com/topic/30344166)

ทำให้กัมพูชา (ยกเว้นติมอร์ ที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน) ถือเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ (ที่พัฒนามาจากกีฬาแหลมทอง)

จึงเป็นสิ่งที่คาใจชาวกัมพูชาเสมอมา

และได้มาชำระสิ่งค้างคาใจเมื่อไม่นานมานี้เมื่อสมเด็จฯฮุน เซน ประกาศเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ในปี ค.ศ.2023 หรือ พ.ศ.2565 นี้

โดยสำนักซินหัวของจีนเปิดเผยว่า เป็นความร่วมมือในการลงทุนของกัมพูชาและจีน ในโครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ที่กรุงพนมเปญ โดยมีความจุถึง 75,000 ที่นั่ง

“ด้วยความจุที่ตั้งไว้ที่ 75,000 ที่นั่ง เราคาดหวังว่าจะเพียงพอต่อการต้อนรับและพร้อมใช้ในช่วงซีเกมส์ปี 2023” กั๋วเหลียงเหลียง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของไชน่า สเตต คอนสตรักชั่น เอนจิเนียริ่ง คอร์เปอเรชั่น หรือ CSCEC กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของสเตเดี้ยมที่คาดว่าจะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติที่ใหม่ของกัมพูชา

“ด้วยคุณภาพที่มาเป็นอันดับหนึ่ง โครงการนี้เราต้องมั่นใจว่าเรานำสิ่งที่ดีที่สุดมาเป็นวัตถุดิบของโครงสร้าง”

สนามกีฬาดังกล่าวถูกดีไซน์ในรูปแบบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรือ และสถาปัตยกรรมแบบอังกอร์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงพนมเปญ ด้วยงบประมาณกว่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนายวัต ชำเริญ เลขาธิการโอลิมปิกแห่งกัมพูชากล่าวถึงความตั้งใจของการสร้างสนามต่อไปว่า “เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทุกคนจะได้รู้จักกัมพูชาในรูปแบบใหม่ ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่การเพื่อประชาสัมพันธ์ทางการกีฬาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนความรู้ และทุกๆ อย่างของเรากับทั่วโลกได้เลยทีเดียว”

สนามกีฬาแห่งชาติ ณ กรุงพนมเปญแห่งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2020 หรือปีหน้านี้

และจะใช้ชื่อว่า “มรดกเดโชพหุกีฬาสถานแห่งชาติ”

สำหรับมูลค่าก่อสร้างสูงสุดราว 6,000 ล้านบาท ขนาดความจุ 75,000 ที่นั่ง/รวมสนามอินดอร์ บนเนื้อที่ 560 ไร่

นายทอง คูน ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งกัมพูชา รับว่างบประมาณในการก่อสร้าง ได้รับการสนับสนุนทุนจากรัฐบาลจีน

ซึ่งแน่นอนว่า จีนย่อมควบคุมดูแลโครงการแทบทั้งหมด

แต่วัตถุดิบในการก่อสร้าง โดยเฉพาะปูนซีเมนต์

“เคซีเมนต์” บริษัทย่อยจากไทย ก็ย่อมเข้าไปมีส่วนอยู่ไม่มากก็น้อย

ทำให้เป็นคำตอบว่า ไฉนปืน นำไปสู่ปูน การค้า และมิตรภาพ อย่างที่ว่า